:::     :::

อธิบายแบบบ้านๆ "xG" คืออะไร ใช้อะไรคำนวณบ้าง?

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม 2567 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
1,100
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ค่า xG ถือว่าเป็นสถิติที่ถูกนำมาใช้กันแพร่หลายมากขึ้นในยุคนี้ แต่บางคนอาจยังไม่เข้าใจ นี่คือคำอธิบายแบบบ้านๆที่น่าจะทำให้เก็ตได้ง่ายขึ้น หรือบางคนเข้าใจ xG ดีแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าเขาใช้อะไรมาคำนวณกันจริงๆบ้าง บทความนี้เป็นคำตอบได้ดีสำหรับแง่มุมทั้งหมดของ xG เบื้องต้น

ดูเหมือนว่ามันจะเป็นบทความที่น่าปวดหัว และมีแต่ศัพท์เทคนิคฟุตบอลแค่อย่างเดียว แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย เราสามารถอธิบายเรื่องของ "xG" หรือชื่อเต็มคือ Expected Goals ได้อย่างง่ายๆโดยไม่ยุ่งยากอะไรขนาดนั้น ใครที่เข้ามาอ่านแล้วกลัวจะเจอตัวเลขสถิติต่างๆ หรือกลัวจะเจอ technical terms ทั้งหลาย

ลืมไปได้เลย มันอธิบายได้ง่ายกว่านั้น

"xG" (Expected Goals) แปลเป็นไทยให้เห็นภาพได้ง่ายๆ มันคือค่าที่จะแสดงให้เห็นว่า โอกาสต่างๆมีความใกล้เคียงจะเป็นประตูมากหรือน้อยขนาดไหน 

ภาษาอังกฤษมักจะบอกว่า xG คือ Quality of chance (คุณภาพของโอกาส) ก็บอกได้ คือโอกาสนั้นๆมีคุณภาพเยอะหรือน้อยที่จะเข้าประตู จังหวะนั้นมีโอกาสเป็นประตูต่ำ ค่า xG ก็จะต่ำ, โอกาสนั้นมีสิทธิ์เป็นประตูสูง ค่า xG นั้นก็จะสูง

ในอดีตเราจะมีสถิติของ "จำนวนการยิง" (shots) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สามารถอธิบายได้แค่เรื่องของ "ปริมาณ" เท่านั้นว่า ทีมมีโอกาสยิงกี่ครั้งๆ มันสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมได้แค่บางมิติเท่านั้นเองว่า ทีมนั้นสร้างโอกาสยิงกันได้บ่อยเพียงใดในเกม โอกาสยิงเยอะ ก็อาจจะแปลว่าทีมสร้างจังหวะให้เกิดการได้ลองยิงได้ดี ในเรื่องนั้นเรื่องเดียว

แต่ไม่ได้บ่งบอกเลยว่า ไอ้ที่ได้ยิงกันน่ะ มันได้ลุ้นมากแค่ไหน

สมมติว่า ทีม A มีโอกาสยิงทั้งหมด 24 ครั้ง กับคู่ต่อสู้ B มีโอกาส 12 ครั้ง มองแบบนี้ผิวเผินก็อาจจะตอบได้ว่า ทีม A ดูจะบุกได้ดีกว่า 

แต่ถ้า 24 ครั้งของทีม A ที่ว่า เป็นการสร้างโอกาสยิงที่ไม่มีความแน่นอน ไม่มีความใกล้เคียง สักแต่ว่ายิง ยิงจากจังหวะที่โอกาสไม่เปิดกว้าง ฯลฯ 

เทียบกับทีม A โอกาสแค่ 12 ครั้ง แต่ได้ลุ้นมากกว่า ใกล้เคียงจะเป็นประตูมากกว่า อันตรายกว่า แบบนี้จริงๆแล้ว ถือว่า โอกาสของทีม B มีคุณภาพในเกมรุกมากกว่า เพราะใกล้เคียงและอันตรายกว่านั่นเอง

ไม่ใช่เรื่องของปริมาณ แต่มันคือคุณภาพ

ดังนั้นเรื่องความใกล้เคียงได้ลุ้นที่ว่านี้ มันคือเรื่องของคุณภาพของโอกาส (Quality of chances) เพราะงั้นเรื่องความอันตรายที่แท้จริง จึงสัมพันธ์กับค่า "xG" มากกว่า เพราะตอบโจทย์ได้ชัดเจนและตรงจุดกว่า

ค่า xG จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นความใกล้เคียงที่จะเป็นประตูจริงๆว่ามากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ จำนวนครั้งของการยิง (Attempts) ไม่สามารถอธิบายได้ เพราะ xG จะบ่งบอกถึงความใกล้เคียงในแต่ละจังหวะว่ามันมีโอกาสจะเป็นประตูมากน้อยขนาดไหน ซึ่งเกมๆหนึ่ง ค่าของแต่ละจังหวะ จะถูกสะสมไปเรื่อยๆ (Cumulative xG)

จนกระทั่งสุดท้ายเมื่อเกมนั้นจบ ก็จะออกมาเป็น xG ของทีมในแมตช์นั้นๆเองว่า รวมแล้ว xG ที่ทำได้ในเกมนั้น มีความใกล้เคียงที่น่าจะได้ประตูสักกี่ประตู (xG Created) ยกตัวอย่างแมตช์ล่าสุดของแมนยูไนเต็ด xG ที่ออกมา มีค่า Man Utd (0.92) 2-2 (1.50) Tottenham เป็นต้น นี่คือ xG รวมของเกมนั้นๆ 

ซึ่งในจุดนี้ เราสามารถพูดได้เลยว่า จริงๆแล้ว xG ไม่ใช่ของใหม่อะไรเลยในวงการฟุตบอล เอาจริงๆมันคือเรื่องที่แฟนบอลอย่างเราๆท่านๆ รู้กันมาแบบไม่ต้องมีใครบอก ตั้งแต่เริ่มต้นดูบอลแล้ว

นั่นก็คือ ความรู้สึกในการดูบอลแต่ละเกมๆว่า นัดนี้ทีมเราน่าจะยิงกันได้สักกี่ลูก? นั่นเอง ยกตัวอย่างที่เป็นความคิดของแฟนบอลอย่างเราเวลาดูบอล ที่เราคุยๆกัน มีตัวอย่างให้ดูสามแบบดังต่อไปนี้

-"จังหวะนี้ยังไงต้องเป็นประตูแน่ๆ โล่งๆเลย"

: คำพูดนี้ก็เป็นคำพูดปกติของการดูบอลของเรา แต่สามารถเทียบได้ว่า มันน่าจะเป็น "โอกาสครั้งใหญ่" ที่มีความน่าจะเป็นประตูสูง ดังนั้นจังหวะนี้ ค่า xG ก็จะสูงมากๆด้วย เพราะมีโอกาสยิงได้เยอะมาก ประตูโล่งๆก็แปลว่าอุปสรรคน้อย และน่าจะเข้าแบบสุดๆนั่นเอง xG เลยสูง

-"เกมนี้น่าจะยิงได้สักสี่ลูกด้วยซ้ำถ้าแม่นๆกว่านี้"

: ประโยคนี้อนุมานจากมุมมองการดูโอกาสของทีมในนัดดังกล่าวแล้ว xG น่าจะใกล้ๆกับ 4 นั่นเอง ในการดูบอลและวิเคราะห์ว่าเกมนัดนั้นๆทีมควรจะยิงได้กี่ประตู นั่นก็คือการวิเคราะห์ xG แบบหยาบๆเลยนั่นแหละ เพียงแค่ว่ามันมาจากความรู้สึกของคนดูเฉยๆ ไม่ได้หยิบรายละเอียดในแต่ละจังหวะมาคำนวณอย่างเป็นระบบระเบียบ ใช้ความรู้สึกเป็นตัวกะปริมาณเอาว่า น่าจะได้สักกี่ประตู

ประโยคนี้ มันก็คือ xG เลยล่ะ แค่ไม่ได้ถูกวัดจากวิธีการที่ถูกต้อง ใช้ความรู้สึกกะๆเอาเท่านั้น

-"โอกาสแทบไม่มีเลยเกมนี้"

: นี่ก็ใช่เหมือนกัน ตีความได้ประมาณว่า xG ของเกมมันน่าจะน้อยมาก ค่าxGทั้งเกมอาจจะแค่สัก 0.4-0.7 เป็นต้น

เพราะงั้นเห็นจากตัวอย่างตรงนี้แล้ว ผู้อ่านจะเข้าใจเลยว่า จริงๆค่า xG มันก็คือความน่าจะเป็นที่มันจะเกิดเป็นประตูขึ้นนั่นแหละครับว่ามากน้อยเท่าไหร่ และมันอยู่กับฟุตบอลมาตลอด ในเรื่องของค่าโอกาสในแต่ละครั้งที่ยิง หรือค่าโอกาสของเกมนั้นทั้งเกมโดยรวมนั่นเอง

แค่มันถูกคำนวณอย่างมีหลักฐาน มีระบบระเบียบที่แน่นอน ผ่านตัวแปรต่างๆที่ถูก Setting เอาไว้อย่างถูกต้องและ "ครบทุกมิติ" ที่ควรจะคำนึงถึงว่า ในแต่ละโอกาสนั้นๆ มันมีความน่าจะเป็นที่จะเกิดประตูขึ้นมากน้อยแค่ไหน 

หลายๆคนที่อ่านบทความนี้ คงเริ่มอยากที่จะรู้แล้วว่า ในการคำนวณ xG จริงๆนั้น เค้าคำนวณยังไง มีตัวแปรหรือปัจจัยอะไรบ้างที่จะต้องใช้

จริงๆแล้วค่าต่างๆที่จะถูกนำมาคำนวณเพื่อที่จะหาว่า "โอกาสแต่ละครั้งมีความน่าจะเป็นประตูเท่าไหร่" มีมากเกินกว่า 20 ตัวแปรที่จะถูกนำมาคำนวณ ซึ่งในการคำนวณจากแต่ละสำนัก แต่ละแหล่งวิเคราะห์ข้อมูล ก็จะมี "โมเดล" ของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน

แต่ละที่ คำนวณ xG ด้วยความละเอียดที่ต่างกัน ตัวแปรที่ใช้ต่างกัน วิธีการคิดค่าก็ต่างกัน ดังนั้น xG มันจึงเป็นค่าที่แต่ละเจ้า แต่ละแห่ง แสดงผลการคำนวณออกมาไม่ตรงกันเป๊ะๆ แต่ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ส่วนใหญ่แล้วก็ควรจะออกมาใกล้เคียงกัน

การวัดค่า xG ของโอกาสแต่ละครั้งนั้นมันอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 เท่านั้นไม่เกินนี้ 0 คือโอกาสครั้งที่ยังไงก็ไม่มีทางจะเป็นประตูแน่นอน และ 1 คือโอกาสที่ยังไงก็ต้องเป็นประตูแน่แบบไม่มีวันพลาด

การคำนวณ xG ที่ออกมาหลายๆครั้ง ทุกคนจะเห็นว่ามันมีตัวเลขทศนิยมเกิดขึ้น อันนี้มาจากการคำนวณที่ต้องใช้คอนเซปต์ของทางคณิตศาสตร์ที่ใครเรียน Math มาก็คงจะผ่านตากันบ้าง นั่นก็คือเรื่องของ ค่าคาดหมาย หรือค่าคาดหวัง (Expected Value) นั่นเอง มันคือค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่สุ่มวัดหลายๆครั้งจากทุกค่าที่เป็นไปได้ของตัวแปรสุ่ม

ให้นึกถึงคอนเซปต์ง่ายๆว่า xG ของคอฟุตบอลอย่างเรา มันคือค่าโอกาสที่น่าจะเป็นประตู ซึ่งคิดออกมาโดยการถ่วงน้ำหนักของโอกาสของแต่ละจังหวะว่า มีอะไรที่ต้องคำนวณแนบ(ถ่วงน้ำหนัก)ประกอบเอาไว้ว่า แต่ละจังหวะมันใกล้เคียงจะเป็นประตูขนาดไหน

ไม่ได้มีแค่ว่า โอกาสเข้าน้อย=0, โอกาสน่าเข้า=1 ไม่ใช่แบบนั้น

การถ่วงน้ำหนักในการคิด xG จะทำให้มันออกมาเป็นค่าคำนวณที่ผ่านตัวแปรต่างๆ และอาจเกิดตัวเลขที่ละเอียดลงไปเป็นจุดทศนิยมได้ ที่เห็นบ่อยๆก็คือสองตำแหน่ง(ส่วนร้อย) จะทำให้ xG มันละเอียดมากพอสำหรับการใช้งานแล้ว

เพราะฉะนั้น สิ่งสุดท้ายที่หลายๆคนอยากจะรู้ก็คือ ตัวแปรต่างๆที่ว่าเอามาคำนวณเนี่ย มันมีอะไรบ้าง? อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าโมเดลที่ละเอียดๆ เช่นของ Opta ใช้โมเดลที่ชื่อว่า XGBoost เป็นต้น จะใช้ตัวแปรที่มากเกินกว่า 20 ตัวซึ่งจะส่งผลต่อค่าโอกาสการเป็นประตูนั้นๆ

ตัวแปรสำคัญๆที่ส่งผลเยอะ และใช้คำนวณ xG หลักๆ มีดังต่อไปนี้

1. ระยะทางระหว่างจุดยิง ห่างจากประตูเท่าไหร่ (Distance to the goal)

คิดง่ายๆว่า ยิ่งยิงไกลจากประตูเท่าไหร่ โอกาสเข้ามันก็น้อยลง เทียบระหว่างการได้ยิงในกรอบเขตโทษ กับการยิงจากครึ่งสนาม ก็จะเห็นภาพได้ง่ายสุดว่า ทั้งสองจังหวะนี้โอกาสได้ประตูมันต่างกันลิบลับอยู่แล้ว ยิ่งห่างโอกาสก็ยิ่งน้อย xG ก็จะต่ำลง แต่ถ้าระยะที่ยิงยิ่งใกล้ โอกาสก็ยิ่งมาก xG ก็จะสูงขึ้น แปรผันตามระยะห่าง

2. มุมยิง แคบหรือกว้างยังไง (Angle)

แน่นอนว่า ตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องมุม เพราะการยิงในมุมที่เปิดกว้าง โอกาสที่จะเป็นประตูยิ่งสูง เพราะหนึ่งเลยคือคุณสามารถเลือกยิงมุมไหนก็ได้ สองคือ มุมยิ่งกว้าง ทำให้ระยะที่สามารถยิงบอลให้หนีมือGK ก็ยิ่งมากไปด้วย

คิดง่ายๆว่า ในจังหวะที่มุมยิงน้อยๆแคบๆ ก็แปลว่า จังหวะนั้นโอกาสที่คุณจะยิงให้หนีระยะที่ GK จะปัดได้มันก็ยิ่งน้อย ถ้ามุมมันบีบหรือแคบจริงๆ การยิงมุมแคบจึงต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆของการยิงเพิ่มขึ้น เช่น พลัง + ความแรง+ การควบคุมทิศทาง เพื่อให้ลูกยิงมันพุ่งไปในจุดที่ตรงกรอบ, แรง และเร็วจน GKปัดไม่ทัน ซึ่งก็คือเอาชนะด้วยพลังของลูกยิง และการควบคุมทิศทางที่ต้องยิงให้ตรงและแม่นจริงๆ เนื่องจาก "มุมยิง" ส่งผลถึงตรงนี้ มุมยิ่งยาก ค่า xG ยิ่งน้อยนั่นเอง 

3. ตำแหน่งการยืนของ GK (GK Position)

ในจังหวะนั้นๆ ตำแหน่งการยืนของผู้รักษาประตู ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นว่า โอกาสยิงนั้นมีค่าที่ควรจะเป็นประตูเท่าไหร่ เพราะตำแหน่งการยืนนี้ จะบ่งบอกว่า โอกาสที่โกลจะเซฟได้มีมากน้อยแค่ไหน

คิดง่ายๆว่า ถ้าผู้รักษาประตูยืน Positioning ดี แปลว่าโอกาสที่เขาจะเซฟได้ก็ยิ่งสูง xG ก็จะน้อยลง

แต่ถ้าเขายืน Positioning ไม่ดีอยู่ในจังหวะนั้น ยืนเยื้องยืนเทไปบ้าง หรือยืนหลุดออกจากจุดที่จะเซฟได้ เช่นถลำไปแล้ว หรือวิ่งกลับมาปิดมุมไม่ทัน xG ก็จะยิ่งสูงขึ้น

4. ตำแหน่งของตัวอื่นๆที่ยืนบังทางยิงอยู่ ทำให้โอกาสยิงโล่งมากโล่งน้อยเพียงใด (Clarity of shooter)

อันนี้สำคัญมากไม่แพ้มุมยิง นอกจากมุมแล้ว ตำแหน่งยืนของ "ผู้เล่นคนอื่นๆ" ที่ยืนอยู่ในพื้นที่การยิงจังหวะนั้นๆ ยืนอย่างไร อยู่รายล้อมตรงไหนกันกี่คน ส่งผลให้ผู้ยิง มีโอกาสยิงเข้าสู่ปากประตูได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้าตัวอื่นๆ(ทีมคู่แข่ง ทีมเราเอง) ไม่ได้ยืนอยู่ในตำแหน่งที่บดบัง ขัดขวาง หรือเกะกะการยิง xG ก็จะยิ่งสูงขึ้น แต่ถ้านักเตะอื่นๆยืน position ที่ดี และปิดทางยิงให้ผู้ยิงหามุมได้ยากขึ้น ยิงลำบากขึ้น xG ก็จะน้อยลงนั่นเอง

5. การโดนบีบเข้ามากดดันจากแนวรับของคู่แข่ง (Pressure)

ตัวแปรนี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะมันส่งผลต่อ "อัตราการตัดสินใจ" ในการยิงจังหวะนั้น ถ้าไม่มีตัวกดดัน โอกาสของ xG จะสูงขึ้นทันทีแบบไม่มีข้อยกเว้น เพราะให้คิดง่ายๆว่า ถ้าไม่มีตัววิ่งบีบหรือเพรสเข้ามา ผู้ยิงก็จะยิ่งมีโอกาส "คิด" ได้นานขึ้น เลือกมุมได้เยอะขึ้น ตัดสินใจได้ชัวร์ขึ้นว่าจะทำยังไงต่อไป

กลับกัน ถ้ามีตัวที่พุ่งเข้ามาทำการป้องกัน จังหวะยิงนั้นๆจะลดประสิทธิภาพลงไป เพราะเวลาเหลือน้อยลง การตัดสินใจก็ถูกจำกัดเรื่องการคิดมากขึ้น รวมถึงโอกาสที่จะเกิดการโดนป้องกันขึ้น (Defensive Actions) ก็ยิ่งเยอะขึ้นด้วย

ถ้าคู่แข่งวิ่งบีบเข้ามาเร็วแค่ไหน โอกาสยิงที่จะโดนป้องกัน โดนบล็อค โดนสกัด ยิ่งสูงขึ้น

ถ้าคู่แข่งวิ่งบีบกันเข้ามายิ่งหลายคนเพียงใด โอกาสที่จะมีคนเข้ามาป้องกันได้สำเร็จ ก็ยิ่งมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ปริมาณการเข้ามากดดันในจังหวะยิง (amount of pressure) ตรงนี้ถือว่าสำคัญมากที่จะบ่งบอกว่า xG จังหวะนั้นมากน้อยยังไง จะถูกคำนวณรวมไปด้วย ยิ่งโดนกดดันเยอะ ค่าxGยิ่งต่ำ โดนกดดันน้อย xGการยิงก็จะสูง

6. รูปแบบของลูกยิง (Shot Type)

อันนี้ถือว่าสำคัญมากๆว่า ยิงรูปแบบไหน ยิ่งเป็นการยิงที่ยากในการจะทำให้เป็นประตู xG ก็จะน้อย ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น การ "วอลเล่ย์" เป็นต้น ทุกคนก็จะรู้อยู่แล้วว่า การยิงแบบวอลเล่ย์กลางอากาศ มันก็จะยากกว่าการยิงบอลที่อยู่บนพื้นอยู่แล้ว เพราะบอลมันเคลื่อนที่อยู่กลางอากาศ นักเตะต้องวาดเท้าไปเตะให้พอดีกับบอลที่เคลื่อนด้วย ซึ่งมันยาก ดังนั้น xG ก็จะน้อยกว่าจังหวะยิงบอลนิ่งๆ บอลอยู่กับพื้นตามปกติ

ลูกโหม่ง แน่นอนว่ามันจะไม่มีทางแรงเท่ากับการใช้ขายิงแน่ๆ xG ก็จะลดหลั่นไปจากลูกยิงด้วยเท้า

หรือลูกยิงที่ต้องดวล 1-1 กับคู่แข่ง เช่นจังหวะหลุดไปล่อเป้าผู้รักษาประตูเป็นต้น ลูกยิงและโอกาสก็จะลดหลั่นกันไป ซึ่งต้องเอาไปคำนวณกับข้อ 3/4/5 อีกว่า GK อยู่ตำแหน่งไหน บังมุมเพียงใด วิ่งบีบเข้ามาหรือไม่ เป็นต้น

รูปแบบการยิงที่นักเตะยิงในจังหวะนั้นๆ ก็จะส่งผลต่อค่า xG โดยตรงว่าโอกาสมากน้อยเพียงใด ท่ายิงที่ยาก ท่ายิงที่ทำประตูได้ยาก ก็จะส่งผลให้ xG ต่ำ, ท่ายิงที่ไม่ยาก ท่ายิงที่โอกาสทำประตูสูง xG ก็จะสูงขึ้นตามไป

7. รูปแบบการเล่นในจังหวะนั้นๆ (Pattern)

ดูว่าการเล่นนั้นเป็นจังหวะเกมแบบไหน เช่น การยิงในจังหวะ Open Play, การยิงจากฟรีคิกโดยตรง, โอกาสจากลูกเตะมุม, โอกาสจากลูกทุ่ม, โอกาสโต้กลับเร็วในช็อต Counter-attack 

ความยากง่ายก็จะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ต่างๆ เช่น จังหวะสวนกลับเร็วที่หลุดขึ้นมาได้ยิงในพื้นที่ว่างๆที่คู่แข่งเปิดช่องว่างเกิดขึ้น โอกาสก็จะสูงกว่าจังหวะที่ต้องยิงในจังหวะครองเกมหาโอกาสเวลาเจอคู่แข่งที่ถอยต่ำลงไปตั้งรับลึก เป็นต้น ค่า xG ก็จะลดหลั่นกันไป แล้วแต่สถานการณ์(ซึ่งต้องใช้ตัวแปรอื่นๆคำนวณร่วมด้วยเช่นกัน)

8. ขึ้นอยู่กับลักษณะของบอลที่เพื่อนจ่ายมา ซึ่งก็คือรูปแบบของการจ่ายแอสซิสต์ (Type of assist)

ปัจจัยนี้คือเรื่องของ ที่มาของบอลลูกนั้น ว่า "มายังไง มาแบบไหน" มีผลกับ xG ด้วยเช่นกัน 

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจังหวะยิงว่า ทีมปั้นเกมและส่งต่อบอลมาด้วยรูปแบบไหน วิธีการส่งบอลมาที่ทำให้ยิงยาก ทำให้ยิงง่าย ก็จะส่งผลต่อ xG เช่น ลูกที่เปิดมา เป็นลูกครอส ค่า xG ก็จะต่างออกไปจากลูกเปิดที่เป็นการแทงบอลทะลุช่องมาบนพื้น เป็นต้น การยิงบนพื้นก็จะมี xG ที่สูงกว่าลูกโด่งลูกครอสที่ฉาบฉวยและรวดเร็ว เป็นต้น

และทั้งหมดนี้คือคำอธิบาย xG แบบคร่าวๆเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพื่อให้ผู้อ่านซึ่งเป็นแฟนบอลแบบเราๆท่านๆ ได้เข้าใจกันแบบง่ายๆ จริงๆแล้วโมเดลการคำนวณ xG ยังมีค่าอื่นๆที่เราไม่ได้หยิบยกมาอีกเยอะ เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสการเป็นประตูในจังหวะนั้นๆ ซึ่งก็จะละเอียดลงไปอีก เช่น น้ำหนักการยิงหนักเบา, ขาข้างถนัด, คุณภาพลูกยิงนั้นๆ การวางเท้า การสัมผัสลูกบอล, ระยะความสูงจากพื้นดินของลูกบอลที่สัมพันธ์กับมุมยิงในแนวตั้งจากพื้นถึงคาน

แม้กระทั่งจุดที่ยิงในสนาม พิกัดค่า x y ต่างๆ ทุกๆอย่างจะถูกนำมาคำนวณรวมกันทั้งหมดในโมเดล ด้วยอัลกอริธึมต่างๆที่ผ่านการคำนวณซ้ำๆมาแล้วเพื่อที่จะสร้างค่าความน่าจะเป็นออกมา ผ่านค่าความแปรปรวน ออกมาเป็นค่าที่จะออกว่ามันมีโอกาสเป็นประตูเท่าไหร่ (xG) นั่นเอง

ตัวแปรเยอะมาก 8 ข้อนี้แค่พื้นๆเบื้องต้นที่เป็นตัวหลักเท่านั้น ยังมีที่เราไม่รู้อีกเยอะ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่โมเดลในแต่ละเจ้าที่ใช้มาคำนวณนั่นเอง

ค่าละเอียดต่างๆที่ว่านั้น ยังมี xG ยิบย่อยลงไปในระดับอื่นๆอีก ยกตัวอย่างเช่น PSxG (Post-shot xG) ที่จะสะท้อนว่า โอกาสที่ยิงออกไปจากเท้าผู้ยิงนั้น จะเป็นประตูมากน้อยเพียงใด (ยิงออกมาดีไม่ดี, ตรงไม่ตรง, ยิงไปในมุมไหน ทิศทางไหน ง่ายต่อการเซฟหรือยากต่อการเซฟหลังจากบอลออกจากเท้าไปแล้ว)

ซึ่งก็ต้องวัดกับผู้รักษาประตูอีกว่า โกลคนนั้นมีความสามารถในการต่อต้านการถูกยิงมากขนาดไหนในเรื่องความสามารถการเซฟ ดังนั้น การดวลกันระหว่างผู้ยิง กับ ผู้รักษาประตู ก็จะวัดกันที่ PSxG เป็นสำคัญ ซึ่งจะสะท้อน "ลูกยากลูกง่าย" ที่คนยิงยิงได้ และคนเซฟจะต้องเผชิญหน้านั่นเอง

ภาคการตีความ หลายๆครั้งเราจะเห็นว่า xG กับ ประตูที่ยิงได้จริง ต่างกัน อธิบายได้ง่ายๆว่า นักฟุตบอลที่ยิงประตูได้ ยิงได้มากกว่าค่า xG ที่มี (Goals above xG) แปลว่าเขาจบสกอร์ได้เฉียบคมมาก เพราะทำประตูได้สูงกว่าโอกาสที่เกิดขึ้น

นั่นแปลว่า บางโอกาสที่ได้ประตูยากๆ (low xG) แต่เขาสามารถเปลี่ยนเป็นสกอร์เต็มหนึ่งลูกได้นั่นเอง คนที่ยิงได้มากกว่า xG แปลว่าเขาคือตัวยิงที่ "เฉียบคม" มากๆ

ซึ่งในด้านตรงข้ามก็จะเห็นง่ายๆว่า นักเตะที่ยิงได้น้อยกว่า xG ที่ควรจะเป็น แปลว่าเขาทื่อหรือสากกะเบือนั่นเองพูดง่ายๆเลย เพราะไม่สามารถยิงได้ให้เท่ากับโอกาสจริงๆที่ควรจะยิงได้ เช่น xG 12 (โอกาสที่เขาควรจะทำประตูได้ทั้งหมด ควรจะยิงได้ถึง 12 ประตู) แต่ประตูที่ทำได้จริงๆยิงได้แค่ 8 ประตู นั่นก็จะเห็นชัดเลยว่า คุณไม่คมเอาซะเลย จากจังหวะที่ควรได้ถึง 12 ลูก ยิงได้แค่ 8 ส่วนต่างถึง 4 ลูกตรงนี้คือผลลัพธ์ที่คุณทำพลาดไป ซึ่งก็สะท้อนความไม่คมในจังหวะยิงนั่นเอง

ค่า xG เป็นค่าที่ดี และสามารถสะท้อนเรื่องของโอกาสที่เกมนั้นๆสร้างขึ้นมาได้ ตรงตามความเป็นจริงว่า มันมีโอกาสจะได้ประตูมากน้อยแค่ไหน 

แต่..  "xG ไม่ได้บอกว่าทีมนั้นๆมีโอกาสชนะเพียงใด"

ต้องแยกตรงนี้ออกให้ชัดเจน เพราะการที่ทีมสร้าง xG ได้สูงกว่าคู่แข่ง ไม่ได้บอกว่าทีมนั้นควรจะมีโอกาสชนะมากกว่าเสมอไป แต่แค่สร้างโอกาสยิงให้มันมีแนวโน้มที่ใกล้เคียงจะเป็นประตูได้มากกว่านั่นเอง

หลายๆครั้ง ทีมที่ xG ต่ำกว่าคู่แข่งมากแบบสุดๆ กลับเป็นฝ่ายชนะ เพราะเกิดจากความเฉียบคมในระดับที่ว่า แม้จะมีโอกาสน้อยกว่ามาก แต่ยิงได้คมกริบสุดๆ ทีมนั้นก็สมควรชนะกว่าจริงๆ แม้ xG จะต่ำก็ตาม กลับกัน อีกทีมหนึ่ง xG ถึงจะสูงกว่า โอกาสมาก โอกาสใกล้เคียงเยอะ แต่ถ้าจบกันไม่คม ค่าxGสูงถึง 2-3 ก็แพ้ได้เหมือนกัน ถ้าคุณจบสกอร์ไม่คม

โอกาสชนะของทีม คือความเฉียบคม และสกอร์ที่ทำได้จริงเท่านั้น xG ไม่ได้บอกว่าคุณควรจะชนะหรือไม่ สร้าง xG ได้เยอะกว่าไม่ได้แปลว่าดีกว่าเสมอไป

การตีความ xG จึงสำคัญมากๆ ไม่ใช่แค่ว่าหยิบตัวเลขสถิติไปอ้างอิงอย่างเดียว แต่วิเคราะห์ไม่ถูกต้องอย่างที่มันควรจะเป็นจริงๆ นั่นก็ถือว่าตีความผิดพลาดเช่นกัน เพราะค่า xG เองก็สามารถบอกได้แค่มิติบางส่วนเท่านั้น แต่ยังไม่ครอบคลุมไปทั้งหมด จะนำไปใช้ต้องเข้าใจ และมี Critical Thinking ประกอบในการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เพราะส่วนหนึ่งของ xG มันก็มาจากกระบวนการคิดอย่างมีระบบระเบียบด้วยความละเอียดซับซ้อนนั่นเอง

ถ้าคนนำไปใช้ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ลงลึกมากพอ ค่าxGที่ได้จะเป็นเพียงแค่ตัวเลขที่มีโอกาสผิดพลาดได้สูงเหมือนกันถ้าเอาไปตีความอธิบายกันอย่างผิดๆถูกๆ

และทั้งหมดนี้คือบางส่วนที่จะอธิบายคอนเซปต์ของค่าสถิติที่เราใช้อธิบายเรื่องของเกมรุกในกีฬาฟุตบอลขณะนี้ ซึ่งใช้กันทั่วโลกอย่างแพร่หลาย มีตำราและเนื้อหาที่อธิบายเรื่อง xG มากมายไปติดตามหาอ่านกันได้ แต่ประเด็นหลักๆก็จะอยู่ในนี้หมดแล้ว หวังว่าผู้อ่านได้อ่านแล้วจะนึกภาพออก และเข้าใจ xG ได้กระจ่างครบทุกมิติมากกว่าเดิมครับ

#BELIEVE

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด