:::     :::

แข้งทำเงินของดอร์ทมุนด์

วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566 คอลัมน์ เล่าเก่าก้าวใหม่ โดย Latino
1,335
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ดำเนินการอย่างชาญฉลาดพร้อมทำเงินจำนวนมหาศาลจากการปล่อยผู้เล่นในสังกัดสู่ตลาดนักเตะตลอดหลายปีที่ผ่านมา

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เคยเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ของสโมสรในช่วงปี 2003 ก่อนจะแก้ไขสถานการณ์จนรอดพ้นภาวะล้มละลาย ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณเงินกู้จากทีมคู่แข่งจาก บาเยิร์น มิวนิค 

หลังรอดพ้นจากการล้มละลาย โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ตั้ง ฮันส์-โยอาคิม วัตช์เค่อ เป็นซีอีโอในอีก 2 ปีถัดมา แต่มันต้องใช้เวลาจนถึงปี 2008 กว่าทีมเสือเหลืองจะหลุดออกจากพื้นที่สีแดง มันเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของสโมสร

มันมาจากการจัดการอันชาญฉลาดที่ทำให้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง และพวกเขายังแข็งแกร่งมากกว่าที่เคยเป็นเมื่อ เจอร์เก้น คล็อปป์ อดีตโค้ช ไมน์ซ ถูกดึงเทรนเนอร์คนใหม่ของ เบเฟาเบ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2008 

ภายใต้การกุมบังเหียนของ คล็อปป์ ทีมเสือเหลืองคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัยติดต่อกันในปี 2011 และ 2012 ซึ่งรวมถึงคว้าดับเบิ้ลแชมป์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรปี 2012 แต่น่าเสียดายที่พวกเขาเป็นเพียงรองแชมป์แชมเปี้ยนส์ลีก หลังการปราชัยต่อ บาเยิร์น มิวนิค ในเกมชิงชนะเลิศเมื่อปี 2013

นับจากนั้น โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ประสบความสำเร็จเพียงการคว้าแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล สองสมัย (2016-2017 กับ 2020-2021) เท่านั้น ขณะเดียวกันคู่ปรับสำคัญอย่าง บาเยิร์น มิวนิค ยังสร้างผลงานประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าแชมป์ บุนเดสลีกา 11 ปีติดต่อกัน


แม้จะอยู่ภายใต้หลืบเงาของ บาเยิร์น มิวนิค นานกว่าทศวรรษ แต่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ประสบความสำเร็จในแง่เศรษฐกิจจนมีความความแข็งแกร่งทางการเงิน ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการอันชาญฉลาดในตลาดนักเตะของ ฮันส์-โยอาคิม วัตช์เค่อ พร้อมด้วยทีมงานอย่าง มิชาเอล ซอร์ค อดีตผู้อำนวยการกีฬา และ เซบาสเตียน เคห์ล ซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าวในปัจจุบัน 

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ลงทุนในตลาดนักเตะกับผู้เล่นอายุน้อยมากความสามารถ ก่อนจะปั้นขายด้วยราคามหาศาลคนแล้วคนเล่าจนมาถึงคนล่าสุดอย่าง จูด เบลลิงแฮม ที่ทีมเสือเหลืองดึงมาจาก เบอร์มิงแฮม ในช่วงซัมเมอร์ปี 2020 ด้วยค่าตัว 30 ล้านยูโรก่อนปล่อยตัวไป เรอัล มาดริด ด้วยค่าตัวเบื้องต้น 103 ล้านยูโร

ส่วนแข้งตัวทำเงินของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มีใครบ้างไปติดตามกันครับ

จูด เบลลิงแฮม (2020-2023, ลงเล่น 92 เกม ทำ 12 ประตูกับ 16 แอสซิสต์)


การผงาดขึ้นมาในคราบ 'เหลือง-ดำ' ของ เบลลิงแฮม เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็น หลังอดีตเด็กปั้น เบอร์มิงแฮม คว้าโอกาสในการยกระดับเกมของเขาขึ้นไปอีกขั้นในช่วงเวลา 3 ปีกับ เบเฟาเบ ก่อนจะออกจากสโมสรในฐานะผู้นำ, มิดฟิลด์ที่เล่นได้ทุกรูปแบบ, ผู้เล่นประจำฤดูกาลของบุนเดสลีกา และแข้งดาวเด่นของแชมเปี้ยนส์ลีก และ ฟุตบอลโลก ด้วยวัยเพียง 19 ปี

เบลลิงแฮม ออกจาก เบอร์มิงแฮม มุ่งหน้าสู่เยอรมนีด้วยวัยเพียง 17 ปี เขาฝึกซ้อมและลงเล่นให้สโมสรชั้นนำของลีกเมืองเบียร์ด้วยความเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาฝีเท้าอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างน่าประทับใจ

ที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, เบลลิงแฮม เติบโตเป็นมิดฟิลด์ที่สมบูรณ์แบบ ในฤดูกาล 2022-2023 มิดฟิลด์หนุ่มเอาชนะความท้าทายมากกว่านักเตะคนอื่นๆ และออกจากสโมสรในฐานะกัปตันทีมอายุน้อยสุดของลีกเมืองเบียร์และเป็นแข้งวัยรุ่นที่ปรากฎตัวบนเวทีบุนเดสลีกามากสุด (92 เกม) 

ก่อนมิดฟิลด์วัย 19 ปีจะกลายเป็นตัวทำเงินมหาศาลด้วยมูลค่าเบื้องต้น 103 ล้านยูโรและตัวเลขมีโอกาสขยับขึ้นสูงถึง 133.9 ล้านยูโรตามโบนัสเพิ่มเติมในอนาคต

อุสมาน เดมเบเล่ (2016-2017, ลงเล่น 32 เกม ทำ 6 ประตูกับ 13 แอสซิสต์)


โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สร้างชื่อเสียงในการปลุกปั้นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงมากมายหลายคน แต่ไม่มีใครแจ้งเกิดแบบเดียวกับ อุสมาน เดมเบเล่ ทำได้เลย หลัง เบเฟาเบ จ่ายเงิน 35 ล้านยูโรดึงแนวรุกวัย 19 ปีมาจาก แรนส์ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2016 ก่อนกลายเป็นภัยคุกคามของแนวป้องกันทั่วเยอรมนีด้วยฝีเท้าและพละกำลังของเขาจนถูกจับตามองจากบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรป

จากผลงานยอดเยี่ยมของ เดมเบเล่ ในปีแรกกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ส่งผลให้ บาร์เซโลน่า ที่กำลังดิ้นรนหาตัวแทนของ เนย์มาร์ ดา ซิลวา จูเนียร์ ในขณะนั้นยอมทุ่มสุดตัวเพื่อคว้าแนวรุกชาวฝรั่งเศสเข้าสังกัดด้วยค่าตัวเบื้องต้น 105 ล้านยูโรบวกโบนัสอีก 40 ล้านยูโร ซึ่งคงไม่มีนักเตะคนใดที่สามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาลด้วยเวลาเพียงหนึ่งปีเหมือน เดมเบเล่ อีกแล้ว

ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมย็อง (2013-2018, ลงเล่น 144 เกม ทำ 98 ประตู)


โอบาเมย็อง ย้ายจาก แซงต์ เอเตียน มาค้าแข้งกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2013 ด้วยค่าตัวเพียง 13 ล้านยูโร หลังล้มเหลวในการแจ้งเกิดกับ เอซี มิลาน จนต้องย้ายมาเล่นกับ ดิฌง, ลีลล์ และ โมนาโก ก่อนจะเซ็นสัญญาถาวรกับ แซงต์ เอเตียน ในเดือนมกราคมปี 2012 จนกระทั่งกองหน้าชาวกาบองสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักของวงการลูกหนัง

ความหลงใหลในการส่งบอลซุกก้นตาข่าย (ซึ่งรวมถึงการเฉลิมฉลองอย่างบ้าคลั่ง) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันแพร่ระบาดบนเวทีบุนเดสลีกาในทันที ก่อน โอบาเมย็อง จะทำ 25 ประตูในลีกเมืองเบียร์ซีซั่น 2015-2016 พร้อมคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของบุนเดสลีกาในฤดูกาลนั้น 

โอบาเมย็อง ก้าวขึ้นไปอีกขั้นในซีซั่น 2016-2017 โดยการทำ 31 ประตูจากการลงเล่นบุนเดสลีกา 32 เกม พร้อมช่วย เบเฟาเบ คว้าแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล จนกระทั่ง อาร์เซน่อล จ่ายเงิน 63 ล้านยูโรดึงหัวหอกกาบองเข้าสังกัดในช่วงเดือนมกราคมปี 2018 ก่อนจะโยกไป บาร์เซโลน่า และกลายมาเป็นแข้งสิงห์น้ำเงินในปัจจุบัน

คริสเตียน พูลิซิช (2016-2019, ลงเล่น 90 เกม ทำ 13 ประตู)


เด็กหนุ่มจาก เพนซิลเวเนีย ออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 16 ปีสู่ประเทศเยอรมนีในปี 2016 ก่อนพรสวรรค์ดิบของเขาจะถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นเพลย์เมคเกอร์ฝีเท้าดีและกลายเป็นหนึ่งในแข้งชั้นนำในช่วงเวลาที่เขาอยู่ในบุนเดสลีกา

พูลิซิช ในวัย 17 ปีได้รับความไว้วางใจอย่างรวดเร็วจาก โธมัส ทูเคิ่ล เทรนเนอร์ทีมเสือเหลืองในขณะนั้น ด้วยความเร็วและความเฉียบคมในการเล่นของเขาพิสูจน์ให้เห็นว่าแข้งชาวมะกันเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ในไม่ช้าเขากลายเป็นขุมกำลังหลักของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทำลายสถิติประเภทของนักเตะอเมริกันบนเวทีบุนเดสลีกา

จากนั้น พูลิชิช ย้ายไปค้าแข้งกับ เชลซี ในช่วงซัมเมอร์ปี 2019 พร้อมทำเงินให้ เบเฟาเบ มูลค่าสูงถึง 60 ล้านยูโร โดยมีส่วนช่วยทีมสิงห์น้ำเงินคว้าแชมป์แชมเปี้ยนส์ลีกในฤดูกาลที่สองของเขาในกรุงลอนดอน เขายังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะรุ่นใหม่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึง โจวานนี่ เรย์น่า แข้งรุ่นน้องที่เดินตามรอยเท้าเขามาที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วย

เจดอน ซานโช่ (2017-2021, ลงเล่น 55 เกม ทำ 38 ประตูกับ 51 แอสซิสต์)


เหมือนกับ โอบาเมย็อง ที่ไม่สามารถแจ้งเกิดกับ แมนฯซิตี้ ในฐานะแข้งดาวรุ่งของสโมสร ก่อน โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จะยื่นโอกาสแก่ดาวรุ่งชาวอังกฤษ หลังทีมเสือเหลืองจ่ายเงิน 10 ล้านยูโรดึงมาร่วมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2017 เขาใช้เวลาปรับตัวราวหนึ่งปีจนกระทั่งพัฒนาทั้งการทำประตูและแอสซิสต์เหมือนเครื่องจักร

ด้วยความสามารถของเขานำไปสู่การเล่นบนเวทีแชมเปี้ยนส์ลีกและถูกเรียกตัวติดทีมชาติอังกฤษ โดยเป็นส่วนหนึ่งของทัพสิงโตคำรามที่ทะยานเข้ารอบชิงชนะเลิศของศึกยูโรในปี 2021 

ซานโช่ หวนคืนเมืองแมนเชสเตอร์ในช่วงซัมเมอร์ปี 2021 หลัง ยูไนเต็ด ทุ่มเงิน 85 ล้านยูโรกระชากตัวมาจาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ แต่แนวรุกวัย 23 ปียังไม่ปังอย่างที่คาดหวังตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในฐานะแข้งปีศาจแดง

เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ (2020-2022, ลงเล่น 67 เกม ทำ 62 ประตู)


ฮาแลนด์ เซ็นสัญญากับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในช่วงเดือนมกราคมปี 2020 หลังย้ายมาจาก ซัลซ์บวร์ก ด้วยค่าตัว 20 ล้านยูโร ซึ่งเกิดขึ้นตามคำแนะนำของ อัล์ฟ-อิงเก้ ฮาแลนด์ บิดาของเขา ด้วยความคาดหวังว่า เบเฟาเบ จะเป็นสโมสรในอุดมคติในเส้นทางอาชีพที่ยอดเยี่ยมของบุตรชาย 

เขาใช้เวลาเพียง 23 นาทีในการทำแฮตทริคตั้งแต่เกมประเดิมเวทีบุนเดสลีกากับ เอาก์สบวร์ก เมื่อวันที่ 18 มกราคมทั้งที่ลงเล่นฐานะสำรอง ก่อนทีมเสือเหลืองจะยิงสลุตคู่แข่งด้วยสกอร์ 5-3 โดยทำ 13 ประตูจากการลงเล่น 15 นัด และยิงรวมกัน 16 ประตูจากการลงเล่นทุกรายการ 18 เกม

ฮาแลนด์ แสดงประสิทธิภาพชัดเจนขึ้นในฤดูกาลถัดมาด้วยการยิง 27 ประตูจากการลงเล่นบุนเดสลีกา 28 เกม และยิงรวมกัน 41 ประตูจากการลงเล่นทุกรายการ 41 เกม ทว่ากองหน้าชาวนอร์วีเจี้ยนมีปัญหาเรื่องสภาพร่างกายในซีซั่นที่ผ่านมา แต่ยังยิงรวมกัน 29 ประตูจากการลงเล่นทุกรายการ 30 เกม


โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ปล่อยตัว ฮาแลนด์ ย้ายมาค้าแข้งกับ แมนฯซิตี้ ในช่วงซัมเมอร์ปี 2022 ก่อนหัวหอกวัย 22 ปี จะระเบิดฟอร์มตั้งแต่ปีแรกกับทีมเรือใบด้วยการยิง 36 ประตูจากการลงเล่นพรีเมียร์ลีก 35 เกม และกระทุ้งรวมกัน 52 ประตูจากการลงเล่นทุกรายการ 53 เกม พร้อมนำต้นสังกัดคว้าทริเปิลแชมป์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร

เบเฟาเบ ยังทำเงินจากการปล่อยแข้งชั้นดีอย่าง ชินจิ คางาวะ ที่ย้ายไป แมนฯยูไนเต็ด ในช่วงซัมเมอร์ปี 2012 และ เฮนริค มคิทาร์ยาน ที่ย้ายไปร่วมทัพปีศาจแดงในช่วงหน้าร้อนปี 2016 ยกเว้น โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ที่ย้ายซบ บาเยิร์น มิวนิค แบบไม่มีค่าตัวเท่านั้น


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})