:::     :::

ตอบโต้พวกชอบ'เหยียด'

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน 2564 คอลัมน์ ฟุตบอลข้างถนน โดย โกสุ่ย
1,176
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
แม้จะเข้าปี 2021 แต่วัฒนธรรมการเหยียดผิวหรือเหยียดเชื้อชาติยังคงมีให้เห็น และดูเหมือนว่าจะมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาเสียอีก

แรงขับในเรื่องดังกล่าวมาจากที่แนวคิดที่ถูกส่งต่อกันมา แนวคิดที่ว่าเชื้อชาติหนึ่งเหนือกว่าอีกเชื้อชาติหนึ่ง หรือสีนี้เหนือกว่าสีนั้น มันถูกส่งต่อมานานนับร้อยปี และดูเหมือนว่ากาลเวลาจะไม่ได้ทำให้มันจางหายไป

แม้คนส่วนใหญ่จะพยายามออกมาพูด ออกมาต่อต้าน หรือแม้แต่การออกมาให้ความรู้ถึงความเท่าเทียม และแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธรับรู้สิ่งใหม่ๆ และเชื่อว่าโลกแห่งนี้คนย่อมไม่เท่ากัน (ในแง่ของสิทธิเสรีภาพและการมีสิทธิ์มีเสียงในสังคม)

นอกจากนั้นด้วยเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ยิ่งทำให้ทัศนคติต่อคนเอเชียถูกมองในแง่ลบมากขึ้น เพราะพวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำเชื้อโรคระบาดไปทั่วโลก





ข่าวคราวที่ออกมาจึงมีทั้งคนโดนทำร้ายร่างกาย โดนโจมตีด้วยคำพูด และรุนแรงไปจนถึงนั้นเสียชีวิต 

เป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในโลกยุคนี้ ยุคที่วิวัฒนาการของมนุษย์ก้าวหน้าไปอย่างมากทั้งการสื่อสาร การเข้าถึงทรัพยากรความรู้ แต่มันยังทำให้เห็นถึงธาตุแท้และแนวคิดอันสุดโต่งที่ยังคงฝังลึกลงไปในกลุ่มคนที่ยังเชื่อว่าความแตกต่างหรือความหลากหลายไม่สามารถมารวมกันได้

ไม่ต่างไปจากวงการฟุตบอลที่กำลังโดนพฤติกรรมเหยียดผิวหรือเหยียดเชื้อชาติเล่นงานอย่างหนัก โดยเฉพาะใน โซเชียล มีเดีย ที่มีข่าวออกมาทุกสัปดาห์ว่านักเตะปัจจุบันหรืออดีตนักเตะโดนโจมตีโดยคำพูดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในปี 2021

เมื่อก่อนเราจะเห็นเหตุการณ์แค่ในสนามแข่ง ย้อนกลับช่วงต้นยุค 2000 แฟนบอลที่เกิดทันอาจจะห็นภาพ ซามูเอล เอโต้ หลั่งน้ำตาเดินออกจากสนาม ความคับแค้นใจของเขามาจากการโดนแฟนบอลแสดงพฤติกรรมเหยียดผิวทั้งการใช้วาจาและการโยนกล้วยลงมาในสนาม

มันคือสิ่งที่นักเตะผิวสีต้องแบกรับ มันคือแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งทำให้พวกเขาต้องพิสูจน์ตนเองมากกว่าคนอื่นๆ หลายเท่าเพื่อให้ได้รับการยอมรับในฐานะนักฟุตบอล





หลายกรณีเกิดขึ้นมาพร้อมกับการต่อต้านจากคนในวงการและพยายามให้ความรู้กับแฟนบอลเพื่อให้พวกเขาเปลี่ยนทัศนคติ แม้วันเวลาผ่านไปซึ่งดูเหมือนว่าหลายคนปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องดังกล่าว แต่แล้วในช่วงที่ผ่านมาเหตุการณ์ความรุนแรงเรื่องเหยียดผิวหรือเหยียดเชื้อชาติกลับมาอีกครั้ง แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นในสนามแข่ง เพราะมันย้ายสังเวียนไปที่โลกออนไน์ หรือ โซเชียล มีเดีย รูปแบบต่างๆ แทน

ทุกคนคงทราบจากข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง นักเตะผิวสีหรือนักเตะเอเชียตกเป็นเป้าโจมตี ถ้อยคำอันหยาบคายถูกโพสต์ลงไปแบบเหมือนว่ามันเป็นถ้อยคำปกติ แต่คำๆ นั้นส่งผลถึงจิตใจผู้อ่าน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ถูกโจมตี

คนแล้วคนเล่าที่ออกมาเผยถึงสิ่งที่พวกเขาโดนเล่นงาน แต่จำนวนกลับเพิ่มขึ้นเหมือนกับว่าเป็นกระแสที่ลามไปทั่ว และยากที่จะหยุดยั้ง

ทรอย ดีนี่ย์, อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล, แอ๊กเซล ตวนเซเบ้, ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, จู๊ด เบลลิ่งแฮม, ซน ฮึง-มิน และคนอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้เอ่ยชื่อออกมาล้วนเป็นเหยื่อของทัศนคติในแง่ลบและขาดการยั้งคิด (บางคนแย้งว่านักเตะเหล่านี้สมควรได้รับการปฏิบัติเช่นนั้นเพราะผลงานในสนามที่ห่วยแตก หรือการเล่นที่ขัดหูขัดตาฝ่ายตรงข้าม ซึ่งนั่นเป็นตรรกะที่ป่วยมาก)

ฝั่งคนในวงการฟุตบอลไม่ได้นิ่งนอนใจ หลายกรณีมีการตามหาคนที่แสดงความเห็นในแง่ลบ หลายกรณีที่ดำเนินความผิด และมีหลายกรณีที่เมื่อจับผู้ก่อเหตุได้แล้วโจทย์หรือผู้ที่ถูกกระทำเกิดความสงสารและไม่เอาผิดเพราะอีกฝ่ายเป็นเพียงเยาวชนเท่านั้น (กรณีของ เอียน ไรท์ อดีตกองหน้าอาร์เซน่อลและนักวิจารณ์ฟุตบอลที่ไม่เอาความคู่กรณีหลังจากโดนเหยียดผิวผ่าน โซเชียล มีเดีย)




จิตสำนึกในเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ บางคนอาจจะรำคาญการเรียกร้องของบรรดาคนผิวสีที่ต้องการความเท่าเทียมในสังคม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งมีมาในช่วงไม่กี่ปี แต่มันคือประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยาวนานเป็นร้อยๆ ปี นับจากยุคที่คนผิวสีถูกมองว่าเป็นเพียงทาสใช้แรงงาน พวกเขาโดนซื้อขายไม่ต่างจากสินค้า ถูกปฏิบัติไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยง นั่นคือสิ่งที่บรรพบุรุษพวกเขาต้องผ่านพบและเผชิญหน้าด้วมความอดสู

ในเมื่อทุกอย่างสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ คนเหล่านี้เลยฝันถึงวันที่ดีกว่า การหลีกหนีจากการเลือกปฏิบัติหรือการถูกสายตามองมาอย่างรังเกียจ นี่คือเหตุการณ์ที่ดำเนินผ่านมาในประวัติศาสตร์จนล่วงเลยมาถึงตอนนี้ ซึ่งดูเหมือนว่ายังมีบางคนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอคติตรงนี้ไป

ส่วนในวงการฟุตบอลนั้น อย่างที่เรียนไปว่าบรรดานักเตะผิวสีต้องพยายามพิสูจน์ผลงานของตนเอง พิสูจน์ว่าพวกเขามีดีและสามารถเปลี่ยนแปลงเกมลูกหนังให้ดีขึ้นด้วยแนวคิดการหลอมรวมความหลากหลาย

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอาจจะเอนเอียงไปยังคนขาวเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาติพันธุ์อื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และสามารถก้าวมาเขียนประวัติศาสตร์ให้กับวงการ





สิ่งที่ดีที่สุดในตอนนี้ไม่ใช่เพียงการให้ความรู้หรือออกมาพูดเท่านั้น เพราะมันแสดงให้เห็นว่าบางคนปิดกั้นตนเอง ส่งผลให้มีแนวคิดในการ 'บอยคอต' หรือคว่ำบาตรเกิดขึ้น

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผู้บริหารของ พรีเมียร์ลีก ที่ได้ส่งแนวคิด 'Weekend of Action' โดยหวังว่าสโมสรต่างๆ ในลีกสูงสุดของอังกฤษจะเห็นชอบด้วย

ปฏิบัติการนี้ได้ถูกส่งไปยัง 20 สโมสรแล้ว ซึ่งในรายละเอียดที่ถูกเผยออกมาระบุว่า พรีเมียร์ลีก มีแผนหยุดกิจกรรมในโซเชียล มีเดีย ตั้งแต่วันที่ 1-3 พฤษภาคม เพื่อตอบโต้การเพิ่มขึ้นของความเห็นและการแสดงออกด้านความรุนแรง เหยียดผิว และเหยียดเชื้อชาติ

ถือเป็นมาตรการที่ลีกอยากให้ทุกๆ สโมสรเห็นชอบ โดยหวังว่าการกระทำดังกล่าวจะไปสะกิดต่อมจิตสำนึกและความคิดของผู้คนให้เกิดการพัฒนาและตระหนักถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น แม้ว่าสัปดาห์ดังกล่าวจะมีบิ๊กแมตช์แดงเดือดระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล ก็ตาม แต่นั่นอาจจะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีหากว่าทุกๆ สโมสรหยุดเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน




ไม่ใช่หนแรกที่มี 'หยุด' กิจกรรมในโลกออนไลน์ เพราะ สวอนซี ซิตี้ เคยทำเช่นนี้มาแล้วหลังจาก จามาล โลว์ นักเตะของทีมตกเป็นเป้า หรือแม้แต่ เกล็น กามาร่า นักตะเรนเจอร์สที่โดนเล่นงาน

พรีเมียร์ลีกหวังว่าการประชุมในวันที่ 19 เมษายนนี้จะได้รับการตอบรับที่ดี เพราะนอกเหนือจากการผลักดันของ ริชาร์ด มาสเตอร์ส หัวหน้าฝ่ายบริหารของพรีเมียร์ลีก ยังมีการหนุนหลังมาจาก สมาคมฟุตบอลอังกฤษ, พีเอฟเอ, อีเอฟแอล หรือแม้แต่สโมสรส่วนใหญ่ที่พร้อมยกมือเห็นด้วย

กระนั้นส่งที่น่ากังวลคือสโมสรใหญ่ๆ ที่ผูกมัดไปด้วยสัญญาโฆษณากับผู้สนับสนุนต่างๆ อาจจะต้องกลับไปพิจารณาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องถกกันต่อไป กระนั้นลีกหวังว่าแต่ละสโมสรจะดำเนินการไปตามความเหมะสม อาทิ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สโมสรที่มีสปอนเซอร์มากมายที่ได้เดินหน้าในการรณรงค์เรื่องดังกล่าวด้วยการปล่อยวิดีโอออกมาช่วงต้นเดือน รวมไปถึงเปิดโฮมเพจในการรับเรื่องร้องเรียนและเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสียงไปยังแฟนบอลได้ดี (แม้ว่ายังมีข้อความในแง่ลบออกมาให้เห็นหลังจากนั้น)

เช่นเดียวกับรัฐบาลอังกฤษที่พร้อมออกหน้าในการติดต่อไปยังผู้ให้บริการ 'โซเชียล มีเดีย' ต่างๆ ที่มีในตอนนี้ให้มานั่งหารือเพื่อมองหาแนวทางการช่วยเหลือ ทั้งในแง่ของการตรวจสอบผู้ใช้บริการและการลงโทษบัญชีต่างๆ ที่อยากให้เห็นผลมากกว่าที่ผ่านมา

นี่คือการออกมาตอบโต้พฤติกรรมอันน่ารังเกียจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การหารือหลังจากนี้คงได้ความชัดเจนมากขึ้น ปัจจัยบางอย่างอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้บางสโมสรสามารถทำได้อย่างเต็มที่ แต่หากทุกๆ ทีมมองไปยังทิศทางเดียวกัน มันก็เป็นการส่งสัญญาณเรื่องดังกล่าวะไปถึงจุดที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด