:::     :::

James Garner เพชรที่กำลังเปล่งประกายอย่างไม่หยุดยั้ง

วันพฤหัสบดีที่ 01 เมษายน 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
9,266
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือเรื่องราวของมิดฟิลด์ลูกกรอกคะนองวัย20ปีของแมนยูไนเต็ดผู้ซึ่งถูกปล่อยยืมตัวออกไปหาประสบการณ์กับทีมในระดับแชมเปี้ยนชิพ .. และแน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "James Garner" มิดฟิลด์ตัวโฮลดิ้งดาวรุ่งของเรา

นี่คือเรื่องราวที่เปิดเผยจากปากเจ้าตัว ทั้งความสัมพันธ์และคำแนะนำจากโค้ชอย่างคาร์ริค, เป้าหมายในการพัฒนาตัวเอง และฟอร์มการเล่นในการยืมตัวไปอยู่กับฟอเรสต์นั้นเป็นอย่างไรบ้าง บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักเขามากขึ้นยิ่งกว่าเดิม

James Garner อธิบายให้เราฟังว่า การได้รับคำปรึกษาแบบตัวต่อตัวจาก Michael Carrick ช่วยให้เขาปรับตัวได้ในการลงเล่นกับน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ในเดอะแชมเปี้ยนชิพ โดยที่มิดฟิลด์ดาวรุ่งแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดรายนี้ได้ปล่อยยืมตัวเป็นสโมสรที่สอง หลังจากที่ไปอยู่กับวัตฟอร์ดช่วงครึ่งแรกของซีซั่น

หลังจากนั้นเมื่อมาอยู่กับทีมเจ้าป่า เขาก็เปล่งประกายอย่างมากในถิ่นสนาม City Ground ของฟอเรสต์ และก็ได้รับคำชื่นชมเรื่องฟอร์มการเล่นอย่างมากภายใต้การคุมทีมของ Chris Hughton

นับเป็นการก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของเจ้าหนูวัย20ปีรายนี้ที่แจ้งเกิดและเติบโตขึ้นอย่างสวยงามกับฟอเรสต์ แต่ว่าคำแนะนำและเคล็ดลับที่ได้จากโค้ชทีมชุดใหญ่อย่างคาร์ริค ผู้ซึ่งเคยเล่นตำแหน่งเดียวกับการ์เนอร์นั้น คำแนะนำจากเขาได้สร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับเด็กหนุ่มผู้นี้อย่างมาก

"มีเรื่องบางอย่างที่สะกิดใจผมขึ้นมาอย่างมากในช่วงสัปดาห์ก่อน ผมได้คุยกับเพื่อนผมคนนึง แองเจล(โกเมส) และก็คุยกันเรื่องที่ผมเคยฝึกอยู่กับไมเคิล เกี่ยวกับเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆที่เขาเคยแนะนำผม"

"ฟังดูส่วนใหญ่มันก็เป็นเรื่องเบสิคๆนะ แต่ไอ้เบสิคที่ว่าเนี่ยละ บางทีมันก็ทำยากมากๆ เพราะขณะเล่นถ้าต้องระวังตัวให้มาก เทคนิคแบบนี้จะช่วยซื้อเวลาให้เราได้ เพราะงั้นมันจึงช่วยผมได้เยอะ และเอามาใช้ได้เสมอๆ"


เมื่อถูกถามถึงรายละเอียดของคำแนะนำดังกล่าวจากคาร์ริค ถึงเรื่องที่ช่วยให้มีเวลาและพื้นที่ในการเล่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยขณะอยู่ในสนามนั้น การ์เนอร์ตอบมาว่า

"เอาจริงๆแล้ววิธีการก็คือ เราจะต้องคิดข้ามช็อตล่วงหน้าอยู่เสมอ จะต้องมีภาพการเล่นอยู่ในหัวก่อนที่เราจะได้บอลมา เวลาเล่นคิดให้คิดแบบนี้ แล้วเราจะซื้อเวลาให้ตัวเองเพิ่มได้อีกหลายวินาทีเลย"

"มันก็คือการแค่ต้องมีไอเดียในการเล่น และเขา(คาร์ริค)ก็บอกผมไว้ว่า ถ้าก่อนจะลงสนามเราเตือนตัวเองได้ว่าจะต้องทำเช่นนี้ ถึงเวลาแข่งจริงๆในสนาม มันจะทำออกมาเองแบบธรรมชาติเลยเวลาที่บอลมาถึงตัว เพราะคุณคิดเอาไว้ก่อนแล้วว่าคุณจะทำอะไรบ้าง"

"มันเป็นอะไรที่ช่วยผมได้เยอะมากๆ อย่างที่พูดนั่นละ และผมก็หวังว่าเรื่องนี้มันจะช่วยคอยผมได้เรื่อยๆ"

เด็กปั้นปลัดชัวร์ๆละรายนี้ สืบทอดทางบอลและ "วิชาอ่านเกม" มาโดยตรงแน่นอน

เด็กหนุ่มดาวรุ่งที่ขึ้นชั้นมาพร้อมๆกันของเรากลุ่มนี้นั้น พวกเขายังคงสนิทสนม และช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่ตลอดโดยเฉพาะในช่วงล็อคดาวน์

"ผมคิดว่าการยังคงติดต่อกันเสมอนั้น คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมอยู่กับแองเจลที่นี่มาตั้งแต่6 หรือไม่ก็7-8ขวบตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆกันเลย พวกเราโตขึ้นมาในอะคาเดมี่ด้วยกัน และเราก็ยังติต่อกันอยู่ พวกเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเมสัน(กรีนวู้ด), แบรนดอน(วิลเลียมส์) พวกเราสนิทสนมแน่นแฟ้นกันมากๆ และผมคิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ตลอดๆไป ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแน่นอน"

"ดีแลน(เลวิทท์)ออกไปยืมตัวอยู่โครเอเชีย ซึ่งมันเยี่ยมสำหรับเขานะในการที่จะได้ประสบการณ์อยู่ที่ต่างประเทศ และลักษณะสนามที่มันมีอะไรแตกต่างออกไป ผมได้ดูวิดิโอเมื่อสัปดาห์ก่อนๆเกี่ยวกับสนามที่เขาลงเล่น มันแตกต่างสิ่งที่เขาเคยเจอมาจริงๆ เพราะงั้นมันจึงน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับเขา"

Class of 2019

เกมต่อไปของฟอเรสต์คือวันศุกร์ในการไปเยือนคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ก่อนที่จะเจอกับQPR เกมวันจันทร์ช่วงบ่าย ซึ่งก็จะได้เห็นฝีเท้าของเจ้าหนูมิดฟิลด์รายนี้อีกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของแฟนผีมากที่สุดเกี่ยวกับการ์เนอร์นั่นก็คือเรื่องราวของ "ตำแหน่งถนัดที่แท้จริง" ของนักเตะรายนี้ ซึ่งคนที่รู้ดีที่สุดก็คงจะเป็นเจ้าตัวเองนั่นแหละ

แต่เมื่อเราได้คุยกับเขาแล้ว การ์เนอร์รู้สึกว่า มันยังเร็วไปที่จะรู้ว่า ตำแหน่งที่ดีที่สุดของเขาอยู่ตรงไหน และตัวเขาเองก็อยากที่จะมีความยืดหยุ่นในการเล่นให้มากที่สุด เพื่อที่จะลงเล่นมิดฟิลด์ได้หลายๆรูปแบบ

การลงเล่นกับน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ในเดอะแชมเปี้ยนชิพนั้น การ์เนอร์โชว์ฟอร์มประทับใจในการเล่นมิดฟิลด์ตัวต่ำ และคุมจังหวะเกมโดยใช้ความสามารถในการจ่ายบอล สร้างจังหวะดีๆให้ทีม ซึ่งตอนสมัยอยู่ทีมเยาวชนเขาเคยเล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ ดังนั้นการ์เนอร์จึงเชี่ยวชาญเกมรับอยู่เสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม ในปีสุดท้ายกับทีมชุด U-23s การ์เนอร์ทำสถิติได้เป็นสองเท่าตอนที่ตั้งเป้าว่าจะทำประตูให้ได้ในการลงเล่น และสามารถเล่นเป็นมิดฟิลด์แบบ box-to-box ได้มากกว่าเดิม ซึ่งการยืมตัวครั้งแรกกับวัตฟอร์ด เขาได้รับมอบหมายบทบาทในแดนกลางที่หลากหลายมาก และเร็วๆนี้ก็เพิ่งจะทำประตูแรกของการเป็นนักฟุตบอลอาชีพเต็มตัวได้สำเร็จ ในเกมที่ฟอเรสต์เสมอกับคู่อริอย่างดาร์บี้ เคาน์ตี้

เมื่อถูกถามถึงการลงเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับภายใต้การคุมทีมของ Chris Hughton นั้น เด็กปั้นปีศาจแดงรายนี้กล่าวว่า

"ใช่แล้ว ผมลงตำแหน่งนั้น และก็เป็นสิ่งที่ผมอยากเล่นด้วย ผมคิดว่าผมเล่นได้สบายมากๆในตำแหน่งนั้น ผมว่าทุกคนคงจะพูดว่ามันคงเป็นตำแหน่งที่ผมชอบ"

"ผมชอบที่จะมองให้เห็นทุกๆอย่างในสนามตรงหน้า เห็นการวิ่ง เห็นนักเตะเคลื่อนที่ไปในจุดต่างๆ อะไรประมาณนี้ และผมอยากจะได้เล่นกับลูกบอลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากเป็นคนที่จ่ายบอลเอง อยากเป็นคนทำประตูเอง มันเป็นอะไรที่สนุกมากๆที่ยืนตำแหน่งอยู่ตรงนั้นและคุมเกมการเล่น มันดีมากเลย"

ในการเล่นเป็นตัวคุมเกมนั้นส่วนใหญ่จะใช้นักเตะที่ต้องมีประสบการณ์สูงๆมาเล่นเท่านั้น ดังนั้นนี่จึงเป็นการแสดงออกถึงการพัฒนาเติบโตขึ้นของการ์เนอร์ที่เขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นคนคุมจังหวะเกมให้ทีม และฟอเรสต์ก็กำลังอยู่ในฟอร์มที่ดีจากฝีเท้าของเด็กหนุ่มของยูไนเต็ดที่เป็นผู้ได้แมนออฟเดอะแมตช์รายนี้ ในเกมที่เสมออย่างน่าประทับใจกับทีมลุ้นเลื่อนชั้นอย่างเบรนท์ฟอร์ดเมื่อไม่นานนี้

"มันเป็นตำแหน่งที่เล่นยากนะ แต่ผมว่าผมเล่นได้ ผมเรียนรู้อะไรมากมายในซีซั่นนี้ การลงสนามเผชิญหน้ากับนักเตะมากมาย พวกเขาฉลาดมากๆ ทั้งแทคติกและสิ่งต่างๆถูกนำมาใช้ในการแข่งขัน บางทีมปล่อยให้เล่นได้สบายๆ บางทีมก็เข้ามาเพรสกดดันใส่ ในระดับแชมเปี้ยนชิพต้องเจอเกมการเล่นที่แตกต่างและหลากหลายมาก และมันก็เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ผมสนุกกับมัน"

"ผมเคยเป็นเซ็นเตอร์แบ็คจนถึงชุด U-15s แล้วในทัวร์นาเมนต์นึง ผมถูกจับลงไปเล่นมิดฟิลด์ และก็ไม่เคยกลับลงไปยืนหลังอีกเลยนับตั้งแต่นั้น อยากจะบอกว่าการเล่นของผมมันมีองค์ประกอบทั้งสองอย่างอยู่ในตัว ทั้งด้านเกมรับ และเกมรุกซึ่งจะช่วยผมได้เยอะในการลงเล่นตำแหน่งเช่นนั้น"

ความต้องการที่จะเพิ่มเกมรุกเข้าไปในการเล่นตอนอยู่ชุด U-23s ของเขานั้นมันหมายความว่า เขาสามารถเล่นได้มากกว่าแค่พื้นที่กลางสนาม เพราะสามารถเติมเกมแบบขึ้นสุดลงสุดได้ทั้งสองด้านของสนามนั่นเอง

"ผมอยากเห็นตัวเองเป็นมิดฟิลด์สายสมบูรณ์แบบในอนาคต ถ้าผมทำได้สำเร็จทั้งสองอย่าง ผมรู้สึกว่าผมเป็นได้ทั้งมิดฟิลด์ตัวรับ และมิดฟิลด์ตัวรุกตำแหน่งหมายเลข8 ซึ่งนั่นหมายถึงการเล่นเป็นตัว box to box ได้ แต่ตอนนี้ผมก็โอเคนะ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับตำแหน่งปัจจุบัน ตราบใดที่ยังได้ลงเล่นอยู่ตลอด ผมอยากจะทำให้ดีที่สุดเพื่อทีม ซึ่งถ้ามันคือการเล่นกองกลางตัวต่ำ(เบอร์6) หรือกลางรุกตัวขับเคลื่อน(เบอร์8) ผมก็จะเล่นมันด้วยความสนุกอย่างมาก"

"มันอาจจะเร็วไปหน่อยที่จะพูดถึงตำแหน่งถาวรในระยะยาว ผมไม่อยากจะเจาะจงลงไปว่านี่คือตำแหน่งนี้ๆคือของผม ผมอยากจะเล่นได้แบบสารพัดประโยชน์ ซึ่งทีมที่มีการเล่นที่แน่นอน จะต้องมีทรงและแผนการเล่นที่มั่นคงด้วย เพราะงั้นถ้าผมสามารถลงได้ 2-3 แผนที่แตกต่างออกไป มากกว่าลงได้แค่แผนเดียว มันน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผมมากกว่า"

"ที่ผมพูดเอาไว้เมื่อซีซั่นที่แล้วว่าผมจะฝึกฝนมัน และก็ทำมันอย่างจริงจังนั้นได้แสดงให้ทุกๆคนเห็นแล้วว่าผมสามารถเล่นเกมรุกได้ด้วย สำหรับผม สิ่งสำคัญคือการเล่นทั้งรุกและรับให้ได้ในเวลาเดียวกัน และผมก็ทำได้จากการที่เล่นได้ทั้งกลางรุกเบอร์8 และกลางรับเบอร์6นั่นเอง"

ทั้งหมดนี้คือการเปิดเผยเรื่องราวของคำแนะนำดีๆจากโค้ชรุ่นพี่อย่างไมเคิล คาร์ริค, ความคืบหน้าของฝีเท้า และสิ่งที่เจ้าหนูเจมส์ การ์เนอร์ ได้วางแผนพัฒนาตัวเองเอาไว้ กับการเป็น "มิดฟิลด์สารพัดประโยชน์" ที่สามารถทำอะไรได้หลายๆอย่างในสนามทั้งรุกและรับ และก็ดูเหมือนว่าเด็กคนนี้กำลังพัฒนาแบบก้าวกระโดดจริงๆเมื่อได้อยู่ในทีมที่ใช่สำหรับเขา

การได้รับมอบหมายตำแหน่งสำคัญในทีมเจ้าป่า น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้ค้นพบตัวเอง และอัพเกรดฝีเท้าให้มีโอกาสขึ้นมาเป็นมิดฟิลด์ที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

เรื่องของการเช็คฟอร์มการเล่นปัจจุบันของการ์เนอร์กับฟอเรสต์นั้น ต้องถือว่าเป็นอะไรที่ลงตัวมากๆ ในขณะเดียวกัน การย้ายไปอยู่กับวัตฟอร์ดช่วงครึ่งซีซั่นแรก แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าจะเปล่าประโยชน์เลยเสียทีเดียว เพราะนั่นก็คือ "ประสบการณ์" แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยของเขาเช่นกันในการลงเล่นรูปแบบที่แตกต่างออกไป

จากการย้ายยืมตัวออกไปนอกสโมสรของเจมส์ การ์เนอร์ ในซีซั่น 2020/21 นี้นั้น สามารถสรุปได้คร่าวๆดังนี้เพื่อให้แฟนผีได้เห็นภาพรวมและความก้าวหน้าของน้องกัน ผ่านมินิรีวิวนี้

Loan at Watford

การยืมตัวกับแตนอาละวาด วัตฟอร์ดนั้น การ์เนอร์ลงสนามไปทั้งหมด 21นัด ซึ่งเกมที่ได้ลงเป็นตัวจริงแบบเต็มๆก็ราวๆ11เกม ซึ่งตอนอยู่กับวัตฟอร์ดนั้น ผู้จัดการทีมอย่าง Vladimir Ivic นั้นเป็นผู้จัดการทีมที่เปลี่ยนแผนบ่อยมากๆ การ์เนอร์ต้องลงเล่นในหลายๆformationไม่ซ้ำกัน ไม่ว่าจะเป็น 4-4-2 Winger, 3-5-2, หรือ 4-1-4-1 ก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่จุดที่การ์เนอร์จะได้เล่นก็คือตำแหน่งมิดฟิลด์คู่กลางสนามที่ยืนในตำแหน่ง CM (Central Midfielder) มากกว่า

ส่วนตำแหน่งที่ได้ลงบ้างแต่น้อยกว่านิดหน่อยก็คือตำแหน่ง DM นั่นเอง และมีต้องโยกไปเล่น LM มิดฟิลด์ตัวซ้ายอยู่หนึ่งเกมด้วย แต่หลักๆคือจะลงเป็นCMคู่กลาง จับคู่กับทอมเคลฟ หรือไม่ก็ นาธาน ชาโลบาห์ เป็นหลักๆ

เท่าที่เห็นการเล่นของการ์เนอร์สมัยอยู่กับวัตฟอร์ด ต้องบอกเลยว่าน้องต้องเล่นในroleที่ไม่ค่อยเหมาะกับตัวเองเท่าไหร่ เพราะแตนอาละวาดเล่นในแผนที่ใช้มิดฟิลด์กลางสนามสองตัว ไม่ก็เล่นแผนหลังสามที่ใช้กลางอัดสามเลย ดังนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้เล่นกลางตัวต่ำสักเท่าไหร่ ต้องยืนสูงขึ้นมาในพื้นที่กลางสนาม

เพราะงั้นตอนเล่นกับวัตฟอร์ด เราจึงเห็นแต่ภาพที่การ์เนอร์วิ่งไล่บอล และใช้ร่างกายเข้าปะทะเป็นหลักๆ ซึ่งมันต้องใช้ไดนามิคการเคลื่อนที่สูงมากๆ ให้เปรียบเทียบง่ายๆคือเหมือนจับเอาการ์เนอร์มาเล่นในหน้าที่ของ "เฟร็ด" ที่เป็นตัวลูกหาบกลางสนามนี่แหละ

ซึ่งไม่ใช่จุดเด่นของน้องเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้นไม่แปลกใจเลยว่าทำไมอยู่วัตฟอร์ดแล้วฟอร์มจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะแผนการเล่นและตำแหน่งที่ถูกจับลงไปไม่ใช่พื้นที่การเล่นที่ถนัดสักเท่าไหร่

Loan at Nottingham Forest

การ์เนอร์ย้ายมายืมตัวอยู่กับน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยการคุมทีมของ Chris Hughton แตกต่างกับตอนอยู่วัตฟอร์ดอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากคริสนั้นมีแผนการเล่นที่ยึดเป็นเมนหลักเอาไว้ นั่นก็คือแผน "4-2-3-1" นั่นเอง ซึ่งเจมส์ การ์เนอร์ ได้ลงเล่นในตำแหน่งคู่กลางตัวต่ำในแผนนี้ โดยจับคู่กับมิดฟิลด์คู่หลักของเขาอย่าง Cafu ซึ่งเป็นกองกลางสารพัดประโยชน์ที่เล่นได้ทั้งตัวกลาง ตัวต่ำ หรือตัวรุก

ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ฟอเรสต์ การ์เนอร์ได้การันตีตำแหน่ง และลงเป็น "ตัวจริง" ของฟอเรสต์ทุกนัดจริงๆ(มีสำรองแค่นัดเดียว แต่หลักๆคือเป็นตัวจริงของทีมไปแล้ว)

และทั้ง12นัดกับทีมเจ้าป่า การ์เนอร์ลงเล่นตำแหน่งถนัดอย่าง "DM" ทุกนัด

ความแตกต่างจากตอนไปอยู่วัตฟอร์ดค่อนข้างชัดเจน ที่นั่นแผนเปลี่ยนเรื่อยๆ และต้องเล่นในพื้นที่กลางสนามค่อนข้างเยอะ ซึ่งไม่ใช่แอเรียถนัด และต้องเจอกับเกมวิ่ง เกมปะทะตลอดเวลา

แต่การลงเล่นที่ฟอเรสต์ เจมส์ การ์เนอร์ได้รับหน้าที่เป็นมิดฟิลด์ตัวคุมเกมจากแนวลึกอย่างแท้จริงในตำแหน่ง Deep-Lying Playmaker (DLP) โดยที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนศูนย์บัญชาการหลักของฟอเรสต์เลยทีเดียว

หากจะให้เปรียบเปรย เรารู้สึกว่าเขาเล่นเป็น "ลมหายใจของฟอเรสต์" จริงๆ เพราะทุกๆเพลย์ มักจะถูกเปิดเกมโดยการ์เนอร์ที่คุมบอล และจ่ายบอลจากแนวหลังอยู่ตลอด ทั้งการพลิกบอล จ่ายสั้นก็ตาม หรือไม่ว่าจะเป็นไม้ตายก้นหีบอย่างการ วางบอลยาว ที่แม่นยำและสวยงามของการ์เนอร์

สถิติคร่าวๆของJames Garner ที่สกัดออกมาในด้านสำคัญๆตอนอยู่กับฟอเรสต์มีดังนี้

Matches Played : 12 นัด / Starts ตัวจริง 11 นัด

Overall Minutes : 993 นาที / เฉลี่ย 83นาทีต่อเกม / เรตติ้งเฉลี่ยต่อเกม : 6.85

แต้มเฉลี่ยต่อเกม : 1.33 (คะแนนต่อนัดยามที่การ์เนอร์ลงเล่น ค่อนข้างที่จะได้1แต้มจากเสมอ หรือดีกว่านั้น)

เกมรุก

จำนวนการยิงเฉลี่ย : 1.54 ครั้งต่อเกม / จำนวนประตู : 1 ประตู / ลูกจ่าย Key Passes : 0.7 ครั้งต่อเกม

เกมรับ

Interceptions : 20 / Tackles won possessions : 12 

Aerial Won : 1.6 ครั้งต่อเกม / Clearances : 1.1 ครั้งต่อเกม / Block 0.3 ครั้งต่อเกม / Tackles 1.8 ครั้งต่อเกม

สถิติการจ่ายบอล

เปอร์เซ็นต์จ่ายสำเร็จ : 79.7% /

จำนวนการจ่ายเฉลี่ย : 32.4 ครั้งต่อเกม / วางบอลยาวเฉลี่ย 2.3 ครั้งต่อเกม

จุดแข็งสองอย่าง

ถ้าจะบอกว่าอะไรเป็นจุดแข็งที่สุดของเจมส์ การ์เนอร์ เราสามารถพูดได้เลยว่า มันคือ "ลูกจ่าย" ของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำเลยตอนอยู่วัตฟอร์ด ซึ่งต้องเล่นสูงขึ้นมาในแดนกลางและโดนเกมเพรสซิ่ง เกมเข้าปะทะตลอดเวลาจนไม่ได้เป็นคนคอนโทรลจังหวะเกม

แต่อยู่ฟอเรสต์ เขาคือจุดเริ่มต้น และเป็นศูนย์กลางของทีมอย่างแท้จริง ซึ่งดูเหมือนจะเข้ากันได้ดีกับจังหวะการเล่นเพื่อนด้วย หลายๆครั้งบอลจากการ์เนอร์เป็น "บอลเสี่ยง" ที่จ่ายขึ้นหน้าให้ตัวรุก ไม่ได้จ่ายสั้นง่ายๆอยู่แต่แดนหลัง ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจหากว่า Pass Success Percentage ที่79.7% อาจจะดูไม่เยอะ แต่มันเป็นลูกวางยาว และจ่ายทำเกมรุกไปหลายลูก ซึ่งโอกาสสำเร็จก็จะลดหลั่นลงมาอยู่แล้ว

นอกจากนี้อีกจุดเด่นที่ไม่ด้อยไปกว่าลูกจ่ายเลย ก็คือเรื่องของ "เกมรับ" ที่ติดตัวมาตั้งแต่สมัยเล่นทีมเยาวชน และสิ่งนั้นก็ยังเป็นทักษะที่โดดเด่นของเขาในตอนนี้กับฟอเรสต์ เพราะลักษณะการเล่นของเขา แม้จะเป็นDLPก็จริง

แต่เป็น DLP ที่มี "เกมรับ" แข็งแกร่งติดปลายนวมมาด้วย

เห็นหน้าติ๋มๆแบบนี้ แต่ภาคการป้องกันถือว่าทำได้ดีเลย เป็นมิดฟิลด์ที่บู๊พอสมควร กล้าเล่น กล้าปะทะ และใจสู้ขัดกับหน้าละอ่อนมากๆ หลายๆจังหวะก็เข้าtackleแบบ50-50อย่างดุดันจริงๆ ลักษณะการเล่นที่มีสกิลของความเป็นมิดฟิลด์ ผสมอยู่กับเกมรับที่แข็งแกร่งเช่นนี้ นอกจากDLPแล้ว ดูเหมือนว่าการ์เนอร์จะเล่นเป็น "Defensive Midfielder" ในลักษณะที่คล้าย "ดีแคลน ไรซ์" ซึ่งทำได้ทั้งโฮลดิ้ง และเล่นเกมรับได้ในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่เป็นเหมือนออฟชั่นพิเศษที่ดูเหมือนว่าเจ้าตัวกำลังพัฒนาอยู่ และก็เริ่มทำได้ดีมากๆแล้วด้วย นั่นก็คือเรื่องของการเติมเกมรุกของเขา ตามที่บทสัมภาษณ์นี้บอกเลย เพราะว่าเจมส์ การ์เนอร์ เริ่มที่จะทำเกมรุกมากขึ้น อย่างเช่นเกมที่เขาเป็นคนยิงประตูแรกในชีวิตตีเสมอดาร์บี้ของเสี่ยหมู 1-1 ด้วยการยิงนอกกรอบด้วยซ้ายเข้าไปนั้น นั่นคือมิติการเติมเกมรุกที่ดี และก็พยายามเล่นรุกเช่นนี้มาตั้งแต่ตอนอยู่วัตฟอร์ดแล้ว และนี่คือการทำประตูแรกได้

แต่จุดที่น่าสนใจจริงๆ กลับเป็นเกมล่าสุดที่ฟอเรสต์ เสมอกับเบรนท์ฟอร์ด 1-1 ซึ่งนัดนี้ เจมส์ การ์เนอร์ได้ตำแหน่ง "แมนออฟเดอะแมตช์" ไปด้วย จากการโชว์ฟอร์มที่วิ่งพล่านกลางสนามและทำทุกอย่างได้โดดเด่น

สิ่งที่การ์เนอร์พูดเอาไว้ มันถือกำเนิดขึ้นเต็มๆในนัดเจอเบรนท์ฟอร์ดนี้ นั่นก็คือการเล่นในมิติของ "กองกลางหมายเลข8" ซึ่งเป็นมิดฟิลด์ที่ขับเคลื่อนเกมรุกขึ้นไปข้างหน้า คล้ายๆกับตำแหน่ง The Mezzala หรือ มิดฟิลด์ตัวขับเคลื่อนเกมนั่นเอง (ท้ายบทความแนบลิงค์ฟอร์มนัดนั้นในยูทูปไว้ด้วย ลงไปกดดูได้ในreferences)

มิดฟิลด์รายนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในด้านการเล่นอย่างมาก ที่ทำการพาบอลบุกด้วยตัวเอง และroamingออกจากตำแหน่งกลางต่ำของตน และพาบอลขึ้นหน้าไปบุกได้  รวมถึงภาคการเล่นที่ครบเครื่อง ทั้งลูกจ่ายสวยๆที่ยังมีอยู่ และการเอาชนะคู่แข่งในแดนกลางได้อย่างเหนือชั้น บางช็อตพลิกบอลหนีได้ทีเดียวสามคนยังกับป็อกบาที่พลิกบอลหนีคู่แข่งได้ เกมนั้นการ์เนอร์ฟอร์มโหดเว่อร์ๆจริงๆ สมควรแล้วที่ได้MoMไป

เขาทำได้อย่างที่พูดจริงๆ พัฒนาตัวเองจากการที่เล่นตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวโฮลดิ้งแบบหมายเลข6 ก้าวขึ้นไปสู่ตัวเคลื่อนเกมกลางสนามแบบเบอร์8แล้ว และประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานที่วัตฟอร์ดนั้นก็ไม่เสียเปล่าเลยแม้แต่น้อย

ความสำคัญของเจมส์ การ์เนอร์ ที่มีต่อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในอนาคตนั้นจะเป็นเช่นไร ก็คงต้องตอบว่า หากยังได้พัฒนาฝีเท้าอย่างต่อเนื่องเช่นนี้อีกสัก1-2ฤดูกาลเต็มๆ ก็น่าจะดีพอกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมเราได้ ในการลงเล่นเป็นมิดฟิลด์คู่กลางกับแผน 4-2-3-1 ของโซลชา ซึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาการครองบอล การจ่ายบอล ที่เป็นจุดอ่อนของเฟร็ด กับ แม็คโทมิเนย์ได้ในอนาคต

และน่าจะทดแทนตำแหน่งของ "เนมันย่า มาติช" ได้โดยตรง ในกรณีที่ทีมยังไม่หาตัวแทนมาติชเข้ามาในตำแหน่งกลางรับ

ตอนนี้พูดตรงๆก็คือ เรายังฟันธงไม่ได้ว่าการ์เนอร์จะดีพอลงเล่นแทนเลยหรือไม่ เป็นเรื่องของอนาคต และการขัดเกลาฝีเท้าของเขา แต่หากยังได้ลงเล่นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าเขาจะดีพอที่จะกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้เราได้ ในฐานะอีกหนึ่งเด็กปั้นที่น่าภาคภูมิใจของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

James Garner ..เพชรที่เริ่มเปล่งประกายอย่างไม่หยุดยั้ง

-ศาลาผี-

References

https://www.manutd.com/en/news/detail/james-garner-exclusive-interview-using-michael-carrick-advice

https://www.manutd.com/en/news/detail/has-james-garner-found-his-best-position-in-midfield

https://www.transfermarkt.com/james-garner/leistungsdaten/spieler/505219

https://fbref.com/en/players/4e015693/James-Garner

https://www.whoscored.com/Players/367781/Show/James-Garner

https://www.youtube.com/watch?v=Q_bhPaRO0RA

https://www.youtube.com/watch?v=zvcJEW1iqpY

https://www.youtube.com/watch?v=KRcpSRz5XlU

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด