:::     :::

"แม่ทัพแดนทมิฬ" Loan Watch Report : James Garner VS Liverpool

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
2,967
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
[FA Cup 6th Round] การโคจรมาเจอกันในเอฟเอคัพรอบ 6 ของฟอเรสต์กับลิเวอร์พูล คือโอกาสในการพิสูจน์ตัวเองและแสดงฝีเท้าของ Garner ต่อหน้าทีมระดับท็อปของพรีเมียร์ลีก ในสังเวียนจริง ที่เล่นจริง ตกรอบจริง และไม่มีที่ว่างสำหรับผู้แพ้!!!

ต้องบอกเลยว่านี่เป็นความเจ็บปวดที่งดงามของการถ่างตาอดนอน เพื่อรอดูบอลคู่ระหว่าง "น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์" ทีมระดับคลาสสิคในตำนานของฟุตบอลอังกฤษ ที่จะเจอกับทีมคลาสสิคอีกหนึ่งทีมอย่าง "ลิเวอร์พูล" ซึ่งโคจรมาเจอกันในเกมเอฟเอคัพ รอบ 6 (8 ทีมสุดท้าย) อย่างแท้จริง

เพราะเหตุผลในการนั่งดูเกมนัดนี้ คือการเช็คฟอร์มของลูกกรอกคะนอง นักเตะเลือดแท้ของปีศาจแดงอย่าง "James Garner" ที่ยืมตัวอยู่กับเจ้าป่าฟอเรสต์อยู่ในขณะนี้

หลังจากที่ฟอเรสต์ในปีนี้เป็นม้ามืดที่ตบ [อาร์เซนอล] ร่วงตั้งแต่รอบ 3 จากนั้นโขยก [เลสเตอร์] ไปอีก 4-1 ในรอบที่ 4 ก่อนที่จะปราบอดีตทีมระดับท็อปอย่าง ฮัดเดอร์สฟิลด์ทาวน์ ของพี่โก้ไปอีก 2-1 ในรอบที่ 5

การได้มีโอกาสจับสลากมาเจอกับทีมระดับท็อปทูของลีกสูงสุดในประเทศอย่างลิเวอร์พูล ถือเป็นโอกาสทองในการลงแข่งขันระดับสูงของเจ้าป่าฟอเรสต์มากๆ

และไม่ใช่โชคร้ายของพวกเขาแต่อย่างใดที่ต้องมาเจอกับลิเวอร์พูล เพราะเข้ารอบลึกๆยังไงก็ต้องเจอทีมใหญ่ๆอยู่แล้ว ไม่ว่าจะซิตี้ หรือเชลซีก็ตาม

เกมนัดนี้จึงถือว่าเป็นอะไรที่น่าดูมากๆสำหรับการที่ม้ามืด จะได้มาเจอกับหนึ่งในเต็งแชมป์รายการนี้อย่างลิเวอร์พูล และที่สำคัญที่สุด การที่เรามีเหตุผลที่จะอดนอนมาดูเกมคู่นี้คือ โอกาสในการดูทีมเกม full match ของทีมระดับเดอะแชมเปี้ยนชิพ มันค่อนข้างหาดูยาก

ที่สำคัญ น้องคนสำคัญของเราอย่าง "James Garner" (การ์เนอร์นะ ไม่ใช่การ์ดเนอร์) คือนักเตะตัวจริงทีมหลักของฟอเรสต์มาสองซีซั่นแล้ว จากการยืมตัวซีซั่นก่อน ลากยาวมาจนปีนี้ต่อเนื่องกันเป็นปีที่สอง การ์เนอร์เริ่มได้รับประสบการณ์ในสนามจริงมากขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาฝีเท้าตามลำดับอย่างเห็นได้ชัด

การได้เจอกับทีมระดับพรีเมียร์ลีก และเป็นทีมใหญ่อย่างลิเวอร์พูล คือตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีในเบื้องต้นว่า ฟอร์มของการ์เนอร์หากมาเจอกับฟุตบอลระดับสูงจะเป็นยังไงบ้าง การเล่นของเขาที่สามารถ "แสดงออกมาได้" คือตัวชี้วัดการพัฒนาฝีเท้าได้อย่างดี ซึ่งต้องขอบคุณจริงๆที่ฟอเรสต์ได้มาเจอลิเวอร์พูลวันนี้ ทำให้เราได้ดูน้องเล่นแบบเต็มๆด้วย

ให้ "สเก๊าเซอร์" เป็นเหมือน "สเก๊าเตอร์" วัดพลัง [เจมส์ การ์เนอร์]ไปเลย!

สเก๊าเตอร์ ลืมตามาวัดพลังน้องให้หน่อยเพ่!

1. ความเข้ากันของระบบฟอเรสต์ > แมนยูไนเต็ด

จากที่ได้ดูการเล่นเพิ่มเติมของการ์เนอร์ในวันนี้ ก็ต้องบอกว่า ผมยังคงยืนยันข้อมูลเดิมที่เคยรีวิวมาให้หลายๆครั้งแล้ว รวมถึงการได้พิสูจน์กับของจริงอย่างลูกทีมของเจอร์เก้น คล็อปป์ ก็เป็นตัวชี้วัดที่ดี

การเล่นของ เจมส์ การ์เนอร์ ยังคงได้ลงเล่นในการเป็น "มิดฟิลด์คู่กลาง" ที่ยืนพื้นด้วย system การใช้ double pivot ในแดนกลาง เล่นกับ "คู่หู" ของการ์เนอร์ที่เล่นด้วยกันมาสองปีแล้วสำหรับ "Ryan Yates"

ด้วยระบบ 4-2-3-1 ถือว่าโชคดีที่ฟอเรสต์เล่นในแผนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับการเล่นของแมนยูไนเต็ดพอสมควร ที่สามารถสวิตช์เล่น 4-2-3-1 ซึ่งเป็นแผนหลัก สลับกับ 4-3-3 ได้ ซึ่งเชื่อว่าปีหน้าก็คงจะหนีไม่พ้นแผนนี้ ไม่ว่าผู้จัดการทีมจะเป็น พอช หรือ เทน ฮาก ก็ตาม (ถ้าเป็นสองคนนี้)

เกมที่ใช้ระบบแผงแบ็คโฟร์ถือเป็นระบบหลักที่จะยังคงอยู่กับแมนยูไนเต็ดต่อในปีหน้า เพราะงั้นการกลับมายังสโมสร ไม่ว่าจะปีหน้าหรือปีถัดๆไปก็คงจะเป็นการง่ายสำหรับการ์เนอร์ที่จะหาตำแหน่งลงในทีม ยามที่สโมสรเรากำลังจะมีการ "ผลัดใบครั้งใหญ่" ในซีซั่นหน้า

การ์เนอร์อาจจะเป็นหนึ่งในนักเตะที่เข้ากับระบบแบ็คโฟร์อยู่แล้ว และสามารถลงมาเป็นตัว rotation ให้กับทีมได้เลย ซึ่งหากจะให้เล่นจริงๆ เหมาะกับการใส่เขาลงในระบบ 4-2-3-1 มากกว่า

ส่วนถ้าทีมจะเล่น 4-3-3 การ์เนอร์ยืนเบอร์ 6 แบบมาติชได้ และน่าจะดีกว่าการใช้สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ยืนต่ำแน่นอน เพราะนี่คือตำแหน่งธรรมชาติของนักเตะอยู่แล้ว

พูดง่ายๆว่า มีที่ยืนชัวร์ๆถ้ากลับมาสู่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ข้อนี้ยืนยันคำเดิมในเรื่องของระบบการเล่นที่การ์เนอร์คุ้นเคย ซึ่งต้องขอบคุณฟอเรสต์ด้วย

2. สไตล์และบทบาทการเล่น

ในเกมเจอลิเวอร์พูล หน้าที่ของการ์เนอร์ในสนาม ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า เขาคือ "กลางต่ำตัวคุมพื้นที่" และเปิดเกมจากแนวลึก ค่อนข้างชัดเจน

เพราะในคู่มิดฟิลด์ การ์เนอร์ - เยตส์ นักเตะที่จะเล่นเป็นเบอร์ 8 ที่เติมขึ้นสูงไปหาโอกาสยิง เพื่อช่วยแนวรุกนั้น ก็คือ ไรอัน เยตส์ ที่เติมขึ้นในกรอบเขตโทษแบบ box-to-box บ่อยมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ในขณะที่เกมรุกของการ์เนอร์ คือบอลแถวสองอยู่แล้ว นี่คือข้อมูลที่ยังคงยืนยัน และชี้ชัดตำแหน่งการเล่นของเขาได้ชัดเจนว่า จุดถนัดที่สุดของการ์เนอร์ คือการเล่นเป็น "DLP" นั่นเอง (Deep-lying playmaker)

การ์เนอร์จะไม่ใช่ตัวที่กระชากลากเลื้อยไปด้วยตัวเอง แต่เขาจะรักษาพื้นที่ รักษาตำแหน่ง และคุมกลางให้กับทีมตลอดเวลา

ถ้าเปรียบเทียบในเรื่องของการยืนตำแหน่ง และการเล่นในลักษณะนี้ เขาคือ "แม่ทัพแดนทมิฬ" ที่คุมเกมมาจากแนวลึกในจุดเดียวกันกับ เดแคลน ไรซ์ (ยามที่โฮลดิ้งบอล) รวมถึง รูเบน เนเวส ด้วย ที่เป็นแม่ทัพตัวคุมเกม ทำเกมเหมือนกัน

ทีมเรากำลังขาดนักเตะในตำแหน่งที่เล่นโดย เจมส์ การ์เนอร์ อยู่พอดีจริงๆนะ

โดยเฉพาะเรื่องการ "รักษาพื้นที่" มันชัดเจนมาก และนั่นแหละที่ระบุว่าเขามีความเป็น DLP ในตัวมากกว่ามิติการเล่นแบบอื่นๆ ซึ่งก็จะไม่ใช่ "Regista" ตัวคุม tempo แค่อย่างเดียว หรือเป็นตัววิ่งเติมขึ้นลงแบบ "Box-to-Box" อย่างที่ใครเข้าใจ

แต่เขาคือมิดฟิลด์ตัวต่ำที่มีความครบเครื่อง และ บาลานซ์ในตัวอย่างดี ทั้งเทคนิค ทักษะ และPhysicalที่แข็งแกร่ง

ถ้ามีช่องก็สามารถพาบอลขึ้นหน้าได้เองแบบมิดฟิลด์ Mezzala เบอร์ 8 ได้เช่นกัน

การ์เนอร์มีสัดส่วนความเป็น DLP อยู่ประมาณ 60-70% ได้ ส่วนที่เหลืออีก 30% คือลูกบู๊ การเติมเกม การถ่างออกด้านข้างและขยับตำแหน่งเล่นได้อย่างอิสระ ซึ่งถ้าให้พูดจริงๆมันก็ยังไม่ใช่ B2B อยู่ดี เพราะการ์เนอร์จะ "ไม่เติมเข้ากรอบ"

เพราะเขาคือตัวคุมแถวสอง และรักษาพื้นที่ในแดนกลาง หากว่าทะลึ่งเติมขึ้นหน้าสูงเกินไป CBของฟอเรสต์สองคนจะเหมือนคนร่างเปลือยเปล่าที่ไม่มีโล่คอยสกรีนงาน รักษาพื้นที่ด้านหน้าให้เซ็นเตอร์ทันที

การ์เนอร์อ่านตำแหน่งของทีมและยืนเป็นแกนการเล่นที่เป็นศูนย์กลางของทีมชัดเจนมากๆ คุมตำแหน่งตัวเองให้ทีมได้ดี และเมื่อยืนได้เปรียบ เขาจึงเล่นในช็อตต่อไปได้อย่างรวดเร็วเสมอ ข้อนี้คือสิ่งที่คาร์ริคติวและฝึกการ์เนอร์มาในยุคโซลชา

ถ้าให้เปรียบเทียบ นอกจาก DLP มันก็ยังคล้ายๆกับ CM ที่มีความเป็น Roaming Playmaker อยู่ในตัวด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี หรือถ้าให้เล่นบู๊ เข้าบอล การ์เนอร์ก็ยังมีความเป็นนักเตะอังกฤษแบบจ๋าๆอยู่ในตัวอยู่

ถ้าขุนร่างกายให้บึ้กๆกว่านี้หน่อย รอให้น้องโตกว่านี้อีกนิด และกล้ามเนื้อมันเต็มกว่านี้ ถ้าเวทเทรนนิ่งดีๆ ผมคิดว่าเราจะไม่จำเป็นต้องไปอยากได้ "Kalvin Phillips" ของลีดส์ ยูไนเต็ดเลย

เพราะ James Garner ในตัวเต็มวัย หากว่า "อัพ Strength" เพิ่มเข้าไป ก็ บักหลิบ ดีๆนี่แหละ!!!

เรื่องของตำแหน่งการยืนก็เป็นตามนี้ ซึ่งในภาคของการรีวิวการเล่นของการ์เนอร์ โอกาสในเกมเจอลิเวอร์พูลของน้องอาจจะไม่ได้มีเยอะสักเท่าไหร่ เพราะฟอเรสต์วันนี้ไม่ได้เป็นฝ่ายคุมเกม หรือครองบอลมากนัก (เพราะเจอบอลเพรสของลิเวอร์พูลเล่นงานตลอดเวลา แต่ลิพูเองวันนี้ก็ดูลดความอันตรายเยอะจากการที่ไม่มีแบ็คอย่างเทรนท์กับร็อบโบ้ลงสนาม)

โอกาสบุกส่วนใหญ่ในช่วงเกือบตลอดเกมจะมาจาก "จังหวะ Counter-Attack" เสียเป็นส่วนใหญ่ บอลจึงใช้บอลไดเร็คต์ บอลtransition play ขึ้นไปยังกองหน้า และ ปีกส่วนมาก จะไม่ใช่การทำเกมของการ์เนอร์

แต่การ์เนอร์จะโดดเด่นมากในจังหวะการเล่นที่เป็น "Phase 5" ซึ่งโจมตีด้วยลูกเซ็ตพีซ เพราะเขาคือคนรับสัมปทาน "เหมาๆ" ลูกนิ่งของฟอเรสต์ทั้งหมดไม่ว่าจะฟรีคิก หรือ เตะมุม ก็ตาม ดังในภาพที่หยิบมาใช้เป็นปกในบทความนี้

คุณภาพการเปิด "ลูกนิ่ง" ของการ์เนอร์ ถือว่าไว้ใจได้ และทำได้ดีมากๆในการเปิดบอลที่ค่อนข้างเนี้ยบ และเฉียบคม ทั้งทิศทาง น้ำหนักการเปิด ความแม่นยำ และวิถีของลูกบอล ทั้งเตะมุมทั้งฟรีคิก การเล่นของการ์เนอร์คือแบกจังหวะลูกนิ่งของฟอเรสต์จริงๆ ในเกมเจอลิเวอร์พูลนัดนี้ การ์เนอร์ก็เล่นลูกนิ่งได้อันตรายมากๆ

แม้จะไม่มีช็อตปั้นเกมให้เห็น แต่มิติการเล่นดังกล่าวก็แสดงพิษสงและฝีเท้าของเขาได้ดีมากๆ

3. เซนส์บอลและ "คลาส"

ในการรีวิวอย่างที่สาม ถือเป็นเรื่องของความเก่ง และคลาสการเล่น ของเจมส์ การ์เนอร์ล้วนๆ ที่หากว่าวัดฟอร์มการเล่นของนักเตะน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ทั้งทีม นอกจากคู่หูของเขาอย่าง ไรอัน เยตส์ ที่เล่นได้โดดเด่นแล้ว นักเตะอีกคนที่โชว์ฟอร์มดีสม่ำเสมอตลอด 90 นาที ไม่สร้างข้อผิดพลาด และการเล่นแน่นอนมากๆ ก็คือ เจมส์ การ์เนอร์นี่แหละ ที่ฟอร์มดีในสนามมากๆ

คิดว่าภาพหลังเกมที่หลายๆคนได้ดู คุณจะเห็นว่า JK เดินเข้าไปกอดและพูดคุยกับ Garner ซึ่งเรารู้เลยว่า คล็อปป์คงจะเห็นคลาสการเล่นของการ์เนอร์ในสนาม และคงอยากชื่นชมมากๆว่าเขาเป็นนักเตะที่สามารถต่อกรกับตัวหลักๆของลิเวอร์พูลในแดนกลางหลายๆคนได้ดีมากตลอด 90 นาที

คำว่าต่อกรคือ รับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง ตามโอกาสที่ได้รับ

ต่อกรกับนักเตะระดับพรีเมียร์ลีกทั้ง Arsenal และ Leicester City ใน FA Cup ได้แบบชิลๆ

ต้องบอกก่อนว่า แฟนผีที่อาจจะไม่มีเวลาตามดูน้องมากนัก ต้องอธิบายว่า "เขาไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับ" ที่เราตามหาอยู่

มิดฟิลด์ตัวต่ำ กับ มิดฟิลด์ตัวรับ ไม่เหมือนกัน และ เจมส์ การ์เนอร์ก็ไม่ได้โดดเด่นเรื่องเกมรับมากเท่ากับเซนส์ในการคุมเกม และโจมตีจากแนวลึกแบบ DLP

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเล่นเกมรับไม่ได้เลย เขามีความบู๊แบบนักเตะอังกฤษอยู่ในตัว

สถิติการเล่นของ James Garner ที่เป็นตัวเลข ในเกมเจอลิเวอร์พูลมีดังนี้

ลงเล่น 90 นาที
สัมผัสบอล 40 ครั้ง
จ่ายบอลสำเร็จ 67% (จ่ายบอลจังหวะสวนกลับ จ่ายบอลไดเร็คต์ ตามแทคติกของทีม โอกาสสำเร็จจึงน้อย)
วางบอลยาว 4 ครั้ง สำเร็จ 0 ครั้ง
ดวลกับคู่แข่งภาคพื้นดิน ชนะ 4 จาก 8 ครั้ง (ครึ่งๆ)
ดวลลูกกลางอากาศ 1 ชนะ 1
ครอสบอล 2 ครั้ง ตรงเป้าหมาย 0 ครั้ง
แทคเกิล 4 ครั้ง
โอกาสยิง 1 ครั้ง (ยิงออกนอกกรอบ)
เสียการครองบอล 13 ครั้ง
ฟาล์ว 1 ครั้ง
เคลียร์บอล 1 ครั้ง
บล็อค 1 ครั้ง
เลี้ยงบอลผ่านคู่ต่อสู้สำเร็จ 3 ครั้ง

ถ้าสังเกตโดยเน้นเรื่องของเกมรับ เจมส์ การ์เนอร์เล่นเกมรับได้ดีมากสำหรับผู้เล่นในตำแหน่งแดนกลางของฟอเรสต์ สถิติโดยรวมถึงแม้จะมีบางอย่างที่ดูเหมือนจะแย่ (เช่น วางยาว 4 สำเร็จ 0) อาจจะดูเหมือนไม่ดี

แต่ถ้าดูการเล่นในสนามจริงๆ ต้องดูสถานการณ์ด้วยว่าจังหวะของเกมเป็นยังไง ซึ่งตัวเลขพวกนี้อาจจะไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงมากนัก หากดูบางอย่างที่มันเหมือนจะไม่ดี

(เช่นการเปิดยาวสำเร็จ 0 ครั้ง เป็นต้น ตามข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงดังกล่าว ซึ่งการวางบอลยาวของการ์เนอร์มันเป็นการเล่นตามแทคติกที่ต้องสู้ลิเวอร์พูลด้วยบอลยาว ซึ่งต้องเสี่ยงเปิด และโอกาสที่กองหลังคุณภาพดีของลิเวอร์พูลโดยเฉพาะ VVD จะเก็บบอลยาวของการ์เนอร์ที่ลองเสี่ยงเปิดบอลได้นั้นมีสูงมาก

เปิดบอลสำเร็จ 0 ไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะมันไม่ได้แปลว่าเขาเปิดไม่ตรง แต่ทีมเล่นในจังหวะนั้นไม่สำเร็จต่างหากถ้าหน้าเก็บบอลไม่ได้

VS ARSENAL

คนที่ได้ดูเกมนี้จากช่อง beIN Sports 1 จากเต็มเกมในสนามจริงๆ (ที่ไม่ได้มาเช็คแต่ตัวเลขสถิติ หรือLivescore) วันนี้ เจมส์ การ์เนอร์เล่นได้โอเคมากๆ และเป็นตัวที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของฟอเรสต์ ที่พอจะสู้กับลิเวอร์พูลได้

ในเกมที่ฟอเรสต์โดนลิเวอร์พูลเพรสซิ่งในแดนกลางตลอดเวลา และแทบไม่มีโอกาส "ครองบอล" บุกลิเวอร์พูลเลย ทำได้ขนาดนี้ถือว่าดีแล้ว เพราะฟอเรสต์ต้องใช้บอลสาดยาวจากแดนหลัง เล่นบอลไดเร็คต์ไปให้กองหน้าเก็บบอลให้ได้ เพื่อหาโอกาสสวนกลับโดยใช้บอลปีกเติมขึ้นมา

โดยเฉพาะจากปีกฝีเท้าดีในทีมอย่าง เบรนแนน จอห์นสัน ปีกขวาเบอร์ 20 ที่หาจังหวะครอสบอลสวยๆให้ทีมได้ทุกๆนัด

ทุกๆครั้งที่มีโอกาส เจมส์ การ์เนอร์มีคุณภาพการเล่นที่ดีมากๆ จุดที่ต้องชมคือเซนส์ และ Spatial Awareness ที่น้องเข้าใจการยืนตำแหน่ง รับรู้ตำแหน่งการเล่นของเพื่อน รับรู้พื้นที่รอบๆตัว และพยายามขยับหาตำแหน่งให้ตัวเองว่างเพื่อเป็นทางเลือกในการออกบอลเพื่อเพื่อนร่วมทีมตลอดเวลา

(ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อนจะโดนนักเตะลิเวอร์พูลเพรสติดตัวเร็วตลอดจนเล่นกันแทบไม่ได้ และหลายๆครั้งเพื่อนก็พาบอลไปเข้ามุมอับ และจ่ายบอลหนีมาให้การ์เนอร์ที่ยืน Positioning ดีๆรออยู่แล้วไม่สำเร็จ)

มีช็อตสำคัญๆที่เขาเปิดบอลกดดันในจังหวะเซ็ตพีซได้ทั้งเตะมุม ทั้งฟรีคิก ที่เล่นงานแนวรับลิเวอร์พูลได้ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "Killer Pass ระดับเทพ" ที่ถือว่า Make Awake คุ้มค่าตื่น คุ้มต่อการถ่างตานอนดึกรอเช็คฟอร์มจริงๆ

ในช่วงท้ายเกมที่ การ์เนอร์ เปิดบอลหักตัดหลังแนวรับสองชั้นของลิเวอร์พูล ทะลุขึ้นไปให้ ไรอัน เยตส์ หลุดไปล่อเป้ากับ อลิซง เบ็คเกอร์ แบบเดี่ยวๆ แต่กลับเล่นได้ไม่คมพอที่จะกระชากหนีโกลไปยิงได้ หรือเรียกจุดโทษได้สำเร็จ

เป็นลูกจ่ายบอลที่แสดงให้เห็นถึง "คลาส" การเล่นที่เหนือชั้นของการ์เนอร์ ที่เราจะไม่ได้เห็นจินตนาการในการเล่นเช่นนี้จากมิดฟิลด์ลูกหม้อของแมนยูอีกคนอย่าง สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์เลย ที่มีจุดด้อยในเรื่องของ creativity เกมรุกที่น้องแม็คแทบจะไม่มี

ดูจากฝีเท้าการเล่น และวัดฟอร์มกันแล้ว เอาจริงๆถ้าเลือกได้ และการ์เนอร์กระดูกแข็งกว่านี้ในอนาคต ฝีเท้าการเล่นดูจะเหนือกว่าสก็อตต์ แม็คโทมิเนย์แบบเห็นได้ชัดมากๆ ต้องขออภัยแฟนๆของน้องแม็คจริงๆ เราก็ยังให้กำลังใจน้องอยู่นะ เพราะต้องบอกว่า ถ้าแม็คได้เล่นในตำแหน่งที่ใช่ (เหมือนที่เฟร็ดได้รับโอกาส) แม็คอาจจะดีกว่านี้ก็ได้

แต่ถ้าเทียบคลาสการเล่นกัน ดูเจมส์ การ์เนอร์ จะเล่นเนียนกว่าแม็คมากๆในแดนกลาง ทั้งการโฮลดิ้ง การจ่ายบอล และเซนส์ต่างๆในสนาม

คิลเลอร์พาสลูกนี้ของการ์เนอร์ ก็กือบจะเป็น "แอสซิสต์พิฆาตหงส์" ให้เพื่อนได้ยิงประตูขึ้นนำลิเวอร์พูลได้ในช่วงท้ายเกมที่กำลังไล่ตามตีเสมออยู่ แต่ว่าตัวจบของฟอเรสต์ไม่คมในหลายๆช็อต

โดยเฉพาะ ไรอัน เยตส์ ทั้งสองจังหวะที่มีโอกาสยิง โดยเฉพาะลูกจ่ายของการ์เนอร์ ที่แทงย้อนให้เขาหลุดไปคนเดียวโล่งๆช็อตนั้นหนึ่งลูก และเยตส์ก็ได้โขกอีกหนึ่งลูกจากจอห์นสัน ที่ครอสบอลเข้ามาน้ำหนักอย่างเนี้ยบ แต่ความแรงของบอล และเหลี่ยมโขกของเยตส์ยังไม่แรงและไม่มุมพอ

ช็อตสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของวันนี้ คือลูกโต้กลับที่ฟอเรสต์ถนัด จ่ายทะลุมาทางขวาแล้วเปิดครอสเรียดมาให้เพื่อนเข้าฮอร์ส จากจังหวะที่เบรนแนน จอห์นสัน หลุดขึ้นมาทางขวาจากเกมสวนกลับ และเปิดมาให้ ฟิลิป ซิงเกอร์นาเกล หลุดมาแปเดี่ยวๆต่อหน้าอลิซง แต่กลับแปหลุดกรอบออกไปอย่างน่าเสียดาย

ถ้าได้ลูกนี้ ดีไม่ดีปิดเกมและคว่ำลิเวอร์พูลได้เลยด้วยมั้ง น่าเสียดายมากๆ ไม่งั้นมีพลิกไปแล้ว (ลิเวอร์พูลก็เกือบๆจะไปเหมือนกันนะนัดนี้)

แต่ก็นั่นละครับ ฟุตบอลไม่มีคำว่าถ้า และผู้ชนะก็คือทีมที่ดีกว่าอย่าง ลิเวอร์พูลนั่นเองที่เข้ารอบไป

4. สรุป

โดยรวมแล้วถือว่า ถ้าจะให้มีการตัดเกรดการเล่น และรีวิว James Garner ในนัดนี้ โดยพิจารณาการเล่นกับทีมใหญ่อย่างลิเวอร์พูล ก็ถือว่าทำได้ดี และ [สอบผ่าน] ในการเล่นที่เป็นหัวใจสำคัญกับฟอเรสต์จริงๆ

จะไม่แปลกใจถ้าทีมเจ้าป่า น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ของสตีฟ คูเปอร์ จะพยายามขอซื้อตัวการ์เนอร์ไปเล่นถาวร แต่อย่างไรก็ตามทีมเราไม่มีทางปล่อยเพชรเม็ดงามนี้ให้หลุดมืออยู่แล้ว

แฟนฟอเรสต์โคตรรักการ์เนอร์เลย แต่เราก็คงให้น้องไปไม่ได้จริงๆ

ถ้าให้วัดเป็นคะแนนสอบ ก็ถือว่าการ์เนอร์สอบผ่านในการเจอกับลิเวอร์พูล และถ้าเป็นไปได้ ปีหน้าได้โอกาสลองย้ายยืมตัวกับทีมระดับรองๆล่างๆของ "พรีเมียร์ลีก" อีกสักทีมนึงก็จะดีมาก

ผู้เขียนก็ไม่สามารถฟันธงได้หรอกครับว่า "ได้เวลา.. เจมส์" หรือยัง ต่อคำถามที่ว่า เขาดีพร้อมสำหรับการมาเป็นกำลังเสริมให้แมนยูไนเต็ดเลยหรือไม่

จากการประเมินฝีเท้าการเล่นจริงๆในสนาม เอาแบบไม่อวยเกินความเป็นจริง เท่าที่เห็นในวันนี้ ผมคิดว่าการตะลุยเกมเดอะแชมเปี้ยนชิพมาสองปี กับลีกที่มีบอลสไตล์อังกฤษจ๋าๆเป็นรากฐานการเล่น ถ้าจะให้ดันขึ้นเป็นกำลังสำรองทีมชุดใหญ่เลย ก็น่าจะพร้อมแล้ว

สถิติในการลงสนาม ทั้งเรื่องของประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นตัวจริงหลักของฟอเรสต์ยาวๆ เขาได้รับเต็มที่มากๆ จากการลงสนามทุกรายการให้กับเจ้าป่า

จากการลงเล่นทั้งหมด 36 นัดในซีซั่นนี้ เจมส์ การ์เนอร์ยิงไปทั้งหมด "3 ประตู และอีก 6 แอสซิสต์" จากตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวต่ำแบบเบอร์ 6 ของทีม เป็นสถิติที่ดีกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัดมากๆ

(ปีก่อน 43 นัด จากการยืมตัวสองทีม ทำไป 4 ประตู 3 แอสซิสต์ ทั้งกับวัตฟอร์ด และ ฟอเรสต์)

แม้เราจะบอกว่า น่าจะพร้อมขึ้นชุดใหญ่มาเป็นกำลังสำรองของทีมได้แล้วก็ตาม แต่ถ้าจะดียิ่งขึ้นกว่านั้น ก็อยากให้มีโอกาสได้ปล่อยยืมตัวในทีมระดับ "พรีเมียร์ลีก" อีกสักปีนึงเต็มๆจะ Perfect มาก

คล้ายๆกับโอกาสพัฒนาตัวเองของแบรนดอน วิลเลียมส์ ที่ยีดตัวจริงแบ็คซ้ายนอริช ซิตี้ยาวๆในปีนี้ นั่นคือสิ่งที่การ์เนอร์ควรจะได้รับเหมือนกับแบรนดอนเช่นกัน

ดังนั้นแล้ว นโยบายการเสริมทัพในปีหน้าของแมนยูไนเต็ด ถ้าจะไม่อยากกระทบพัฒนาการของน้อง ควรจะซื้อมิดฟิลด์ดีๆเข้ามาเป็นตัวหลักให้ทีมสักสองคน จากนั้นก็ค่อยๆปั้นการ์เนอร์ต่อไปอย่างไม่เร่งร้อน

ให้เวลาเขาพัฒนา ให้เวลาเขาเก็บชั่วโมงบินต่อไปเรื่อยๆ อย่าเอาไปนั่งดองในม้านั่งสำรองเด็ดขาด ข้อนี้ขอ

หากไม่อยากให้พัฒนาการของเด็กกระทบ การได้ลงสนามต่อเนื่องถือเป็นตัวแปรสำคัญมากๆที่จะทำให้นักเตะในวัยนี้พัฒนาขึ้นได้เร็วที่สุด

ด้วยวัยเพียงแค่ 21 ปี ถ้าดูแลดีๆ ในอนาคตทีมเราก็จะได้มิดฟิลด์ที่เข้ามารับผิดชอบแดนกลางให้ทีมได้อย่าง "เนียน" มากๆอีกคนนึง เป็นตัวแทนของเนมันย่า มาติช โดยตรงในตำแหน่ง มิดฟิลด์ตัวต่ำ ที่เล่นเกมจากแนวลึกให้ทีมได้ดีมากๆ

การที่แมนยูไนเต็ดมีเขาอยู่ในการเป็น "นักเตะแห่งอนาคตของทีม" ก็เหมือนกับที่บาร์ซ่าก็เริ่มปั้นอนาคตอย่าง กาบี้ และ เปดรี้ ในตำแหน่งมิดฟิลด์คุมเกมของทีมในตอนนี้แล้วเช่นกัน (บาร์ซ่าก็กดมาดริดซะเละคาบ้าน 0-4 ในคืนเดียวกันนี้)

ถ้าปั้นนักเตะรายนี้ให้ดีที่สุดอย่างถูกต้อง ในอนาคตเราจะมีมิดฟิลด์จอมทัพกลางสนามไว้ใช้งานเพื่อช่วยสร้างสมดุลให้ทีมไปได้อีกเป็นสิบปีเลยทีเดียว

ตัวนี้มีศักยภาพที่จะเป็นความหวังของทีมในอนาคตได้แน่นอนครับ

รับประกันฝีเท้าเลย

-ศาลาผี-

บารมีแม่ทัพจับจริงๆลูกเอ๊ย

References

https://twitter.com/mufcacademy91/status/1505634808420048896

https://www.transfermarkt.com/james-garner/profil/spieler/505219

https://twitter.com/RedReveal/status/1505650698544951297

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด