:::     :::

"การพัฒนาตัวเอง A+" Diogo Dalot

วันศุกร์ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2567 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
1,525
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
Player Analysis วิเคราะห์พัฒนาการในการเล่นของ Diogo Dalot โดยละเอียด เพื่อให้เห็นว่า เขาดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมากในปีนี้ และกลายเป็นกำลังสำคัญของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่จะขาดไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่านี่ยังไม่ใช่ร่างไพรม์ของเขา อนาคตน่าจะยังเก่งได้มากกว่านี้อีก และนี่คือคำตอบ

หนึ่งในนักเตะที่น่าจับตามองที่สุดในทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดขณะนี้ หากว่าเราพิจารณาทั้งทีม ไม่ได้โฟกัสอยู่แค่ตัวเล่นที่ถูกสปอตไลท์สาดส่อง อย่างพวก ค็อบบี้ ไมนู, อเลฮันโดร การ์นาโช่ หรือ ราสมุส ฮอยลุนด์ นักเตะอีกคนหนึ่งที่สมควรได้รับการยกย่อง และต้องจับตาดูฟอร์มเป็นพิเศษคือ "ดิโอโก้ ดาโลต์"

ฤดูกาล 2023/24 ของดาโลต์ ถือว่าเป็นซีซั่นที่ประสบความสำเร็จมากๆของเจ้าตัว ในเรื่องของโอกาสการได้ลงสนามและโชว์ฝีเท้าที่ค่อยๆพัฒนาขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้นในหลายๆประการ จนกระทั่งตอนนี้อยู่ในสถานะแบ็คขวาตัวจริงของทีมที่ต้องลงสนามให้ทีม และเป็นส่วนสำคัญมากๆในหลายๆอย่าง

-ทั้งในเรื่องของแผนและแทคติกทีม ด้วยบทบาทหน้าที่ที่มากขึ้น และ complex กว่าเดิมในสนาม ซึ่งไม่ได้เป็นแค่แบ็คขวาเพียวๆอีกต่อไป

-ช่วยทีมในเรื่องความต่อเนื่องของการลงเล่น เติมพลังงานการเล่นที่เต็มเปี่ยมในสนามด้วยร่างกายที่ฟิตสมบูรณ์

-รวมถึงสถาวะทางด้าน Mentality ที่ยอดเยี่ยมซึ่งช่วยกระตุ้นทีมได้มากทางด้านจิตวิทยาในสนาม สร้างความฮึกเหิมมุ่งมั่นให้กับผู้เล่นโดยรอบให้ตื่นตัว มั่นใจ และโฟกัสตลอดเวลา

-ความยืดหยุ่นที่สามารถช่วยเรื่องการจัดทีมของเฮดโค้ชได้หลากหลาย จากการลงเล่นได้อย่างอิสระในหลายตำแหน่งอย่างเป็นธรรมชาติ

สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมเลยก็คือ ในช่วงเวลาที่แมนยูไนเต็ดลำบากมากช่วงครึ่งซีซั่นแรกในปีนี้ ยามที่นักเตะตัวหลักในทีมเจ็บไปเกินครึ่งทีม ผู้เล่นต้องสลับสับเปลี่ยนกันเข้าๆออกทีมตลอดเวลาจนลำบากที่จะสร้างชุดนักเตะที่ลงแข่งต่อเนื่อง

แต่ดาโลต์ คือนักเตะที่ไม่เคยไปไหน เขาอยู่ในสภาพพร้อมรบตลอดเวลา และช่วยลงสนามให้ทีมได้ต่อเนื่อง "แทบจะทุกนัดในฤดูกาลนี้" ในทุกๆรายการ ไม่ว่าจะบอลลีกหรือบอลถ้วย ลงหมด

ในวัย 24 ปี เป็นช่วงอายุที่นักเตะกำลังมีร่างกายที่ดีที่สุด ความแข็งแกร่ง ความอึด สปีดความเร็ว กล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง เป็นอายุที่ดีมากๆซึ่งสภาพร่างกายอยู่ในช่วงที่พีค ฤดูกาลนี้ดาโลต์ลงสนามไปทั้งหมดจนถึงตอนนี้ "31 นัด" ในทุกรายการไม่ว่าจะเป็น EPL, League Cup, FA Cup หรือ UCL

มีแค่สองเกมเท่านั้นที่เขาไม่ได้ลงเล่นในปีนี้ คือเกมนัดเปิดสนามกับวูล์ฟแฮมพ์ตัน ที่อยู่บนม้านั่งสำรอง กับเกมที่บุกไปแพ้เวสต์แฮม 2-0 ช่วงปลายปีที่แล้ว เนื่องจากว่าโดนแบน 1 นัด จากเกมที่เจอสองเหลือง=1แดงนัดเจอลิเวอร์พูล (ที่โดนแจกแบบงงๆทั้งที่ไม่ควรโดนไล่ออก) นอกนั้นทุกเกมในปีนี้ ดาโลต์ลงสนามครบทุกเกม และแทบจะทั้งหมดเป็นการลงเล่นเต็มเกม 90 นาทีแทบทั้งสิ้น

สุดจะทนคนอย่างเธอ.. โอลิเวอร์

สภาพร่างกายคือดีมาก และนักฟุตบอลที่จะประสบความสำเร็จได้จริงๆ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือ การรักษาร่างกายให้พร้อมลงเล่นได้ต่อเนื่องเช่นนี้ จะช่วยทีมได้เยอะกว่านักเตะที่เจ็บอยู่ตลอดเวลาจน unavailable อยู่บ่อยๆ และไม่สามารถช่วยทีมได้จริงๆ

ให้เลือกระหว่าง นักเตะที่เก่งมากแต่เจ็บบ่อยเจ็บนาน กับนักเตะฝีเท้าใช้ได้ แต่ลงเล่นได้ต่อเนื่อง อย่างหลังจะดีกับทีมฟุตบอลที่มีเกมการแข่งขันต่อเนื่องแบบแมนยูไนเต็ดมากกว่า

ดาโลต์ลงเล่นต่อเนื่องไม่หยุด ทั้งเกมกลางสัปดาห์ เกมสุดสัปดาห์ วนแบบนี้มาตลอดนับตั้งแต่เปิดซีซั่น จนปัจจุบันช่วงครึ่งซีซั่นหลังที่ไม่มีบอลยุโรปแล้ว หลังจากนี้ดาโลต์น่าจะได้พักเยอะขึ้นกว่าเดิม แต่ครึ่งซีซั่นที่ผ่านมา เขาลงสนามแบบไม่หยุดพักเช่นนี้มาตลอด แถมทำได้ดีแบบที่ไม่มีอาการ "ล้า" ให้เห็น 

ในเกมที่ขาดแบ็คซ้าย เขาลงเล่นให้ได้ ถ้าตัวเล่นพร้อมเขาก็จะกลับมายืนแบ็คขวาประจำการเป็นตัวหลักของทีมยาวๆ โดยความสำคัญแล้วตอนนี้ดิโอโก้ ดาโลต์ถือว่าเป็นแบ็คขวาเบอร์แรกของทีม เหนือกว่าอารอน วานบิสซาก้าไปแล้วเรียบร้อยตามสถานะในทีม เพราะถ้าเทียบกันกับปีก่อน จะเห็นชัดว่ามีเกมที่ดาโลต์ไม่ได้ลงสนามเยอะมาก เพราะคู่แบ็คตัวจริงเป็น Shaw-AWB

แต่ปีนี้สถานะกลับกันแล้ว Dalot เป็นตัวเลือกแรกๆควบทั้งตำแหน่งแบ็คขวาและแบ็คซ้ายของอารอนและลุคด้วยซ้ำ ดูจากเรดาห์เปรียบเทียบความสามารถในการเล่นจาก DataMB วัดเป็นเปอร์เซ็นไทล์เทียบกันในซีซั่นนี้ระหว่าง ดาโลต์ กับ วานบิสซาก้า ผลก็ออกมาอย่างที่เห็น ดาโลต์ดีกว่าทุกอย่าง ยกเว้นเรื่อง Defensive actions ต่างๆ เช่น แทคเกิล บล็อค ตัดบอล เท่านั้นที่เดอะแมงมุมยังมีเรทที่สูงกว่า แต่ประโยชน์การเล่นในมิติอื่นๆโดยรวมนั้น ครอบคลุมและทำได้ดีกว่า AWB มาก

มีสถิติการเล่นเกมรับของดาโลต์ที่น่าสนใจในด้านของปริมาณซึ่งเปิดเผยออกมาล่าสุดว่า เขาเป็นฟูลแบ็คที่เคลียร์บอลได้มากที่สุด (62 Clearances) โหม่งเคลียร์มากที่สุด (30 Headed Clearances) ถ้าเทียบกับในบรรดาฟูลแบ็คของทีม Top Six ในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ รวมถึงปริมาณการดวลลูกกลางอากาศต่อเกมก็เยอะสุดเช่นกัน (2.18 ครั้งต่อเกม)

ด้านอัตราชนะอาจจะไม่ได้สูงสุด แต่ทางด้านปริมาณการเล่นเกมรับ ปีนี้ดาโลต์สร้างเกมป้องกันให้แมนยูได้เยอะจริงๆ

อีกด้านหนึ่ง ในส่วนของประสิทธิภาพ "เกมรุก" แม้ว่าตัวเลข ณ ตอนนี้อาจจะยังเห็นไม่ชัดในเรื่องการมีส่วนร่วมทำประตูให้ทีม (Goal Contribution) แม้ปีนี้จำนวนประตูและแอสซิสต์ยังไม่เยอะกว่าปีก่อน แต่ก็เทียบเท่าแล้วด้วยจำนวนเกมที่น้อยกว่าปีก่อนถึงสิบกว่านัด (ปีที่แล้ว 42 นัด ทำไป 2 ประตู 3 แอสซิสต์, ปีนี้ 31 นัด ทำไป 2 ประตู 2 แอสซิสต์)

เชื่อว่าตัวเลขตอนจบฤดูกาลจะดีกว่านี้ และน่าจะแซงซีซั่นที่แล้วแน่ๆ

การเล่นที่สร้างจังหวะยิง(SCA)/สร้างประตู(GCA)ต่อเกม ยังไม่ถึงกับเยอะกว่าปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็อยู่ในแนวโน้มที่ดี พัฒนาขึ้นทีละนิด

การเติมเกมรุกแดนบนที่เล่นรุกเต็มตัวในลักษณะของ วิงแบ็คตัวบุก (Attacking Wing-back) ก็ถือเป็นสิ่งที่แฟนแมนยูก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นจุดเด่นที่ดาโลต์เป็นแบ็คซึ่งเติมเกมบุกได้ ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ดีพร้อม100% แต่อย่างน้อยความเข้าใจเกม ความสามารถเฉพาะตัว ก็สามารถสร้างโอกาสให้ทีมได้เรื่อยๆ มีอาวุธในการเล่นเกมรุกหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องลูกยิงไกลที่ซัดจากแถวสองได้ หรือลูกครอสที่เป็นไม้ตายก้นหีบ

ถึงจะมีครอสขาดเกินให้เห็น แต่มันค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะระยะหลังคนที่ทำแอสซิสต์ให้เพื่อนจากการครอสได้บ่อยๆก็คือดาโลต์นี่แหละ ลูกยิงโอเวอร์เฮดคิกของการ์นาโช่ลูกนั้นก็แอสซิสต์ ถือว่าเป็นลูกครอสเข้าไปอยู่ในข่ายที่เพื่อนยังขยับตำแหน่งได้, ลูกยิงเปิดซิงของไมนู ก็เป็นครอสเรียดของดาโลต์เช่นกันที่ทำให้ไมนูได้ยิงลูกแรกในเกมเอฟเอคัพกับนิวพอร์ท

ล่าสุดประตูแรกในเกมเจอวูล์ฟ เขาก็ได้พรีแอสซิสต์ที่เป็นคนจ่ายบอลเรียดเข้ากลางไปจนถึงฮอยลุนด์ที่ได้แตะให้แรชฟอร์ดยิงประตูขึ้นนำเร็วในลูกนั้น ดาโลต์ก็มีส่วนอยู่ในห่วงโซ่การจ่ายบอลสร้างโอกาสยิงให้ทีมด้วย แม้จะไม่ได้ขึ้นเป็นแอสซิสต์ แต่ส่วนร่วมในการเล่นรุกของดาโลต์ ดีวันดีคืน

แทบจะทุกเกมในช่วงนี้ เราเห็นเขาซัดลูกยิงแถวสองแบบได้ลุ้นแทบจะทุกนัดไม่ว่าจะเป็นช็อตโอเพ่นเพลย์ หรือเล่นสั้นจากเตะมุมก็ตาม ส่วนร่วมกับเกมรุกเยอะขึ้นเรื่อยๆ น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ

และนี่คือ "พัฒนาการ" ที่เห็นได้ชัดในด้าน impact ต่อทีม มันดีกว่าสมัยก่อนเยอะ ฝีเท้าและการเล่นของเขายกระดับขึ้นมาก แล้วเดี๋ยวจบซีซั่นน่าจะสามารถวัดได้ว่า ประสิทธิภาพในเชิงผลลัพธ์และปริมาณก็น่าจะดีขึ้นเช่นกัน

ในเรื่องของบทบาทการเล่น ดาโลต์น่าจะเป็นผู้เล่นในมือของเทน ฮาก ที่มี "ความยืดหยุ่นทางด้านการเล่น" สูงที่สุดของทีมแล้ว เพราะเป็นนักเตะที่เล่นได้หลากหลายตำแหน่งที่สุดในทีมชุดนี้

ผู้อ่านหลายคนอาจจะงงว่าหลากหลายยังไง แค่เล่นแบ็คได้สองฝั่งเท่านั้นเอง

-เบื้องต้นก็คือ การลงสนามได้ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา คือคุณสมบัติอันดีเยี่ยมที่โค้ชทุกคนต้องการ เพราะถ้ามีตัวฝั่งใดฝั่งหนึ่งมีปัญหานานๆ นักเตะแบบดาโลต์จะช่วยอุดรูรั่วให้ทีมได้เยอะ ไม่ว่าจะฝั่งขวาที่ถนัด หรือฝั่งซ้ายที่เขาสามารถเล่นได้ ตามที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว ดาโลต์เคยเล่นแบ็คซ้ายมาก่อนตั้งแต่สมัยเป็นดาวรุ่ง เรื่องนี้ถือว่าธรรมดา

การขยับมาเล่นแบ็คซ้ายของดาโลต์ ที่หลายๆคนสงสัยว่า ทำไม EtH ถึงเลือกเขาลงก่อนแบ็คซ้ายธรรมชาติที่ยืมตัวมาอย่าง เซร์คิโอ เรกีลอน ทำไมเอริคมองไม่เห็นค่าของเรกีลอน? เอริคคิดเยอะไป? ดาโลต์ลูกรัก? คิดว่าเหตุผลของการใช้ดาโลต์ลงก่อนนั้นน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ "Routine การเล่น" ที่เอริค เทน ฮาก ต้องการให้ "ตัวเล่นหลัก" ของเขาได้ลงสนามสร้างความคุ้นเคยในแผนให้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้จังหวะการเล่นในสนามมันคุ้นเคยกันขึ้นระหว่างตัวเล่นที่ลงเล่นร่วมกันเป็นหลัก

-นอกจากนั้นก็คงเป็นเหตุผลเรื่องของความสามารถหลักที่เอริคต้องการ เช่น เรื่องของเกมรับ เป็นต้น (ถ้าเทียบกันระหว่างดาโลต์ กับ เรกีลอน ก็จะชัดเจนมาก เพราะดาโลต์ยังเล่นรับได้บ้าง แต่เกมป้องกันเรกีลอนไม่ใช่จุดเด่นเลย จะเลือกลงสนามได้ในเกมที่เจอคู่ต่อสู้ซึ่งสามารถจะครองบอลได้เหนือกว่า และได้เป็นฝ่ายบุกเท่านั้นจึงจะปลอดภัย)

เหตุผลเรื่องนี้ค่อนข้างง่ายถ้าสังเกตจริงๆ มันก็มีเหตุผลซัพพอร์ทอยู่แล้วว่าทำไมต้องใช้ดาโลต์มาลงซ้ายแทนแบ็คซ้ายธรรมชาติบ่อยๆ ถ้าไม่ใช่ตัวหลักอย่าง ลุค ชอว์ แค่คนเดียวนั้น ดาโลต์แทบจะเป็น แบ็คซ้ายอันดับสองของทีมแล้วด้วยซ้ำ

การเล่นแบ็คขวาของดาโลต์ เมื่อก่อนก็จะเป็นตัวเติมเกมริมเส้นด้านบนเพื่อช่วยซัพพอร์ตปีกขวาเป็นหลักแค่อย่างเดียว เราก็จะไม่ได้เห็นบทบาทของเขามากกว่านั้น ซึ่งถ้าขวาขึ้นเกมไม่ได้ ดาโลต์ก็แทบจะหายจากเกมเหมือนกัน ไม่ได้มีหน้าที่อื่นๆ

แต่ตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ดาโลต์พัฒนาตัวเอง และเพิ่มบทบาทมากกว่าเดิม ทั้งหน้าที่(Duty) ทั้งพื้นที่รับผิดชอบ(Area) และรูปแบบของแทคติกที่ทีมขยายการปรับใช้เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง

ต้นเหตุของปัญหา เกิดขึ้นอย่างที่แมนยูเห็นปัญหาในเรื่องของช่องโหว่จากการใช้ คาเซมิโร่ ที่มีอายุเยอะขึ้นแล้วนั้น ยืนเล่นเป็นเบอร์ 6 แดนต่ำแค่คนเดียวในแผนที่เอริค ต้องการใช้ 4-3-3 แบบมิดฟิลด์คู่ 8s ดันเกมบุกร่วมกัน

ปัญหาเกิดขึ้นเวลาโดนบุกโจมตีด้วยความเร็ว คาเซมิโร่เกิดปัญหาทันทีถ้าจะให้เขาต้องรับผิดชอบแดนต่ำนี้คนเดียวเน้นๆ รวมถึงเรื่องของการครองบอล Build-up จากแดนหลังด้วย เมื่อก่อนยูไนเต็ดจะใช้ "กลางต่ำ" ตัวรับบอลเชื่อมบอลจากแผงกองหลังสามตัวแค่คนเดียวเท่านั้น เวลาเจอเพรสก็จะค่อนข้างลำบากมาก

เพราะฉะนั้น เพื่อปิดจุดอ่อนของทีมในต้นซีซั่นที่โดนโจมตีเรื่องนี้ หลายๆคนยังไม่รู้ว่า เอริค เทน ฮาก ปรับโครงสร้างการยืนของทีมด้วยระบบสมัยใหม่ที่ใช้ตัวเล่นพิเศษจากแผงหลัง ขึ้นมา "ยืนคู่กับมิดฟิลด์ตัวรับ" อีกหนึ่งคน ในลักษณะของกลางต่ำคู่เสมือน  เช่นที่เป๊ป ใช้สโตนส์(CB)ยืนคู่โรดรี้, อาร์เตต้าใช้ ซินเชนโก้(LB),ปาร์เตย์(จากตำแหน่งRBในเกมนั้นๆ) ยืนคู่ เดแคลน ไรซ์

ด้วยโครงสร้างการยืนที่เป็นฐาน "3-2"

เช่นกัน ยูไนเต็ดที่ใช้คาเซฯห้อยเดี่ยวตัวเดียวใน Base Structure 3-1 แล้วเกิดปัญหาบ่อยๆในต้นซีซั่น ดังนั้นระยะหลังนี้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เมื่อได้ตัวหลักๆอย่าง คาเซมิโร่ ลิชา ชอว์ กลับมาลงสนาม ทีมปรับมาเล่นด้วยฐาน "3-2" อย่างชัดเจน

โดยใช้ท่าน "ดิโอโก้ ดาโลต์" ผู้นี้นี่เองในการขึ้นมายืนคู่กลางต่ำ เพื่อช่วยแพ็คเกมคู่คาเซมิโร่ตรงกลางสองคน ในการต่อบอลจากฐานสามตัวที่เอริคใช้กองหลังส่วนที่เหลือยืนเซ็ตสามตัวกระจายออกแนวด้านกว้าง ชอว์ซ้าย ลิชาเป็น Ball-playingคุมกลาง วารานถ่างออกมาขวา 

ถ้าหากบางเกมที่ต้องการให้แบ็คอย่างชอว์ เติมเกมรุกสูงมากๆ จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างอิสระด้วยการถอยคาเซลงไปยืนเป็นฐานสาม แทนชอว์, ดันชอว์ขึ้นหน้าไปรอเล่นบอลบุกทางซ้ายคู่แรช และกลางคู่ จะกลายเป็น บรูโน่ หรือ ไมนู ที่ถอยต่ำลงมาคู่กับ ดาโลต์ แทนคาเซมิโร่ทันที ตามตัวอย่างจังหวะข้างล่างนี้

ลักษณะของการเล่นจากตำแหน่งแบ็คขวา ที่หุบเข้ากลางมาในลักษณะนี้ คือสิ่งที่แฟนบอลยุคใหม่จะเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่านี่คือ Inverted Wing-back หรือว่าวิงแบ็คที่หุบเข้ามาเล่นด้านในนั่นเอง

สมัยก่อน ดาโลต์เล่นแค่แบ็คเติมเกมริมเส้น แต่เมื่อแมนยูไนเต็ดมีการปรับเปลี่ยนดีเทลตรงนี้ ดาโลต์ก็ถูกใช้ในบทบาทที่ advance มากกว่าเดิมในการหุบเข้าในมารับผิดชอบ "พื้นที่กลางสนาม" (Central Channel) มากขึ้นกว่าเดิมที่เคยเล่นแค่บริเวณริมเส้น(Flank) และหุบเข้ามาแค่ Half-space

บทบาท Inverted ของดาโลต์ หุบมาเล่นเข้าในเต็มตัว และเป็นบทพิสูจน์ความสารพัดประโยชน์ของเขาว่า ดาโลต์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ "ผู้เล่นริมเส้น" ที่เล่นได้แค่เกมด้านข้างในพื้นที่แคบๆเท่านั้น เขาเก่งพอจะสแกนพื้นที่ตรงกลางรอบๆตัว และมี Awareness ที่ดีไม่แพ้มิดฟิลด์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Spatial Awareness (การรับรู้พื้นที่) หรือจะเป็น Position Awareness (การรับรู้ตำแหน่งในสนาม) เจ้าตัวสามารถรับผิดชอบช่วยเหลือทีม

และ "เข้าใจเกม" เป็นอย่างดี ซึ่งจุดเด่นเรื่องเซนส์และความเข้าใจเกมสูงนี่แหละ ทำให้เขาสามารถเล่นได้หลายบทบาท และรับหน้าที่เยอะมากๆในสนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหาตำแหน่งยืนที่มีรายละเอียดวิธีคิดเยอะมากๆ ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจเกม และเข้าใจปรัชญาวิธีคิดของโค้ชมากจริงๆ ซึ่งเป็น IQ Football ในการปรับ Positioning ในสนาม ตามแต่สถานการณ์

ยกตัวอย่างเช่นประเด็นที่ว่า จะดูยังไงว่าเมื่อไหร่ดาโลต์จะหุบเข้าใน / เมื่อไหร่ควรจะถ่างออกริมเส้น

ดาโลต์จะต้องอ่านสถานการณ์ในสนาม และเข้าใจมากๆว่าตัวเองควรขยับตำแหน่งเพื่อช่วยทีมยังไง โดยหลักๆเบื้องต้นก็คือ ถ้าเกมเป็นฝ่ายครองบอลอยู่ หรือ กำลังขึ้นเกมในซีกซ้าย ดาโลต์จะหุบเข้าในมายืนกลางคู่มิดฟิลด์ตัวรับ เพื่อเซ็ตฐาน 3-2 เสมอ ในการเข้ามาซัพพอร์ตกลางต่ำตัวโฮลดิ้งอย่างคาเซมิโร่ไม่ให้โดดเดี่ยวนั่นเอง

ตามภาพข้างล่างนี้ที่เขาพยายามจะขยับตำแหน่งของตัวเอง เข้ามาเพื่อช่วย และต่อบอลกับคาเซมิโร่ได้

แต่ถ้าทีมจะมีการเปลี่ยนแกนมาขึ้นทางขวาแทน หรือบอลถูกส่งไปถึงปีกขวาที่ขึงเกมริมเส้นแบบ Isolate ทางขวาได้สำเร็จด้วยการออกบอลยาวสวิตช์แกนจากตัวเปิดบอลอย่างบรูโน่ไปหาปีกขวา

เมื่อเกมของทีมจะขึ้นทางขวา ดาโลต์จะขยับตำแหน่งทันที จากเดิมที่เล่น Inverted WB หุบเข้าในอยู่ เขาจะถอยตัวเองออกมา แล้วขยับออกด้านกว้างทันทีในลักษณะของการเป็น แบ็คขวาตัวเติมเกมริมเส้น รอช่วยรับบอลด้านขวา และเติมเกมช่วยปีกในแนวกว้าง

ซึ่งก็ต้องใช้ความเข้าใจในการเล่นร่วมกับปีกขวาอีกว่า จังหวะไหนตัวเองจะหุบเข้า "ฮาล์ฟสเปซ" เพื่อสร้างการยืนที่ได้เปรียบ, จังหวะไหนที่ตัวเองจะต้อง "โอเวอร์แลป" ออกวงนอก ในจังหวะที่ปีกขวาอย่างการ์นาโช่หรืออันโทนี่หุบเข้าในไปแล้ว

เช่นภาพด้านล่างนี้ที่ปีกจะสปีดถ่างออก Wide Area เขาก็จะสลับแชนแนลหุบเข้า Half-space แทนปีกทันที

ดาโลต์ต้องใช้เซนส์ และความเข้าใจเกมสูงมากๆ และการเล่นที่รับผิดชอบแอเรียในสนามที่กว้างมากๆ ตั้งแต่ตรงกลาง, ฮาล์ฟสเปซ จนถึงริมเส้น และหน้าที่เยอะสุดๆ ทั้งเติมเกมบุกให้ทางขวา, หุบเข้าในมาช่วยมิดฟิลด์, เล่นเกมรับในฐานะแบ็คขวา, หาจังหวะยิงในการเป็นตัวรุกรอบนอก

Multitasking ของแท้ พ่อคุณเอ๊ย

สิ่งนี้คือ "พัฒนาการในเรื่องความหลากหลาย และหน้าที่ในการเล่นที่เพิ่มมากขึ้น" จากเดิมเป็นแค่แบ็คตรงๆ ตอนนี้เขารับผิดชอบหลายหน้าที่ในสนามมาก รับผิดชอบพื้นที่เล่นหลายๆแอเรีย จากเดิมที่ผ่านมาคือเล่นริมเส้นในพื้นที่ของแบ็คขวาอย่างเดียวเน้นๆ ตอนนี้ดาโลต์วิ่งพล่านทั่วสนาม แล้วเจ้าตัวก็ขยันวิ่งตลอดเกมไม่หยุดทุกเกมซะด้วยสิ น่าชื่นชมมาก

ด้วยทักษะที่มีครบเครื่อง และความสามารถรอบด้านที่เล่นในทุกพื้นที่อย่างอิสระแบบนี้ ถ้าพัฒนาตัวเองมากยิ่งขึ้นไปอีก อนาคตสามารถพัฒนาไปเป็นมิดฟิลด์ตัวกลางหรือเล่นเซ็นเตอร์ก็ยังได้ เช่นภาพข้างบนนี้ แกหุบเข้ามายืนในยังกะมิดฟิลด์แท้ วางบอลแทนคาเซมิโร่แล้ว ตามภาพด้านบนนี้ในช่วงท้ายเกมชนะเวสต์แฮม

หรือไม่ก็สามารถปรับมาเล่นไลน์สุดท้ายเป็นเซ็นเตอร์แบ็คตัว Ball-playing ก็ยังได้ในอนาคตถ้าเก๋าเกมมากขึ้น กล้ามเนื้อแกร่งขึ้น เนื่องจากพื้นฐานสรีระร่างกายของดาโลต์น่าจะพอเล่นได้อยู่แล้ว เขาสูง 183 cm เพราะขนาดมาร์ติเนซ 175 ยังเล่นได้เลย

อนาคตมีตำแหน่งที่เล่นได้เพิ่มอีกแน่นอน รับประกัน

สกิลทักษะในการเล่นกับบอลที่ดี ภาพนี้ที่กำลังโดนเพรสซิ่งบีบใส่ก็สามารถเลี้ยงพาบอลหนีออกมา และเปิดบอลขึ้นหน้าได้สำเร็จ

และประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คิดว่าข้อนี้แฟนบอลคงสังเกตง่ายสุด นั่นก็คือ "พัฒนาการในด้านการเล่นเกมรับ" ดาโลต์คนเดิมที่เกมรับไม่เอาเลยในสมัยอายุยังน้อยๆนั้น ได้ค่อยๆหายไปทีละนิด

โอเคว่ายังมีจังหวะพลาดให้เห็นมาเป็นระยะๆ แต่มันก็ดีกว่าเดิมเยอะแล้ว ถ้าคนไม่จับผิดและจำได้แต่จังหวะที่มันพลาดแค่ไม่กี่ครั้งจะเยี่ยมมากๆ เพราะจังหวะดีๆที่ดาโลต์เล่นเกมรับให้ทีมได้มากมายหลายครั้ง มีเยอะกว่าช็อตที่ผิดพลาดมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับมือลูกโด่งที่หลายๆครั้งเคลียร์บอลโด่งออกไปได้สำเร็จ

การปิดผนึกปีกคู่แข่งไม่ให้เลี้ยงกินตัวมาได้ง่ายๆ ทำให้การป้องกันพื้นที่ด้านข้างไม่หลุดรั่วจนแนวรับตรงกลางมีปัญหา สามารถรับมือกับปีกคู่แข่งได้ดี ตามติดแบบกัดไม่ปล่อยได้เสมอ

และล่าสุดที่เห็นชัดๆ ช็อตสับตีนแตกลงมาซ้อนแมกไกวร์ที่โดนเปิดบอลข้ามหัวมา ดาโลต์เร็วถึงขนาดวิ่งไล่ตามมอ'ไซค์อย่าง จาร็อด โบเว่น ที่กระชากหลุดเดี่ยวคนเดียวมาได้ทัน ทั้งๆที่ได้โอกาส 1-1 กับโอนาน่า และกำลังจะยิงเข้าไปแล้ว กลับเจอดาโลต์สไลด์มาบล็อคได้แบบโคตรเท่อย่างไม่น่าเชื่อ เซฟประตูให้ทีม เซฟคลีนชีทให้เราทำได้สำเร็จ

เกมรับคือจุดที่ดาโลต์พัฒนาขึ้นมาแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่เคยเป็นจุดอ่อนแบบที่ "ไม่เอาเลย" รั่วบ่อยๆเหมือนที่หลายๆคนชอบเรียกชื่อเขา ดารั่ว ด้วยนัยของการแซะแบบนี้ แต่ปัจจุบันเราแทบจะเรียกเขาว่า "น้องโล่" ได้เต็มปาก ในฐานะที่เป็นโล่ป้องกันที่สำคัญของปีศาจแดง แทนที่ดารั่วในอดีตที่ค่อยๆเลือนหายไปทีละน้อย

การไม่มีวานบิสซาก้าอยู่ในทีม แล้วต้องสู้กับปีกเก่งๆของคู่แข่ง ตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาน่ากังวลอีกแล้ว หลายๆเกมในปีนี้พิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าดาโลต์เอาอยู่จริงๆ

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของความยอดเยี่ยมในเรื่องของ "การพัฒนาตัวเอง" ที่บอกได้เลยว่า เรทการพัฒนาตัวเองของเขาอยู่ในเลเวล A+ ได้เลย คือพัฒนาขึ้นกว่าเดิมเยอะมากจริงๆ เป็นนักเตะคนหนึ่งของทีมเราที่เห็นความเปลี่ยนแปลง(ในทางที่ดีขึ้น) ชัดมากถ้าเทียบกับที่ผ่านๆมา (A+ที่ว่านี้พูดถึงเรื่องเรทของพัฒนาการ ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นแบ็คระดับA+ไปแล้ว) 

อายุที่เพิ่งจะ 24 ดาโลต์ยังสามารถไปได้ไกลกว่านี้เยอะ ปีนี้น่าจะเป็นปีแรกที่เขาเฉิดฉายแบบจริงๆจังๆ และน่าจะเจริญรอยตามแบ็ครุ่นพี่อย่าง เจา คันเซโล่ ตามไปได้ติดๆแน่

แม้ว่าอาจจะไม่ได้เก่งขนาดคันเซโล่ แต่ความเป็นแบ็คสารพัดประโยชน์ที่ all around แบบสุดๆ เล่นได้ทุกอย่างทั้งรุกและรับ ตรงกลางหรือริมเส้น ทำให้ดาโลต์น่าจับตามองมากๆในตอนนี้

คิดเอาว่าถ้าอนาคตเก่งกว่านี้อีก เขาอาจสามารถขึ้นเป็นแบ็คตัวท็อปไฟว์ของโลกได้เหมือนกัน ถ้ายังพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องได้แบบนี้ ปัจจุบันนี้ในยุโรปแกก็น่าจะติด 1 ใน 20 แบ็คขวาฟอร์มดีอันดับแรกๆของห้าลีกหลักแล้ว

น่าชื่นชม และน่าดีใจจริงๆ แบ็คดาวรุ่งที่เข้ามาตั้งแต่ยุคน้ามู ตอนนี้ตามรอย ลุค ชอว์ ในการเป็นดีลที่คุ้มค่าระยะยาว จากการซื้อมาตั้งแต่อายุน้อยๆเหมือนชอว์ และจะได้ใช้เป็นตัวหลักระยะยาวให้ทีมไปอีกหลายปีต่อจากนี้ ที่จะเก่งยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก

พัฒนาต่อไปนะน้องโล่ ตอนนี้นายกำลังจะเป็น "โล่แห่งปีศาจแดง" จริงๆแล้ว

#BELIEVE

-ศาลาผี-

References

https://www.transfermarkt.com/diogo-dalot/leistungsdaten/spieler/357147

https://fbref.com/en/players/d9565625/Diogo-Dalot

https://www.youtube.com/watch?v=cVGorT__VC4&t=609s

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด