:::     :::

1954 : อินทรีเหล็กผงาด

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ในโอกาสครบรอบปีที่ 50 ของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้แดนนาฬิกาได้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการครบรอบครึ่งศตวรรษของฟีฟ่า

การแข่งขันในครั้งนี้ มี 16 ทีมที่ผ่านเข้ามาในรอบสุดท้าย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม แต่ไม่ได้พบกันหมด โดยแต่ละกลุ่มจะลงเล่นเพียง 2 นัด เท่านั้น เนื่องจากระบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในครั้งนั้น ในแต่ละกลุ่มจะมีทีมวางอยู่ 2 ทีม และไม่ใช่ทีมวาง 2 ทีม ซึ่งตามกฎทีมที่เป็นทีมวางไม่ต้องเจอกันเอง และจะลงสนามพบกับทีมที่ไม่ใช่ทีมวางเท่านั้น  

นอกจากนี้ ในกรณีที่ทีมอันดับ 2 มีคะแนนเท่ากัน ทั้ง 2 ทีมก็จะต้องไปหวดเพลย์ออฟกัน เพื่อแย่งที่ว่างในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ทำให้ศึกเวิลด์ คัพ กลายเป็นเกมแบบซัดเดนเดธ ตั้งแต่ไก่โห่ และก็ทำให้หลายคนงงกับระบบแข่งขันอย่างมาก 

โดยภายใต้ระบบอันซับซ้อน ยุ่งเหยิง และน่าปวดหัว ทีมที่ไม่ใช่ทีมวางสามารถแพ้ต่อทีมวาง และก็อาจจะกลับมาเจอกันอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศได้ด้วย แต่มีข้อแม้ว่า ทีมนั้นๆ จะต้องผ่านทีมวางอีก 1 ที่เหลือในกลุ่ม และจะต้องเป็นฝ่ายได้เฮในรอบเพลย์ออฟ 

ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีก 2 อย่าง คือ นักเตะแต่ละคนเริ่มมีการใช้เบอร์เสื้อเป็นครั้งแรก และมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ให้แฟนบอลได้รับชมไปพร้อมๆ กันอีกด้วย 


ฟริตซ์ วอลเตอร์ กัปตันทีมเยอรมันตะวันตกถือถ้วยจูลส์ ริเมต์ ให้เพื่อนร่วมทีมได้ชื่นชม 

ทีมแกร่งในทัวร์นาเมนต์นี้ยังคงเป็น บราซิล ที่ขุมกำลังน่าเกรงขามมากขึ้น อย่าง ดิยาม่า ซานโตส และ นิลตัน ซานโตส รวมไปถึง ดิดี้ จอมทัพตัวปั้นเกม, จูลินโญ่ และ เมารินโญ่ 2 ปีกจอมพลิ้ว ขณะที่ตัวเก๋าที่หลงเหลือมาจากเมื่อปี 1950 อย่างเช่น แบ็กขวา โฮเซ่ เบาเออร์ ก็ยังเป็นคีย์แมน 

ทว่าเต็งหนึ่งแท้จริง คือ ฮังการี ที่ไร้เทียมทานและไม่แพ้ใครในระดับนานาชาติมายาวนาน นอกจากนี้ ยังเป็นแชมป์โอลิมปิก ในปี 1952 แถมยังเคยไล่ขยี้ อังกฤษ เละทะ 6-3 และ 7-1 

ขุนพล ''แม็กยาร์'' เจอกับทีมระดับหัวแถวของยุโรปทั้งหมด 25 เกม ในช่วงนั้น และสามารถสอยตาข่ายไปได้ถึง 104 ประตู เสียไปเพียง 25 ลูกเท่านั้น ดาวเด่นนำทีมก็ยังมีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้ คือ เฟเรนซ์ ปุสกัส, โจเซฟ บอสซิค และ ซานดอร์ ค็อกซิส 

ฮังการีโชว์ฟอร์มสมราคาในรอบแรกที่ไล่อัด เกาหลีใต้ 9-0 ต่อด้วยขย่ม เยอรมันตะวันตก อีก 8-3 ซานดอร์ ค็อกซิส ยิงคนเดียว 7 ประตูใน 2 นัดนี้ ส่วนทีมดังอื่นอย่าง บราซิล, อุรุกวัย, เจ้าภาพ สวิตเซอร์แลนด์ ต่างเข้ารอบน็อกเอาต์ได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับ ทัพอินทรีเหล็ก คว้าตั๋วหวุดหวิดผ่านการเพลย์ออฟ


ซานดอร์ ค็อกซิส กดไป 11 ประตูแต่ไม่อาจพาฮังการีคว้าแชมป์โลกได้ 

บิ๊กแมตช์รอบก่อนรองชนะเลิศ ฮังการ ขย่ม บราซิล 4-2 ส่วน ออสเตรีย เขี่ยเจ้าภาพตกรอบด้วยสกอร์ขาดลอย 7-5 ขณะที่ อังกฤษ ต้องหยุดเส้นทางในรอบนี้ เมื่อโดน อุรุกวัย ทุบ 4-2

ในรอบรองชนะเลิศ ออสเตรียที่เพิ่งโชว์ฟอร์มร้อนแรง ต้องหายซ่าเมื่อเจอพลังเกมรุกของ เยอรมันตะวันตก ที่ไล่ยิงถึง 6-1 คู่พี่น้อง ''วอลเตอร์'' ทั้ง ฟริตซ์ และ อ๊อตมาร์ ทำคนละ 2 ประตู พาทีมเข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จ

ส่วนอีกคู่ไม่ได้พลิกล็อก แม้ 90 นาทีจะยังหาผู้ชนะไม่ได้ก็ตาม ฮังการี ขึ้นนำ อุรุกวัย ไปก่อน 2-0 แต่ทัพจอมโหดดีกรีแชมป์ 2 สมัย ก็ไล่ตีเสมอใน 15 นาทีสุดท้าย การแข่งขันลากยาวถึงช่วงต่อเวลา ก่อนเป็นค็อกซิสคนเดิมทำ 2 ประตูให้ ฮังการี ชนะ 4-2 

นัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1954 ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ปาฏิหาริย์แห่งเบิร์น" มีขึ้นที่สนามวังค์ดอร์ฟ สเตเดี้ยม ท่ามกลางผู้ชมกว่า 60,000 คน โดยแค่ 8 นาทีแรก ฮังการีนำห่าง 2-0 จากฝีเท้าของ ปุสกัส และ โซลตัน ซิบอร์ แต่นาทีที่ 10 มักซ์ มอร์ล็อค ยิงตีไข่แตกไล่มาเป็น 1-2 ก่อนตีเสมอ 2-2 จาก เฮลมุท ราห์น

แฟนบอลทั้งสนามต่างคิดว่าเกมจะต้องยืดเยื้อถึงช่วงต่อเวลา แต่ทุกอย่างก็จบ เมื่อราห์นฉกบอลได้ก่อนซัดประตูชัย 3-2 ก่อนจบเกมเพียง 6 นาที โดยช่วงท้ายปุสกัสส่งลูกบอลเข้าประตูไป แต่ถูกจับล้ำหน้าก่อน

อินทรีเหล็กจึงกลายเป็นทีมแรกที่ไม่ใช่ทีมวางที่ผงาดคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ ขณะเดียวกัน ชัยชนะ 3-2 ยังเป็นการหยุดสถิติของฮังการี ที่ไม่แพ้ใครติดต่อกัน 30 นัด หรือนับตั้งแต่เดือนปี 1950 ลงได้สำเร็จ 


เฟเรนซ์ ปุสกัส อีกหนึ่งดาวดังของฮังการีในยุคนั้น 

แม้ได้เพียงรองแชมป์ แต่ผลงานส่วนตัวของ ปุสกัส และ ค็อกซิส ที่ครองตำแหน่งดาวซัลโว 11 ประตู ก็ทำให้ได้ย้ายไปเล่นกับ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ตามลำดับ ขณะที่อิทธิพลของแข้งแม็กยาร์ได้รับการยกย่องอย่างยาวนานจนนำไปสู่ปรัชญาแบบ ''โททัล ฟุตบอล'' ของฮอลแลนด์ ในเวลาต่อมา

ลอดการแข่งขันทั้ง 26 นัด ในครั้งนั้น มีการทำประตูกันมากมายถึง 140 ประตู เฉลี่ย 5.38 ประตูต่อ 1 นัด ซึ่งก็ยังเป็นสถิติของฟุตบอลโลกมาจนถึงทุกวันนี้


แฟกต์ไฟล์ฟุตบอลโลก 

ชาติเจ้าภาพ : สวิตเซอร์แลนด์

สนาม : 6 สนาม 

จำนวนทีม : 16 ทีม

จำนวนนัด : 26 นัด 

วันแข่งขัน :16 มิถุนายน ถึง 4 กรกฎาคม ปี 1954

จำนวนประตู : 140 ประตู (5.38 ต่อนัด)

ผู้ชมทั้งหมด : 889,500 คน (34,212 คนต่อนัด)

ทีมแชมป์ : เยอรมันตะวันตก (สมัยแรก)

รองแชมป์ : ฮังการี

อันดับ 3 : ออสเตรีย

อันดับ 4 : อุรุกวัย

รางวัลรองเท้าทองคำ :  ซานดอร์ ค็อกซิส (11 ประตู) 

สรุปดาวซัลโว  

11 ประตู : ซานดอร์ ค็อกซิส (ฮังการี)

6 ประตู : เอริช พร็อบสท์ (ออสเตรีย), แม็กซ์ มอร์ล็อค (เยอรมันตะวันตก), โจเซฟ ฮูกี้ (สวิตเซอร์แลนด์)

4 ประตู : เฮลมุต ราห์น (เยอรมันตะวันตก), ฮันส์ ชาฟเฟอร์ (เยอรมันตะวันตก), อ็อตมาร์ วอลเตอร์ (เยอรมันตะวันตก), นานดอร์ ฮเดกูติ (ฮังการี), เฟเรนซ์ ปุสกัส (ฮังการี), โรเบิร์ต บัลลามัน (สวิตเซอร์แลนด์), คาร์ลอส บอร์เกส (อุรุกวัย)

 --


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด