:::     :::

Tactical Analysis : ปัญหาการป้องกันลูกเซ็ตพีซของแมนยูไนเต็ด [ภาคต้น]

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
4,779
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือต้นตอของปัญหาทั้งหมด ในจุดอ่อนเรื่องการป้องกันลูกเซ็ตพีซของแมนยูไนเต็ด ที่เป็นปัญหาทำให้เราพลาดมาหลายต่อหลายนัด บทความนี้จะพูดถึงสิ่งที่ทีมเรามีปัญหาอยู่ภายในทีมว่า จุดอ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง และเกิดจากอะไร ทั้งในสนา และนอกสนาม ให้รู้จักปัญหาจากภายในทีมให้ดีที่สุด เพื่อแก้ไขปรับปรุงเป็นลำดับต่อไป

ถือว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชุดปัจจุบันอย่างมาก สำหรับประเด็นในเรื่องเกมรับของทีมที่มักจะเสียประตูจากการโดนเล่นลูกเซ็ตพีซอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเตะมุม หรือการเปิดฟรีคิก จนถึงขนาดว่า แฟนผีก็หวั่นใจและเสียวไส้ทุกครั้งที่คู่แข่งได้เล่นลูกนิ่ง

จนมันแทบจะกลายเป็น "เซ็ตพีซ = ประหาร" อยู่แล้ว ในภาคเกมรับของแมนยูไนเต็ด

สิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่าเราไม่ได้คิดกันไปเอง นั่นก็คือ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในซีซั่น 2020/21 ที่่ผ่านมา เราเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซรวมแล้ว 14 ประตู จากการเสียประตูรวมทั้งฤดูกาล 44 ประตู

ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนได้ว่า แมนยูไนเต็ดเสียประตูเพราะโดนลูกเซ็ตพีซไปทั้งหมด "31.81%" จากการเสียประตูทั้งหมดในซีซั่น

มีเพียงทีมเดียวที่โดนยิงจากลูกเซ็ตพีซใน "จำนวน" ที่มากกว่าเรา คือ ลีดส์ ยูไนเต็ด ที่ 15 ประตูในซีซั่นที่่ผ่านมา แต่ลีดส์ ยูไนเต็ด เสียประตูทั้งหมด 54 ประตู คิดเป็นสัดส่วนที่เสียเพราะลูกเซ็ตพีซ 27.77% จากทั้งหมด

สถิตินี้หมายความว่า แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เป็นทีมที่เสียประตูเพราะลูกเซ็ตพีซมากเป็นอันดับสองของลีก รองจากลีดส์

แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนจากลูกทั้งหมดที่โดน แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของเราเป็นทีมที่โดนเซ็ตพีซยิง เป็นสัดส่วนที่มากที่สุดจากประตูที่เสียไปทั้งหมด เป็นสัดส่วนถึง 31.81% ซึ่งเป็นทีมเดียวในพรีเมียร์ลีกที่เสียในสัดส่วนที่เกิน30% 

(ลีดส์ 27.77% อันดับ3 วูล์ฟแฮมพ์ตัน 25% เท่านั้นเอง จากการโดนเซ็ตพีซยิงไป 13ประตู จากทั้งหมด 52 ประตู)

ตัวเลขดังกล่าวเห็นชัดเจนว่า ในเกมรับ การโดนลูกเซ็ตพีซเล่นงานนั้นถือเป็นจุดอ่อนอย่างแท้จริงของทีม แบบที่ไม่ได้คิดกันไปเอง เพราะปริมาณตัวเลขมันชัดเจนมากอยู่แล้ว ดังนั้นหากว่าเราแก้ปัญหาจุดนี้ได้ และสามารถลดปริมาณ "14 ประตู" ดังกล่าวที่ว่านี้ลงได้ มันจะช่วยให้แมนยูไนเต็ดทำอันดับได้ดีกว่าเดิมแบบที่แฟนบอลอาจจะรู้สึกเหลือเชื่อกันเลย

เพราะส่วนใหญ่ของการเสียประตูจากเซ็ตพีซ มักจะเป็นประตูที่ทำให้คะแนนหายไปเยอะทุกครั้ง จากที่ควรจะชนะ ก็กลายเป็นเสมอ แต้มก็หายไปแล้ว 2 แต้มเต็มๆ หรือบางนัดโดนยิงจนทำให้สถานการณ์ในเกมเสียเปรียบ จนสุดท้ายถึงขั้นแพ้ หรือ มีส่วนทำให้ตกรอบ ก็มีเช่นกัน

อย่างในซีซั่นที่แล้ว ที่เจอเลสเตอร์ และ ลิเวอร์พูล ต่อกันสองแมตช์ในช่วงท้ายซีซั่น แมนยูไนเต็ดเสียประตูจากเซ็ตพีซถึง "3ลูก" ติดๆกัน ลูกที่12 และลูก 13,14 ภายในระยะเวลาที่ห่างกันแค่ 50ชั่วโมงการของเตะสองแมตช์ ในเกมเจอเลสเตอร์ ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล

ถ้าแก้ไขเรื่องนี้ได้ แต้มของแมนยูไนเต็ดจะไปไกลกว่านี้มากๆ จากเกมที่ได้ 0 คะแนน อาจจะเป็น 3 หรือบางเกมที่ได้แค่ 1 ก็อาจจะได้อีก 3 แต้มก็เป็นได้ ซึ่งผลต่างมันมหาศาลเหลือเกินต่อการลุ้นแชมป์

ลูกเซ็ตพีซ จึงมักเป็นอาวุธที่หลายๆทีมมักจะใช้เป็นไม้ตายสุดท้ายในการเปลี่ยนผลลัพธ์ของการแข่งขันให้เป็นใจได้ แม้ว่าเกมการเล่นของพวกเขาในพื้นที่กลางสนาม จะสู้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไม่ได้เลยก็ตาม

แต่ต่อให้โดนบุกกดยังไง หากว่าโดนยิงไม่ขาด พวกเขาก็จะยังมีลุ้นอยู่จนถึงนาทีสุดท้าย หากว่า "เรียกลูกเซ็ตพีซ" จากแมนยูได้ และก็มีลุ้นได้ง่ายๆเลย ทั้งที่ตลอดเกมสู้ปีศาจแดงไม่ได้

ดังนั้น ปัญหานี้จึงเป็นจุดสำคัญที่เป็นเรื่องใหญ่ต่อทีมมากๆ ที่เราจำเป็นต้องแก้ให้ได้โดยไว ก่อนที่จะเริ่มฤดูกาลใหม่ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เดิมๆมันเกิดขึ้นซ้ำรอย อันจะบั่นทอนกำลังใจของนักเตะ และทำให้แฟนบอลต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ปัญหาอยู่ตรงไหน?

หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า เป็นเพราะ "ผู้รักษาประตู" แน่ๆที่ทำให้เกิดปัญหาตรงนี้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆก็คือ ดาวิด เดเคอานั้น เสียประตูจากลูกเตะมุมไป "5 ลูก" ในขณะที่ ดีน เฮนเดอร์สัน เสียจากเตะมุมไม่น้อยหน้าที่ "4 ลูก" จากการลงสนามน้อยกว่าเดเคอา มากถึงเกือบๆพันนาที แต่ดีนเสียใกล้ประตูใกล้ๆเดเคอาเลย

ปัญหาไม่น่าใช่เรื่องผู้รักษาประตูอย่างเดียวแล้ว

ถ้างั้นอยู่ที่ไหน? ถ้าไม่ใช่โกล ก็ต้องเป็นเพราะ "เซ็นเตอร์แบ็ค" ชัวร์ๆ

"มันต้องเป็นเพราะลินเดอเลิฟแน่นอน ที่มักจะเจอปัญหาการดวลลูกกลางอากาศบ่อยๆ" แฟนบอลคิด หรือไม่ก็

"แฮรี่ แมกไกวร์ ต้องเป็นแฮรี่ แมกไกวร์แน่ๆ เขาชอบเล่นพลาดอยู่บ่อยๆในแดนหลัง ไม่สมค่าตัว80ล้านปอนด์เลย"

นี่คือถ้อยคำที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆในพื้นที่วิพากษ์บนโซเชียลทั้งไทยและเทศ ซึ่งเราก็พยายามหาเหตุผลแล้วว่า เป็นเพราะเซ็นเตอร์ตัวหลักสองคนนี้รึเปล่าที่เป็นปัญหา แต่สุดท้ายแล้ว แมนยูไนเต็ดก็ยังเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซอยู่ดีนั่นแหละ เวลาที่ เอริค ไบญี่ หรือ แอกเซล ตวนเซเบ้ ได้ลงสนามลงมาแทนลินเดอเลิฟ

และ "Fact" ก็คือ สองคนนี้ลงแล้วทีมก็ยังเสียสามประตูจากสองนัดด้วยลูกเซ็ตพีซอยู่ดี ในเกมที่ฝ่ายแมกไกวร์นั้นเล่นได้ดีมากจนได้รับคำชื่นชม

สรุปแล้วก็ยังไม่ใช่ "ตัวบุคคล" ของเซ็นเตอร์แบ็คอยู่ดี ไม่ว่าจะใคร ทั้งแมกไกวร์ ลินเดอเลิฟ ไบญี่ ตวนเซเบ้ สี่คนนี้ใครจะลงสนาม ทีมก็ยังเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซอยู่ดีนั่นแหละ

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ "ผู้เล่นเกมรับ" ในรายบุคคลเลย แต่คำตอบที่แท้จริงคือปัญหาจากเรื่องของ "วิธีการฝึกซ้อม" (coaching) นั่นเอง

ซึ่งการเล่นลูกเซ็ตพีซ และการป้องกันลูกเซ็ตพีซนั้น เป็นสองสิ่งที่สามารถทดลองการเล่นรับมือได้ในสนามซ้อม

หากมีการฝึกซ้อมลูกเซ็ตพีซดังกล่าว หากมีสิ่งใดเป็นข้อบกพร่องในระบบของคุณ โค้ชจะสามารถมองเห็นมัน และจะสามารถแก้ในสิ่งที่จำเป็นต้องแก้ได้

แต่ในฤดูกาลที่ผ่านมา เรื่องนี้มันไม่เกิดขึ้น

ดังนั้นเราจึงลองมาดูกันว่า ทำไมปัญหานี้มันจึงไม่ถูกแก้ และเป็นปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอด เพื่อที่จะหาคำตอบและแนวทางที่ดีในการลดปัญหาเหล่านี้ของทีมได้ บทความนี้จึงเป็น "ภาคแรก" ของเนื้อหาในการแก้ไขปัญหาเรื่องเซ็ตพีซ ที่จะบอกถึงรูปแบบของปัญหาว่า เรามีปัญหาจุดไหน

หาตัวเองให้เจอก่อนว่า "สิ่งที่ทีมเป็นอยู่" มันเป็นยังไง ธรรมชาติในการเล่นป้องกันเซ็ตพีซของทีมใช้วิธีอะไรอยู่

เราจะรู้จุดอ่อนของตัวเองได้ดีกว่าเดิม จากการยอมรับว่า มันมีปัญหานี้อยู่

เริ่มตั้งแต่ ระบบในการป้องกัน "ลูกเตะมุม" ของแมนยูไนเต็ดนั้น เราจะใช้การป้องกันแบบไฮบริด ผสมกันสองรูปแบบในการรับมือลูกเตะมุม แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ

นักเตะกลุ่มหนึ่งจะทำหน้าที่ "ตามประกบคู่แข่งตัวต่อตัว" ในลักษณะของ Man-Marking

และกลุ่มที่เหลือจะแบ่งมาป้องกันด้วยการ "ยืนคุมโซน" ในลักษณะของ Zonal-Marking

ตามรูปนี้จะเห็นชัดเจนว่า พวกที่ยืนป้องกันพื้นที่อันตรายหน้าประตูนั้น จะยืนคุมโซนอยู่หนึ่งกลุ่ม ในขณะที่ พวกนักเตะที่รับหน้าที่เป็น Man-Markers คอยตามประกบผู้เล่นที่เป็น "ตัววิ่งเข้าทำ" ของคู่แข่งนั้น พวกนี้ก็จะมีอีกคลัสเตอร์หนึ่งที่ไปตามประกบคู่แข่งที่รอวิ่งเข้าทำมาจากวงนอก

ตามรูปนี้จะเห็นได้ค่อนข้างชัดมาก แมนยูไนเต็ดจะเล่นด้วยการแบ่งครึ่งผสมผสานเช่นนี้เป็นหลักๆ ซึ่งถามว่ามันแปลกไหม มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไรขนาดนั้น เพราะลิเวอร์พูลก็เล่นป้องกันเตะมุมด้วยแผนนี้เหมือนกัน ในตัวอย่างข้างล่างนี้

จุดที่เป็นวิธีคิดในการ "จัดตำแหน่งการยืน" ในเบื้องต้นก็คือ ขึ้นอยู่กับว่า ความสามารถในการดวลลูกกลางอากาศของนักเตะคนนั้นๆเป็นยังไง ถ้าเป็นตัวที่แย่งโหม่งเก่งๆ ก็จะต้องยืนในจุดสำคัญที่บอลมีโอกาสเปิดมาลงตรงจุดนั้นๆ ซึ่งของทีมเราก็ไม่ใช่ใครที่ไหน

แฮรี่ แมกไกวร์นั่นเอง

กัปตันมักจะได้ยืนอยู่บริเวณเยื้องไปทางเสาสองเล็กน้อย โดยที่ข้างหลังของแมกไกวร์มักจะใช้เป็น "มิดฟิลด์" อีกหนึ่งคนที่มีความสามารถในการเล่นลูกกลางอากาศรองๆลงมา ยกตัวอย่างเช่น ป็อกบา หรือ มาติช เป็นต้น

แต่ด้านหน้าของแมกไกวร์ ส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้เป็น พวกที่เก่งลูกกลางอากาศเป็นอันดับ2 หรือว่า รองลงมาจากแมกไกวร์นั่นเอง ซึ่งก็คือเซ็นเตอร์แบ็คอย่าง ลินเดอเลิฟ ไบญี่ และรวมถึง สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ หรือไม่ก็ใครก็ตามที่อยู่ในสนาม ณ จุดนั้น

ระบบป้องกันลูกเตะมุมของแมนยูไนเต็ด ยึดโยงอยู่กับสองประเด็น นั่นก็คือ "การแย่งโหม่งจังหวะแรกให้ได้" และอย่างที่สองคือ ยึดโยงอยู่กับ "แฮรี่ แมกไกวร์" นั่นเอง ที่เป็นตัวความหวังในการโหม่งสกัดลูกเตะมุมให้ได้

หน้าที่ของแมกไกวร์คือการจับจ้องอยู่ที่บอลอย่างเดียว และก็พุ่งเข้าไปโหม่งสกัด ซึ่งก็เป็นวิธีคิดที่ถูก หากว่าใช้แมกไกวร์ไปวิ่งตามตัวประกบ ทีมก็อาจจะเสียประโยชน์จากการได้ใช้แมกไกวร์ขึ้นโหม่งสกัด เพราะตัวประกบอาจจะดึงเขาออกจากพื้นที่สำคัญ และลูกเตะมุมก็อาจจะไม่ได้ไปตกตรงตัวนั้นๆที่แมกไกวร์ตามไป

ดังนั้นหลักๆแล้วแมกไกวร์จะมีหน้าที่ดูที่ มองที่บอล อ่านจุดตกของลูก เพื่อหาโอกาสในการขึ้นโหม่งสกัดให้ได้

เวลาที่มีนักเตะแมนยูด้วยกันขวางทางเขาอยู่ เขาก็จะดันเพื่อนร่วมทีมออกไปทันที เพื่อจะเข้าถึงบอลด้วยตัวเอง ภาพที่เกิดขึ้นบ่อยๆเราจึงได้เห็นว่าบางทีแมกไกวร์แย่งพวกเดียวกันโหม่ง มันมาจากวิธีการคิดในจุดนี้

ซึ่งในขณะที่ แฮรี่ แมกไกวร์ และนักเตะคนอื่นๆในกลุ่มนี้ ก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่าย "ยืนคุมโซน" นั้น นักเตะกลุ่มที่รับหน้าที่ตามประกบตัวคู่แข่งนั้น จะพยายามป้องกันไม่ให้คู่แข่งวิ่งเข้ามาใส่พื้นที่อันตรายในกรอบ6หลาได้เด็ดขาด

ถ้าพวกเขาพลาดปล่อยตัวประกบให้วิ่งเข้าโซนอันตรายได้ นักเตะเหล่านี้ก็จะได้มาแย่งกับแมกไกวร์ได้โดยตรง ซึ่งระหว่างผู้เล่นที่กระโดดจากการยืนคุมโซนอยู่กับที่ กับนักเตะที่ใช้การ "วิ่ง" ส่งแรงในการช่วยเทคโหม่งนั้น เราจะเห็นบ่อยๆว่า ตัววิ่งเข้าชาร์จโหม่งจะได้เปรียบจากแรงส่งมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ภาพด้านล่างนี้คืออีกลูกที่ตัวมาร์คกิ้ง เอาตัววิ่งไม่อยู่จนเขาเข้ามาไถชาร์จในพื้นที่กรอบ6หลา

หากแมนยูไนเต็ดแย่งโหม่งในบอลแรกได้สำเร็จ ทีมเรามักจะจัดทรงเกมป้องกันได้ดีเสมอถ้าแย่งโหม่งจังหวะแรกได้

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่โดนคู่แข่งชิงตัดหน้าโหม่งได้ เกมรับของเราจะเริ่มหลุดทันทีที่พลาดบอลแรก และมีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่ทีมจะเสียประตูจากจังหวะดังกล่าวนี้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าถูกขึ้นโขกทำประตูจังหวะเดียวเลยด้วยบอลแรกในลักษณะข้างล่างนี้ ก็เป็นการพลาดถูกแย่งบอลแรก

หรือการโดนแย่งเล่นบอลแรกได้จาก "เสาใกล้" ก็มักจะเสียประตูเช่นกัน จากประตูที่พลาดให้เชฟฟิลด์ยูไนเต็ดอย่างเจ็บแสบ และไม่ได้ฟาล์วจากการที่เดเคอาโดนกระแทกด้วยในลูกนี้


รวมถึงทีมเราก็อาจจะพลาดจากการที่โดนเล่นบอลแรกก่อน ซึ่งเป็นการโหม่งที่ไม่ได้จะทำประตูโดยตรง แต่เป็นการโหม่งตั้งให้เพื่อน หรือเปลี่ยนทิศทางที่ทำให้แนวรับแมนยูไนเต็ดสับสน และป้องกันไม่ทัน จนทำให้พลาดหลุดไปถึงตัวด้านกว้างของคู่แข่งอย่างในเกมที่โดนเวสต์แฮมเล่นงานด้วยลูกขวิดส่งจาก เดแคลน ไรซ์ ลูกนี้

และสุดท้ายคือ ในเคสที่ว่า ถ้าบอลแรกของเรา แม้จะแย่งเล่นได้ แต่เคลียร์ไม่ขาดจากกรอบเขตโทษ กองหลังส่วนใหญ่มักจะ "ดันไลน์" ขึ้นห่างจากหน้าปากประตูทันทีเพื่อเช็คล้ำหน้าตัวที่ยังยืนอยู่ในจุดอันตราย

แต่น่าเสียดายที่บ่อยครั้ง ผู้เล่นที่ทำหน้าที่ "ตามตัวประกบ" (ซึ่งมักจะใช้เป็นพวกตัวรุกในการเล่นนี้) ก็มักจะดันขึ้นหน้าออกมาทันที หลังจากที่เห็นว่าสกัดบอลแรกได้ เพื่อที่จะกลับไปตำแหน่ง

แต่ตัวประกบที่เป็นผู้เล่นของคู่แข่ง โดยเฉพาะเซ็นเตอร์แบ็คฝั่งตรงข้าม ก็ยังอยู่ในกรอบเขตโทษอยู่ ทำให้เกิดการหลุดตำแหน่งและสื่อสารกันพลาดระหว่าง ตัวตามประกบ และตัวคุมโซน จนทำให้มีคนไม่โดนจับล้ำหน้าหลุดอยู่ในแนวกว้างและพื้นที่อันตรายอยู่บ่อยๆ จากตัวอย่างข้างล่างนี้

เพราะฉะนั้นแล้ว ประเด็นของการเล่น "บอลแรก" ให้ได้ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ

แมนยูไนเต็ดนั้นมักจะใช้กองหน้าในการยืนโซนอยู่ในจุดเสาแรก ในขณะที่ตัวรุกคนอื่นๆ (เช่นบรูโน่) ก็จะอยู่ยืนอยู่ข้างหน้ากองหน้าดังกล่าวนั้นออกมา ส่วนนักเตะอย่าง ลุค ชอว์ เราจะเห็นบ่อยมาก เชื่อว่าแฟนผีก็จะเห็นภาพที่เขารับหน้าที่วิ่งตามตัวประกบ และมีหน้าที่เป็น Man-Markers ของทีม อันนี้เราเห็นอยู่ตลอดและคงจะจำกันได้, กลับกัน ในตำแหน่งแบ็คซ้ายเช่นกัน อเล็กซ์ เตลีส ไม่ได้เล่นเหมือนลุค ชอว์ แต่จะทำหน้าที่ยืนโซนคุมเสาใกล้ ต่างจากชอว์

ยามที่เตลีสอยู่ในสนาม เขาจะยืนอยู่ข้างหน้าของกองหน้าตัวเป้าที่ลงมาช่วยโหม่งสกัดอยู่เสมอ ซึ่งทำให้ตัวรุกคนอื่นๆนั้นจะไปยืนอยู่จุดอื่นแทน

การกำหนดตำแหน่งการยืนของผู้เล่นในทีมในเกมรับนั้น บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับว่า วันนั้นใช้มิดฟิลด์คนไหนลงสนาม ซึ่งมาติช แม็คโทมิเนย์ และ ป็อกบา คือกองกลางที่แย่งโหม่งได้เก่งอยู่แล้ว แต่ว่าเฟร็ดไม่สามารถเข้ามาแย่งโหม่งกับใครได้เลย

ดังนั้น หากว่าเป็นเกมที่ใช้เฟร็ดเล่นมิดฟิลด์ ก็จะไม่ส่งผลอะไรกับแทคติกป้องกันเซ็ตพีซของทีมเลย

ระบบไฮบริดดังกล่าวนี้ต้องการ "ความรับผิดชอบ" ต่อหน้าที่ของตัวเองในแต่ละตำแหน่งสูงมากๆ หากว่ามีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นในสนามเยอะมากขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าจุดโฟกัสหลักอย่าง แฮรี่ แมกไกวร์ ไม่อยู่ในสนาม

มีเหตุผลต่างๆที่ทำให้เรามองเห็นความหวังในแง่ดีว่า ปีหน้าปัญหานี้อาจจะได้รับการแก้ไขบ้าง แม้ว่าปีที่ผ่านมาเราจะแก้มันไม่สำเร็จ

แต่ระบบป้องกันดังกล่าวที่ใช้ในปีที่ผ่านมานั้น มันคือระบบเดียวกันกับที่ใช้เมื่อซีซั่นก่อน (2019/20) ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อสำหรับแฟนผีแน่นอนว่า แม้จะเป็นปีก่อนนู้น เราก็ยังเจอแต่ปัญหาเรื่องเดียวกันแบบเดิมๆนี้จากเซ็ตพีซ

ทั้งจากปัญหาการโดนวิ่งเข้าชาร์จตัดหน้าใส่แมกไกวร์ จากตัววิ่งที่หลุดประกบมา ซึ่งถ้าใครจำกันได้ มันคือลูกที่แมนยูไนเต็ดโดนซิตี้โขกลูกเตะมุมเข้าไปจากโอตาเมนดี้ที่วิ่งชาร์จเข้ามา จากsystem ดังกล่าวนี้ คือ มีตัวคุมโซน กับ ตัวตามประกบคู่แข่ง ทำหน้าที่แยกกันสองพาร์ท ดังรูปข้างล่างนี้

และเมื่อจังหวะเตะมุมถูกเปิดเข้าไป โอตาเมนดี้ก็พยายามวิ่งเข้าชาร์จใส่กรอบ6หลาที่มีแมกไกวร์ยืนปักหลักเฝ้าอยู่ เขาใช้ความแข็งแกร่งดันและไถเอาชนะวานบิสซาก้า ที่สู้แรงปะทะไม่ได้ ถูกโอตาเมนดี้วิ่งหลุดเข้าไปถึงกรอบ6หลา จุดที่แมกไกวร์ยืนคุมโซนอยู่ได้สำเร็จ ตามภาพนี้

และสุดท้ายก็ ตู้ม โกโก้ครันช์ แมนยูไนเต็ดเสียประตูให้แมนเชสเตอร์ซิตี้ จากการโดนลูกเซ็ตพีซด้วยการเตะมุมมา และเราพลาดทั้งการแย่งบอลแรก และพลาดทั้งการคุมตัวประกบไม่ให้เข้ามาในพื้นที่อันตราย จนทำให้ตัวหลักอย่างแมกไกวร์ก็พ่ายแพ้ในการขึ้นดวลกลางอากาศลูกนี้ด้วย ดังเหตุการณ์ข้างล่างนี้

หรือจะเป็นจากสถานการณ์เดิมๆที่ชี้ให้เห็นไปแล้วรอบนึงว่า มีgapเกิดขึ้น ระหว่าง ผู้เล่นที่เป็นตัว man-marking ปล่อยตัวประกบหลุดทั้งสองจังหวะ แม้ทีมจะเคลียร์บอลแรกมาได้ แต่หลังจากนั้น ตัว man-marking อย่างแอชลีย์ ยัง ก็ดันขึ้นสูง และปล่อยตัวประกบที่ยังอยู่ในกรอบ "ว่าง" ทันที ซึ่งผู้เล่นคุมโซนตรงนั้นอย่างลินเดอเลิฟ ก็ไม่ทันเห็นคู่แข่งด้านหลังที่ไร้ตัวประกบแล้วเรียบร้อย จนถูกแย่งโหม่งในเหตุการณ์กับเซาธ์แธมพ์ตันลูกข้างล่างนี้

ในฤดูกาล 2019/20 แมนยูไนเต็ดเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซไป 10 ลูก หลังจากผ่านไป 24 นัด แต่หลังจากนั้น ปัญหานี้กลับหายไปทันที เมื่อ 14เกมหลังจากนั้นไปจนจบซีซั่น 2019/20 ยูไนเต็ดเสียไปอีกแค่ "ลูกเดียว" เท่านั้น

มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?

(ในขณะซีซั่นที่ผ่านมา ในปี 2020/21 ยูไนเต็ดเสียไป 9 ลูก จาก24 เกม และอีก 14เกมต่อมา แมนยูก็โดนอีก 5 ลูกเหนาะๆ)

มีสองประเด็นสำคัญที่ทำให้ฤดูกาล 2019/20 ในช่วงครึ่งหลังซีซั่น แมนยูเสียประตูจากเซ็ตพีซน้อยลง จากสองเหตุผลนี้

1. "ความต่อเนื่อง"

ช่วงครึ่งซีซั่นแรกของปีนั้น (19/20) ยูไนเต็ดผสมผสานถึง "5 คอมบิเนชั่น" ของมิดฟิลด์คู่ double pivot ของทีม ซึ่งคอมบิเนชั่นทั้งหมดมีดังนี้

Pogba-McTominay

McTominay-Matić

McTominay-Fred

Pereira-Fred

Matić-Fred

ในขณะที่ "แผงแบ็คโฟร์" ก็เกิดเรื่องนี้เช่นกัน เมื่อกองหลังก็ถูกสลับหน้ากันลงสนามเป็นคอมบิเนชั่นนับไม่ถ้วนเกิดขึ้น โดยที่ Luke Shaw, Axel Tuanzebe, Ashley Young, Brandon Williams, และ Diogo Dalot  ทั้ง 5คนนี้ได้ลงเล่นฟูลแบ็คกันหมดทุกคนเลย

ในขณะที่เซ็นเตอร์แบ็คก็ลงสลับกันระหว่าง Maguire, Lindelöf, Tuanzebe, Marcos Rojo และที่สำคัญ Phil Jones ก็ยังได้ลงอีกคนด้วย รวมแล้ว 5คนเต็มๆที่สลับกันลงเล่นเป็น "เซ็นเตอร์แบ็คตัวจริง" ครบทุกคน

แต่หลังจากเกมที่ 24 เป็นต้นมา ทีมใช้คู่กลางที่นิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยการใช้งานคู่ "Matić-Fred" และคู่ "Matić-Pogba"  แค่สองคอมโบ

ในขณะที่กองหลังแบ็คโฟร์ ช่วงหลังก็ได้แผงที่ดีที่สุดแล้วเรียบร้อย ที่ใช้มาจนถึงบัดนี้นั่นก็คือ Wan-Bissaka, Lindelöf, Maguire, และ Shaw อันเป็นแบ็คโฟร์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาหลังจากครึ่งหลังซีซั่น 2019/20 เป็นต้นมาจนถึงจบซีซั่น 2020/21 อย่างที่เราเห็นจนถึงตอนนี้นั่นเอง

ผมเชื่อว่า ผู้อ่าน น่าจะมองเห็น "อะไรบางอย่าง" ที่เป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้ นอกจากการได้ลงเล่นต่อเนื่องที่ไม่สับเปลี่ยนนักเตะเกินไปจนฟอร์มไม่นิ่ง

นอกเหนือจากความต่อเนื่องแล้วนั้น ตัวแปรสำคัญที่เป็น x-factor คือสิ่งที่ผู้เขียนก็เห็นเหมือนกันระหว่างที่ทำข้อมูลนี้

ใช่แล้ว "เนมันย่า มาติช" นั่นเอง

การกลับมาสู่ทีมในช่วงเดือนมกราคมทำให้เกมรับของทีมแข็งแกร่งขึ้น และเขาคือคนสำคัญในการป้องกันลูกเซ็ตพีซ ซึ่งจากนัดที่24เป็นต้นมา มาติชเป็นตัวจริงมาเกือบทุกนัด ขาดไปแค่เกมเดียวเท่านั้นเอง

แมนยูไนเต็ดแทบไม่เสียประตูจากเซ็ตพีซเลย

2. "มีช่วงสัปดาห์เบรคหนีหนาว"

 สิ่งที่สำคัญกว่าประเด็นเรื่องความต่อเนื่องนั้นก็คือ เราได้ช่วงเบรคฤดูหนาวของพรีเมียร์ลีก ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ต้นปี 2020 แมนยูไนเต็ดก็นั่งเจ็ทไปฝึกซ้อมหนีหนาวกันเป็นอาทิตย์อยู่ที่ Marbella ซึ่งสัปดาห์นั้นทำให้เรามีโอกาสฝึกป้องกันเซ็ตพีซ และซ้อมความเข้าใจแผนการเล่นระหว่างนักเตะด้วยกัน

อย่าลืมว่า เราแทบจะไม่มีเวลาซ้อมเลยในช่วงก่อนเริ่มฤดูกาล 2019/20 เพราะเอริค ไบญี่นั้นได้รับบาดเจ็บช่วงระหว่างกลางปรีซีซั่นพอดี ในขณะที่ตอนนั้น แฮรี่ แมกไกวร์ ยังไม่ได้เข้าทีมเลยด้วยซ้ำเพราะยังซื้อขายไม่เสร็จจนกระทั่งถึงเริ่มซีซั่น แมกไกวร์ย้ายมาปุ๊บก็ต้องลงเลยทันที

ช่วงนั้นเอริค ไบญี่ ยังไม่หายจากอาการบาดเจ็บยาวนับตั้งแต่ช่วงปรีซีซั่น ลากยาวมาจนตลอดครึ่งทางแรกของฤดูกาล ในขณะที่แฮรี่ แมกไกวร์

ดังนั้นสัปดาห์ดังกล่าวที่เราได้บินไปซ้อมหนีหนาวกันเป็นอาทิตย์ มันมีผลมากๆต่อสถิติเกมรับของแมนยูไนเต็ดที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งซีซั่นหลัง รวมถึงช่วงที่เข้าแคมป์ตอนล็อคโควิดด้วยก็มีผลเช่นกัน

เพราะฉะนั้นแล้ว ในฤดูกาลดังกล่าว พวกเขาสามารถแก้ปัญหาได้แล้วจนเสียประตูจากเซ็ตพีซอีกแค่ประตูเดียว แต่ทำไมปีที่ผ่านมาในซีซั่น 2020/21 ปัญหาถึงกลับมาอีก? และมันยิ่งแย่ลงกว่าเดิมซะด้วยซ้ำในปีนี้ด้วยการเสีย 14 ประตูดังกล่าวซึ่งมันไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น

คำตอบที่น่าสนใจก็คือ เหตุผลเดียวกับที่พวกเขาใช้นำมาแก้ปัญหานั่นแหละ คือเหตุผลที่ทำให้ฤดูกาล20/21 กลับมามีปัญหาเดิมๆจากเซ็ตพีซอีกครั้ง

มันคือเรื่องการขาด "ความเสถียร" ของทีมนั่นเอง

กลายเป็นว่า เกมรับของแมนยูไนเต็ดในปีนี้ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยดี แต่จริงๆแล้ว ในยามที่ทีมใช้แผง "แบ็คโฟร์ตัวเลือกแรก" ลงสนาม พวกเขาก็ไม่ได้ถึงกับแย่มากนัก

(เกมรับแมนยูซีซั่นที่ผ่านมา เสียประตูน้อยเป็นอันดับ4ของลีก รองจาก 1.ซิตี้ 2.เชลซี 3.อาร์เซนอล / ความน่าจะเป็นของจำนวนการเสียประตู แมนยูก็อยู่อันดับ4เช่นกัน และทั้งสองสถิติดังกล่าว ถ้าตัด "3เกมแรกของฤดูกาลที่ผ่านมา" ออกไป แมนยูจะขึ้นไปอยู่ อันดับ3 ของลีกทั้งสองค่า)

สิ่งที่เป็น "Fact" ของเรื่องดังกล่าว คือภาพที่อยู่ข้างล่างนี้

ข้อมูลในตารางนี้จากต้นทางของ Statsbomb โดยที่ NP นั้นเป็นตัวย่อมาจากคำว่า non-penalty หรือหมายความว่า ไม่รวมประตูจากจุดโทษ ด้วยนั่นเอง

ในสถิติของ "แบ็คโฟร์4คนหลัก" (แถวบนสุด) เวลาการลงเล่นทั้งหมดของแบ็คโฟร์หลักทั้ง4คือ 1874 นาที รวมUCLด้วย แต่ว่าถ้าตัดออกเหลือแต่เกมในลีกจะเหลือ 1769 นาที เฉพาะในพรีเมียร์ลีก สถิติตัวเลขของแผงแบ็คโฟร์ชุดหลักสี่คนแรก (AWB-Lindelof-Maguire-Shaw) จะมีสถิติการเสียประตู "0.56 ลูกต่อเกม" (ไม่นับรวมจุดโทษ)

ซึ่งจริงๆแล้วเป็นสถิติที่ดีมาก (หรือคิดเป็นการเสียประตู 21.28 ประตู/ฤดูกาล ไม่รวมลูกจุดโทษ ) และเกมรับก็พัฒนาขึ้นมาจากเดิมที่มีค่าการเสียประตูเฉลี่ยต่อเกมถึง 0.77 ในฤดูกาลที่ผ่านมาของสี่คนดังกล่าว

11 ประตูที่เสียในฤดูกาลนี้ที่ไม่ใช่ลูกจุดโทษ 1ลูกเป็น own goal และอีก 7 เสียจากจังหวะโอเพ่นเพลย์ ดังนั้นแล้ว ที่เหลืออีก3ลูก จึงเป็นการเสียจากลูกเซ็ตพีซแค่ "3 ประตู" เท่านั้น ซึ่งมันไม่แย่เลยจริงๆสำหรับแบ็คโฟร์หลักในเซ็ตการลงเล่นร่วมกันของ [วานบิสซาก้า ลินเดอเลิฟ แมกไกวร์ ชอว์]

หากว่าเป็นสี่คนนี้ คาดการณ์ว่าหากใช้แผงนี้แผงเดียวเต็มๆ 38เกม แบบไม่เปลี่ยนผู้เล่นเลยตลอดฤดูกาลจากการคำนวณ พวกเขาจะเสียลูกเซ็ตพีซแค่ 5.5 ลูกเท่านั้นเอง ซึ่งมีเพียงสโมสรเดียวเท่านั้นที่เสียน้อยกว่าค่าดังกล่าวในฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งก็คือ อาร์เซนอล เสียประตูจากเซ็ตพีซไปแค่ 5 ลูกในฤดูกาล 2020/21 เสียน้อยที่สุดในลีก

หรือว่าแมนยูไนเต็ดจะต้องแอบส่งโดรนไปดูที่สนามซ้อมของปืนใหญ่ซะหน่อยแล้ว!

จาก 1769 นาทีของแบ็คโฟร์4คนหลัก คิดเป็นการลงสนาม 54.6% ของการลงเล่นในพรีเมียร์ลีกทั้งหมด หรือในอีกทางหนึ่งก็คือ 4คนหลักนี้ ได้เล่นร่วมกันเกินครึ่งฤดูกาลมานิดเดียว และเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซไปแค่ 3 เม็ดเท่านั้นเอง

นั่นแปลว่า อีกครึ่งของฤดูกาลที่เหลือ ซึ่ง4คนนี้ไม่ได้ลงสนามพร้อมกัน ทีมเสียไปถึง 11ลูกจากเซ็ตพีซ!

คิดเป็น 78.57% ของประตูที่เสียเพราะเซ็ตพีซ ซึ่งมาจากเวลาการลงเล่นในสนามแค่ 45.40% ของทุกนาทีในพรีเมียร์ลีก

จากหลักฐานมัดตัวเช่นนี้ จะเห็นชัดเจนว่า แผงแบ็คโฟร์ตัวหลักของทีมเรา (วานบิสซาก้า ลินเดอเลิฟ แมกไกวร์ ชอว์) จึงไม่ใช่ตัวการของปัญหาในเรื่องนี้ แต่เมื่อมีการต้องเปลี่ยนแปลงนักเตะต่างๆเกิดขึ้น มันก็ทำให้ทุกสิ่งยุ่งเหยิง ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยจากสถิติดังกล่าวข้างบนนี้

เพราะจากภาพ ผู้อ่านจะเห็นว่า เมื่อเป็นแผงแบ็คโฟร์ในเซ็ต "AWB-Bailly-Maguire-Shaw" ค่าการเสียประตูเฉลี่ยต่อเกม(ไม่รวมจุดโทษ) พุ่งสูงขึ้นจาก 0.53 กลายเป็น 1.27 ทันที และยิ่งไปปรับคอมบิเนชั่นกองหลังเป็นแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่สองแบบนี้ แมนยูไนเต็ดจะยิ่งเละกว่าเดิม เมื่อการเสียประตูเฉลี่ยต่อเกม ขึ้นสูงสุดเป็น 1.70 ทันทีอย่างที่เห็น

ในขณะที่ค่าความน่าจะเป็นของการเสียประตู (NP Expected Goal Against) ในช่องกลางของตารางนั้น จะเห็นว่า ถ้าเป็นแผงแบ็คโฟร์หลัก พวกเขาเสียประตูจริงไปแค่ 11 ลูก จากความน่าจะเป็นที่ระบบคำนวณออกมาว่า น่าจะเสียประตู 15.18 ลูก

นั่นแปลว่า เกมรับของพวกเขาทำได้ดีกว่าการคาดการณ์ด้วยการคำนวณนั่นเอง

กลับกัน ถ้าเป็นชุดอื่นๆที่ไม่ใช่แผงแบ็คโฟร์ จะเห็นชัดเจนว่า NP Goal Against นั้น ทีมเราเสียประตูจริง เยอะกว่าค่าคำนวณ ในทุกๆการใช้งานแผงกองหลังเลย อย่างถ้าเป็นชุดไบญี่ด้านล่าง เสีย 7 ประตู จากค่าคำนวณที่น่าจะเสียแค่ 6.63 ในขณะที่คอมบิเนชั่นอื่นๆยิ่งหนัก เสียไปถึง 27 ประตู จากค่าที่คำนวณว่าเราควรจะเสียประมาณแค่ 21.20

เห็นชัดเจนนะครับว่า แผงแบ็คโฟร์หลักของเราอย่าง วานบิสซาก้า ลินเดอเลิฟ แมกไกวร์ ชอว์ เป็นชุดที่ดีที่สุดจริงๆจาก Fact ที่ไม่หลอกใครเหล่านี้

และรวมถึง ข้อบ่งชี้ ทางด้านการเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซ ที่มีเพียงแค่ 3 ลูกเท่านั้นเอง

การเปลี่ยนแปลงเพียงแค่เรื่องเดียวในสนาม อาจจะทำให้เกิดโดมิโน่เอฟเฟ็คต์ในการsettingการป้องกันลูกเซ็ตพีซได้เลย ซึ่งมันเกี่ยวพันกับระดับความรับผิดชอบของผู้เล่นในการป้องกันเซ็ตพีซเหล่านี้ ซึ่งนักเตะแต่ละคนก็มีความสามารถที่แตกต่างกัน

มาดูช็อตที่เสียประตูจากเซ็ตพีซของลิเวอร์พูลในช่วงซีซั่นที่แล้วกัน

ลูกนี้เป็นฟรีคิกจากด้านกว้าง ยูไนเต็ดนั้นยืนตั้งไลน์รับดันสูงขึ้นมา และดูเหมือนจะเป็นการผสมผสานกันระหว่าง ผู้เล่นที่ทำหน้าที่ "ตามประกบ" คู่แข่ง (Man-Markers) กับตัวที่จะเล่นแบบคุมโซน (Zonal-Markers)

มาร์คัส แรชฟอร์ด, เอดินสัน คาวานี่, ลินเดอเลิฟ และ วานบิสซาก้า 4คนนี้ดูเหมือนจะทำหน้าที่ดูตัวประกบของตัวเองอยู่ ตามในภาพนี้เลยที่จับเป็นคู่ๆอยู่กับนักเตะลิเวอร์พูลที่มาฝังตัวอยู่ในไลน์เกมรับที่ดันสูงขึ้นมาของเรา

ในขณะที่คนที่เหลืออย่าง ชอว์ แม็คโทมิเนย์ ไบญี่ และรวมถึงจุดสำคัญที่สุดอีกคนอย่าง ป็อกบา 4คนนี้จะวิ่งมาคุมโซน ไม่ได้ตามตัวประกบ

แต่สังเกตให้ดีๆว่าเกิดอะไรขึ้นทางขวานั้น >>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

การป้องกันเซ็ตพีซในภาพข้างบนนี้ก็ไม่ต่างจากเกมเจอเอฟเวอร์ตัน มุมมองในภาพแสดงให้เห็นว่า เอฟได้ฟรีคิกที่ไกลสุดขอบเลย แต่ว่าไลน์เกมรับแมนยูไนเต็ดยังเซ็ตอัพเหมือนเดิมในภาพบนเป๊ะๆ

ยูไนเต็ดยังคงใช้นักเตะยืนเป็นคลัสเตอร์ตรงกลางคล้ายๆกับภาพข้างบน โดยมีแม็คโทมิเนย์เป็นตัวสุดท้ายที่ทิ้งระยะห่างกับผู้เล่นของคู่ต่อสู้ตัวที่ยืนไกลสุดทางเสาสอง

เห็นสองภาพนี้ เดาออกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเห็นชัด เห็นบ่อยจริงๆว่า แมนยูมักจะพลาดโดนตัวไกลทางเสาสองแบบนี้เล่นงานอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยแก้ไขเลยจริงๆในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อบอลถูกเปิดมา จังหวะแบบนี้ของเราจะกลายเป็นการวิ่งลงไป "คุมโซน" แค่อย่างเดียว เพราะทุกคนจะมองอยู่แต่กับบอล

ผู้อ่านต้องจำประเด็นของแมกไกวร์ในเรื่องนี้ได้แน่นอน เพราะเขาจะคุมพื้นที่ของทุกคนอยู่ ซึ่งในจังหวะนี้แมกไกวร์มีดึงคู่แข่งเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เข้าไปถึงจุดที่เขาคาดว่าบอลจะหลุดมาถึง และเพื่อทดแทนที่เขาออกตัวช้ากว่าคู่ต่อสู้ด้วย

แต่สุดท้ายแล้วจังหวะประตูนี้ที่โดนเอฟเวอร์ตัน เขาก็ช่วยทีมป้องกันไม่สำเร็จ เพราะบอลมันมาตกเสาใกล้ ตรงหน้าของคัลเวิร์ท-เลวิน นั่นเองจนโดนตีเสมอไป


ลิเวอร์พูลเองก็ต้องป้องกันลูกฟรีคิกในจุดที่คล้ายๆลูกนั้นเหมือนกัน แต่พวกเขาเซ็ตการยืนไลน์ที่ต่ำลงมาเล็กน้อย แม้ว่าเสาสองพวกเขาจะทิ้งระยะห่างจากตัวไกลของเราเหมือนกัน แต่ให้ดูจังหวะดังกล่าวตามภาพข้างล่างนี้

สังเกตที่ แน็ท ฟิลลิปส์ ยามที่บอลถูกเปิดเข้าไป เขาไม่มองที่ใครเลยทั้งสิ้น แถมพี่แกก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า แม็คโทมิเนย์วิ่งสอดมาอยู่ด้านหลังแล้ว แต่แน็ท ฟิลลิปส์ (หัวดำๆ) มองแต่ที่ลูกบอลอย่างเดียว นี่คือการป้องกันที่ทำได้ดีของลิเวอร์พูลในเกมนั้น

แล้วคราวนี้มาดูจังหวะแมนยูกันบ้าง

ทุกตัวในสนามจังหวะนี้ มองไปที่บอลอย่างเดียวล้วนๆ ยกเว้นเอริค ไบญี่ ซึ่งไบญี่มาประกบตัวซ้อนกับตัวที่มีคนคุมอยู่ข้างหน้าแล้ว (วานบิสซาก้าประกบอยู่) จากนั้นพอเขามองเห็นวิถีของบอล จึงเริ่มรู้ว่าต้องถอยหลังออกไป แต่มันก็ช้าไปแล้วเพราะมัวแต่ไปประกบตัวอยู่ ซึ่งต่างจากแน็ท ฟิลลิปส์ด้านบน

ส่วน "ป็อกบา" เองก็ควรจะต้องทำให้ดีกว่านี้ในจังหวะดังกล่าว แต่ไบญี่ควรที่จะเข้าถึงบอลได้ก่อนตั้งแต่แรก เพราะคุมโซนพื้นที่ตรงนั้นเอาไว้ตั้งแต่แรก

ถ้าไบญี่เลือกที่จะตามวิถีบอลโด่งตั้งแต่เริ่มเปิด เขาจะสามารถขึ้นถึงบอลได้ก่อนหรือไม่ มันก็เป็นไปได้

แมกไกวร์คือผู้เล่นที่จะคอยดูที่บอลอย่างเดียวตลอดเวลา อย่างที่เขียนอธิบายไว้ในบทความนี้ ดังนั้นถ้าแมกไกวร์อยู่ในตำแหน่งยืนของไบญี่ เขาจะสกัดลูกนี้ได้หรือไม่ ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ มาจากปัญหาการ "ขาดเวลาฝึกซ้อม" ในสนามซ้อมล้วนๆ ซึ่งในระบบการป้องกันเซ็ตพีซที่เราใช้อยู่นั้น ที่เขียนมาจะเห็นได้เลยว่า ปัญหามันมีอยู่หลายจุด หลายรูปแบบมากๆ เช่นการตามตัวประกบ, การเคลียร์บอลไม่ขาด, การหลุดประกบคู่แข่ง ในจังหวะบอลสองที่ตัว man-markers ดันขึ้นหน้า, การยืนไลน์สูงเกินไปเวลารับมือกับเซ็ตพีซด้านข้าง, การเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นแบ็คโฟร์หลัก ฯลฯ

เรื่องพวกนี้เชื่อว่า แฟนผีคงจะไม่แฮปปี้กันเท่าไหร่ และอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย หากจะแก้ปัญหาใหญ่ๆเช่นนี้ มันควรจะต้องใช้เวลาอย่างมากในสนามซ้อมให้มากกว่านี้ ดีกว่าที่จะมานั่งอธิบายหรือเรียนรู้จากไอแพดในห้องเรียนอย่างเดียว

นี่คือสิ่งที่แมนยูไนเต็ดไม่มีในซีซั่นที่ผ่านมา ระบบดังกล่าวนี้สามารถฝึกซ้อมกันได้ในช่วงปรีซีซั่น แต่ฤดูกาลที่ผ่านมาเราไม่มีเวลาดังกล่าวเลย หากจำกันได้ เวลาพักแทบจะไม่มีก็ต้องเริ่มฤดูกาลแล้ว

จากกันยายนปีก่อน จนถึงเมษายนที่ผ่านมา แมนยูลงเล่นสองนัดในทุกๆสัปดาห์ของฤดูกาล ซึ่งก็ทำให้เซสชั่นฝึกซ้อมส่วนใหญ่ ถูกหั่นลดลงไป เพื่อใช้พักขา ฟื้นฟูร่างกายให้สดทันลงเล่นรัวๆ

ในช่วงสัปดาห์ที่เจอโรม่า และลิเวอร์พูลนั้น แมนยูไม่ได้มีวันลงสนามซ้อมด้วยซ้ำ ซึ่งชัดเจนว่าพวกเขาไม่มีเวลามาฝึกอะไรในการแก้ปัญหาเรื่องนี้

การลงเล่นติดๆนั้นเช่นนั้น ส่งผลให้เอริค ไบญี่ ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เมื่อแมกไกวร์เจ็บไปในช่วงสุดสัปดาห์ ไบญี่อยู่ในสนามเกมที่แมนยูเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซถึง5ลูก จากทั้งหมด 14ประตู

แม้ทั้ง5ประตูจะไม่ใช่ความผิดของเขา แต่ว่านับแล้วก็เกือบๆจะ 30% ของลูกเซ็ตพีซที่เสียไปในปีนี้เลย ยามที่ไบญี่ลงสนาม ทั้งๆที่เขาเองก็ลงสนามแค่ 25.49% ของยูไนเต็ดในฤดูกาลนี้เท่านั้นเอง

ลงเล่นแค่1ใน4ของทีม แต่ทีมเสียจากลูกเซ็ตพีซไปแล้ว 1ใน3ของทั้งหมด

เซ็ตพีซสามประตูสุดท้ายที่เราเสียจากเลสเตอร์และลิเวอร์พูลนั้นคือการลงสนามของเขา และแสดงให้เห็นว่า ทีมเราขาดเวลาในการลงฝึกในสนามซ้อมจริงๆ

ฤดูกาลที่ผ่านมาไบญี่ต้องแย่งตำแหน่งกับลินเดอเลิฟ และน่าจะสันนิษฐานได้ว่า ในยามฝึกซ้อมเขาน่าจะได้รับหน้าที่เป็น ตัวรับมือลูกกลางอากาศอันดับที่2 รองจากแมกไกวร์ที่เป็นเบอร์หนึ่งตามสถานการณ์ปกติส่วนใหญ่

เห็นได้ชัดว่าคุณจำเป็นต้องซ้อมเผื่อเอาไว้ โดยคำนึงถึงโอกาสที่แมกไกวร์อาจจะบาดเจ็บเอาไว้ด้วย เพียงแค่ถ้ามีเวลาในสนามซ้อมมากเพียงพอเท่านั้นเอง ซึ่งมันก็มีโอกาสการสลับสับเปลี่ยนเกิดขึ้นได้มากมาย

ควรจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของ "ตัวแทน" ในสถานการณ์ต่างๆให้เหมาะสมตามเหตุและผล (เช่น ถ้าแมกไกวร์เจ็บไป ใครจะขึ้นมาเป็นตัวรับผิดชอบเบอร์1 เป็นต้น)

เป็นการยากที่จะจินตนาการได้ว่า โอเล่ กุนนาร์ โซลชา จะลงเตะเกมพรีเมียร์ลีกด้วยตัวการปรับแผงหลังหกคนด้วยการใช้งานตัวสำรองที่เหลืออย่าง วิลเลียมส์, ตวนเซเบ้, ไบญี่, เตลีส, มาติช และ ดอนนี่ ฟานเดอเบค มันคงจะลำบากแน่นอนอย่างไม่ต้องแปลกใจ

เรื่องราวคล้ายๆกันกับของไบญี่ อเล็กซ์ เตลีสนั้น อยู่ในสนามยามที่ยูไนเต็ดเสียประตูจากเซ็ตพีซถึง 6 ลูก คิดเป็น 42.86% ของการเสียเซ็ตพีซทั้งหมด 14ลูก จากการลงสนามในพรีเมียร์ลีกของอเล็กซ์เพียงแค่ 18.52% เท่านั้นเอง

เตลีสเข้าทีมมาหลังจากฤดูกาลได้เริ่มไปแล้วเนื่องจากเขาติดโควิดมา ปัญหาส่วนใหญ่ในการป้องกันเซ็ตพีซของเจ้าตัวนั้น เกิดขึ้นในช่วงต้นๆฤดูกาล (Southampton, West Ham, Sheffield United)

และแน่นอน ผู้อ่านน่าจะเริ่มเดาได้แล้วว่า เมื่อเขาได้ใช้เวลาอยู่กับทีมนานมากขึ้น ทุกอย่างก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน (แม้จะยังคงพลาดปล่อยตัวประกบเสาสองหลุดว่างอยู่เรื่อยๆก็ตาม แต่ก็ดีขึ้น)

ในขณะที่มีความผิดเพี้ยนเกิดขึ้นกับมาติชอีกด้วย ซีซั่น 2019/20 เขาก้าวขึ้นมาและก็ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้ทีมได้ แต่ฤดูกาลที่ผ่านมาตรงกันข้ามหมดเลย เขาอยู่ในสนามยามที่ทีมเสียลูกเซ็ตพีซไปถึง 7 ลูก หรือ50% ครึ่งนึงของที่เสียทั้งหมด แม้จะได้ลงสนามเพียงแค่ 31% ของเกมทั้งฤดูกาล

ก็เหมือนกับเคสไบญี่ ไอ้ที่ลูกเสียมันก็ไม่ใช่ความผิดของมาติชสักหน่อย แต่มันแสดงผลให้เห็นว่าระดับการเล่นของเขาในทุกแอเรียนั้นดรอปๆลงในปีนี้

และยิ่งไม่น่าเชื่อไปใหญ่ว่า ความผิดพลาดทั้งหลายต่างๆ แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยหากว่า "แบ็คโฟร์ตัวหลัก" ได้ลงสนามต่อเนื่อง ดังนั้นหากแมนยูไนเต็ดจะตะลุยตลาดนักเตะในซัมเมอร์นี้เพื่อควานหา "เซ็นเตอร์แบ็ค" คนที่จะเข้ามาเพื่อเซ็ตแบ็คโฟร์ชุดหลักในการลงเล่นต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจเลยอย่างยิ่งว่าทำไมเราถึงต้องพยายามซื้อCBใหม่ขนาดนั้น อย่างที่คุณเห็นกับข่าวของ ราฟาเอล วาราน ที่ตอนนี้เหลือแค่ตกลงค่าตัวกันให้ได้แล้วเท่านั้น ตามสายข่าวtier1 อย่างF.Romano รายงานมา

อย่างที่ข้อสังเกตเบื้องต้นที่เรานำเสนอว่า "ความต่อเนื่อง" เป็นกุญแจสำคัญนั้น การลงสนามซ้อมก็เช่นกัน แมนยูไนเต็ดแก้ปัญหาต่างๆได้มากมายเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ของ training camp ในช่วงเบรคหนีหนาวปีนั้น

ปีนี้จะไม่มีสิ่งนั้น แต่เราจะมีปรีซีซั่น และเราจะได้ลงสนามซ้อมเยอะขึ้น

สิ่งที่คุณกำลังจะเห็นในฤดูกาล 2021/22 อาจจะเป็นการ "ยกเครื่อง" ทั้งระบบนี้กันใหม่หมดเลย หรือไม่ก็ใช้นักเตะใหม่ๆมาลองเข้ากับระบบที่ใช้อยู่ และลองผสมผสานคอมบิเนชั่นการใช้นักเตะหลายๆแบบ เพื่อให้ทุกคนในทีมคุ้นเคยซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะหมุนเวียนเป็นใครในสนาม

Conclusion

เราสามารถสรุปประเด็นทั้งหมดแบบง่ายๆในบทความนี้แบบกระชับได้ว่า ในเรื่องของรูปแบบการเล่นป้องกันเซ็ตพีซของแมนยูไนเต็ดนั้น ปกติส่วนใหญ่เราก็จะเล่นด้วยการผสมผสานระหว่าง การยืนคุมโซน แบบ zonal-marking และตามประกบตัว แบบ man-marking

สรุปสิ่งที่แมนยูไนเต็ดมีปัญหาในการป้องกันเซ็ตพีซในสนาม เท่าที่มองเห็นก็คือ

1. "หลุดประกบตัววิ่งอยู่บ่อยๆ" ป้องกันตัวผู้เล่นที่จะวิ่งเข้ามาจากวงนอก และโถมชาร์จเข้าใส่ตัวยืนคุมโซนไม่ได้ จนเสียประตูในลักษณะนี้บ่อยครั้งมาก แถมยังโดนชิงโหม่งต่อหน้าแมกไกวร์อีกด้วย ขนาดกัปตันเอาไม่อยู่ ตัวอื่นถ้าโดนวิ่งโถมใส่ก็ไม่น่ารอด ดังนั้นต้องแก้เรื่องนี้ด่วนๆ

2. "บอลแรก" ต้องเคลียร์ให้ขาด เพราะถ้าไม่ขาด โอกาสพลาดมีสูง เนื่องจากนักเตะแมนยูไนเต็ดจะเริ่มสับสนตำแหน่ง ตัวแดนหน้าจะกลับเข้าตำแหน่ง และหลุดตัวประกบทันที ดังนั้น การมีเซ็นเตอร์ตัวใหม่ที่มีความสามารถในการดวลลูกกลางอากาศดีๆมาเข้าทีมเพิ่มอีกตัว จะมีโอกาสป้องกันให้ทีมสูงมาก เพราะจะทำให้มือดีในการแย่งลูกโหม่ง มีมากกว่า1 และมีคนมาแบ่งเบาแฮรี่ แมกไกวร์ได้ เพราะทุกวันนี้ ถ้าบอลไม่มาเข้าทางแมกไกวร์ คนอื่นๆแย่งโหม่งแทบจะไม่ได้เลย

3. "เซ็ตไลน์การยืนสูงเกินไปเวลาโดนฟรีคิก" เรื่องนี้เห็นได้ชัด มีตัวเปรียบเทียบในบทความ และภาพประจำก็คือ โดนเปิดบอลลึกมาด้านหลังไลน์ และนักเตะเราเข้าสกัดแพ้คู่แข่งประจำ

4. "การโดนกดดันในกรอบ6หลา" ห้ามเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด อันนี้จุดอ่อนสำคัญสุดๆ และนักเตะเราเสียประตูประจำ เวลาโดนเปิดยัดเข้ามาใกล้ๆนายประตูที่ถูกบัง ถูกบีบพื้นที่ อันนี้คือโดนบ่อยมากจนเห็นว่า เป็นจุดอ่อนจริงๆ

5. "ปล่อยตัวประกบเสาไกลหลุด" อยู่เป็นประจำ และโดนตลอดไม่ว่าจะโยนตรง หรือบอลเช็ดจังหวะสอง

ลิสต์ดังกล่าวคือประเด็นที่แก้ไขได้ และเกิดจากเรื่องฝึกซ้อมแผนล้วนๆ ประเด็นที่หลายคนยังมี bias เพ่งเล็งที่ตัวบุคคลอย่างเดียว ไม่ว่าจะเดเคอา หรือ ไบญี่ ลินเดอเลิฟ ยังไม่ใช่ต้นตอปัญหาที่แท้จริงอย่างที่ใครเข้าใจ เพราะปัญหาการออกมาตัดบอลไม่ดีของเดเคอาก็มีส่วน แต่ดีน เฮนเดอร์สัน ก็ยังไม่ได้ดีกว่าเดเคอามากถึงขนาดมีนัยสำคัญ เพราะดีนลงก็ยังเห็นเจอปัญหาเดิมๆ ยังเสียประตูรูปแบบเดิมๆอยู่แบบเห็นชัด

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ดีน-เด หรือ ไบญี่ ลินเดอเลิฟแค่จุดเดียว มันอยู่ที่ระบบการเล่น

จุดสำคัญคือการขาดเซสชั่นการฝึกซ้อมเรื่องในของ "ความเข้าใจ" ในแผนมากกว่า บวกกับการเสริมนักเตะที่เล่นกลางอากาศดีๆเข้ามาอีกสักคนในตำแหน่งเซ็นเตอร์ ที่ไม่ใช่ เลิฟ กับ ไบญี่ น่าจะช่วยเรื่องนี้ได้

ส่วนปัญหาที่เกิดจากเรื่องของการบริหารจัดการ มีอยู่สองประเด็นหลักคือ

1. แมนยูไนเต็ดแทบจะไม่มีเวลาซ้อมป้องกันลูกเซ็ตพีซในสนามซ้อมเลย เนื่องจากความถี่ในการลงเตะ 2นัดต่อสัปดาห์ต่อเนื่องทุกๆวีค ทำให้เราแทบไม่มีเวลาซ้อมเรื่องดังกล่าวมากพอ และเวลาเตรียมทีมที่มีน้อยในช่วงปรีซีซั่นเดือนฤดูกาลที่แล้ว

2. ความเสถียรและคุณภาพของนักเตะเกมรับ อย่างที่มีตัวอย่างในช่วงท้าย การลงสนามต่อเนื่องของแบ็คโฟร์ตัวเลือกแรก ถือว่าทำผลงานได้ดี เพราะเป็นชุดที่ดีที่สุด หากได้ลงติดต่อกันจะช่วยได้มาก ดังนั้นการเสริมนักเตะใหม่ที่เข้ามายกระดับให้ดีขึ้น และการมีแพลนB ของการซ้อมตัวสำรอง เผื่อเคสที่ตัวหลักไม่อยู่ในสนาม จะช่วยลดความสับสนได้มาก

ทีมโค้ชที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ทีมได้ แม้ว่าปีนี้จะมีเวลาในการซ้อมแล้วก็ตาม เราคงจะเจอปัญหาใหญ่หลวงจริงๆ เพราะมันคงจะเกิดคำถามขึ้นมากมายแน่นอนว่าเพราะอะไรกันแน่

จริงๆแล้ว ตัวเลือก4คนแรกนั้นเอาอยู่ สิ่งที่ยูไนเต็ดต้องการก็คือ การป้องกันเซ็ตพีซของตัวสำรองที่สามารถทดแทนตัวหลักเหล่านี้ได้ยามพวกเขาไม่ได้ลงเล่น รวมถึงนักเตะใหม่ๆที่จะซื้อเข้ามาเพื่อพัฒนาคุณภาพตรงนี้ไปอีกระดับ

ไม่งั้นก็มีอีกวิธีนึง ก็แค่จ้าง "โค้ชเซ็ตพีซ" เข้ามาในทีมเท่านั้นเอง

นอกเหนือจากความสม่ำเสมอของทีม และเวลาในการฝึกซ้อมเซ็ตพีซ การมีโค้ชเซ็ตพีซจะช่วยเรื่องนี้ได้

และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แมนยูไนเต็ด ก็อิมพอร์ต "โค้ชเซ็ตพีซ" เข้าทีมมาได้สำเร็จแล้วด้วยในตอนนี้

Eric Ramsay คือชายผู้ที่จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาการเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซให้ทีมเราได้

ประเด็นไหนที่เขาจะช่วยเราได้บ้าง และวิธีการทำงานของเอริค แรมซีย์เป็นยังไง

โปรดติดตามต่อในบทความภาค2 ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

-ศาลาผี-

References

https://thebusbybabe.sbnation.com/2021/5/20/22441070/manchester-united-tactical-analysis-set-piece-defending-emphasizes-need-for-backups

https://www.whoscored.com/Regions/252/Tournaments/2/Seasons/8228/Stages/18685/TeamStatistics/England-Premier-League-2020-2021

https://www.sportskeeda.com/football/manchester-united-need-set-piece-coach

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด