:::     :::

"เด็กปั้นแมนยู" ดาบสองคมของความเหลิง สู่เส้นทางที่ล้มเหลว

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2565 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
3,359
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือการขุดหนึ่งในต้นตอของปัญหาที่ฝังรากจมลึกอยู่ใต้ผืนดินสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดแห่งนี้มานานแสนนาน จนผู้จัดการทีมคนแล้วคนเล่าก็ไม่สามารถเอาอยู่กับการฉุดปีศาจตนนี้ให้ฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง และขนบธรรมเนียมสโมสรอย่างการให้ความสำคัญกับ "เด็กปั้นสโมสร" หากว่ามันเป็ความรักที่บิดเบี้ยวมากเกินไป มันจะกลายเป็นดาบสองคมที่เฉือนตัวตายได้เช่นกัน

เชื่อว่าประเด็นนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของทีม ที่แฟนแมนยูไนเต็ดหลายๆท่านกังวลสงสัย และไม่พอใจกันอย่างมากรวมถึงตัวผู้เขียนด้วย เกี่ยวกับกรณีการเล่นที่มีฟอร์มอันย่ำแย่ของเหล่าผู้เล่นในทีมเรา บางคน ที่ก้าวขึ้นมาติดทีมชุดใหญ่พร้อมด้วยการมี "สถานะ" (identity) บางอย่างติดตัว ซึ่งทำให้ได้รับ "สิทธิพิเศษ" (privilege) หลายสิ่งมากกว่าผู้เล่นคนอื่นๆ

สถานะดังกล่าวมักจะทำให้นักเตะถูกยกย่องเกินความเป็นจริง (overrated) ทั้งจากบุคลากรในสโมสรเองที่ให้คุณค่ากับสิ่งนี้ รวมถึงความรู้สึกในตัวนักเตะเอง ที่เข้าใจไปว่าตนนั้น "พิเศษ" กว่านักเตะคนอื่น ทั้งที่จริงๆยังไปไม่ถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ที่มีคุณภาพการเล่นเสมอต้นเสมอปลาย

และดีพอสำหรับสวมเสื้อปีศาจแดง

การถูกโอ๋มากเกินควรจากการที่มักจะ "ได้รับโอกาส" ก่อนนักเตะคนอื่นในทีมที่ไม่ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งนี้

มันคือป้ายยี่ห้อที่ชื่อว่า "เป็นนักเตะจากอะคาเดมี่ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด" นั่นเอง

มี Case Study ที่เกิดขึ้นมาในเรื่องของ "เด็กปั้นสโมสร" อย่างเห็นได้ชัดจากสามนักเตะที่เราเห็น "ปัญหา" ในการเล่นเกิดขึ้น มากกว่าคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นปัญหาทางด้าน "Mentality" หรือสภาวะจิตใจ ความนึกคิดของนักเตะเอง

และสิ่งที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งบนโลกนี้ .. "ทัศนคติ"

เด็กปั้นของสโมสรเราหลายๆคนมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ โดยมีสามเคสของนักเตะปัจจุบันที่ยังอยู่กับทีมชุดใหญ่ในขณะนี้ เป็นตัวอย่างของปัญหาที่ดี


กรณีแรก นั่นคือฟอร์มที่ตกต่ำจากการเล่นที่ย่ำแย่ เพราะขาดการตัดสินใจที่ดี และการมีทัศนคติมุมมองการเล่นที่เห็นแก่ตัว และไม่ทำเพื่อทีม รวมถึงไม่ทุ่มเทมากเพียงพอในสนามอย่าง Marcus Rashford

และการยกย่องที่ผ่านมา มันไม่ตรงกับฝีเท้าแท้จริงที่ถูกบดบังด้วยการยิงประตูได้เยอะ แต่มีปัญหาในภาคการเล่นอยู่มาก หากว่าได้ดูลักษณะการเล่นของเขาในสนามจริงๆ หากแรชชี่ทำได้ดีกว่านี้ เราจะทำประตูกันได้ถล่มทลาย และคงได้ลุ้นแชมป์มากกว่านี้

ผ่านมาสี่ผู้จัดการทีม ตั้งแต่มูรินโญ่ ยัน ราล์ฟ รังนิค.. มาร์คัส แรชฟอร์ดยังคงมีทัศนคติที่ย่ำแย่ในการเล่นด้วยการอยากจะโชว์ฝีเท้าแบบ "บอลชายเดี่ยว" หวงบอลไว้กับตัว ฝืนเล่นด้วยตัวเองไม่ยอมส่งให้เพื่อน และเล่นหลายจังหวะ ทำการตัดสินใจใน timing ที่ไม่เหมาะสม จนทำให้ทีมไม่ลื่นไหลเพราะการเล่นที่ดึงบอลไว้กับตัวนาน

สุดท้ายการเล่นของเพื่อน "เสียจังหวะ" กันทั้งทีม บอลไม่ลื่นไหลเท่าที่ควรจะเป็น นั่นคือกรณีแรกของแรชฟอร์ด

กรณีศึกษาที่สอง คือเรื่องการปอยล์นักเตะมากจนเกินไป กับเด็กที่ได้ชื่อว่าเป็น ดาวรุ่งเทพโคตรพรสวรรค์ ผู้ถือกำเนิดขึ้นมาในเซฟปัจจุบันนี้

เมื่อเห็นว่าเก่งและมีแววเปรี้ยงมากในอนาคต จึงได้รับโอกาสมาก และเริ่มมีการ "ปล่อย" ให้ดาวรุ่งพรสวรรค์บางคนที่ก้าวขึ้นมาจากชุดเยาวชน ได้ทำตามอำเภอใจในสนาม

มันเป็นการปั้นนักเตะให้มีความมั่นใจ และกล้าเล่น กล้าลอง ซึ่งก็จะพัฒนาได้เร็วก็จริง แต่อีกด้านหนึ่ง หากว่าปล่อยให้เล่นตามอำเภอใจ ไม่สนเพื่อน หรือ ทีมเวิร์ค มันก็จะเลยเถิดและเปลี่ยนแปลงไปเป็นการแสดงอีโก้ว่าข้าเจ๋ง ข้าทำได้

และเป็นการแสดงออกถึงการ "นึกถึงแต่การโชว์ผลงานของตัวเอง" มากกว่าที่เป็นการ "จะเล่นเพื่อทีม" ในเคสของนักเตะอย่าง "Mason Greenwood" ซึ่งเรื่องนี้ก็มีปัญหาเดียวกันกับ Marcus Rashford เช่นกัน

(แต่ถ้าให้เทียบกัน แน่นอนว่า Mason Greenwood ที่อายุน้อยกว่าแรชชี่มากๆ แต่ก็ยังมีการตัดสินใจที่ดี มีวิสัยทัศน์การเล่นที่รวดเร็ว ไหลลื่น และทำเพื่อทีมมากกว่าแรชฟอร์ดอยู่ดี แปลว่าเคสของแรชฟอร์ดนี่คือหนักหนาสาหัสมากจริงๆครับ)

กรณีที่สาม ปัญหาในเรื่องของ "ชื่อเสียงที่ได้มาจากการที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเตะแมนยู" แถมเป็นนักเตะพิเศษที่ได้ชื่อว่า ทีมปั้นมาเอง มาจากอะคาเดมี่เรา ทำให้นักเตะเหล่านี้สนใจเรื่องนอกสนาม และการเล่นโซเชียลเพื่อตอบสนองต่อความกระหายแสงของตัวเอง จนทำให้ฟอร์มเป๋ไปเมื่อรวมกับปัญหาอื่นๆนอกสนาม อย่างกรณีของ "Jesse Lingard" ที่เคยมีปัญหาหนักๆอยู่ช่วงหนึ่ง

(แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว และกลับมาสู่เส้นทางนักฟุตบอลอย่างเต็มตัว เหลือเพียงแค่รอโอกาสที่เขาจะย้ายทีมไปลงเท่านั้น หยิบยกประเด็นเก่าขึ้นมาเป็นเคสตัวอย่างของเรื่อง "การมีชื่อเสียง" เท่านั้น อย่ารื้อฟื้นเรื่องเก่าที่ผ่านมาแล้ว)

เราไม่เถียงว่า การมีประวัติศาสตร์สโมสรที่เป็นการสนับสนุนนักเตะเยาวชนพื้นถิ่น ให้มีโอกาสได้ก้าวขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ ถือเป็นตัวตนและเอกลักษณ์ที่สำคัญมากๆของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่าแค่ช่วงอายุแฟนบอลตัวเล็กๆอย่างเรามาก และมันอยู่คู่กับเรามานานแล้ว

แมนยูไนเต็ด ลงแข่งขันโดยมีนักเตะเยาวชนของทีมลงสนามทุกนัดติดต่อกันมาเกินกว่า 4000 เกม++ ในช่วงเกือบ 9ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1937 จนถึงบัดนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 85 แล้ว

แต่.. ขนบธรรมเนียมบางอย่างเราจะให้มันกลืนกิน จนมีความสำคัญ "เกิน" ภาพรวมที่ใหญ่กว่านั้นไม่ได้

ดังนั้น "ขนบ" ดังกล่าว สมควรที่จะมีpriorityที่เป็นรองความสำคัญของ "สโมสร"

คุณภาพการเล่นในสนาม และผลการแข่งขันของทีมเรา ควรที่จะอยู่เหนือกว่าความสำคัญของการใช้นักเตะเยาวชนของทีมมากกว่า ในอัตราส่วนที่บาลานซ์กันพอดีๆ เพื่อที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จะทำผลงานได้ดีที่สุด ในทุกรายการที่ลงแข่งขัน

เรื่องนี้สำคัญยิ่งกว่าอะไร ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีธุรกิจมาเกี่ยวข้องแบบ 100% มันยิ่งสำคัญกับเส้นใยแห่งชีวิตของสโมสรมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ

ชัยชนะและผลงานของ "สโมสร" เกี่ยวข้องกับ "ชื่อเสียง" "ความสุขของแฟนบอล" รวมถึง "เงิน" ที่เป็นผลตอบแทนและรายได้ที่จะเข้ามา จากทั้งรางวัล สปอนเซอร์ ความเคลื่อนไหวในโซเชียลเพื่อผลประโยชน์การโฆษณา

ทุกอย่างที่ว่ามาสำคัญมากๆทั้งนั้น เพื่อที่จะพยุงกิจการสโมสรที่เราบริหารและจัดหารายได้กันด้วยตัวเองเช่นนี้ โดยไม่ได้มีนายทุนใหญ่มาสนับสนุนเงินเหมือนบางสโมสรในยุคนี้

การทำผลงานได้ดี ส่งผลกับทุกๆเรื่อง ดังนั้นสิ่งที่ต้องโฟกัสมากกว่า ก็คือผลงานของทีม ไม่ใช่การให้ความสำคัญกับประเพณีสโมสรอย่างบิดเบี้ยว ที่กำลังพาเราเดินไปผิดทางอย่างมาก

ผลงานในสนามกระทบต่อการเงินสโมสรโดยตรง ทั้งเรื่องภาพลักษณ์ สปอนเซอร์ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเห็นคุณค่าของ "แบรนด์" Manchester United เรา

ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกับผลงานของ "ทีม" เป็นสำคัญ

เห็นไหมครับว่า เรื่องของการใช้นักเตะเยาวชนของทีมจากอะคาเดมี่นั้น เป็นเพียงอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งเท่านั้น

แต่มันไม่ใช่ลมหายใจทั้งหมดของ "แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด"

มีตัวอย่างดีๆให้ดูจากพิมพ์เขียวในอดีตของ Sir Alex Ferguson ว่าป๋าเคยดูแลสโมสรมายังไงในเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างนักเตะแก่ประสบการณ์ นักเตะท็อปคลาสที่นำเข้ามา และนักเตะดาวรุ่งจากอะคาเดมี่สโมสร

จริงอยู่ว่ามันต่างกรรม ต่างวาระ คงเทียบกับปัจจุบันได้ยาก แต่หลายๆเรื่องในภาค management ของSAF ยังคงยอดเยี่ยม และปรับใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมันคือเรื่องบาลานซ์การให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งที่มาจากสโมสร

และการทุ่มซื้อนักเตะ Key Player ระดับท็อปคลาส เข้ามาผสมผสานเพื่อบันดาลแชมป์ให้เป็นจริงด้วย

RVP "20"

เมื่อก่อนยังมีนักเตะรุ่นพี่ที่ทุ่มเท และดูแลน้องๆให้เดินกันอย่างถูกทาง เหมือนอย่างที่รุ่นรอย คีน ช่วยกันดูแลจนโรนัลโด้กับรูนีย์ ขึ้นเป็นตำนานสโมสร เดินตามรอยรุ่นพี่ที่ดูแลพวกเขาไปติดๆ

เรื่องหนึ่งที่ทุกคนคงจะจำกันได้ก็คือ แม้กระทั่งยุคป๋าเองที่ว่ากันว่าปั้นเด็ก ดันเด็กนั้น ยูไนเต็ดในยุคเซอร์อเล็กซ์ ก็ไม่เคยปล่อยให้นักเตะดาวรุ่งเป็นแกนของทีมกันอย่างลำพัง แต่ป๋าจะดึงผู้เล่นระดับท็อปคลาสเข้ามาเสริมทีม และเป็นแกนหลักอยู่เสมอ โดยนักเตะดาวรุ่งเหล่านี้จะได้รับโอกาสอย่างเหมาะสม และจำกัดเท่าที่ความสามารถจะมีเท่านั้น

ถ้าไม่เก่งพอ ก็ต้องเก็บของออกจากสโมสรเช่นกัน

เราไม่ได้เขียนเพื่อจะบอกว่าให้หยุดสนับสนุนนักเตะเยาวชนของพื้นถิ่นเมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อให้มีโอกาสก้าวขึ้นมาติดชุดใหญ่แต่อย่างใด เพียงแค่ว่า ขออย่าให้มันกลายมาเป็น First Priority เหมือนที่ตอนนี้ดูจะไปกันผิดทิศผิดทาง ที่จะดันนักเตะดาวรุ่ง และให้โอกาสplayerที่ได้ชื่อว่าเติบโตมาจาก United's Academy กันมากจนเกินไป

เหมือนอย่างที่เราเห็น "มาร์คัส แรชฟอร์ด" / "เมสัน กรีนวู้ด" / "เจสซี่ ลินการ์ด" ได้รับโอกาสกันอย่างพร่ำเพรื่อ และจองพื้นที่ตัวจริงในทีมอยู่ตลอดเวลา

(เคสลินการ์ดก็คือ บริบทของเขาในช่วงยุคที่ฟอร์มตกๆก่อนหน้านี้ ปัจจุบันนี้ เจสซี่สมควรย้ายทีมเพื่อได้ไปแสดงฝีเท้าที่ยอดเยี่ยมของตัวเองในสโมสรอื่นได้แล้ว กับการเป็นตัวจริง ยามที่กำลังเข้าช่วงพีคของเส้นทางอาชีพ)

บทความนี้เราต้องการที่จะพูดถึง "นักเตะอะคาเดมี่โดยรวม" ของทั้งสโมสรเรา ว่าสมควรที่จะตั้งใจเล่นอย่างเต็มที่ และทุ่มเทจนถึงที่สุด เพื่อให้คู่ควรกับการได้ใส่เสื้ออันทรงเกียรติสีแดงที่ปักตราสโมสรของเราตัวนี้

ไม่ใช่ว่า แค่คุณเป็นนักเตะที่ขึ้นมาจากเยาวชน แล้วจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ในฐานะ "คนใน" ซึ่งดูเหมือนว่าจะต้องได้รับความสำคัญกว่า "คนนอก" อันหมายถึงนักเตะที่ไม่ได้มาจากเยาวชนเรา แต่ "ซื้อ" มาจากสโมสรอื่น

ความเป็นจริงของการเล่นฟุตบอลในสนาม เขาแบ่งแยกด้วยเหรอว่า นี่นักเตะเยาวชนสโมสร นี่นักเตะที่ซื้อมาจากข้างนอก แบ่งคนนอกคนในด้วยหรือ?

ไม่ มันไม่เกี่ยวเลย

มีเพียงแต่ผลงานในสนามเท่านั้นที่จะพิสูจน์คุณค่าว่า คุณคู่ควรกับการได้รับโอกาสใส่เสื้อ "ปีศาจแดง" หรือไม่

ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเตะเยาวชนเท่านั้น แต่โอกาสเป็นของทุกคนที่สู้สุดชีวิตเพื่อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

ยกตัวอย่างง่ายๆ "คริสเตียโน่ โรนัลโด้" ก็ไม่ได้เป็นนักเตะเยาวชนของสโมสรมาก่อน เช่นเดียวกันกับ "เวย์น รูนีย์" ที่เราซื้อมาจากอะคาเดมี่เอฟเวอร์ตัน / ตำนานอย่าง เอริค คันโตน่า, รอย คีน,ปีเตอร์ ชไมเคิล, เนมันย่า วิดิช, ริโอ เฟอร์ดินานด์, รุด ฟาน นิสเตอรอย, ยาป สตัม, ปาทริซ เอฟร่า หรือแม้กระทั่งตัวเก่งยุคนี้อย่าง ดาวิด เดเคอา, และ เอดินสัน คาวานี่

นักเตะที่สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเตะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอย่างแท้จริง

มีปัญหากันก็จริง แต่คือสุดยอดทั้งคู่

หลายๆคนในลิสต์นั้นเป็นตำนานตลอดกาลไปแล้วเรียบร้อย และพวกเขาก็ "ไม่ใช่นักเตะที่เกิดขึ้นมาจากอะคาเดมี่" ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดโดยตรงเหมือนกัน ก็ยังคงเป็นตำนานในใจแฟนบอลจนถึงทุกวันนี้

ยังไม่รวมตำนานของเราคนอื่นๆอีกมากมาย เช่น สตีฟ บรูซ,เดนิส เออร์วิน, แอนดี้ โคล, ดไวท์ ยอร์ค,ไมเคิล คาร์ริค, น้าหมี, โอเล่ พวกนี้ไม่มีใครเป็นตัวอะคาเดมี่ของเราเลย เป็นนักเตะที่ซื้อเข้ามาเสริมทีมล้วนๆ

แทบจะนับหัวได้เลยว่า นักเตะระดับตำนานที่เกิดมาจากอะคาเดมี่ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจริงๆมีใครบ้าง

ที่เด่นมากจริงๆของเราที่เป็นตัวเยาวชนลูกกรอกคะนองของปีศาจแดงแท้ๆ มีเพียงแค่พวก Class of 92' ชุดเดียวที่มากันเยอะๆหน่อย นั่นก็คือพวก ไรอัน กิ๊กส์, เดวิด เบ็คแฮม, พอล สโคลส์, แกรี่ เนวิลล์, นิคกี้ บัตต์, ฟิลล์ เนวิลล์ เป็นต้น

หรือถ้าให้ย้อนไปมากกว่านี้ ก็จะมี มาร์ค ฮิวจส์ รวมถึง นอร์แมน ไวท์ไซด์ และรุ่นเดอะที่มีเพียงแค่สองคนจริงๆที่นับเป็นLegendได้ นั่นก็คือ 2ใน3 ของ United Trinity อย่าง "บ็อบบี้ ชาร์ลตัน" และ "จอร์จ เบสต์" เท่านั้น รวมถึงตำนานผู้ล่วงลับที่ฝีเท้าน่าจะขึ้นระดับโลกถ้าไม่จากไปก่อน อย่าง "ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส" อีกคน และอาจรวม บิล โฟล์คส ด้วยก็ได้

เห็นไหมครับว่าจริงๆแล้ว นักเตะอะคาเดมี่เราที่ได้ขึ้นชื่อว่า "ตำนานแมนยู" จริงๆ มีไม่ได้เยอะเลยนะ สิบกว่าคนเองตลอดประวัติศาสตร์ 144 ปีของสโมสร

ถึงแม้ว่าทีมเราจะมีระบบอะคาเดมี่ที่ยาวนานและมีชื่อเสียงก็ตาม แต่นักเตะเยาวชนที่คู่ควรกับการจะได้เป็นตัวจริงของสโมสรนั้นมีน้อยมากๆ ส่วนใหญ่อย่างที่แฟนผีทราบกัน เด็กดาวรุ่งของเรามีฝีเท้าดีมากๆหลายคน แต่สุดท้ายก็แจ้งเกิดทะลุถุงยางขึ้นมาทีมชุดใหญ่ไม่ได้ แล้วก็ต้องย้ายไปเติบโตที่อืื่น เคสแบบนี้มีให้เห็นเยอะแยะมาก

ตัวอย่างง่ายๆเช่นพวก ทอม เคลฟเวอร์ลีย์, ทอม ฮีตัน, รอน-โรเบิร์ต ซีเลอร์, ฟิล บาร์ดสลีย์, จอนนี่ อีแวนส์, ไรอัน ชอว์ครอส, โจชัว คิง, มาร์ค บอสนิช

ยังไม่รวมตัวที่อยากให้เกิดอย่างแก๊งค์ คริส อีเกิล, ลุค แชดวิค หรือ เฟเดอริโก้ มาเคด้า เป็นต้น

ยังมีนักเตะตัวอะคาเดมี่ที่ ได้อยู่กับสโมสรและลงเล่นยาวๆ แต่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้ถึงกับตำนาน แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วที่ได้อยู่โยงกับทีม เช่นพวก จอห์น โอเชีย, เวส บราวน์

ถามว่า เรายกตัวอย่างรายชื่อพวกนี้ออกมาให้ยืดยาวทำไม?

คำตอบก็คือ เพื่อที่จะให้ได้เห็นว่า นักเตะอะคาเดมี่ที่ประสบความสำเร็จแบบจริงๆจังๆกับเรา ที่สามารถเรียกได้ว่า เป็นนักเตะ "ตัวจริง" ที่คู่ควรกับปีศาจแดง และเล่นได้อย่างน่าประทับใจอย่างแท้จริงนั้น มันมีเพียงแค่หยิบมือ นอกนั้นก็คือระดับยังไม่ถึงแทบทั้งสิ้น

ผู้เล่นที่สร้าง "ตำนาน" ประดับไว้ในประวัติศาสตร์ของสโมสร และสร้างความประทับใจให้กับแฟนบอลนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากฝีเท้าการเล่นอันเอกอุ ที่มี DNA ของนักสู้ และมุ่งมั่นทำเพื่อทีมจริงๆจังๆทั้งนั้น

พี่เบ็คคือคำตอบที่ดีที่สุดอีกคนหนึ่งที่มีฝีเท้าฉกาจฉกรรจ์ และunderratedเพราะเรื่องหน้าตาไปเยอะ คนมองข้ามการฝึกยิงฟรีคิกเป็นหมื่นๆครั้ง เพื่อยิงให้แม่นอย่างที่เห็น กว่าที่จะทำได้ขนาดนั้น

นี่คือตัวอย่างของนักเตะอะคาเดมี่ที่มาจากดิน และพัฒนาตัวเองด้วยความพยายาม ทั้งที่พรสวรรค์ไม่โดดเด่นมาก กลับมีความมุ่งมั่นและพรแสวงเข้าขั้นสุดยอด และเล่นเพื่อทีมอย่างแท้จริง ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเลยในสนาม

แต่คนที่ได้ชื่อว่า "มาจากอะคาเดมี่แมนยู" แท้ๆบางราย กลับ "เล่นเพื่อทีม" ได้น้อยกว่าคนนอกที่ซื้อเข้ามาซะอีก

ยังไม่รวมเคสของ ปอล ป็อกบา ด้วยซ้ำ ที่จริงๆแล้วก็ซื้อมาจากที่อื่น แล้วมาเทรนเป็นเด็กฝึกสโมสรเราเหมือนกัน ป็อกบาก็พอจะนับได้ว่าเป็นตัวเยาวชนของเรา แต่ระดับความทุ่มเทก็ .. อย่างที่เห็น มีชื่อเสียง มีฝีเท้า แต่ขาดความทุ่มเท และเงื่อนไขการเล่นเยอะจริงๆ ต้องอยู่ในทีมที่สิ่งแวดล้อมดีๆ และมีตัวปัดกวาดให้เท่านั้นถึงจะโชว์ฟอร์มได้

เราถึงได้บอกว่า คำว่า "นักเตะอะคาเดมี่" ไม่ใช่ทุกอย่างของแมนยูไนเต็ด

ดังนั้น อย่ามอบความเป็น "อภิสิทธิ์ชน" ใดๆทั้งสิ้นให้กับนักเตะที่พะยี่ห้อเหล่านี้ไว้

อภิสิทธิ์ที่นักเตะผู้หนึ่งควรจะได้รับ มีเพียงแค่ "เสียงชื่นชมปรบมือให้ด้วยความรักและความศรัทธาของแฟนบอล ที่มาจากการสู้เพื่อทีมแบบลืมตาย วิ่งเพื่อสโมสร ทุ่มเททำเพื่อสโมสรเท่านั้น" คุณถึงจะคู่ควรได้รับเกียรติเหล่านี้

เหมือนอย่างที่นักเตะที่ประสบความสำเร็จกับเราในอดีต และหลายๆคนก็เป็นตำนาน ทุกคนล้วนแล้วแต่สู้ถวายหัวเพื่อทีมทั้งนั้น จึงจะได้รับการยกย่องและความศรัทธาจากแฟนบอลจริงๆ

อีกหนึ่งฮีโร่ผู้ยอมตายเพื่อปีศาจแดงได้ "กัปตันวิดิช"

ซึ่งอย่างในชุดปัจจุบันนี้ คนที่ได้รับเสียงชื่นชม ก็เป็นนักเตะที่ถูกดึงตัวมาจากสโมสรอื่น ซึ่งวิ่งจนหยดสุดท้ายเพื่อทีม หาใช่เพราะเขาเป็นนักเตะเยาวชนแมนยูไม่

ตัวอย่างเช่น "บรูโน่  แฟร์นันด์ส" และ "เอดินสัน คาวานี่" คือเคสที่ดูง่ายที่สุดที่เป็นการดึงตัวผู้เล่นที่คู่ควร เข้ามาจากที่อื่น

ถ้าคุณทุ่มเทมากพอ คุณก็ดีพอจะได้ใจแฟนผีไปเช่นกัน

ในขณะที่นักเตะบางคน ถูกดึงเข้ามาจากที่อื่นเหมือนกัน แต่กลับถูกสปอยล์เพราะค่าตัวมหาศาลที่ติดยี่ห้อเขาเข้ามา ทำให้นักเตะเหล่านั้นเริ่มที่จะเหลิงไม่ต่างกัน และเล่นได้ไม่สมราคาค่าตัวที่สโมสรจ่ายไปมากเท่าที่ควร

ซึ่งมันอยู่ในขั้วตรงกันข้ามกับพวกนักเตะอย่างบรูโน่ คาวานี่ทำเลย และส่วนใหญ่เป็นพวกดาวเตะดาราดังของอังกฤษทั้งนั้นที่เล่นกันแบบขี้เกียจๆ และยัง overrated มากเกินความจำเป็น

ผมคงไม่เอ่ยชื่อแล้วกันว่าพูดถึงใคร จะได้ไม่ต้องเอาไปด่ากันว่า เป็นแฮรี่ แมกไกวร์ กับ อารอน วาน-บิสซาก้า

การเป็นนักเตะเยาวชนที่อยู่กับสโมสรมานาน ดูเหมือนว่า "ชื่อเสียง" ของไอ้คำๆนี้ มันทำให้นักเตะเหล่านี้ถูก "สปอยล์" มากเกินไป จากวัฒนธรรมที่่สโมสรเรา มักจะสนับสนุนเด็กพื้นถิ่นที่ปั้นขึ้นมาเองด้วยความ "ภูมิใจ" ว่านี่คือเด็กปั้นของเรา


ใช่ เราภูมิใจ ผมก็ภูมิใจมาก ที่ผลิตผลของเราจะได้มาลงเล่นให้เราเอง ไม่ต้องไปหานักเตะเก่งๆที่อื่นมาอย่างเดียว การใช้นักเตะเยาวชนขึ้นมาเสริมทีม เป็นสิ่งที่ยังสำคัญอยู่

ย้ำ การดันนักเตะเยาวชนจากระบบอะคาเดมี่ทีมเรา ยังสำคัญอยู่!!! ขีดเส้นใต้แรงๆ เดี๋ยวจะเข้าใจผิด

แต่ point สำคัญของบทความนี้คือ "ยี่ห้อติดตัว" ดังกล่าว มันไปสปอยล์ให้นักเตะ "บางคน" สำคัญตัวผิดไป และไม่เล่นเพื่อทีม กลายเป็นการเล่นเพื่อตัวเองทั้งนั้น โดยที่ไม่มีใครไปเบรค หรือจัดการได้

เพราะการมีอภิสิทธิ์บางอย่างที่การันตีการอยู่ในทีมชุดใหญ่ของพวกเขา ทั้งจากกฎ Homegrown Player Rule และจากวัฒนธรรมภายในองค์กรของเราเองด้วยที่เน้นหนักในเรื่องนี้มากๆจุดเป็นจุดเด่นของสโมสร

น่าเสียดายเคสของอังเคล โกเมสมากๆ ในขณะที่นักเตะข้างๆอย่าง "เจมส์ การ์เนอร์" คืออีกคนที่ดูท่าน่าจะแจ้งเกิดกับเราสำเร็จในอนาคต

ขออ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่พูดออกมาถึงเรื่องนี้ แบบที่ไม่ได้เอ่ยถึงชื่อใคร แต่จริงๆแล้วโรนัลโด้น่าจะอยากสื่อถึงพวก "นักเตะวัยรุ่นในทีมเรา" นี่แหละ ซึ่งเขาไม่อยากด่าหรือตำหนิโดยตรง แต่พยายามที่จะให้ข้อคิดและพูดในภาพรวม ซึ่งทัศนคติของCR7ที่ให้สัมภาษณ์ล่าสุด ไม่ว่าจะเรื่องโค้ช ความกระหายของทีมที่ไม่ควรพอใจกับการได้อันดับต่ำๆซึ่ง (มันยอมรับไม่ได้) ทุกอย่างที่พูด มันคือความเป็นมือโปรมากๆ และให้สัมภาษณ์ได้ถูกจุดอย่างที่สุด

นี่คือคำจากปากของคนที่กลับมาเพื่อเป็นผู้ชนะ แต่ถูกหลายๆคนดูถูกและมองว่าเขาเป็นตัวปัญหา ทั้งๆที่ปัญหาจริงๆมันอยู่ที่ "ทัศนคติในการเล่น" ของนักเตะวัยรุ่นหลายคนในทีมที่ "ไม่ทุ่มเท" มากพอต่อสีเสื้อปีศาจแดง รวมถึงเล่นเพื่อตัวเอง อีโก้จัด และไม่รู้จักพัฒนาการเล่นของตน ไม่ว่าจะมาจากอะคาเดมี่ หรือพวกตัวอายุน้อยคนอื่นที่ซื้อมาก็ตาม

พี่โด้พูดเอาไว้ดังนี้ อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์กับทาง Premier League Productions ตามคำแปลแบบไม่ผิดเพี้ยนจากตัวบทจริงจากปากของCR7

โรนัลโด้พูดเอาไว้อย่างน่าสนใจต่อกรณีนี้ว่า

"ผู้เล่นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ผู้เล่นที่อายุมากกว่า พวกเขาเหล่านี้สามารถให้การช่วยเหลือนักเตะอายุน้อยๆได้เสมอ ผมสามารถเป็นตัวอย่างให้กับคุณได้ แต่ถึงจะแนะนำไป แม้ว่าคุณจะอายุน้อยกว่าก็ตาม หากไม่เอาคำแนะนำนั้นไปปลูกฝังให้ตัวเองทำจนเป็นกิจวัตรประจำวันได้ มันก็คงจะเป็นเรื่องยากอยู่ดี"

"คุณสามารถคุยกับรุ่นพี่เหล่านั้นได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเด็กหนุ่มคนนั้นไม่ได้ต้องการคำแนะนำจากเขาด้วยใจจริง มันก็คงจะเป็นไปไม่ได้เลย ผมจำได้ว่าตอนที่ผมอายุ 18, 19, 20 นักเตะรุนพี่หลายๆคนมาพูดคุยกับผม และผมก็ฟังคำที่ว่า 'คริสเตียโน่ นายรู้ดีนะว่านายยังต้องพัฒนาอีกเยอะ พวกเขารู้อะไรๆมากกว่านาย มีประสบการณ์มามากกว่านาย' พวกเขาเคยอาบน้ำร้อนมาก่อนแล้ว"

"แต่เด็กหนุ่มทั่วๆไป พวกเขาจะไม่มีวันยอมรับหรอก ถ้าคุณไปวิพากษ์หรือตำหนิพวกเขา ผมไม่ได้จะสื่อถึงนักเตะทีมเรานะ แต่หมายถึงโดยรวม เพราะว่าผมมีลูกแล้ว ผมรู้ดี บางทีมันเป็นอะไรที่เหนื่อยพอควร พวกเขาเหล่านี้มักจะทำอะไรตรงข้ามสิ่งที่เราต้องการเสมอ คุณต้องหาจุดกึ่งกลางที่ถูกต้องให้ได้เพื่อที่จะคุยกับเขา"

"ในความเห็นของผม ประเด็นสำคัญก็คือ มันจะต้องออกมาจากใจจริงของคุณ คุณควรจะภูมิใจที่เป็นตัวเอง มองตัวเองในกระจก และบอกกับตนว่า ฟังนะ ผมเองก็ทุ่มเทอย่างเต็มที่ และคิดว่าทุกๆคนควรจะทำเช่นนั้นด้วย เพราะว่ามันเริ่มต้นปีใหม่แล้ว เราเปลี่ยนหน้าศักราชใหม่ มีอีกหลายๆสิ่งที่เราจะต้องคว้าชัยชนะมาให้ได้ เราต้องเชื่อมัน"

"ถ้าไม่เป็นแบบนั้น รับรองว่าเจอฝันร้ายแน่นอน"

"เรื่องของปัจเจกนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เรามาอยู่ที่นี่ก็เพื่อที่พวกเขายามที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือ การสนับสนุน คำแนะนำจากผม ผมจะเป็นคนแรกเสมอที่คอยอยู่ช่วยทุกคน แต่ถ้าคุณไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไรจากผม คุณก็ตั้งใจทำงานของคุณไป คุณต้องรู้จักตัวเอง แล้วก็ทำให้ดีที่สุดเพื่อทีม"

"เราต้องมีความคิดและจิตใจอย่างที่ควรจะเป็น ผมพิจารณาและบอกกับตัวเองเสมอว่า คริสเตียโน่ นายยังทำอะไรที่มันดีขึ้นเพื่อช่วยเหลือและยกระดับทีมได้อีกบ้าง? ผมก็ตอบตัวเองได้เสมอว่า ใช่ เรายังปรับปรุงได้อีกหลายๆอย่าง อาจจะเป็นการวิ่งสปรินท์เพื่อทีมตลอด90นาทีให้ได้เป็นต้น, ถ้าในเกมมีอะไรเกิดขึ้น ก็ช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมของคุณที่กำลังเจ็บปวดเหน็ดเหนื่อย, รายละเอียดดีเทลเล็กน้อยต่างๆระหว่างเกม รวมถึงการทำทุกสิ่งอย่างชาญฉลาด"

"ทุกแมตช์นั้นต่างกันออกไป นักเตะทุกคนก็ต่างกัน ทั้งระบบการเล่น สนาม ทุกอย่างต่างหมด ดังนั้นคุณจะต้องพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆตลอดเวลา เวลาที่เจอเกมยากลำบาก จะต้องรวมกันเป็นปึกแผ่น ให้เพื่อนร่วมทีมรวมพลังกันเป็นทีมให้ได้ สำหรับผมแล้ว นี่คือความหมายที่ว่า ทำไมพวกเขาถึงตั้งชื่อว่า "ยูไนเต็ด" (Manchester United) ที่แปลว่าการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

"เพราะงั้น พวกเราจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันให้ดีในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้"

คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างมืออาชีพ ด้วยทัศนคติระดับสุดยอดของนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ขึ้นแท่นผู้เล่นตลอดกาลหนึ่งในสองคนในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลบนโลกใบนี้

มันค่อนข้างชัดว่า แม้พี่โด้จะบอกว่า [ผมไม่ได้หมายถึงผู้เล่นในทีม] แต่คนที่โดนเต็มๆ ถ้าพวกเขาจะคิดได้ ก็คือพวกนักเตะในทีมที่ยังไม่ทุ่มเทมากพอทั้งหลายนั่นแหละ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ "รับฟังคำแนะนำของรุ่นพี่ในทีม" ที่ดูจะเป็นปัญหาอยู่


โด้พูดชัดเรื่องที่เด็กๆวัยรุ่นมักจะทำตัวต่อต้านเสมอ ไม่ว่าจะแนะนำอะไรยังไง ถ้าเขาไม่ต้องการ เขาก็จะขัดขืน แถมยังไม่สามารถ "ตำหนิ" เด็กเดี๋ยวนี้ได้ด้วย เพราะเขาไม่ฟังและไม่พอใจอะไรทั้งสิ้น

ทั้งๆที่ตอนนี้ มีอยู่หลายๆคนในทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เป็นสุดยอดมืออาชีพระดับแถวหน้าของวงการฟุตบอลยุคนี้ที่สามารถเป็น "Role Model" ของนักฟุตบอลที่ดีซึ่งประสบความสำเร็จให้กับวัยรุ่นเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรนัลโด้ คาวานี่ ฮวน มาต้า มาติช หรือกระทั่งประสบการณ์ของทอม ฮีตัน

มีนักเตะซีเนียร์ที่เป็นมืออาชีพมากๆอยู่หลายคนในทีมเรา

แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาในยุคนี้จะชัดเจนซะแล้วว่า จากปากคำของโด้พูดอ้อมๆถึงเรื่องนักเตะอายุน้อยเหล่านี้ที่ไม่ค่อยฟังคำแนะนำสักเท่าไหร่

แม้จะไม่ได้พูดตรงๆ แต่ก็รู้เลยว่าบ่นถึงปัญหาเรื่องอะไร

ต้องขอบคุณคริสเตียโน่ โรนัลโด้มากจริงๆที่พูดคำนี้ออกมา นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึง "ความสำคัญของทัศนคติที่ถูกต้อง" ในการรับฟังคำแนะนำของนักเตะรุ่นพี่ ที่มีประสบการณ์มากกว่า ไม่ใช่อีโก้สูง ข้าแน่ ข้าเจ๋ง ทั้งๆที่ขณะนี้พวกเขาได้แค่ครึ่งเดียวของนักเตะอย่างรูนีย์ โรนัลโด้ ในยุคที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่เลยซะด้วยซ้ำ

คำให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้มันสื่อถึงดาวเตะวัยรุ่นของทีมเราตอนนี้ที่มีอยู่หลายราย และบางคนเริ่มดูเหมือนทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ไม่พัฒนาและไม่สนใจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเล่นใดๆทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวรุกคนสำคัญของทีมปัจจุบันอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด และ เมสัน กรีนวู้ด ที่กำลังมีปัญหาอยู่พอควร รวมถึงเคสฟอร์มตกก่อนหน้านี้ของ เจสซี่ ลินการ์ด ก็มาจากปัญหาการโดนสปอยล์ดังกล่าวเช่นกัน

แรชฟอร์ดนั้นมีปัญหาในภาคการเล่นอย่างมาก เวลาที่ลงสนามเป็นตัวจริงให้กับทีมในระยะหลังๆ เขาแทบจะไม่สามารถสร้างผลงานอะไรให้กับทีมได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสกอร์ยิงประตูให้กับทีม ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งระดับ "ตัวแบก" ที่ยิงฤดูกาลนึง แต่ทุกอย่างหายไปหมดสิ้น เมื่อรวมกับจุดอ่อนเดิมที่ถูกบดบังไว้จากการทำประตูได้ นั่นก็คือสกิลทักษะในการเล่นตัวริมเส้น ที่หลายคนมองว่าเขาเหมาะกับการเล่นด้านข้างในแบบของ LW หรือ LF

แต่จริงๆแล้ว การเล่น Forward ที่ควรเป็นบทบาทถนัดของเขา ทุกวันนี้ก็ยังทำได้ไม่น่าพอใจเลยด้วยซ้ำ

ความสามารถในการปั้นเกม ดูเหมือนว่าจะเริ่มทำเกมสู้นักเตะดาวรุ่งรุ่นน้องอย่าง Anthony Elanga ไม่ได้แล้ว เพราะเด็กมันสดและตั้งใจมากกว่า แถมเซนส์ดูเป็นธรรมชาติเข้ากับทีมมากกว่าแรชฟอร์ด ที่ตอนนี้เล่นเหมือนจังหวะไม่ตรงกับเพื่อนอยู่คนเดียวทั้งทีม

น่าเป็นห่วงมากสำหรับการเล่นที่ดิ่งลงเหวเช่นนี้ของเขา

หากพูดถึงปัญหาในภาคตำแหน่งการเล่น เอาจริงๆถ้าดูความสามารถที่เขาถนัดแล้ว แรชฟอร์ดทำได้ไม่ดีทั้ง Left Winger และ Left Forward

แต่จุดที่ดีที่สุดของเขาคือ "Left Striker" หรือ "กองหน้าตัวข้างซ้าย" ต่างหาก ที่ควรใช้งานให้ยืนใกล้ประตูมากกว่านี้

เมื่อแรชฟอร์ดถ่างออกไปริมเส้น แทบทุกครั้งเขาไม่สามารถเล่นในมิติของปีกได้ดีเลย

(เอาจริงๆแดเนียล เจมส์ ยังมีประโยชน์กับทีมโดยรวมมากกว่าในการเล่นเพรสซิ่ง และความขยันในการวิ่งคัฟเวอร์พื้นที่)

ส่วนการเป็นกองหน้า Forward ที่ต้องใช้การไปกับบอล การครองบอลทำเกมบุกของเขา ก็มักทำเสียของอยู่บ่อยๆ

ทางแก้ปัญหาคือควรให้เขาเล่น off the ball มากกว่านี้ อย่าให้มันปั้นเกมเอง จะช่วยเรื่องการทำเสียบอลได้มาก แถมยังจะเข้าแก๊ปให้แรชฟอร์ดใช้สปีดความเร็ว วิ่งหาตำแหน่งรอยิงในแบบของ Poacher ดูจะตรงกับสกิลทักษะเขาซะมากกว่า

แรชเหมาะกับการยิงจบสกอร์ในจังหวะสุดท้ายมากกว่าที่จะใช้ปั้นเกมจากริมเส้น ซึ่งก็เห็นแล้วว่าสร้างอะไรให้ทีมไม่ได้เท่าที่ควร อย่าว่าแต่การทำประตูให้ทีมเลยเลย ขอแค่การเล่นที่สร้างสรรค์ให้เป็นประตู (GCA : goal creation actions) ก็พอ แรชยังทำไม่ได้เลยในปีนี้

การเล่นที่ทำให้มีโอกาสสร้างประตูของแรชปีนี้ 2021/22 ในเกมลีก เฉลี่ยแค่ "0.15 ลูกต่อเกม" เท่านั้น

(2019/20 : 0.65ต่อเกม, 2020/21 0.55ต่อเกม เห็นความแตกต่างชัดเจนว่าฟอร์มตกแบบย่ำแย่มากๆ)

ถ้าเอาบอลไปให้ปั้นเกมเมื่อไหร่ในรูปแบบของการเล่น LW, LF ทีมพังทุกที

จุดแข็งของตัวเอง แรชฟอร์ดยังหาไม่เจอเลย และมักถ่างออกไปเกินความจำเป็นเสมอ ซึ่งตรงนี้ยกผลประโยชน์ให้ อาจจะเป็นที่แทคติกจากเฮดโค้ชที่คุมpositionการยืนในแดนหน้าตามแทคติก

แต่จุดที่แย่กว่าคือทัศนคติและการตัดสินใจ ทุกคนเห็นกันทั้งโลก และเชื่อว่าคงไม่ต้องพูดอะไรเยอะแยะอีกแล้ว ซึ่งซ้ำเติมกันไปก็ไม่เกิดประโยชน์ขึ้นมา ชี้ให้เห็นว่า เขามีปัญหา "หนัก" ก็คงจะเพียงพอแล้ว

ช็อตนี้ถ้าแรชมองเพื่อน จ่ายจังหวะแรกง่ายๆ ไม่ฝืนเล่นเอง ทุกอย่างจบ เพราะตัวประกบยังมาบังทางไม่ทัน กรีนวู้ดมีโอกาสยิงได้สูง

สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ทำไมแรชฟอร์ดที่เล่นแย่ๆแบบนี้ และแฟนบอลที่ไม่มีไลเซนส์โค้ชอย่างเราๆท่านๆ เห็นความแย่แทบทุกนัดของเขา แต่กลับไม่มีการแก้ไขอะไรเลย

ราล์ฟ รังนิค ให้สัมภาษณ์ว่า แรชฟอร์ดทำผลงานในสนามซ้อมได้ดีเยี่ยมและทุ่มเทมาก เขาจึงได้ลงสนามก่อน

แต่มุมมองของเฮดโค้ชในเรื่องนี้นั้น จริงๆมันก็ควรที่จะสอดรับกับ เนื้อผ้าความเป็นจริง เวลาเล่นในสนามด้วยว่า แรชฟอร์ดแทบไม่เคยสร้างสรรค์เกมรุกอะไรให้ทีมได้เลย ได้บอลไปมักจะทำเสีย และทำโอกาสทองของทีมหลุดลอยไปอยู่บ่อยๆ แถมยังทำให้ความไหลลื่นของบอลโอเพ่นเพลย์ลดน้อยลงไปด้วย จากการเล่นยึกยักของเขา ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมานานกี่ปีแล้ว

ที่สำคัญที่สุด มันน่ากลัวตรงที่เจ้าตัวมีทัศนคติอะไรบางอย่างที่เหมือนจะฝังรากลึกไปแล้วว่า ตัวเองกำลังทำในสิ่งที่ถูก จากที่เห็นในการ "โพสต์" บน Social Network ที่มักจะใช้คำพูดที่ดีสวยหรู และย้ำเตือนอยู่เสมอว่าเขารักสโมสร และจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อทีม

จนล่าสุดไม่กี่วันก่อนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ยังมีการโพสต์ออกมาในลักษณะนั้นอยู่ ซึ่งตัวผมเองที่เป็นผู้เขียนก็เห็นแล้วล่ะ

แต่ครั้งนี้ เรารู้สึกว่า เราไม่อยากเอามาแปลเลย เพราะคุณใช้การ "พูด" มากกว่า "การกระทำ"

อยากขอโทษแฟนผีเหรอ? ทำในสนามสิ ไม่ต้องพูดเยอะ

การแก้ไขไม่ต้องใช้คำพูด แค่ทุ่มเทให้สุดชีวิตในสนามก็พอแล้ว จะเล่นพลาดก็อีกเรื่องนึง แค่ช่วยแสดงความเป็นนักสู้ให้เห็นหน่อยก็พอ จริงๆความต้องการของแฟนบอลก็มีแค่นั้น จะแพ้ก็ไม่เป็นไรถ้าเล่นเต็มที่แล้ว

แต่..

สิ่งที่แฟนบอลทั้งโลกเห็น คือการเล่นติดแอ็ค โชว์เดี่ยว ไม่สนใจเพื่อนร่วมทีม เหมือนเดิมซ้ำไปซ้ำมาทุกๆนัด

แล้วยิ่งทุกวันนี้ได้รับการยกย่อง และสดุดีผลงานที่ทำเพื่อสังคม ในเรื่องนอกสนามอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่

คือเราต้องแยกแยะกันก็จริง เรื่องการทำเพื่อสังคมและคนด้อยโอกาสของมาร์คัส แรชฟอร์ดนั้น มันยิ่งใหญ่มากๆ และ "คู่ควร" กับการได้ยกย่องเชิดชูเกียรติ กับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ก้าวขึ้นรับตำแหน่งทางวิชาการด้วยการขึ้นชื่อว่าด็อกเตอร์นำหน้า รวมถึงการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE จากเจ้าชายวิลเลียมส์แห่งราชวงศ์อังกฤษด้วย

แรชฟอร์ดคู่ควรกับการได้สิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ในภาคของการทำงานเพื่อสังคม แต่..

มันเป็นคนละเรื่องกับฝีเท้าการเล่นในสนาม

ดูเหมือนว่าเขาจะโฟกัสกับเรื่องนอกสนามซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะมันไม่ใช่มีเรื่องการทำเพื่อสังคมอย่างเดียว แต่ยังมีสิ่งอื่นๆอีกมากมายที่เขาไปโฟกัส ทั้งๆที่ควรปรับปรุงพัฒนาการเล่นของตัวเองให้มากกว่านี้

ถ้าจะเล่นแบบนี้ในสนาม ส่งแอนโธนี เอแลงกา ลงไปได้รับโอกาสจะดีกว่าเยอะ ไม่งั้นก็ให้ ดอนนี่ ฟานเดอเบค ลงไปเล่นเป็นตัวรุกเพลย์เมคเกอร์หุบเข้าในแผน 4-2-3-1 Narrow หรือให้เล่น 4-4-2 Diamond ไม่ต้องใช้ปีกยังจะดีซะกว่า

เพราะทุกวันนี้ถ้าซานโช่ไม่ได้ลงสนาม ทีมก็ "เล่นปีกเหมือนไม่มีปีก" เหมือนเป็นเพลงใหม่ของ Getsunova ยังไงยังงั้น 

"เพราะคนไม่จำเป็น ก็ต้องเดินจากไป" VDB ไม่ได้ร้องเพลงนี้ไว้ แต่อาจจะคิดในใจก็ได้

ผลงานในสนามของแรชฟอร์ด ณ ขณะนี้ เอาจริงๆถ้าให้พูดกันตรงๆ เล่นแบบนี้ก็ "ไม่คู่ควร" กับการได้มีชื่อบนม้านั่งสำรองของแมนยูไนเต็ดซะด้วยซ้ำ

จากจังหวะในนัดที่แล้ว ช่วงยี่สิบนาทีสุดท้ายที่ยูไนเต็ด เจอกับแอสตันวิลล่า ช่วงครึ่งหลัง มีช็อตที่เมสัน กรีนวู้ด กระชากเดี่ยวมาคนเดียว และก็มีปัญหาการบ้าเลี้ยง ฝืนเล่น ฝืนยิงเองเช่นเคย ซึ่งกรีนวู้ดซัดด้วยใบมีดโกนแห่งเทพ ขาข้างซ้ายของเขาไปติดเซฟของ "มือกาวบั้นเด้าไว" วัย 29ปี อย่าง เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ

และบอลก็ "กระดอน" ออกมาในจังหวะนี้

จังหวะนี้แรชฟอร์ดเองวิ่งเติมขึ้นมาทางซ้าย และจริงอยู่เมสัน กรีนวู้ดไม่ยอมจ่ายมาให้เขาที่วิ่งว่างอยู่เช่นกัน (เหมือนแอบเอาคืนกันในช่วงครึ่งแรก อันนี้มโนเองนะ)

ช็อตที่เห็นในภาพข้างล่างนี้ของแรชฟอร์ด ถูกแฟนผีทั้งโลกก่นด่ากันอย่างน่าผิดหวังสุดๆ จนกลายเป็นมีมที่ถูกนำไปแซวกันเละเทะ โดยถามว่า ในจังหวะนี้ ถ้าคุณเป็นแรชฟอร์ด และเห็นเพื่อนยิงแล้วโกลเซฟกระฉอกออกมา

ให้ทายว่า เมื่อเห็นบอลหลุดมาเช่นนั้น แรชฟอร์ดจะทำอะไรในช็อตต่อจากรูปข้างล่างนี้

มีให้เลือกสามข้อ ได้แก่

1.ใช้สัญชาตญาณกองหน้า พุ่งเข้าไปหาบอลทันทีเพื่อซ้ำให้จมตีน

2.ไปตามจิตอาสา เพื่อเป็นตัวแทนมอบอาหารเพื่อเด็กด้อยโอกาส

3.ร้องไห้งอแงเพราะเพื่อนไม่ยอมส่งให้ แล้วปล่อยจอยทันที กูไม่เอาแล้ว กูเซ็งงงงง

ข้อนี้ทุกท่านคงจะตอบกันได้ว่า สิ่งที่แรชฟอร์ดทำคือ พฤติกรรมการ "งอแงเหมือนเด็ก" เมื่อเพื่อนไม่ยอมส่งให้ กูก็เลยไม่เอาอะไรเลย หมดอารมณ์เล่น ไม่เอาอะไรแล้ว พอบอลกระฉอกออกมาก็เดินหันหลัง ไม่คิดแม้แต่นิดที่จะลองวิ่งเข้าไปซ้ำดูเผื่อโกลตามเข้ามาไม่ทัน

โคตรจะไม่ Professional ไม่คิดว่าจะเห็นอะไรแบบนี้จากนักเตะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด..

แรชฟอร์ดเดินหันหลังทันทีแบบไม่เอาอะไรเลย เหมือนเวลาเล่นเกมต่อสู้ของการ์ตูน JOJO แล้วเลือก "ดีโอ" มาเล่น เวลากดปุ่มถอยหลังเพื่อตั้งการ์ดรับคู่ต่อสู้นั้น ดีโอในเกมภาคPS1จะเดินท่า "หันหลัง" ให้คู่ต่อสู้ แบบยี่หระต่ออะไรทั้งสิ้น

ใช่ครับ ก็อย่างที่ทุกคนรู้ จังหวะนี้แรชฟอร์ดกด "ข้อ3" แบบไม่ลังเล คืองอแงเพราะเพื่อนไม่ส่ง เลยเลิกเล่น ปล่อยจอย เดินหันหลังกลับไปอย่างไม่เอาอะไรอีกเลย

เดินยังกะท่านดีโอ แรชเอ๊ย..

นี่คือจังหวะการแสดงออกในสนามที่ยอมรับไม่ได้อย่างมาก ถ้าคุณยังสวมเสื้อของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สโมสรที่พวกเราแฟนบอลปีศาจแดงภาคภูมิใจอยู่

สำหรับส่วนตัวผู้เขียนแล้ว นี่คือ "ทัศนคติอันล้มเหลว" ของนักเตะที่ไม่รู้จักโตสักที ยังคงเป็นแค่ดาวรุ่งตลอดกาล ที่ฝีเท้านอกจากจะไม่พัฒนาแล้ว ยังดรอปเอาๆ ตกต่ำลงทุกวัน จนเอาจริงๆโดนเด็กอย่าง Mason Greenwood แซงไปไกลมากแล้ว

ทางด้าน "Mason Greenwood" เองก็ใช่ย่อย ไม่ใช่ว่าดีแล้ว ยังต้องโดนปรับทัศนคติอีกเยอะ น้องเขียวจะต้องแก้ไขนิสัยการหวงบอล บ้าเลี้ยง มั่นใจตัวเองอยู่คนเดียว เล่นโชว์ออฟติดแอ็คไม่สนใจทีมอีกคนเช่นกัน แต่ปัญหาดูน่าจะแก้ง่ายกว่าฝั่ง Rashford หน่อย เพราะอายุยังแค่ 20 และเจ้าตัวก็ยังดูเหมือนว่าพอจะรับฟังรุ่นพี่

คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่วิ่งหาตำแหน่งอย่างมืออาชีพในทุกๆเกม แต่เพื่อนในทีมโดยเฉพาะเด็กๆเหล่านี้ แทบจะไม่เคยจ่ายให้เขาเลย

มันกลายเป็นดูเหมือนว่า บรูโน่ แฟร์นันด์ส พยายามเอาแต่จ่ายให้ CR7 .. แต่เปล่าเลย เพราะคนอื่นมันไม่จ่ายให้โรนัลโด้ด้วยอีกทางหนึ่ง แล้วมีแต่การตัดสินใจเล่นเร็วตามปกติของ Bruno ก็เลยยิ่งกลายเป็นแบบนั้นหนักกว่าเดิมสองเท่า

จะเห็นว่ามีไอ้หมอนี่อยู่คนเดียวที่เปิดบอลให้แต่โรนัลโด้ แต่ความเป็นจริงคือ คนอื่นมันทำเกมได้ไม่เพียงพอ และเปิดบอลไปแทบจะไม่ถึงโรนัลโด้เลยสักครั้ง

เป็นปัญหา dilemma ที่น่าปวดหัวมาก และถ้าจะ blame การเล่นของบรูโน่จริง ก็สามารถทำได้ เพราะบรูโน่ก็ฟอร์มตกเหมือนกัน เราก็ไม่ควรปกป้องใครเป็นพิเศษทั้งนั้น

แต่ก่อนจะไปถึงบรูโน่ ที่ยังพอจะทำเกมให้ทีมได้บ้าง คนที่ควรถูกตำหนิก่อนใครเพื่อน คือเหล่า "ปีกวัยรุ่น" ของเราพวกนี้นี่แหละที่เอาจริงๆแล้วก็สร้างสรรค์เกมรุกที่เป็นการ "เล่นเพื่อทีม" ไม่ได้เลย

นอกจากระบบการเล่นแล้ว สงสัยเราจะต้องหาคนอย่าง "รอย คีน" เข้ามาในทีมบ้างสักคนแล้วมั้ง .. คนที่ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรเลยก็ได้ แต่ขอให้มาเป็นจ็อกกี้มือโปรที่สามารถ "ปราบพยศ" ม้าหนุ่มที่ดื้อรั้นเหล่านี้ให้ได้

ยิ่งเป็นม้าที่เลี้ยงมาจากคอกที่ชื่อโรงละครแห่งความฝันเอง ยิ่งดื้อหนัก เพราะถือว่าตัวมี "เพดดิกรี" ดีเลิศประเสริฐศรี

แต่ฝีเท้าวิ่งแข่งในสนาม กลับสู้ม้าที่เติบโตมาจากคอกท้องถิ่นที่ยากลำบากไม่ได้ อย่างเช่นพวกบรูโน่ คาวานี่ ที่ไม่ได้สตาร์ทมาจาก "คอกเงินคอกทอง" เหมือนเด็กๆเหล่านี้


ภาพตัวอย่างม้าบ้านนอก ขอสงวนนามรายหนึ่ง

ปัญหามันเริ่มชัดเจนมากขึ้นแล้วว่า ทุกอย่างที่ผ่านมา ทีมเราจมปลักอยู่ในวังวนของความพ่ายแพ้ และโดนเหยียดหยามอยู่ทุกวันนี้ มันมาจากเหล่านักเตะที่เล่นได้ไม่สมศักดิ์ศรีการได้ใส่เสื้อทีมที่ล้มลุกคลุกคลาน แต่ขึ้นมายืนได้ทุกครั้งอย่างเข้มแข็งมา 144 ปีอย่าง "Manchester United" พวกเขาไม่คู่ควรกับเสื้อปีศาจแดงจริงๆ

ผู้จัดการทีมคนแล้วคนเล่า ตั้งแต่โจเซ่ มูรินโญ่, โอเล่ กุนนาร์ โซลชา, คั่นด้วยคาร์ริคระยะสั้นๆ และมาจนถึงยุค "ราล์ฟ รังนิค" ทุกคนเจอปัญหาเหมือนกันแทบทั้งสิ้น ทั้งๆที่สไตล์การคุมทีมก็มีแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เฮี้ยบเด็ดขาดแบบน้ามูก็แล้ว เฟรนด์ลี่ยิ้มทั้งวัน ให้อิสระเด็กแบบไนซ์กายอย่างโอเล่ก็แล้ว บอลระบบของรังนิคก็เริ่มที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับทีมก็แล้ว ในภาพรวมก็ยังคงมีปัญหาอยู่หลายจุด

เอาจริงๆในยุคของรังนิค หลายๆอย่างดูดีขึ้น แม้จะยิงได้น้อยก็ตามที แต่การเล่นโดยรวมก็ยังดูดีกว่าช่วงที่มีปัญหาฟอร์มตกหนักๆและแก้ปัญหาไม่ได้ในยุค OGS

ยุคของป๋าราล์ฟถือว่าทุกอย่างค่อยๆดีขึ้นแล้ว และมันต้องใช้เวลาในการจูน และวางแบบแผนการเล่นเพื่อรอผู้จัดการทีมคนต่อไปที่ราล์ฟจะเลือกมาสานต่อ และเล่นด้วยแนวทางที่ "ใกล้เคียง" กับสิ่งที่เขาจะปูโครงสร้างเอาไว้

มีนักเตะหลายๆคนในทีมชุดปัจจุบันที่มุ่งมั่นตั้งใจ และเป็นมือโปรอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นบรูโน่ คาวานี่ หรือเป้าโจมตีที่เป็น "แพะ" (GOAT) จริงๆอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ก็ตามที


รูปนี้ต้องมาทุกบทความจริงๆ ให้ตายเถอะ

รวมถึงผู้เล่นมาตรฐานดีอย่าง ดาวิด เดเคอา ที่ระเบิดฟอร์มร่าง ก็อดแฮนด์คนที่6 อยู่ในขณะนี้ และราฟาเอล วาราน ที่สามารถประคองทีมได้อย่างดีเยี่ยมทันทีที่หายเจ็บกลับมา

เรามีนักเตะดีๆที่พอจะพึ่งพาได้เหล่านี้อยู่หลายคน ที่ทำให้ทีมยังพอประคองตัวได้ในปัจจุบัน แต่ก็ไปกันแบบลุ่มๆดอน เพราะเนื่องจากมันยังคงมีปัญหาที่แสดงออกมาในการเล่นของนักเตะ "อีกหลายๆคน" ในทีม ที่ไม่ได้ทุ่มเทอย่างถึงที่สุดเพื่อสโมสรแห่งนี้

เหมือนเป็นแค่อาชีพนักฟุตบอล มาเล่นไปวันๆโดยที่ไม่รู้ถึงความยิ่งใหญ่ของ "Manchester United" สำหรับแฟนบอลทั่วโลก มันมีคุณค่าขนาดไหน

ถ้ายังไม่ระลึกตัวเองได้จริงๆว่าการได้เล่นที่นี่มันคือโอกาสที่ยิ่งกว่าฝันแล้ว ก็จงถอดเสื้อเดินออกไป แล้วมอบที่นั่งอันมีคุณค่านี้ให้แก่คนที่เขามีความฝันอยู่ที่นี่ และพร้อมที่จะมาทุ่มเทชีวิต อุทิศแรงใจเพื่อโรงละครแห่งความฝันแห่งนี้ยังจะดีเสียกว่า

ตอนนี้ ไม่มีโอเล่ กุนนาร์ โซลชา เป็นที่รองรับอารมณ์ของใครอีกต่อไป.. ผู้จัดการทีมที่มีระบบแข็งปั้กก็นำเข้ามาแล้ว เชื่อว่าหลายๆคนคงจะเริ่มมองเห็นปัญหาชัดขึ้นเรื่อยๆแล้วว่า เราต้องแก้กันที่จุดไหน

"ทัศนคตินักเตะ" นี่แหละ คือตัวการปัญหาการเล่นอันตกต่ำของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอย่างแท้จริง

อนึ่ง.. จริงๆแล้วนั้น ในเคสของการ "เหลิง" คิดว่าตัวเองเจ๋ง แต่ที่จริงฝีเท้าไม่ได้ดีอย่างที่เจ้าตัวคิดนั้น มันไม่ได้เกิดแค่กับเด็กเยาวชนอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องตัวบุคคลด้วย

เราจะเห็นได้จากเคสของนักเตะคนหนึ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นถึงกองหลังที่แพงที่สุด และได้ปลอกแขนกัปตันไปง่ายๆ รวมถึงแบ็คที่ซื้อมาราคาอย่างแพง แต่การเล่นในสนาม บางครั้งยังเหมือนคนไม่เข้าใจจังหวะฟุตบอล ความเข้าใจเกมบางทียังสู้นักเตะดาวรุ่งที่สโมสรปั้นเองไม่ได้เลย

มันคือเรื่องที่สำคัญที่สุดของบทความนี้ เพราะปัญหาเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องของปัจเจกอยู่เหมือนกัน

ต้องย้ำว่า ในบทความนี้ไม่ได้เหมารวมว่าการเป็น "เด็กปั้นแมนยู" มันเป็นสิ่งที่แย่ เพราะขึ้นไว้ตั้งแต่หัวบทความว่า มันคือ "ดาบสองคม" อย่างแท้จริง

เมื่อการขึ้นชื่อแบบนี้มันอาจจะส่งผลเสียกับนักเตะได้ ในทางกลับกัน มันก็เป็นแรงขับที่ดีได้เช่นกัน ไม่ใช่ว่านักเตะทุกคนที่เป็นเด็กปั้นสโมสรจะต้องหลงระเริงไปกับชื่อเสียงที่ถูกยกย่องจนกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์

แน่นอนว่า ในยุค Class of 92' เราเห็นตัวอย่างกันมาแล้วว่า นั่นคือเด็กปั้นที่ประสบความสำเร็จ ในนามของ Fergie's Babes

นักเตะดังกล่าวด้านบนนี้ ล้วนแล้วแต่ก้าวขึ้นมาจากการเป็นดาวรุ่งนักเตะเยาวชนของสโมสรมาก่อนเช่นกัน แต่พวกเขาเหล่านี้ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับของแฟนบอลปีศาจแดงอย่างแท้จริง ทั้งจากถ้วยรางวัลต่างๆมากมาย เกียรติยศประดับอาชีพ รวมถึงรางวัลส่วนตัวต่างๆ

ในสมัยอดีต ยุคที่โซเชียลยังไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ โลกให้ความยุติธรรมแก่ผู้พยายามเสมอ แสงไฟจะไม่สาดไปแก่ผู้ที่ยังไม่สมควรจะได้รับ "แสง" เหล่านั้น

ในขณะเดียวกัน สปอตไลท์ทุกตัวก็จะจับไปที่ผู้คู่ควรกับชื่อเสียงเช่นกัน ซึ่งเขาเหล่านั้นผ่านการฝึกฝนอย่างหนักและพิสูจน์ตัวเองมาอย่างครบถ้วนแล้ว

นักเตะยุคเก่าๆก็จะอยู่ในบริบทแตกต่างกันออกไป ในยุคนั้นปัญหาคือเรื่องของ "ระเบียบวินัย" อย่างที่ทราบๆกันว่า ถ้าไม่คุมประพฤติ นักเตะผู้ดีอังกฤษเหล่านี้ก็จะสำมะเลเทเมา และออกนอกลู่นอกทางได้

ยุคก่อนก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพียงแค่มันต่างกันแค่นั้นเอง ซึ่งในยุคนี้นักเตะก็จะออกนอกลู่ได้จากชื่อเสียงในโซเชียลต่างๆ ความเด่นดังที่เกิดขึ้นง่ายกว่ายุคสมัยก่อน เพราะโลกเชื่อมต่อกันหมดแล้ว

จุดที่ต่างกันคืออะไร? แน่นอนว่า แรกสุดต้องยกเครดิตให้กับ "เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน" อยู่แล้วที่ทำการวางระเบียบวินัย และบริหารนักเตะและบุคลากรของสโมสรได้อย่างยอดเยี่ยมจนเป็นตำนานผู้จัดการทีมของโลก เพราะเรามีเฟอร์กี้อยู่ ถือเป็นบุญหัวอย่างถึงที่สุดของแฟนผีที่เกิดทันดูยุคป๋า

แต่ถ้าป๋าพยายามอยู่ฝ่ายเดียว ความสำเร็จก็ไม่เกิดขึ้น นักบอลเหล่านี้ก็ต้องมีทัศนคตินักสู้ และ "รักดี" พอสมควร ในการรับฟังเฟอร์กี้ เพราะมีตัวอย่างมากมายของเด็กๆฝีเท้าดี ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถ "เกิด" ในยุคป๋าได้ทุกคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวอย่างของเคส "Ravel Morrison" ดาวรุ่งที่ได้ชื่อว่าเก่งเหนือกว่าใครทั้งมวลในรุ่นเดียวกันเท่าที่ป๋าเคยเห็นมา แม้แต่คริสเตียโน่ โรนัลโด้ก็ตามที

แม้จะเก่งขนาดราเวล มอริสัน และมี "ป๋า" คุมอยู่ แต่ถ้าเด็กมัน "ไม่เอา" และไม่ฟังจริงๆ ก็จะหมดสภาพและไม่สามารถขึ้นมาเป็นนักเตะระดับโลกได้ สุดท้ายก็กลายเป็นแค่อดีตเรื่องเล่าอันน่าเสียดายอีกหนึ่งเรื่องเท่านั้นเอง

นี่คือตัวอย่างที่ดีที่สุดว่า "ตัวนักเตะ" ก็ต้องเอาด้วย ไม่ใช่มีแค่ปัจจัยเรื่อง "ป๋า" คนเดียว

เมื่อเปรียบเทียบกับเคสปัจจุบัน นักเตะอะคาเดมี่ ที่ดูเหมือนว่าจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และพยายามพัฒนาตัวเองอย่างถูกต้อง เท่าที่จะทำได้อยู่ตลอดเวลา และโฟกัสอยู่กับฟุตบอลอย่างดีเยี่ยม จนทำให้ฝีเท้าค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ

อย่างเช่นในเคสของ "Scott McTominay" ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆตามเวลา จนตอนนี้เห็นพัฒนาการชัดเจนในยุค ราล์ฟ รังนิค ที่เริ่มสามารถปั้นเกม และพาบอลขึ้นหน้าได้ จากการเล่นได้แค่ Box-to-Box และ Half-Back ในยุคมูรินโญ่และโซลชา

ปัจจุบันนี้ เขาเริ่มทำหน้าที่เป็นจอมทัพตัวขับเคลื่อนเกม และมีไดนามิคการเคลื่อนที่ที่ทรงพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในการพัฒนาเป็นผู้เล่นหมายเลข8 แบบตัว Mezzala มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ได้เป็นเพียงแค่ B2B วิ่งขึ้นวิ่งลงไร้บทบาทอีกต่อไป

บอลถูกฝากให้น้องแม็คเป็นศูนย์กลาง และเลิกนิสัยSquare Passes เริ่มที่จะพลิกบอล และจ่ายบอลแทงขึ้นหน้า วางยาวมากกว่าเดิม จ่ายบอล Forward Passes มากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด


เคสของ Scott McTominay คือคำตอบที่ว่า การเป็นนักเตะอะคาเดมี่ของแมนยูไนเต็ด ไม่ได้ทำให้ทุกคน "หลงระเริง" ไปซะทั้งหมด และเรายังมีความหวังกับ "เด็กปั้นสโมสร" ได้อยู่ เหมือนอย่างที่ช่วงกลางๆของบทความ ผมเขียนเอาไว้ว่า การดันนักเตะเยาวชนขึ้นมาจากระบบอะคาเดมี่ ยังคงสำคัญ และเป็นรากฐานตัวตนที่ยั่งยืนของเรา

การสร้างนักเตะขึ้นมาทดแทนเรื่อยๆอย่างนี้ต่อไป ควรที่จะรักษาไว้ และปรับปรุงให้มันสอดคล้องพอดี เหมือนที่ป๋า "บาลานซ์" การใช้ตัวเก๋า กับเยาวชนอย่างพอดิบพอดี

ไม่ใช่ใช้เด็กทั้งกลุ่ม แล้วรวมฝูงกัน พยศ เช่นทุกวันนี้

พอคิดตามแล้ว รู้สึกท้อใจ และเหนื่อยใจมากจริงๆ.. ก็ได้แต่หวังว่า จะมีบุรุษผู้ปราบม้าพยศหนุ่มเหล่านี้ได้ ม้าที่ไม่วิ่งเต็มฝีเท้าเพื่อสโมสร ไม่ว่ามันจะเป็นม้าที่เกิดจากคอกเรา หรือม้าราคาแพงที่ซื้อเข้ามา แต่โชว์ฟอร์มได้น่าปวดกบาลก็ตาม

ได้เวลาหวดไอ้ม้าพวกนี้แล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป แล้วเราต้องลงไปเล่น "ยูโรม้าลีก" ในปีหน้าอีกครั้ง นึกภาพแล้วมันเกินรับได้เหมือนที่โรนัลโด้บอกจริงๆ (แค่จินตนาการก็รู้สึกแย่แล้ว)

แก้ไขให้เร็วที่สุด พาเด็กพวกนี้กลับมาสู่เส้นทางอันถูกต้องให้ได้ ก่อนที่จะสายเกินไป

-ศาลาผี-

References

https://www.manutd.com/en/academy/youth-team-debutants?

https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/man-united-news-ronaldo-teammates-22737943

https://fbref.com/en/players/a1d5bd30/Marcus-Rashford



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด