:::     :::

หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่

วันพุธที่ 27 มิถุนายน 2561 คอลัมน์ Football Therapy โดย บี้ เดอะสปา
2,115
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
4 ปีที่แล้ว 4 ทีมจากเอเชีย ต่างจอดรอบแรก เวิลด์คัพ ที่ บราซิล ด้วยการจมบ๊วยของกลุ่มทั้งหมด เป็นความเลวร้ายยิ่งกว่า เวิลด์คัพ 2006 ที่ตกรอบแบ่งกลุ่มทุกทีมเช่นกัน

ญี่ปุ่น คือชาติตัวแทนจากเอเชียที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย ฟุตบอลโลก เป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกัน และเมื่อดูจากผลงานนับตั้งแต่ปี 1998 ปรากฏว่า 'ซามูไร บลู' สลับไปมาระหว่างตกรอบแรก กับจอดรอบ 16 ทีมสุดท้าย

เวิลด์คัพ 1998 ตกรอบแรก
เวิลด์คัพ 2002 ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย
เวิลด์คัพ 2006 ตกรอบแรก
เวิลด์คัพ 2010 ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย
เวิลด์คัพ 2014 ตกรอบแรก
(เวิลด์คัพ 2018 ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย???)
เวลานี้ ญี่ปุ่น คือตัวแทนจากเอเชียที่เหลือเพียงทีมเดียว ที่ยังมีลุ้นผ่านรอบแรก เข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย หลังจาก ซาอุดิอาราเบีย, อิหร่าน ต่างตกรอบไปแล้ว และ เกาหลีใต้ ใกล้จะตามไป (ไม่อยากนับ ออสเตรเลีย ที่มาจากทวีปอื่น)
ไล่ดูรายชื่อนักเตะ ญี่ปุ่น ชุดนี้ นักเตะตัวจริงจาก 2 นัดแรกส่วนใหญ่ผ่านประสบการณ์มาจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ชินจิ คางาวะ, มาโคโตะ ฮาเซเบะ, มายะ โยชิดะ, ยูโตะ นางาโตโมะ, ยูยะ โอซาโกะ เออิจิ คาวาชิมะ และที่หลุดเป็นสำรองอย่าง เคอิสึเกะ ฮอนดะ กับ ชินจิ โอกาซากิ
แล้วทำไม ทัวร์นาเมนต์ที่ บราซิล พวกเขาถึงล้มเหลวไม่เป็นท่า ทั้งที่คู่แข่งในรอบแบ่งกลุ่มแทบไม่ต่างกันเลย เพราะมี โคลอมเบีย อยู่ร่วมกลุ่มเหมือนเดิม อีกสองทีมคือ กรีซ และ ไอวอรี่โคสต์ ขณะที่ ฟุตบอลโลกหนนี้เป็น โปแลนด์ กับ เซเนกัล
เทรนเนอร์ในเวลานั้น อัลแบร์โต้ ซัคเคโรนี่ พยายามเน้นให้นักเตะยึดติดกับรูปแบบการครองบอลแบบ 'ตีกี ตากา' ที่กำลังค่อยๆ 'เอาท์' เห็นได้จากต้นตำรับอย่าง สเปน ที่ตกรอบแรกแบบงามไส้ และเจ้าภาพ บราซิล ที่โดน เยอรมนี ทะลวงไส้แตก 7-1 รอบรองชนะเลิศ
สิ่งที่เห็นได้จากทีมชุดปัจจุบันของ อากิระ นิชิโนะ คือการเล่นบอลสั้นสลับยาว และมีการโจมตีหรือเข้าทำจากริมเส้นมากขึ้น ซึ่งอย่างที่บอกไป นักเตะหลายคนก็อยู่ในทีมเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ผลงานต่างกันลิบลับ
ในเกมแรกที่ชนะ โคลอมเบีย 2-1 ประตูแรกมาจากบอลยาวที่ ยูยะ โอซาโกะ สปีดเข้าไปเอาบอลแล้วได้เหลี่ยมที่ดีกว่า จนนำมาซึ่งจุดโทษและใบแดง ส่วนประตูที่สองมาจากลูกเตะมุมที่เข้าหัว โอซาโกะ
และเกมสองที่เสมอ เซเนกัล 2-2 ประตูแรกก็มาจากบอลยาวอีก ยูโตะ นางาโตโมะ ดูดบอลลงแล้วเป็น ทาคาชิ อินูอิ ที่ปั่นเสียบมุม และลูกสองมาจากบอลริมเส้นฝั่งซ้ายที่ผ่านให้ เคอิสึเกะ ฮอนดะ
นิชิโนะ ที่ไม่ได้คุมทีมในรอบคัดเลือก เข้ามาจัดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่น และทัศนคติในการเล่นของนักเตะเสียใหม่ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ยึดติดกับการต่อบอลสั้นอย่างเดียวเหมือนเมื่อ 4 ปีก่อน และทิ้งภาพลักษณ์การเป็น 'บราซิลแห่งเอเชีย' ไปเลย
ฟุตบอลก็เหมือนกับแฟชั่น มี 'อิน' และมี 'เอาท์'
และตอนนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่ช่วงเวลาของฟุตบอลสไตล์ 'ตีกี ตากา' อีกต่อไป เห็นได้ชัดเจนจาก สเปน, บราซิล, อาร์เจนตินา หรือแม้แต่ เยอรมนี ที่แม้จะมีเปอร์เซนต์ครองบอลที่สูงมากในแต่ละนัด แต่ล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาเรื่องการทำประตูกันแทบทั้งสิ้น
ด้วยฝีเท้า ความแข็งแกร่ง ประสบการณ์ และทีมเวิร์ค ญี่ปุ่น ถือว่าพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ก็เหลือแต่เรื่องแท็กติกการเล่นของโค้ชแล้วว่าจะเค้นศักยภาพนักเตะออกมาได้มากแค่ไหน และที่สำคัญที่สุดต้องเน้นเรื่องการเข้าทำมากกว่าการครองบอล
ญี่ปุ่น เหลือภาระกิจสำคัญในเกมรอบแบ่งกลุ่ม นัดสุดท้ายเจอกับ โปแลนด์ ที่ตกรอบไปแล้ว ที่สนาม โวลโกกราด อารีน่า วันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งทีมของ นิชิโนะ ขอแค่ผลเสมอก็จะการันตีการเข้ารอบทันที แต่หากแพ้ ก็ต้องไปลุ้นผลอีกคู่ให้เป็นใจด้วย
เชื่อว่า ไม่ใช่งานยากจนเกินไปสำหรับขุนพล 'ซามูไร บลู' กับการเป็นหนึ่งเดียวจากทวีปเอเชียที่ผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาท์ 16 ทีมสุดท้าย เวิลด์คัพ 2018

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด