:::     :::

Tactical Analysis : รูปแบบการป้องกันของ3กลางรับปีศาจแดง

วันศุกร์ที่ 08 มกราคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
9,530
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือบทวิเคราะห์เชิงลึกจัดๆทางด้านการเล่นเกมรับของ สามมิดฟิลด์ตัวรับยูไนเต็ด ชำแหละกันถึงระดับอนุภาคนิวทริโน พร้อมด้วยข้อมูลกึ่งๆงานวิจัย ใครใจกล้าก็สูดลมหายใจลึกๆ เตรียมกาแฟสักสามแก้ว แล้วค่อยๆอ่านทำความเข้าใจ"ช้าๆ" ไปทีละนิด ถ้าเข้าใจ จะเห็นภาพกลางรับของทีมชัดเจนมาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชมฟุตบอลในปัจจุบันนี้นั้น มีการพัฒนาขึ้นอย่างมากมายในเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา ทำให้เทคนิคการเล่น การจัดการ และการวางแผนให้นักฟุตบอลนั้นมันcomplexมากขึ้น และละเอียดยิ่งขึ้นกว่าสมัยอดีตอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งที่เหล่าผู้จัดการทีมและโค้ชในยุคนี้ทำกันก็คือ แต่ละทีมมักที่จะมีการใช้นักวิเคราะห์และนักสถิติ คอยทำงานช่วยเก็บข้อมูลต่างๆในเชิงประจักษ์ ทั้งในแง่ของตัวเลข ตำแหน่งการเล่น และanalyzeแทคติกในสนามให้เฮดโค้ชได้เห็น ซึ่งจะช่วยให้เขาเลือกตัดสินใจในการสั่งแผนการเล่นได้ดีขึ้น

การวิเคราะห์ข้อมูลแทคติกจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ช่วยได้มากในยุคนี้ และมันไม่ได้แปลว่าจะกลายเป็นการทำให้ฟุตบอล"ไม่เป็นธรรมชาติของกีฬามนุษย์" แต่อย่างใด แต่มันช่วยให้ทุกๆสิ่งถูกต้องและ "แม่นยำ" ในเชิงประจักษ์มากกว่า

ซึ่งในวันนี้เรื่องราวประเด็นภาควิเคราะห์ที่น่าสนใจนั้น มันมีข้อมูลภาคdefensiveของ "มิดฟิลด์ตัวรับ" ในทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดออกมาจากหลายๆแหล่ง และทำให้เราเห็นภาพอะไรชัดเจนขึ้นหลายๆอย่าง ถึงประเด็นที่ว่า สามมิดฟิลด์ตัวรับของทีมเราอย่าง Fred, Scott McTominay และ Nemanja Matic มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างในภาคการเล่น ในเรื่องสถิติที่พวกเขาแต่ละคนทำได้

ทั้งสามคนนี้มีจุดเด่นในแต่ละด้านจริงๆตรงไหนบ้าง และเราควรใช้งานสามคนนี้ในแง่ใด ข้อมูลวิเคราะห์ของวันนี้จะช่วยให้หลายๆคนเห็นภาพรวมของ "รูปแบบการเล่น" ที่ถนัดและเหมาะสมของเฟร็ด มาติช และแม็คโทมิเนย์ได้อย่างดีทีเดียว

1. Defensive Duels

ข้อมูลของกราฟนี้มาจาก Total Football Analysis เป็นแผนภาพที่ทางเว็บTFAเปรียบเทียบสถิติการเล่นของมิดฟิลด์ทั้งทีมเรา รวมพวกตัวรุกอย่างป็อกบา บรูโน่ ฟานเดอเบค มาต้าด้วย แต่เราจะโฟกัสที่กลางรับต่ำของทีม ซึ่งมันเป็นสถิติเชิงรับ (ดังนั้นกลางรับเราก็เด่นกว่าอยู่แล้วล่ะ) โดยที่ Defensive Duels แปลเป็นไทยแบบง่ายๆก็คือ "การดวลป้องกันเกมรุกคู่แข่ง" นั่นเอง ซึ่งก็คือการไปดวลหยุดเกมรุกของคู่แข่งตัวต่อตัวว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ (yes/no) นั่นเอง และมีปริมาณการเข้าไปดวลกี่ครั้ง สำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์

โดยที่คำอธิบายของ Defensive Duelsนี้มีอธิบายไว้ที่เว็บ Wyscout เอาไว้ว่า มันคือความพยายามหยุดการครองบอลของคู่แข่งในขณะนั้น เพื่อไม่ให้เขาทำเกมรุกต่อเนื่องเข้าใส่ทีมเราได้ ซึ่งหากทำได้ภายในสามรูปแบบนี้ก็ถือว่าDefensive Duels ทำได้สำเร็จ (yes หรือ duels wonนั่นเอง) อันได้แก่

-ชิงการครอบครองบอล เอามาเป็นของตัวเองได้ / -เตะสกัดตัวบอลทิ้งออกไปได้ / -ทำให้คู่แข่งต้องหยุดรุก และย้อนถอยหลังกลับไป

ทั้งหมดนี้คือyes เป็น duels won นั่นเอง

แผนภาพนี้แกนตั้ง(y)เป็น %ที่ป้องกันเกมรุกของคู่แข่งสำเร็จ ส่วนแกนนอน(x)เป็นปริมาณการป้องกันสำเร็จต่อ90นาที

ข้อมูลนี้ทำขึ้นมาช่วงพฤศจิกายนปีที่แล้ว 2020 โดยเปรียบเทียบ5นักเตะ และเทียบกันเองกับปีก่อนที่นักเตะนั้นๆทำได้ ซึ่งผลของสถิตินี้ก็คือ ในบรรดามิดฟิลด์ทีมเราทั้งหมดนั้น กองกลางคนที่มีปริมาณของการพยายามหยุดคู่แข่งมากที่สุด ก็หนีไม่พ้น "Fred" ทั้งสองซีซั่น ที่ทำราวๆถึง 11-13 ครั้งต่อ90นาทีโดยเฉลี่ย ที่เฟร็ดจะพยายามเข้าไปหยุดคู่ต่อสู้

มากที่สุดจริงๆ ส่วนเปอร์เซ็นต์ป้องกันสำเร็จอยู่ที่60-70% ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกันเมื่อเทียบกับปริมาณที่เยอะที่สุดของแก นี่คือมิดฟิลด์ที่ "ขยันที่สุดในเกมรับ" ช่วยทีมดวลหยุดเกมรุกของคู่แข่งได้มากที่สุด

ทางด้านมาติชกับแม็คโทมิเนย์นั้น เป็นลำดับถัดมาที่ดวลหยุดเกมรุกคู่แข่งในลำดับถัดมาโดยเฉลี่ยทั้งสองซีซั่น (ราวๆ9ครั้งต่อเกม) แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จากสถิติในกราฟนี้ เราจะเห็นชื่อของ ปอล ป็อกบา โผล่ขึ้นมามีปริมาณของ Defensive Duels ต่อ90นาทีค่อนข้างเยอะในปีนี้ คือเขาพยายามประมาณ10กว่าครั้งต่อเกม ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ในซีซั่นนี้ 2020/21 ปอล ป็อกบานั้น พยายามที่จะเล่นเกมรับมากกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก เพราะป็อกบาเป็นคนเดียวที่ค่าปริมาณเกมรับของ2ซีซั่น แตกต่างกันสิ้นเชิง เพราะปีก่อนเขาduels wonเพียงแค่ไม่ถึง6ครั้งต่อเกม ซึ่งค่อนข้างน้อย

ส่วนอีกประเด็นเล็กๆไม่ต้องสนใจก็ได้มั้ง กราฟนี้เราจะเห็นว่า มาต้ามี%หยุดเกมรับสำเร็จสูงมากๆเกือบ90% แต่เพราะว่านานๆทีพี่ต้าถึงจะเข้าไปหยุดคู่แข่งสักทีนึง แค่2-3ครั้งต่อเกม ชนะแค่ครั้งเดียวก็เกิน50%ละ และการไม่ได้มีหน้าที่(อยู่แล้ว)ที่จะต้องเล่นเกมรับเป็นหลักให้ทีม สถิติมาต้าอันนี้ไม่ต้องใส่ใจก็ได้!(ฮา)

2.Interceptions

ค่าสถิตินี้สำคัญมากอีกค่านึงและจะได้เห็นบ่อยๆ การInterceptionsของฟุตบอลมันคือ "การดักสกัดบอลจ่าย" ที่นักเตะทำได้ด้วยการชิงดักเพลย์ถ่ายบอลของคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายบอล หรือรวมถึง ครอสบอลก็ตาม (ค่านี้เป็นคนละตัวกับtacklesนะ เพราะแทคเกิลจะเข้าไปปะทะ แต่interceptionดักที่ตัวลูกบอล)

ส่วนการบล็อคจังหวะยิง บางที่อาจจะมีนับรวมกับinterceptionsไปด้วยแต่ไม่นิยม แต่ส่วนใหญ่จะแยกออกมาเป็นสถิติค่า block shots เลยอีกค่านึง ซึ่งในกราฟรูปนี้เป็นเช่นนั้น

จากกราฟในรูปนี้ของTotal Football Analysis เปรียบเทียบค่าการเล่นเกมรับสองอย่างนี้ของมิดฟิลด์ทีมเรา แกนตั้งเป็นปริมาณการInterceptions ต่อ90นาที ส่วนแกนนอนด้านล่างคือ การบล็อคลูกยิง เฉลี่ยต่อ90นาที

ด้านblock shots อันดับ1ที่ทำได้ดีที่สุดอย่างโดดเด่นในหมู่มิดฟิลด์คือ มาติช ที่บล็อคจังหวะยิงได้ 0.6ครั้งต่อเกม นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือ ป็อกบาในเกมรับก็มีปริมาณการช่วยบล็อคจังหวะยิงรองลงมาจากมาติชเช่นกัน แม้จะห่างแต่ก็ดูจะเยอะกว่ามิดฟิลด์คนอื่นๆในทีม เพราะด้วยสรีระและการอ่านคู่แข่ง ป็อกบาก็ช่วยหยุดได้บ่อยๆที่เราเห็นกันในกรอบเขตโทษ ไอ้ที่ดีก็ดีไป อันไหนซวยหน่อยก็อาจจะมีเสียจุดโทษบ้าง

block shots เป็นค่าที่แสดงให้เห็นความสามารถในการอ่านจังหวะคู่ต่อสู้ แล้วหยุดในเสี้ยววินาทีที่จำเป็นสุดๆ

ส่วนแนวแกนy ค่าInterceptionsที่ดักทางจ่ายบอลคู่แข่งได้นั้น มันสะท้อนให้เห็นถึง "ปริมาณการเล่น" ที่มันแสดงถึงความขยัน และพลังงานในการวิ่งพล่านไล่บอลกลางสนามนั่นเอง และไม่ต้องแปลกใจอะไรถ้าแม็คเฟร็ดจะมีค่านี้สูงที่สุดในทีม โดยที่เป็นแม็คโทมิเนย์ในซีซั่นนี้ที่มีค่า Interceptions ต่อ90นาที เยอะที่สุดเฉลี่ย 6ครั้งกว่าๆ ต่อ90นาที รองลงมาก็เป็นเฟร็ดนี่เองที่จริงๆแล้วค่าไม่ต่างกันกับแม็คเลยที่ 5-6ครั้ง

อีกจุดเล็กๆที่น่าสังเกตคือ ปริมาณการinterceptของ มาติช ปีนี้ดูจะลดลงกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก จาก5กว่าเหลือแค่3 ก็น้อยลงจริงๆ คิดว่าด้วยอายุและสไตล์การเล่นที่เปลี่ยนไป จะไม่วิ่งไล่บอลมากเท่าเมื่อก่อน ค่าจึงแสดงผลเช่นนี้

ส่วนอันนี้เป็นสถิติเกมรับอื่นแบบรวมๆในEPL 2020/21 ของกองกลางในทีมที่สำรวจออกมาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ไล่ปีทีละค่า เช่น แอ็คชั่นเกมรับต่างๆที่ทำสำเร็จ เฟร็ดปริมาณมากสุดที่ 13.98ครั้งต่อเกม รองลงมาคือแม็ค11.39 และที่น่าแปลกใจในปีนี้ แต่ไม่แปลกใจในบทความนี้ก็คือ ซีซั่นนี้ป็อกบารองลงมาเป็นอันดับ3ที่ 10.87ด้วย

ball recoveries การชิงเอาบอลเปลี่ยนการครอบครองมาเป็นฝั่งเราได้นั้น เฟร็ดนำหัวขบวนโดดๆมาที่9.32ครั้งต่อเกมเลย ส่วนเรื่องทำเสียฟาล์ว ยังเป็นเจ้าพ่ออย่าง ป็อกบาเหมือนเดิมที่ทำฟาล์วเยอะหน่อยที่ 3.62ครั้ง และรวมถึงสถิติการเสียบอล คุณป็อกแกก็นำโด่งที่ 16.61อีกตะหาก

เป็นภาพรวมการเล่นของ4มิดฟิลด์ในรูป ซึ่งก็สะท้อนสิ่งที่แฟนแมนยูไนเต็ดพอจะนึกภาพออกอยู่แล้ว แต่โชว์ออกมาเป็นค่าในเชิงสถิติสำรวจให้เห็นชัดๆ

3. Interception Profiles "รูปแบบการดักสกัดบอล" ของสามมิดฟิลด์ตัวรับแมนยูไนเต็ด

รูปนี้เป็นภาพที่ทางUTDARENA ใช้เวลาหลายวันในการแมนนวลเก็บขึ้นมา เป็น"ไดอะแกรมสามเหลี่ยม" ที่แสดงข้อมูลของ "สัดส่วนรูปแบบการดักสกัดบอล" จากความพยายามจะInterceptions ของ Matic, Fred และ McTominay ว่าแต่ละคนมักจะเล่นด้วยสไตล์การดักบอลวิธีไหนเป็นหลักๆ สัดส่วนไหนมากน้อยกว่ากันเมื่อเทียบเป็น100%ของInterceptions Attemps ทั้งหมดในมิดฟิลด์แต่ละราย (ไม่ต้องงง Frederico นั่นชื่อนามสกุลจริงเฟร็ด)

โดยเขาได้ทำการรวบรวมข้อมูลโดยใช้ปริมาณของsamples ที่มากเพียงพอต่อการทำprofile การ Interception ของนักเตะจากสถิติ attempts ของ Interceptionsทั้งหมดทั้งหมด "743ครั้ง" ของ Matic Fred และ McTominay วิเคราะห์แยกรายบุคคล แล้วจำแนกรูปแบบที่เกิดขึ้นเป็น 3รูปแบบใหญ่ๆได้ดังนี้

3.1 Misplaced Passes (มุมซ้ายล่าง)

คือรูปแบบการดักบอลได้จากการที่คู่แข่ง "จ่ายบอลพลาดเป้า" ซึ่งการดักในลักษณะนี้จะแทบไม่ต้องขยับตัวไปดักลูกบอลเลย ในก่อนหรือหลังการจ่ายบอลของคู่แข่ง

พูดง่ายๆ เป็นการดักบอลได้แบบที่ไม่ได้ต้องขยับร่างกายเคลื่อนที่อะไรเลย ซึ่งอาจจะมาจากการที่คู่แข่งจ่ายพลาดมาเข้าทางเราเองโดยตรง หรืออาจจะเกี่ยวข้องเพราะการ "ยืนตำแหน่งที่ดี" ของนักเตะนั้นๆในการยืนpositionคุมพื้นที่ตรงนั้นอยู่แล้วด้วย

3.2 Block Passing Lane (มุมบนสุด)

เป็นการดักบอลในลักษณะที่เป็นการขยับตัวมาดักช่องจ่ายบอลของคู่แข่ง ลักษณะที่ระบุว่าเป็นแบบ "บล็อคทางจ่าย" โดยกำหนดให้ ลักษณะของลูกดักที่ใช้การ "ยืดขา" ออกไปตัดบอลได้ หรือการขยับตัวไปตัดบอลที่สั้นๆใกล้ๆในระยะที่น้อยกว่า3เมตร (ไม่ต้องวิ่งเยอะ) แบบนี้ถือเป็นการดักลักษณะที่บล็อคทางจ่ายบอล ซึ่งก็จะขยับร่างกายเยอะกว่าแบบแรกขึ้นมานิดหน่อย แต่เยอะสุดคือจะขยับตัวออกจากจุดเริ่มต้นในระยะสั้นๆไม่เกิน3เมตรนั่นเอง

ลูกดักบอลแบบนี้สะท้อนในเรื่องการใช้ "ปฏิกิริยาดักบอล" ที่จะตอบสนองเร็ว และเคลื่อนไหวเร็วในระยะทางสั้นๆ

3.3 Gambling (มุมขวาล่าง)

แปลเป็นไทยตรงตัวง่ายๆคือการเสี่ยง นั่นหมายถึงการพยายามไปดักสกัดบอลที่ "ห่างจากตัว" แบบที่มีความเสี่ยง(ว่าอาจจะเข้าสกัดไม่สำเร็จ) เพราะว่าเป็นลักษณะรูปแบบที่ขยับตัวเริ่มวิ่งออกจากจุดเริ่ม อย่างต่ำๆ3เมตรขึ้นไป เพื่อไปดักสกัดบอลให้ถึง

สาเหตุที่มันเป็นการเสี่ยง เพราะว่ามีเรื่องของระยะวิ่งที่เยอะและห่างไกลกว่าลูกดักชนิดอื่น ดังนั้นก็มีโอกาสเช่นกันที่คู่แข่งอาจจะมาถึงบอลก่อนได้ และการเข้าบอลก็ค่อนข้างที่จะเสี่ยงเช่นกันว่าจะแพ้หรือชนะ (เพราะไม่รู้ว่าใครจะวิ่งถึงก่อนนั่นเอง)

การดักบอลในลักษณะที่เล่นเสี่ยงไปดักแบบgamblingเช่นนี้ จะสะท้อนเรื่องของปริมาณการเล่น(วิ่ง)ในการเล่นเกมรับอย่างชัดเจน ซึ่งก็คือความขยันในเกมรับนั่นเอง

วิธีการตีความ

ไดอะแกรมชนิดนี้อาจจะตีความอ่านค่ายากสักนิดหน่อยสำหรับคนทั่วๆไป ส่วนเด็กภูมิศาสตร์และนักวิจัยสายsoil science (อย่างผู้เขียนเป็นต้น) ก็อาจจะเคยผ่านตาลักษณะของแผนภาพสไตล์นี้มาบ้างแล้ว นั่นก็คือ ไดอะแกรมสามเหลี่ยมจำแนกเนื้อดิน ที่จะแยกสัดส่วนของดินตัวอย่างนั้นๆว่าเป็นดินลักษณะไหน โดยวัดเปอร์เซ็นต์ของเนื้อดิน(soil texture) ออกมาเป็นsand silk clay %ดินเหนียว, %ทรายแป้ง, %ดินทราย เรียงตามเข็มนาฬิกาดังรูปตัวอย่าง

รูปไดอะแกรมของมิดฟิลด์ตัวรับทีมเรา ที่ต้นทางutdarenaทำมานั้น ใส่รายละเอียดการอ่านและตีความมาไม่ครบเท่าไหร่ และอาจจะลำบากสำหรับคนที่ต้องการแปลความหมายของภาพinfoที่ใส่มา ดังนั้นศาลาผีจึงใส่รายละเอียดเพิ่มเติมให้ครบสำหรับการตีความไว้ในรูปให้เรียบร้อยตามนี้

ซึ่งการนำเสนอของไดอะแกรมสามเหลี่ยมของนักเตะเราในภาพนั้น ก็ใช้วิธีอ่านค่าแบบเดียวกัน โดยที่ให้ยึดเอา "มุม" ของสามเหลี่ยมแต่ละด้านซึ่งกำกับไว้ ให้ถือว่าเป็น 100%ของค่านั้นๆ ดังเช่นในรูปของเราที่มี3ค่าคือ Misplaced Passes, Block Passing Lane และ Gambling

ฐานด้านล่างสุดเป็นด้านของค่า Misplaced Passes, ด้านฝั่งซ้ายของสามเหลี่ยม เป็นด้านของค่า Block Passing Lane และด้านขวาเป็นด้านของการดักแบบ Gambling

ดังนั้นมุมซ้ายล่าง จึงเป็นจุดที่ค่า Misplaced Passes คือ100% ตามภาพ

จุดมุมบนสุดคือ Block Passing Lane 100%

และมุมขวาล่างคือ Gambling 100%

การอ่านค่าในกราฟนั้น ถ้าอยากรู้ว่านักเตะคนไหนมีค่าของการดักบอลในสามรูปแบบ แต่ละอันมีสัดส่วนยังไงบ้าง ให้ดูด้านที่อยากทราบนั้นๆ โดยการอ่านค่า%เรียงจาก 0 ไป "จุดละ 10" จนถึง 100 ด้วยทิศทาง "ตามเข็มนาฬิกา" จากขวาไปซ้ายนั่นเอง (ค่าน้อยๆตั้งแต่0 จะอยู่จากขวาของด้านนั้น แล้วไปเต็มmaxที่มุม100ทางซ้ายนั่นเอง) แล้วไล่ตามเส้นประให้ตรงกับจุดที่ค่าของนักเตะคนนั้นอยู่ดูว่า นักเตะพยายามดักบอลด้วยวิธีด้านนั้นๆกี่%

ส่วน "ลูกศร" สามอัน สามสีรอบๆสามเหลี่ยม ที่ใส่ไว้ด้านละอัน ชี้ให้ดู "แนวเส้นประ" ของด้านนั้นๆว่า ใช้แนวเส้นประทิศไหนในการตรวบสอบค่า (เพราะแต่ละจุดของด้านนั้น จะมีแนวเส้นประ2ทางซ้ายขวา การอ่านค่าให้อ่านเส้นที่"เอียงไปทางซ้าย" เมื่อนับจากด้านนั้นๆเสมอ ส่วนเส้นเอียงขวาไม่ใช้ เพราะมันเป็นเส้นของค่าอื่น)

ผลการอ่านค่าไดอะแกรมสามเหลี่ยมInterception Profiles

เมื่อไล่อ่านค่าจากสามเหลี่ยมข้อมูลอันนี้แล้วนั้น ใช้วิธีการไล่เรียงตามเส้นทีละค่า และประมาณค่าโดยกะคร่าวๆกับ%ของเส้นนั้นๆ เพราะว่าต้นทางไม่ได้มีตัวเลขที่แน่นอนชัดเจนมาของการพล็อตกราฟสามเหลี่ยมนี้ แต่ก็สามารถดูคร่าวๆเป็นตัวเลขเกือบจะกลมๆให้มันใกล้เคียงกับค่าจริงพอประมาณได้ ซึ่งเลขเป๊ะๆก็ไม่จำเป็นสักเท่าไหร่ เพราะไดอะแกรมนี้มีไว้เพื่อหา "ลักษณะรูปแบบโดยรวม" ของความพยายามดักบอลโดยนักเตะนั้นๆว่า มิดฟิลด์ตัวรับสามคนของเรา ส่วนใหญ่ชอบที่จะเล่นดักบอลแบบไหนในสนามบ่อยๆ

Gambling(วิ่งไปสกัด ระยะไกลเกิน3m) / Block Passing Lane (ดักแบบขยับระยะสั้นๆไม่เกิน3m) / Misplaced Passes (ดักแบบไม่ขยับเลย)

ผลออกมา สัดส่วนสไตล์ถนัดของแต่ละคนมีดังนี้

Fred : [ห่าง]Gambling 58% / [ใกล้]Block Passing Lane 28% / [ไม่ขยับ]Misplaced Passes 14%

 McTominay : [ห่าง]Gambling 57% / [ใกล้]Block Passing Lane 36% / [ไม่ขยับ]Misplaced Passes 7%

Matic : [ห่าง]Gambling 30% / [ใกล้]Block Passing Lane 59% / [ไม่ขยับ]Misplaced Passes 11%

บทวิเคราะห์จากไดอะแกรม

หลังจากที่ตีความกราฟและหาค่าออกมาได้โดยประมาณแล้วนั้น มันทำให้เราตีความภาพรวมและเห็นลักษณะการเล่นป้องกันในการสกัดบอลที่ต่างๆกันของมิดฟิลด์ตัวรับเรา โดยจะเห็นชัดเจนว่า วิธีการเล่นเกมรับของแม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ด ค่อนข้างเหมือนกันจนแทบจะไม่แตกต่าง เพราะค่าพล็อตออกมาแล้วแทบจะอยู่ตำแหน่งเดียวกันเลยในกราฟสามเหลี่ยมนี้

สะท้อนสไตล์เกมรับที่แทบจะเหมือนกันหมดโดยส่วนใหญ่ และแสดงให้เห็นว่า ทั้งคู่มีลักษณะการเล่นเกมป้องกันด้วยวิธีการ "วิ่ง" เป็นหลักๆทั้งคู่ โดยที่การสกัดบอลแบบGambling ที่ต้องวิ่งเข้าสกัดจากระยะห่างๆอย่างต่ำสุด3เมตร+ ของแม็คเฟร็ดอยู่ที่ 57 กับ 58% ของการInterceptionsทั้งหมดของการเล่นแต่ละคนตามลำดับ

ส่วนหนึ่งอาจจะอนุมานจากนิสัยการเล่นของเฟร็ดได้ด้วยว่า บางทีจับบอลลั่นหรือห่างตัว จึงมีช็อตที่ต้องวิ่งเข้าแย่งเยอะกว่าสกัดแบบอื่นๆ ค่าgamblingของเฟร็ดในการเล่นจึงมีสัดส่วนเยอะที่สุด ถ้าเทียบกับคนอื่นๆ

จากนั้นรองลงมาคือ การขยับตัวดักทางบอล ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกันทั้งแม็คเฟร็ด แต่แม็คจะชอบเล่นดักด้วยลูกBlock Passing Lane มากกว่าเฟร็ดหน่อยที่ 36 ต่อ 28% ส่วนการยืนเก็บบอลที่จ่ายพลาดมาแบบไม่ต้องขยับมาก เฟร็ดอยู่ที่14% แม็คอยู่ที่7%

ถ้าGambling สะท้อนค่าวิ่ง ส่วนอีกสองค่านี้สะท้อนอะไร? กล่าวคือ Block Passing Lane จะสะท้อนเรื่องของ "ปฏิกิริยาในการดักบอล" ที่ขยับตัวเร็วในระยะสั้นๆ  ส่วน Misplaced Passes ตรงนี้มันไม่ใช่แค่ว่า ไม่ต้องขยับตัวแต่คู่แข่งจ่ายพลาดมาหาเอง แต่ยิ่งเยอะนั่นแปลว่า "การยืนตำแหน่ง" ของนักเตะคนนั้นๆดี

จึงแปลว่า แม้ปริมาณการวิ่งจะพอๆกันในด้านการเล่นเกมรับ แต่ว่าลูกปฏิกิริยาที่เข้าสกัดบอลระยะประชิด แม็คโทมิเนย์จะปฏิกิริยาเร็วกว่า  ส่วนเรื่องของความชาญฉลาดในการยืนตำแหน่งที่ดี ดูเหมือนว่าเฟร็ดที่ตัดบอลได้จาก Misplaced Passes มากกว่า แสดงว่าเขายืนในตำแหน่งว่างที่หลุดตัวประกบ และมักเก็บบอลแบบนี้ได้ (แม็คโทมิเนย์มีนิสัยการเล่นที่ชอบไปแอบอยู่หลังคู่แข่ง ไม่แปลกใจว่าไม่ค่อยเจอบอลที่คู่แข่งจ่ายเสีย ค่าแค่7%ที่เขาทำ สะท้อนให้เห็นดีว่าแม็คยืนตำแหน่งไม่ค่อยดีเท่าไร)

เมื่อดูปริมาณสัดส่วนของ%ลักษณะการInterceptionsทั้งหมด ทำให้ทั้งแม็ค และ เฟร็ด อยู่เยื้องมาทาง "มุมขวาล่าง" ของไดอะแกรมสามเหลี่ยมนี้ และแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีความโน้มเอียงที่จะเล่นเกมรับด้วยการ "ใช้การวิ่งเข้าเสี่ยงตัดบอลคู่ต่อสู้" เป็นหลักๆ โน้มเอียงเข้าใกล้ๆพื้นที่สีแดงๆของกราฟขวาล่างที่เป็นมุม100%ของGamblingนั่นเอง

ส่วนด้าน เนมันย่า มาติช มีนิสัยการเล่นที่ใช้การขยับตัวใกล้ๆ ระยะสั้นๆ หรือยืดขาไปสกัดบอลซะเกินครึ่งเป็นส่วนใหญ่ ที่เกือบ60% การวิ่งไล่บอล เข้าไปแย่งจากระยะห่าง ในจังหวะ50/50แบบGambling อยู่ที่30% ก็คือราวๆ1ใน3 ส่วนการเก็บบอลจ่ายเสียได้แบบไม่ต้องขยับตัวอะไรมาก อยู่ที่11%

สถิติสัดส่วนของรูปแบบInterceptionsของมาติชนั้น แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นกลางต่ำที่จะไม่ใช้การวิ่งไกลๆเยอะๆ เพื่อเข้าไปแย่งบอล แต่จะใช้การยืดขา หรือขยับตัวไปสกัดระยะใกล้ๆไม่เกิน3m.มากกว่า ซึ่งมันก็สะท้อนปฏิกิริยาเกมรับด้วย ส่วนการวิ่งก็ยังพอมีอยู่บางทีที่เห็นมาติชไล่บอลเช่นกัน ราวๆ1ใน3นั่นเอง ก็ถือว่าคุณพี่มาติชแกก็ยังมีลูกฮึดวิ่งอยู่บ้าง ไม่ถึงกับขี้เกียจขนาดนั้น

ในกราฟไดอะแกรมอยู่เยื้องไปข้างบน พื้นที่สีฟ้าๆโน้มไปทางการเล่นสไตล์สกัดระยะใกล้ไม่ต้องวิ่งเยอะมากกว่า

วิธีเลือกใช้งาน

ลักษณะของนิสัยการเล่นเกมรับของทั้งสามคนนี้ เป็นสิ่งที่โอเล่มักจะ "เลือกใช้" มิดฟิลด์เหล่านี้ตามรูปแบบการเล่นที่ตัวเองต้องการ โดยเฉพาะหากเป็นเกมที่ต้องการจะเน้นครองบอล โอเล่มักจะใช้ มาติช + ป็อกบา ในการยืนคู่double pivotกลางต่ำในสนาม แต่ถ้าโอเล่ต้องการเน้นแพ็คเกมรับแน่นๆและต้องใช้เกมวิ่งสู้คู่แข่งในการปิดพื้นที่ กับเกมที่มีไดนามิคสูงมากๆที่บอลเคลื่อนตลอดเกม  โอเล่จะใช้งาน "แม็คเฟร็ด" ในยามที่เจอคู่แข่งลักษณะนั้นนั่นเอง เพราะว่าลักษณะที่เน้นการ "วิ่งเพื่อเล่นเกมรับ" เหมาะสมในยามที่คู่ต่อสู้เคลื่อนที่ตลอดเวลาด้วยความเร็ว

เกมรับของแม็คเฟร็ด เหมาะกับการใช้เจอทีมที่มีลักษณะดังนี้

-ลูกบอลเคลื่อนที่เร็ว และบ่อยมาก (จากการจ่ายเร็วเยอะๆด้วยปริมาณมาก อย่างเช่นซิตี้)

-ทีมที่ผู้เล่นขยับหาตำแหน่งตลอดเวลา และมีการเคลื่อนไหวที่เร็ว (ก็ซิตี้อีกนั่นแหละเป็นตัวอย่าง นักเตะซิตี้ขยับตลอด)

นึกง่ายๆก็คือ ในยามที่เจอบอลเคลื่อนที่เร็ว ทั้งการจ่ายบอล และการmovementของตัวนักเตะอย่างทีม Manchester City นี่แหละ เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ทำไมเราถึงต้องใช้ "การวิ่ง" ในการเล่นเกมรับ เพราะถ้าเอาตัวที่ช้ากว่าอย่าง ป็อกบา มาติช ซึ่งมีนิสัยการเล่นเกมรับที่ "ไม่ค่อยวิ่งเยอะเพื่อสกัดบอล" แต่เน้นแค่ดักทางเป็นหลักลงมายืนกลางรับ มันไม่เหมาะกับการเจอบอลของซิตี้เลย เพราะทีมเราจะไม่สามารถสกรีนบอล และไม่แม้แต่จะ "เจอบอล" ด้วยซ้ำไป

เกมรับของมาติช จะแตกต่างกับแม็คเฟร็ดตรงที่ว่า เขาไม่ขยับวิ่งพล่านเยอะ ด้วยอายุและสไตล์ แต่ใช้การดักระยะใกล้ๆ รวมถึงการยืนตำแหน่ง ผสมผสานกับลูกวิ่งเอา

ดังนั้น "เกมรับของมาติช" เหมาะกับการใช้เจอทีมที่

-เน้นบอลโด่ง

-การเคลื่อนที่และไดนามิคไม่เร็วมาก

-คู่แข่งเน้นเจาะตรงกลาง และสกิลเพลย์ไม่สูงมากนัก (มาติชจะสามารถอ่านดักได้สบายๆ และไม่ต้องเหนื่อยวิ่งถ่างออกซ้ายขวาเหมือนแม็คเฟร็ด)

นั่นคือทั้งหมดของการวิเคราะห์ภาพรวม จากสถิติแยกย่อยในด้านต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด น่าจะสะท้อนให้ผู้อ่าน และแฟนๆปีศาจแดงเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า ในลิสต์มิดฟิลด์ตัวรับของเราที่มีอยู่ในขณะนี้ (2020/21) มาติช แม็คโทมิเนย์ และ เฟร็ดนั้น เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง มีด้านไหนโดดเด่นบ้าง และพวกเขาควรถูกใช้งานยังไงให้ถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดดังนี้

ในอนาคตคงจะต้องหาตัวแทนเนมันย่า มาติชมาแทนแล้ว เพราะอายุอานามที่มากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องฝากความหวังกับตัวเด็กๆที่กำลังปั้นอยู่อย่าง เจมส์ การ์เนอร์ หรือแม้กระทั่งตัวที่มีข่าว แต่ยังซื้อมาไม่สำเร็จอย่าง "เกราะไฟสายสปีด" Moises Caicedo ด้วยก็ตามที แต่ว่าในตอนนี้ มาติชก็น่าจะยังพอเล่นไหวอยู่ในช่วงปีหรือสองปีในฐานะ "แบ็คอัพ" ที่นานๆลงทีเช่นนี้ เพื่อรักษาความสด ตามสภาพร่างกายที่ต้องใช้งานเบาลงเพื่อเซฟไว้ตลอดซีซั่น

แล้วเดี๋ยวถึงเวลา หากมีการลงทุนซื้อเอาตัวแทนของเนมันย่า มาติชเข้ามาใหม่ ค่อยว่ากันอีกที แต่ตอนนั้นต้องหาเอาตัวที่เป็นมิดฟิลด์ตัวรับพันธุ์แท้ ที่ยืนปัดกวาดเกมรับด้านหลังเพียงคนเดียวให้ได้ แล้วจึงสามารถดันเฟร็ด กับ แม็ค ไปเล่นroleอื่นที่เป็น Box to Box ซึ่งน่าจะช่วยทีมได้ยืดหยุ่นมากกว่าการใช้จับคู่กันเป็น "กลางรับคู่" แบบนี้เสียอีก ก็รอลุ้นกลางรับตัวในข่าวกันต่อไป

ตอนนี้เราก็มาเอาใจช่วยสามพระหน่อ"พี่ยักษ์ ปืนใหญ่ ไข่ม้วน"อย่าง มาติช แม็ค และ เฟร็ดให้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดกันไปครับ

-ศาลาผี-

References

https://totalfootballanalysis.com/article/comparing-manchester-uniteds-central-midfielders

https://dataglossary.wyscout.com/defensive_duel/

https://www.whoscored.com/Glossary

https://www.givemesport.com/1611753-manchester-united-mctominay-and-fred-providing-what-pogba-matic-and-van-de-beek-cant

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด