:::     :::

ฟุตบอลโลก 1950 : จอมโหดดับฝันแซมบ้า

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ฟุตบอลโลกกลับมาแข่งขันกันอีกครั้งหลังเว้นไป 12 ปีเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศบราซิลได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันต่อจากยุโรปที่รับหน้าที่ใน 2 ครั้งก่อนหน้า ทว่าทัพแซมบ้าต้องอกหักทั้งประเทศเมื่อพ่ายในนัดตัดสินต่ออุรุกวัยที่คว้าแชมป์โลกสมัย 2 ไปครอง

ผลพวงจากสงครามโลกทำให้เยอรมันและญี่ปุ่นโดนคว่ำบาตรจากนานาชาติ ขณะที่หลายชาติไม่พร้อมสำหรับเข้าร่วมแข่งขัน นอกจากนี้ สกอตแลนด์, ตุรกี และอินเดีย ต่างพากันถอนตัวแม้ผ่านรอบคัดเลือกมาได้โดยทีมหลังสุดโดนตัดไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นด้วยเท้าเปล่าจึงไม่เข้าร่วมรอบสุดท้าย

ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร.ออตโตริโน บาราสซี รองประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ได้เก็บรักษาถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลก หรือ ถ้วย ''จูลส์ ริเมต์'' เอาไว้ในกล่องรองเท้าใต้เตียงนอนจนนำมาเป็นถ้วยรางวัลสำหรับทีมแชมป์ในครั้งนี้ 

มีทีมในรอบสุดท้าย 13 ทีมประกอบด้วย บราซิล, ยูโกสลาเวีย, สวิตเซอร์แลนด์, เม็กซิโก, สเปน, อังกฤษ, ชิลี, สหรัฐฯ, สวีเดน, อิตาลี, ปารากวัย, โบลิเวีย และอุรุกวัย ขณะที่ระบบการแข่งขันมีการปรับเปลี่ยนจากแข่งแบบน็อกเอาต์มาเป็นแบ่งกลุ่มทั้งหมด 4 กลุ่ม และมี 1 กลุ่มที่มี 3 ทีม แข่งแบบพบกันหมดเพื่อหาทีมที่มีคะแนนมากสุดเข้ารอบแบ่งกลุ่มรอบสุดท้าย


ถ้วย จูลส์ ริเมต์ รอดพ้นจากภัยสงครามมาได้

บราซิลที่ลงทุนสร้างสนาม ''มาราคาน่า'' ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ พวกเขาเริ่มต้นอัดเม็กซิโอ 4-0 ต่อด้วยเสมอสวิตเซอร์แลนด์ 2-2 และปิดท้ายทุบ ยูโกสลาเวีย 2-0 

  ทีมชุดนี้โชว์ฟอร์มได้สมราคาทีมเต็ง มีนักเตะระดับพระกาฬอัดแน่นจนล้นทีม ไม่ว่าจะเป็น ซิซินโญ่, ฟริอาซ่า, ชิโก้ และอเดเมียร์ ประกอบกับมี ฟลาวิโอ คอสต้า กุนซือหนวดงาม รับหน้าที่คุมทีม

ขณะที่ทีมชาติอังกฤษถือว่าน่าจับตามองไม่แพ้กันเพราะมีดาวดังหลายคนนำโดย สแตนลี่ย์ แม็ทธิวส์, อัลฟ์ แรมซี่ย์, ทอม ฟินนี่ย์ และ บิลลี่ ไรท์ แต่เอาเข้าจริงทัพสิงโตกลับคำรามไม่ออกเพราะเอาชนะชิลีในนัดแรกนัดเดียว อีก 2 นัดแพ้รวด รวมถึงเสียท่าแม้กระทั่งทีมอ่อนหัดอย่างสหรัฐฯ 0-1 ซึ่งถือเป็นเกมที่พลิกล็อกที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก

บราซิล เจ้าภาพ, อุรุกวัย แชมป์โลกครั้งแรก, สวีเดน และ สเปน คือ 4 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ ขณะที่อิตาลีซึ่งมีดีกรีแชมป์ 2 สมัยหลังสุดตกรอบแรกซึ่งสาเหตุสำคัญคือพวกเขาขาดตัวหลักที่เป็นแข้งโตริโน่ไปหลายคนอันเนื่องจากเครื่องบินตกในปี 1949 

เจ้าภาพยังทำผลงานร้อนแรงไล่ต้อนสวีเดน 7-1 ก่อนขยี้ทีมสเปนได้อีก 6-1 ขณะที่ทีมอุรุกวัยเริ่มต้นกระท่อนกระแท่นหวุดหวิดจะแพ้สเปนตั้งแต่นัดแรก ยังดีที่ตามตีเสมอ 2-2 ในช่วงท้าย และใช้ความเก๋าเบียดชนะสวีเดนหวุดหวิด 3-2 ทำให้การเจอกับบราซิลในนัดสุดท้ายกลายเป็นนัดชี้ชะตาตัดสินแชมป์โลก 


อเดเมียร์ ดาวยิงตัวเก่งของบราซิลที่คว้ารางวัลดาวซัลโว 8 ประตู 

แฟนบอลชาวเมืองกาแฟอัดแน่นเข้าสนามมาราคาน่า สังเวียนในนัดชิงชนะเลิศเกือบ 2 แสนคน ทุกคนหวังจะมาฉลองตำแหน่งแชมป์โลกครั้งแรกของประเทศกันอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับรัฐบาลบราซิลในยุคนั้น เตรียมที่จะประกาศหยุดงานในวันรุ่งขึ้นเพื่อฉลองแชมป์กันให้เต็มคราบเลยทีเดียว 

ในเวลานั้นไม่มีใครเชื่อว่าทีมอุรุกวัยจะมีปัญญาต้านทีมเต็งจ๋าอย่างบราซิลได้โดยเฉพาะกับการที่ อเดเมียร์ ดาวยิงตัวเก่ง กำลังเข้าฝักกดไปแล้ว 8 ประตู 

ทว่าอุรุกวัยกลับทำได้ดีเกินคาด สามารถต้านทานเกมรุกบราซิลได้จนถึงนาที 47 ที่ทำนบแตกเมื่อ ฟริอาซ่า สบโอกาสซัดให้บราซิลนำก่อนและทำเอาสนามมาราคาน่าแทบแตก โอกาสอยู่ในมือเจ้าภาพทันทีเพราะเพียงแค่เสมอก็เป็นแชมป์โลกแล้ว แต่นี่ยังได้ประตูนำอีก 

หลังได้ประตูนำ ทัพแซมบ้าออกอาการย่ามใจ ขณะที่อุรุกวัยก็สู้ถวายหัวเพราะไม่มีอะไรจะเสียจนกระทั่งทำประตูตีเสมอได้จาก ฮวน เคียฟฟิโน่ ในนาที 66 และฮึกเหิมขึ้นตามลำดับ ขณะที่เจ้าภาพเริ่มอ่อนแรงเสียเอง และในที่สุดสนามมาราคาน่าก็เงียบสนิทเมื่อ อัลซิเดส กิเกีย ได้โอกาสซัดเต็มข้อส่งบอลเสียบโคนเสาเข้าไปให้จอมโหดชนะ 2-1

อุรุกวัยทำคะแนนแซงหน้าบราซิลได้สำเร็จ และคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 ไปครองได้อย่างยิ่งใหญ่ ขณะที่แฟนบอลแซมบ้าต้องน้ำตานองทั้งประเทศ และจบฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลบราซิลไล่ตั้งแต่ชุดแข่งขันจากเสื้อน้ำเงินกางเกงขาวมาเป็นเสื้อเหลืองกางเกงน้ำเงินอันเป็นเอกลักษณ์จนถึงทุกวันนี้

 
อุรุกวัย เอาชนะเจ้าภาพบราซิล 2-1 ในนัดชี้ชะตาแชมป์ 

แฟกต์ไฟล์ฟุตบอลโลก 

ชาติเจ้าภาพ : บราซิล

สนาม : 6 สนาม

จำนวนทีม : 13 ทีม

จำนวนนัด : 22 นัด

วันแข่งขัน : 24 มิถุนายนถึง 16 กรกฎาคม ปี 1950 

จำนวนประตู : 88 ประตู

ผู้ชมทั้งหมด : 1,045,246 คน (47,511 คนต่อนัด) 

ทีมแชมป์ : อุรุกวัย (สมัย 2) 

รองแชมป์ : บราซิล

อันดับ 3 : สวีเดน

อันดับ 4 : สเปน

รางวัลรองเท้าทองคำ :  อเดเมียร์ (บราซิล) 8 ประตู 

สรุปดาวซัลโว

8 ประตู : อเดเมียร์ (บราซิล)

5 ประตู : เอสตานิสเลา บาโซร่า (สเปน), ออสการ์ มิเกวซ (อุรุกวัย)

4 ประตู : ชิโก้ (บราซิล), ซาร์ร่า (สเปน), อัลซิเดส กิเกีย (อุรุกวัย)

3 ประตู : คาร์ล เอริค พัลเมอร์ (สวีเดน), สติก ซุนด์สควิสต์ (สวีเดน), ฮวน อัลแบร์โต้ ชาฟฟิโน่ (อุรุกวัย)


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด