:::     :::

Player Analysis : ปัญหาหน้าฝืด ราสมุส ฮอยลุนด์

วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
1,335
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
วิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นเรื่องที่ ราสมุส ฮอยลุนด์ ยังจบสกอร์ไม่ได้ สาเหตุสำคัญมีหลายๆอย่าง และต้องปรับแก้กันอีกเยอะ ทั้งเพื่อน ทั้งระบบ และตัวของเขาเอง บทความนี้น่าจะทำให้เห็นปัญหากันได้ชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งวิธีแก้ว่าจะทำให้เรื่องนี้ดีขึ้นได้ยังไงบ้าง

ประเด็นสั้นๆที่น่าหยิบยกมาพูดถึงในบทความนี้ คือเรื่องของ ราสมุส ฮอยลุนด์ กับปัญหาที่เจ้าตัวยังไม่ยิงประตูในพรีเมียร์ลีกเลยจนถึงบัดนี้ ซึ่งถ้าเอาตัวเลขเพียวๆมาแปะก็จะแยกให้เห็นได้เลยว่า พรีเมียร์ลีก 13 เกม : ประตู/แอสซิสต์ 0 ขณะที่เกมยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก ลงไปแค่ 6 เกม ยิงไป : 5 ประตู

ถ้าดูในสายตาคนภายนอก หรือจากมุมมองแฟนทีมอื่นที่ไม่ได้รับรู้ปัญหาจริงๆ และไม่ได้ดูการเล่นของฮอยลุนด์จริงๆ มันก็อาจจะดูย่ำแย่ หลายๆคนก็บอกว่าไม่ควรจะมีข้ออ้างอะไรในเรื่องนี้แล้ว เจ้าตัวยังไม่ดีพอมากกว่า ฯลฯ

แต่ประเด็นนี้จริงๆเกิดขึ้นจากอะไร ผมคิดว่าแฟนผีส่วนใหญ่เข้าใจปัญหาของฮอยลุนด์เป็นอย่างดี มันคือเรื่องของการสร้างโอกาสไปถึงกองหน้ายังไม่เพียงพอ, และการซัพพอร์ตบอลจากตัวรุกรอบข้าง ยังไปไม่ค่อยถึงฮอยลุนด์นั่นเอง

ซึ่งล่าสุด เอริค เทน ฮาก ก็ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เขายังตีนบอดในพรีเมียร์ลีกอยู่จนถึงตอนนี้ว่า "สภาพจิตใจของเขายอดเยี่ยมเลย เขาแสดงออกมาได้ดีมากเวลาอยู่ในสภาวะกดดัน เขารับมือมันได้ แต่ทั้งหมดมันก็ไม่ได้เป็นเพราะราสมุสเองคนเดียว มันเกี่ยวกับ มาร์คัส แรชฟอร์ด, อเลฮันโดร การ์นาโช่, อันโทนี่, บรูโน่ เฟอร์นันด์ส, สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ด้วย "

"แล้วก็อย่าลืม พวกฟูลแบ็คของเราก็เหมือนกันที่ต้องมีส่วนร่วมสำคัญในเรื่องนั้น ผมมั่นใจว่าพวกเราจะพัฒนาขึ้น ถ้าทีมของเราอยู่กันครบถ้วน มันจะสมดุลมากกว่า และเราจะสร้างสรรค์โอกาสได้มากกว่านี้"

เอาเป็นว่าอันนี้ก็ค่อนข้างชัดนะครับว่า "ผู้จัดการทีมรู้ปัญหา" ว่าเรื่องที่ฮอยลุนด์ยิงไม่ได้ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวเขาอย่างเดียว มันมาจากการเล่นของเพื่อนๆที่รายล้อมรอบตัว ที่ต้องรับผิดชอบด้วยกัน โดยเฉพาะแดนหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เนื่องจากว่าต้องเล่นร่วมกันในการปั้นเกมรุกให้เป็นผลสำเร็จ เทน ฮาก ถึงได้ลิสต์ชื่อของพวก การ์นาโช่ บรูโน่ อันโทนี่ แรชฟอร์ด แม็คโทมิเนย์ขึ้นมานั่นเอง เพราะทุกคนต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด แบ็คที่ทำหน้าที่เติมเกมก็ด้วย

รวมถึงตัวของฮอยลุนด์เองเหมือนกัน ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อนเหล่านี้

ไม่ใช่แค่ทุกคนจะต้องมาช่วยฮอยลุนด์อย่างเดียว เจ้าตัวเองก็ต้องช่วยเพื่อนด้วย นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนต้องเน้นย้ำให้ผู้อ่านนึกภาพกันออกว่าเขาเองก็ต้องช่วยด้วยเช่นกัน

ปัญหาในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ แทคติก และ สไตล์การเล่น ของนักเตะแต่ละคนรอบข้างด้วยที่ส่งผลให้ฮอยลุนด์ได้รับบอลไม่เพียงพอต่อการจบสกอร์ของเขา

ปกติแล้ว ราสมุส ฮอยลุนด์ เล่นในrole ที่รับผิดชอบเป็น "Target Man" เป็นหลัก หน้าที่คือค้ำตัวเป้าแดนบนสุด หันหลังเล่นกับโกลฝั่งตรงข้าม, พักบอล บังบอล ใช้ความใหญ่ชนกองหลังโดยตรง และหาจังหวะยิงประตูให้ได้ นั่นคือ Target man ในหน้าที่หลักของเขา ขณะที่ในพาร์ทยามที่ไม่มีบอล ก็จะทำหน้าที่เป็น Pressing Forward อย่างที่เราเห็นกัน คือเป็นตัววิ่ง เล่นเพรสซิ่งแดนบนที่มีพลังงานในการเล่นเพรสซิ่งได้ดี

นั่นคือสไตล์ของเขา ซึ่งกองหน้าลักษณะนี้จะต้องได้รับการสร้างโอกาสจากเพื่อนให้มาถึงพื้นที่สุดท้ายให้ได้มากๆ มันถึงจะมีโอกาสทำประตูจริงๆ

ดังนั้นถ้าเกมรุกของทีมมีปัญหาในภาพรวม กองหน้าสายนี้ก็จะไม่มีโอกาสจบสกอร์ไปด้วย หากว่าทีมทำเกมกันได้ไม่ดี หรือไม่มากพอ แล้วส่งบอลไปให้ถึงหน้าเป้าตัวจบไม่ได้ กองหน้าก็จะมีปัญหาทันที เพราะโดยตำแหน่งตัวค้ำแล้ว เขาต้องรออยู่ในพื้นที่สุดท้าย

เมื่อสร้างบอลกันไปถึงไม่ถึงพื้นที่สุดท้าย กองหน้าจะเอาอะไรยิง?

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคนี้แมนยูไนเต็ด มีปีกแบบ "Inside Forward" สายจบสกอร์เองซะเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ การ์นาโช่ กับ แรชฟอร์ด ดังนั้นบางจังหวะเราก็อาจจะได้เห็นปีกเหล่านี้ลุยเองยิงเองให้เห็นอยู่บ่อยๆ ปีกตัวรุกเหล่านี้เวลามีช่องให้ส่องก็มักจะลองด้วยตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ทำให้บางทีโอกาสมาไม่ถึงกองหน้าก่อน ก็ยิงกันไปหมดแล้ว

จะเอาโอกาสที่ไหนได้ส่องทำประตูให้ทีม เมื่อในทีมมีคนที่พร้อมเป็น Striker อยู่เต็มไปหมดจากหลายๆตำแหน่งในสนาม

อันนี้เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่น้องฮอยลุนด์ก็ค่อนข้างลำบากพอสมควรในการเล่นกับเรา และถ้าเขายิงได้น้อยก็อย่าเพิ่งไปว่ากันเลย ดูเหตุผลนี้ประกอบด้วย ยกเว้นว่าถ้าฮอยลุนด์ได้อยู่ในบทบาทที่ต้องเป็นตัวรับบอลคนสุดท้ายคนเดียวเท่านั้นเพื่อจบสกอร์ แบบที่ซิตี้พยายามจะปั้นบอลยังไงก็ได้ให้ถึง ฮาลันด์ อย่างเดียวเน้นๆ นั่นแหละ มันอาจจะดีกับฮอยลุนด์มากกว่า

ถ้าไปอยู่ซิตี้จะดีกับน้องมากกว่านี้หรือไม่? อันนี้บอกได้เลยว่าดีแน่ๆ น้องเหมาะกับทีมที่ทำเกมกันได้แบบนั้น

เพราะงั้นแล้ว ในทางกลับกัน ถ้าเป็นในด้านการเล่น ฮอยลุนด์เหมาะกับการเล่นกับ "ปีกสายปั้นเกม" มากกว่าที่จะเป็นปีกตัวจบสกอร์แบบสมัยนิยมในปัจจุบันนี้ (ถ้าไปอยู่ในยุคที่ซ้ายขวาเป็นกิ๊กส์ เบ็ค น้องหอยน่าจะยิงได้ไม่น้อยอย่างแน่นอน)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นเรื่องที่ปีกเราชอบยิงเอง ไม่ชอบส่ง จะโทษนักเตะเหล่านี้ของเราเลยก็ไม่ได้ไปซะ100% เพราะมันเป็นสไตล์พวกเขาเองอยู่แล้วที่สามารถจบสกอร์เองได้ ถ้ามีจังหวะไหนที่มีโอกาสส่องได้ พวกเขาจะลองยิงเองก็ไม่ผิดเหมือนกัน เป็นเรื่องธรรมดาของพวก Inside Forward อยู่แล้ว (แต่ไม่ได้จะปกป้องนะครับ เพราะหลายๆจังหวะ มันก็ไม่ยอมส่งฮอยลุนด์กันจริงๆนั่นแหละ เรื่องการตัดสินใจยังไม่ดีพอจริงๆ)

เราก็เห็นกันอยู่บ่อยๆและชัดเจนว่าการปั้นเกมไปถึงฮอยลุนด์จากปีกหลายๆคน มันยังไม่เพียงพอจริงๆ เรื่องนี้แฟนบอลก็รู้กันดี บรูโน่อยู่ในสนามเขาก็ยังรู้เรื่องนี้เหมือนกันและเคยให้สัมภาษณ์ออกมาในเรื่องที่เพื่อนในสนามไม่ค่อยมองหากันเท่าที่ควร

นอกจากนี้องค์ประกอบอื่นๆก็บ่งชี้อยู่ เช่นเรื่อง สถิติการได้รับบอล / สัมผัสบอลในกรอบเขตโทษ ที่น้อยกว่ากองหน้าคนอื่นๆในพรีเมียร์ลีก ยิ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ราสมุส ฮอยลุนด์ ยังได้รับโอกาสไม่มากพอจริงๆ

สถิติในเรื่องของการรับบอลในกรอบเขตโทษ การได้บอลในแดนหน้า เรื่องนี้เคยนำเสนอไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Receieved Passes per 90 หรือ Touches in box per 90 ฮอยลุนด์อยู่ในอันดับรั้งท้ายๆของลีกจริงๆสำหรับกองหน้าที่ได้รับบอลในพื้นที่สุดท้าย มันน้อยมากๆ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลย

ในขณะที่ มาดูแผนภาพการรับบอลของฮอยลุนด์ในเกมเจอบาเยิร์น ยิ่งน่าตกใจว่าเขาได้สัมผัสบอลในกรอบเขตโทษแค่ครั้งเดียวเอง น้อยมากๆ ในเกมที่แพ้คาบ้าน 0-1 ไปนัดล่าสุด

ปัญหาเรื่องการได้รับบอลน้อยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากว่า ราสมุส ฮอยลุนด์ ก็ไม่ใช่กองหน้าสายทำเกมเอง ซึ่งต่างจากพวก Centre Forward ต่างๆที่มีสปีดความเร็ว ไปกับบอลและเลี้ยงกินตัวคู่แข่งเองได้ เพราะงั้นหน้าที่หลักของเขาจึงไม่ใช่การลงมารับบอลไปเล่นเองด้วยตั้งแต่ต้นแล้ว

นั่นก็ยิ่งเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมเพื่อนร่วมทีมจึงได้สำคัญนักในการป้อนบอลไปถึงเขา โดยเฉพาะใน phase การครองบอลของทีม

ซึ่งจะต่างกับพวกกองหน้าสาย Forward ทั่วๆไป หรือกองหน้าประเภทสร้างสรรค์เกมเองได้แบบ "9 ครึ่ง" ที่สามารถจบสกอร์ได้ ทำเกมเองได้ (Trequartista แบบพวก RVP, Totti เป็นต้น) ซึ่งนักเตะเหล่านั้นคือกองหน้าประเภทที่ดรอปต่ำลงมาทำเกมได้เองด้วย

พวกนี้จะได้รับบอลบ่อย และไม่มีปัญหาเรื่องโอกาส เพราะสามารถจบเองก็ได้ สร้างเกมให้เพื่อนเองได้ด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะพวกกึ่งๆ False Nine อย่าง อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล, แฮรี่ เคน หรือแม้กระทั่งเป้าหมายตัวเก๋าอย่าง เมห์ดี้ ตาเรมี่ ที่เคยมีข่าวกับเรา กองหน้าสายนี้จะลงมาทำเกม ปั้นเกมและเอาตัวรอดได้เอง ดังนั้นพวกเขาจะยิ่งมีโอกาสได้รับบอลบ่อยขึ้น และมากกว่าหน้าเป้าตัวค้ำในพื้นที่สุดท้ายอย่าง ฮอยลุนด์ ที่บางทีต้องเข้าไปโดนล็อคอยู่ระหว่างเซ็นเตอร์และมิดฟิลด์คู่แข่งทีละ 3-4 ตัวเป็นอย่างต่ำ บางทีการจะส่งบอลไปให้ถึงตัว Target man มันค่อนข้างยากจริงๆ

ในทางตรงกันข้าม ปีกตัวจบสกอร์ ของแมนยูไนเต็ด มันเหมาะกับการใช้ร่วมกับ "กองหน้าสายปั้นเกม" มากกว่า เพื่อให้ตัวเล่นริมเส้นสองฝั่งได้มีโอกาสในการเข้าทำมากขึ้น เพราะมีคนทำเกมให้

ดังนั้นถ้าถามว่า สำหรับแมนยูไนเต็ด กองหน้าแบบไหนที่เหมาะกับการใช้ combination ร่วมกันกับพวกแรชฟอร์ด การ์นาโช่ ฯลฯ พวกนี้แล้วล่ะก็ กองหน้าที่สามารถทำเกมให้เพื่อนร่วมทีมเข้าทำได้ จะลงล็อคกับทรัพยากรปีก Inside Forward ตัวจบสกอร์อยู่เต็มที่มากกว่านั่นเอง อันนี้พูดกันตามตรงในเชิงแทคติก

และใช่ครับ ทุกคนคงรู้อยู่ว่าผมหมายถึงใคร

ในเมื่อเราไม่ได้ซื้อกองหน้าตัวทำเกมเข้ามา แต่เราเลือกเซ็นนักเตะที่มี Potential จะพัฒนาในอนาคตอย่างฮอยลุนด์เข้ามาแทนนั้น ก็ต้องหาวิธีการใช้งานเขาให้ได้อย่างเหมาะสม และหากเจ้าตัวอยากจะพัฒนาการเล่นของตัวเอง และช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมได้แล้วละก็ มีหลายๆอย่างที่จะทำให้ฮอยลุนด์สามารถยิงได้ และสร้าง Performance ได้ดียิ่งกว่านี้

1. ฮอยลุนด์อาจจะต้องเพิ่มบทบาทในการลงมาเชื่อมเกม หรือสร้างสรรค์เกมให้มากกว่านี้ ตัวเขาเองต้องพัฒนาด้วย เพราะจนถึงตอนนี้ เจ้าตัวยังไม่มีลูกแอสซิสต์ให้ใครเลยแม้แต่ลูกเดียว << อันนี้ชัดเจนนะครับ

2. ปีกตัวเล่นร่วมกัน จะต้องมองหาเพื่อนมากกว่าเดิม ทำเกมบุกด้วยทีมเวิร์คมากกว่าความสามารถเฉพาะตัวเป็นหลัก ไม่ว่าจะมั่นใจขนาดไหนก็ตาม โดยเฉพาะการ์นาโช่ แรชฟอร์ด อันนี้สำคัญมาก ข้อนี้ปรับแก้ได้ที่การ Coaching ของทีม

3. สิ่งที่ EtH พูดก็ไม่ลืมเอ่ยถึง "ฟูลแบ็ค" ด้วย เพราะงั้นถ้าอยากจะให้กองหน้าอย่างฮอยลุนด์ยิงได้ การเติมเกมของฟูลแบ็คจะต้องทำได้จะแจ้งและเข้าเป้ามากกว่านี้ จะให้ปีกรับผิดชอบคนเดียวก็ไม่ได้ ทีมต้องเพิ่มการเล่นที่เติมมาจากแนวหลัง โอกาสในการสร้างสรรค์จังหวะยิงจะได้เพิ่มมากขึ้น ดูจากนัดล่าสุดที่เจอกับลิเวอร์พูลก็จะเห็นได้ว่า การเติมจากแบ็คสองข้างก็ช่วยเกมรุกของทีมได้จริงๆ

และเมื่อนำแบ็คเราไปเทียบกับแบ็คทีมเก่าของฮอยลุนด์ก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมันรวมอยู่ในผู้เล่นทุกๆตำแหน่งจริงๆ ไม่ใช่แค่ปีกไม่จ่ายอย่างที่ใครเข้าใจ

ในระบบ 3-4-3 ที่อตาลันต้า ฮอยลุนด์ได้รับบอลซัพพอร์ตที่มากพอจากวิงแบ็คทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะ Robin Gosens ที่เปิด Early Cross เข้ามาให้กับหน้าเป้าแบบเขาจากพื้นที่ด้านข้างมากกว่า

ขณะที่ตัวเล่นด้านข้างของแมนยูไนเต็ด มาร์คัส แรชฟอร์ด ก็จะหุบเข้าในอย่างที่เรารู้กัน และเล่นในลักษณะของการเป็นเหมือนกับ Second Striker จากฝั่งซ้าย (ก็ LW Inside Forward นั่นแหละ) รูปแบบของการให้บอลจึงต่างกันมากระหว่างเกมตอนอยู่กับอตาลันต้า และเมื่อมาเล่นกับปีกตัวจบที่โอลด์แทรฟฟอร์ด

ด้วยความแข็งแกร่งของเขาที่รวดเร็ว และวิ่งโถมเข้าชาร์จลูกครอสได้ดี จึงเป็นอะไรที่น่าใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์มากๆ แต่ฮอยลุนด์เองก็ไม่ใช่นักเตะคนเดียวที่เผชิญกับปัญหาที่ว่า ย้ายเข้ามาแล้วแผนการเล่นของทีม มันไม่ซัพพอร์ตกับความสามารถของเขา นั่นจึงเป็นโจทย์ที่ทีมต้องแก้ไขไปพร้อมๆกับฮอยลุนด์ว่าจะเอายังไงกันต่อไป

แต่ที่แน่ๆคือ ถ้าอยากให้ฮอยลุนด์มีโอกาสมากกว่านี้ แบ็คจะต้องซัพพอร์ตเขาให้มากขึ้นด้วย ทั้งปริมาณของโอกาส และความแม่นยำในการป้อนบอลเข้าไปพื้นที่สุดท้าย เขาจึงเหมาะกับพวกแบ็คสายครอสบอลมากๆ โดยเฉพาะเรกีลอน

ป.ล. ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อพูดถึงการซัพพอร์ตฮอยลุนด์โดยฟูลแบ็ค หลายคนคงนึกไปถึงจังหวะดาโลต์หลุดเดี่ยวแล้วไม่ได้จ่ายให้ฮอยลุนด์ นั่นคือประเด็นของฟูลแบ็คเหมือนกัน

ในมุมมองผู้เขียนมองว่า จริงๆจังหวะนั้นตรงกลางโดนปิดอยู่พอสมควร จ่ายเข้าไปก็อาจจะติดได้ การเลือกยิงเองของดาโลต์ก็ไม่ได้ผิดอะไรถึงขนาดนั้น ในเมื่อจังหวะและช่องมันเปิดกว้างให้ยิงเองได้มันก็ไม่ผิดเหมือนกัน การตัดสินใจในเสี้ยววินาทีเล็กๆขณะที่กำลังเล่นบอลจริงๆมันไม่ได้ง่ายเหมือนที่แฟนบอลคิดและวิจารณ์กันแบบนั้น ถ้ามันง่ายป่านนี้ทุกคนคงทำอะไรต่างๆได้ถูกต้องไปซะทุกช็อตหมดแล้ว

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบได้ นั่นก็คือเรื่องจังหวะการยิงประตูของน้องมันเป็นยังไงบ้าง ดีหรือแย่ลงยังไง บางคนบอกว่า ฮอยลุนด์ยังไม่คมพอไม่งั้นป่านนี้มีประตูแล้ว

(ช็อตในเกมเจอลิเวอร์พูล ส่วนตัวมองว่าลูกนั้นที่หลุดไปแล้วยิงไม่เข้า ก็ไม่ได้ถึงกับแย่อะไรขนาดนั้น)

ประเด็นนี้พอจะเปรียบเทียบกับสถิติการเล่นเก่าตอนอยู่กับอตาลันต้าเมื่อปีที่แล้วน่าจะเห็นได้ชัดว่าเรทการยิงของน้องเป็นยังไง ดังนี้

9 ประตู จาก xG 9.5 ก็ถือว่าทำได้ตามที่ควรจะเป็น โดยxG per shot 0.18 ถ้าเทียบกับปีนี้ตอนอยู่แมนยูไนเต็ด ให้ดูภาพข้างล่างนี้เลยจะเห็นชัดเจนมากว่า อะไรเป็นอะไร

จะเห็นเลยว่า xG per shot ของราสมุส ฮอยลุนด์ ในพรีเมียร์ลีกตอนนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีประตู แต่ค่าโอกาสจาก xG ต่อการยิงในแต่ละครั้งของในปีนี้อยู่ที่ 0.16 แทบไม่ต่างจาก 0.18 ของตอนที่เขาเล่นกับอตาฯ ในฤดูกาลที่แล้วเลย

เพราะงั้น ถามว่า น่าเป็นห่วงไหม? สำหรับพรีเมียร์ลีก ดูจากตรงนี้จะเห็นว่าเรทการยิงไม่ได้ต่างจากเดิมมาก ที่เหลือคือรอแค่ประตูอย่างเดียวเท่านั้น การยิงยังอยู่ในระดับที่คงเดิมเหมือนปีก่อนที่เราจะซื้อมา ไม่ได้ฟอร์มดรอปแต่อย่างใด

และที่จริง ยิงเฉียบคมและอันตรายขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าวัดแค่โอกาสจากไม่กี่ครั้งใน UCL (โอกาสยิงแค่ 11 ครั้ง) ยิงไปแล้วถึง 5 ประตู เพราะงั้นปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการยิงของน้องโดยตรงแค่อย่างเดียวแล้ว กูรูที่บ่นน้องเรื่องความคมควรจะต้องเข้าใจสถานการณ์ในภาพรวมด้วย

นอกจากทั้งหมดเบื้องต้นนี้แล้ว ยังมีดีเทลต่างๆที่ฮอยลุนด์ต้องพัฒนาอีกเยอะ และคนจำนวนมากไม่ค่อยมองว่าเป็นปัญหาจากตัวน้องเองเลย นั่นก็คือเรื่องของ Awareness ในสนาม และเรื่องการหาตำแหน่ง (Off the ball) ที่ฮอยลุนด์ยังไม่มีในตอนนี้ และยังต้องพัฒนาอีกเยอะ

โอกาสน้อย ทีมปั้นไม่ดีนั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่การวิ่งที่หาพื้นที่ สร้างโอกาสให้เพื่อน นั่นก็เป็นสิ่งสำคัญ และการหาช่องเพื่อทำทางให้เพื่อนจ่าย ยังมีน้อยมากเกินไปสำหรับฮอยลุนด์ที่มักจะเป็นเป้านิ่งไปชนกับเซ็นเตอร์คู่แข่งอย่างเดียว

นึกย้อนไปหากองหน้าแมนยูที่ movement ดีๆ การวิ่งหาตำแหน่งชิงจังหวะดีๆอย่างคาวานี่ จะเห็นชัดว่าสไตล์ตรงนี้ต่างกันเยอะ ด้วยความเป็น Complete Forward ที่มีความสามารถแบบตัว Poacher อยู่ในการเล่นของคาวานี่ด้วย มันจะเห็นชัดว่า ฮอยลุนด์ต้องพัฒนาเรื่องการหาพื้นที่อีกเยอะมาก

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวปัญหาบางส่วนในการทำประตูของ ราสมุส ฮอยลุนด์ ที่มีเรื่องต้องปรับปรุงแก้ไขกันเยอะ ทั้งในส่วนของเพื่อนร่วมทีมเอง ทั้งในส่วนของระบบทีม และเจ้าตัวเองที่ต้องปรับการเล่นให้ทำอะไรๆได้มากกว่านี้ด้วย ยังไงส่วนตัวผู้เขียนก็ยังคงเป็นกำลังใจให้น้องต่อไป น้องเพิ่งจะ 20 ยังมีโอกาสและพื้นที่ที่จะพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆกับทีมอีกเยอะ

ล่าสุด ราสมุส ฮอยลุนด์ ก็เพิ่งจะคว้ารางวัลนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของเดนมาร์กมาหมาดๆเอง ชื่อรางวัลก็ชัดเจนว่าเป็น Young Player of The Year ยังเป็นนักเตะอายุน้อยอยู่เลย ใครที่บอกว่า ซื้อมาราคานี้ทำไมต้องมารอพัฒนาตัวเองด้วย อยากจะบอกว่า มันต้องดูบริบทของการซื้อมาด้วยเหมือนกัน

แม้เราจะบอกว่าโครงสร้างการทำงานหลังบ้านเรามีปัญหา แต่การที่ซื้อนักเตะที่สามารถใช้งานได้ยาวๆในอนาคต ก็ดีกว่าการซื้อตัวแก่ที่เก่ง แต่ต้องมาคอยปรับเปลี่ยน และนั่งลุ้นเรื่องสภาพร่างกายกันอยู่บ่อยๆเหมือนทุกวันนี้ ที่ใช้งานกองหน้าดีๆได้แค่ระยะสั้นเท่านั้นมาหลายคนแล้วในช่วงหลัง และยังไม่มีหน้าเป้าที่อยู่โยงเป็นตัวหลักให้ทีมสักทีจนกระทั่งมาได้ฮอยลุนด์นี่แหละ

ผู้เขียนไม่คิดว่า ดีลของฮอยลุนด์จะเป็นดีลที่ล้มเหลว มันห่างไกลจากจุดนั้นมาก แม้ตอนนี้เขาจะยังยิงไม่ได้ และถึงเราต้องจ่ายแพงในดีลนี้ แต่มันก็เป็นเรื่องการทำงานของหลังบ้านที่ยังมีปัญหาอยู่ นั่นคืออีกส่วนหนึ่งแต่ก็ไม่ได้เป็นความผิดของฮอยลุนด์เอง

และไม่ว่ายังไงก็ตาม การได้นักเตะแห่งอนาคตเข้ามาสู่ทีม มันก็เป็นโอกาสที่ดีมากที่เราจะได้ใช้งานเขายาวๆ และพัฒนาเจ้าตัวไปพร้อมๆกับทีมด้วย นัดล่าสุดเสียดาย อีกนิดเดียวจริงๆเกือบได้เปิดซิงที่แอนฟิลด์แล้ว แต่ไม่เป็นไร โอกาสหน้ายังมี ตอนนี้ขอประตูแรกมาให้ได้ก่อนก็พอ แล้วที่เหลือจะค่อยๆตามมาเอง ยิ่งตอนที่ฟอร์มทีมดีขึ้น นักเตะอยู่กันพร้อมๆ ฮอยลุนด์มีโอกาสเยอะกว่าเดิมแน่

ปี 2024 ผมกล้ารับประกันว่าฮอยลุนด์จะยิงได้มากขึ้นกว่าตอนนี้แน่นอน เด็กมันมีของ ใจเย็นๆค่อยๆรอดูน้องกันต่อไปครับ

#BELIEVE

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด