:::     :::

โศกนาฏกรรมแห่งโลกลูกหนัง

วันศุกร์ที่ 08 กุมภาพันธ์ 2562 คอลัมน์ เด็กเก็บบอล โดย ยักษ์เดนส์
3,291
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
จั่วหัวมาชัดเจนอยู่แล้วว่ามันคือสิ่งที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

         ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าและความหมาย หากไร้ซึ่งชีวิต สรรพสิ่งในโลกย่อมมิอาจมีวันนี้

         ทุกอย่างเป็นไปตามฟ้าลิขิต แต่ละชีวิตที่สูญเสียไปถูกนำมาเป็นบทเรียนและสิ่งย้ำเตือนให้บรรดาคนรุ่นหลังให้ระมัดระวังดังคำที่ว่า "ความประมาทคือหนทางสู่ความตาย" ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เสมอ

         วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นการรำลึก "โศกนาฏกรรมมิวนิค" ครบรอบ 61 ปีที่เครื่องบินของสายการบินบริติชยูโรเปียนแอร์เวย์ส เที่ยวบิน 609 ที่โดยสารผู้เล่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สมัยที่มี เซอร์ แม็ตต์ บัสบี้ กระแทกรันเวย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 คน จากทั้งหมด 44 คน ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้นมีถึง 8 คนที่เป็นพ่อค้าแข้งของ "ปีศาจแดง" ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่, แฟนบอล และนักข่าว

         ซึ่งมันยังรวมถึงสองนักเตะที่ต้องเลิกเล่นฟุตบอลอย่างถาวรไปโดยปริยายด้วย

         "บัสบี้ เบ๊บส์" คือคำที่ถูกเรียกหานักเตะชุดนี้ เรียกได้ว่าเป็นขุนพลชุดที่ดีที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่สโมสรเคยมีมา สุดท้ายกลับต้องจบชีวิตอย่างน่าเศร้า


         ที่ผ่านมาในโลกลูกหนังมักจะมีเหตุการณ์น่าเศร้าเกิดขึ้นให้ได้รับรู้อยู่เรื่อยๆ ล่าสุดในรายของ เอมิเลียโน่ ซาล่า แม้ว่าจะเป็นเพียงนักเตะคนเดียว แต่ด้วยกาลเวลานำให้โลกและยุคสมัยเปลี่ยนไป การเข้าถึงข่าวสารเป็นเรื่องง่าย เรื่องนี้จึงกลายเป็นข่าวคึกโครมของวงการฟุตบอลอยู่ในขณะนี้

         อย่างที่กล่าวไป มันไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากจะให้เกิด ถึงแม้เรื่องราวจะอยู่ไกลตัวเราอยู่ไกลโพ้น แต่ในฐานะของคนที่ติดตามเกมฟุตบอลย่อมต้องรู้สึกใจหายไปด้วย

         วันนี้จะพาย้อนกลับไปถึง "โศกนาฏกรรม" ของโลกลูกหนังที่รุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตมากมายและแฟนบอลไม่มีวันลืมเลือน

โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่

วันที่ : 15 เมษายน 1989

สถานที่ : เชฟฟิลด์, อังกฤษ

ผู้เสียชีวิต : 96 คน


         หนึ่งในเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความโศกเศร้าให้กับแฟนบอล ลิเวอร์พูล ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนในเกมเอฟเอ คัพรอบรองชนะเลิศที่ "หงส์แดง" พบกับ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ เพื่อหาทีมเข้าไปฟาดแข้งกับ เอฟเวอร์ตัน ในเกมชิงชนะเลิศ

         สังเวียนแข้งจัดที่ฮิลส์โบโร่ของสโมสรเชฟฟิลส์ เว้นส์เดย์ ซึ่งเดิมทีนั้นตั้งแต่ก่อนแข่งมีการกำหนดอัฒจรรย์สำหรับกองเชียร์ทั้งสองทีมและถูกทักท้วงโดยฝั่ง ลิเวอร์พูล มาตลอด เนื่องจากแฟนบอลที่มีมากกว่านั้นกลับถูกจัดให้อยู่สแตนด์ เลปปิ้ง เลนส์ ซึ่งมีความจุเพียง 14,600 ที่เท่านั้น ในขณะที่คู่แข่งอย่าง ฟอเรสต์ อยู่ในฝั่งสเปียน ค็อป พร้อมความจุ 21,000 ที่

         ก่อนเกมเริ่มต้นแฟนบอลทั้งสองทีมทยอยเดินทางเข้าสนาม แน่นอนว่าทางฝั่ง ฟอเรสต์ เข้าสู่สนามได้ไม่ยากเย็นนัก ตรงข้ามกับทางฝั่ง "หงส์แดง" ที่แฟนบอลมากเทียบความจุที่ได้เพียงน้อยนิดอัดกันเข้าไป

         เดวิด ดั๊คเค่นฟิลด์ ผู้บัญชาการตำรวจผู้ดูแลเกมในเวลานั้นสั่งให้เปิดประตูทางออกซี ซึ่งทำให้แฟนบอลที่อัดแน่นอยู่แล้วยิ่งทวีความเบียดเสียดขึ้นไปอีกเป็นเท่าทวี

         ด้วยความหนาแน่นของฝูงชนจากด้านหลังที่ดันคนที่อยู่ด้านหน้าจนอัดกับรั้วที่กั้นอยู่ทำให้แฟนบอลด้านหน้าโดนดันจนไม่สามารถหายใจได้ แฟนบอลหลายคนเอาตัวรอดด้วยการปีนรั้วเพื่อเอาตัวรอด แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่หนีได้ทัน

         ด้วยการดันจากฝูงชนร่วมหมื่น แน่นจนทำให้คนที่ถูกบีบอัดเริ่มขาดอากาศหายใจ จนในที่สุดก็นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

         บทสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิต 96 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 766 ราน ซึ่งนี่ถือเป็นหายนะที่รุนแรงที่สุดในวงการฟุตบอลอังกฤษเลย

สนามกีฬาแห่งชาติเปรู

วันที่ : 24 พฤษภาคม 1964

สถานที่ : เอสตาดิโอ นาซิอองนาล, ลิม่า, เปรู

ผู้เสียชีวิต : 328 คน

        

         ถือเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดของวงการฟุตบอลอย่างไม่ต้องสงสัยเลยเมื่อดูจากจำนวนของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

         การแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิก รอบคัดเลือก เปรู เจ้าบ้านต้อนรับการมาเยือนของ อาร์เจนติน่า เพื่อชิงที่นั่งในศึกที่โตเกียว โดยความจุ 53,000 ที่นั่ง เต็มไปด้วยแฟนบอลของทั้งสองฝั่งโดยเฉพาะเจ้าถิ่น

         ในขณะที่สกอร์เป็นฝั่ง อาร์เจนติน่า ที่นำ 1-0 ซึ่งหลังจากนั้น เปรู ส่งบอลสู่ก้นตาข่ายได้แต่ผู้ตัดสินชาวอุรุกวัยกลับเป่าไม่ให้ประตูเริ่มสร้างความไม่พอใจให้กับแฟนเจ้าบ้านมาขึ้นเรื่อยๆ

         เหตุการณ์บานปลายเกิดขึ้นเมื่อแฟนบอลสองรายพุ่งลงมาในสนาม ในขณะที่แฟนบอลคนอื่นๆเริ่มมีการปาสิ่งของลงมา และฉนวนเหตุเริ่มจากที่แฟนบอลที่ลงมานั้นโดนเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุอัดสร้างความโกรธแค้นให้คนที่เหลือกรูลงมาในสนามอย่างบ้าคลั่ง

         เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้กระสุนแก๊สน้ำตาและรวมถึงสุนัขตำรวจใส่ฝูงชน สร้างความแตกตื่นจนทำให้ฝูงชนพยายามหนีเหยียบย่ำกันเอง ภาพความสยดสยองเป็นที่คาดคำนวนได้

         แฟนบอลคนหนึ่งในสนามให้สัมภาษณ์ว่าเท้าของเขาไม่ได้สัมผัสพื้นเลยจนกระออกจากสนามได้ มันเต็มไปด้วยร่างของคนทั้งที่เสียชีวิตและยังมีชีวิตอยู่

         นอกจากนี้ในความโกลาหลนั้นยังลุกลามไปยังด้านนอก - ฝูงชนจุดไฟเผาบ้านและยางรถยนต์ แถมยังมีรายงานว่ารถยนต์กว่า 100 คันถูกขโมยอีกด้วย

         จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 328 คน และบาดเจ็บมากกว่า 500 คน ยังไม่รวมผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงด้วย ซึ่งภัยพิบัติครั้งนี้นี้เป็นหายนะที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลของโลกเลย

โศกนาฏกรรมเฮย์เซล

วันที่ : 29 พฤษภาคม 1985

สถานที่ : บรัสเซลล์, เบลเยี่ยม

ผู้เสียชีวิต : 39 คน

        

         เหตุการณ์อันโด่งดัง ซึ่งแม้ว่าคุณจะเป็นแฟนบอลรุ่นใหม่ แต่ก็ต้องเคยได้ยินได้ฟังมาอย่างไม่ต้องสงสัย

         ในเกมชิงชนะเลิศศึกยูโรเปี้ยน คัพ (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปัจจุบัน) ปี 1985 เป็นการพบกันของ ลิเวอร์พูล ยอดทีมจากอังกฤษ ปะทะกับ ยูเวนตุส สโมสรใหญ่แห่งอิตาลี ที่สนามเฮย์เซล กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

         ก่อนเกมการแข่งขันแฟนบอล "หงส์แดง" เริ่มมีการขว้างปาก้อนหินใส่ทางแฟนบอล "ม้าลาย" ซึ่งเหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อแฟนจากแดนผู้ดีเริ่มเอารั้วที่กั้นระหว่างแฟนบอลออกเพื่อพุ่งเข้าทำร้ายร่างกายฝั่งคู่แข่ง

         นั่นทำให้แฟนบอลของทาง ยูเวนตุส ที่พยายามหนีจากการโดนทำร้ายร่างกายเริ่มขยับหนีจนไปเบียดกันกระทั่งกำแพงพังถล่มลงมา ทำให้แฟนบอลเสียชีวิต 39 คน  เป็นชาวอิตาลี 32 คน, เบลเยี่ยม 4 คน, ฝรั่งเศส 2 คน, และไอร์แลนด์ 1 คน

         นอกจากนี้ยังมีแฟนบอลอีกกว่า 600 คนบาดเจ็บ ซึ่งเกมการแข่งขันนัดดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจบเกมด้วยการที่ ยูเวนตุส เอาชนะไปได้ 1-0 จากประตูของ มิเชล พลาตินี่

         เหตุการณ์นี้ทำให้ ลิเวอร์พูล โดนโทษห้ามแข่งขันในเวทียุโรป 6 ปี ส่วนสโมสรในอังกฤษก็โดนลงโทษด้วยการห้ามเล่นบอลยุโรป 5 ปี

เครื่องบินสโมสรชาเปโคเอนเซ่ตก

วันที่ : 28 พฤศจิกายน 2016

สถานที่ : โคลอมเบีย

ผู้เสียชีวิต : 71 คน

        

         ถือเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนักกับเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของสโมสรชาเปโคเอนเซ่จากบราซิลประสบอุบัติเหตุตกจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 71 คน จากจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 77 คน 

         จากการเดินทางแห่งความหวังในเกมชิงแชมป์ศึกโคปา ซูดาเมริกาน่า กับ อัตเลติโก นาซิโอนาล แน่นอนว่าพวกเขาไปพร้อมกับความหวังที่จะนำถ้วยแชมป์กลับสู่แดนกาแฟเพื่อแฟนๆ

         ที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้นก็คือเหตุการณ์ที่เกิดนั้นไม่ควรจะเกิดอย่างยิ่งเมื่อเครื่องลาเมีย 2933 ที่โดยสาร 77 ชีวิตนั้น ถูกเตือนเรื่องปริมาณน้ำมันในเครื่องว่าอาจจะไม่เพียงพอที่จะไปถึงจุดหมาย และแผนที่จะหยุดเติมน้ำมันที่เมืองโคบิยา ในโบลิเวีย ก็พลาดไปเนื่องจากสนามปิดในช่วงกลางคืน ซึ่งนักบินมีการพูดถึงการหยุดเติมน้ำมันที่เมืองโบโกต้า เมืองหลวงของโคลอมเบียก่อน แต่สุดท้ายกลับตัดสินใจที่จะเดินทางไปที่เมเดยินเลย

         แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเครื่องบิน "น้ำมันหมด" นั่นคือสาเหตุของหายนะครั้งนี้ มันช่างน่าเหลือเชื่อที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เครื่องบินที่ไม่มีน้ำมันก็เหมือนกับเหล็กที่ลอยในอากาศและร่วงลงมาในที่สุด

         อัตเลติโก นาซิโอนาล แสดงสปริตอันสุดยอดด้วยการยกแชมป์โคปา ซูดาเมริกาน่า ให้กับทาง ชาเปโคเอนเซ่ เพียงแต่แชมป์ในครั้งนี้ไร้ซึ่งเสียงร้องเพลงฉลอง แต่กลับเป็นเสียงสะอื้นของแฟนบอล

โศกนาฏกรรมมิวนิค

วันที่ : 6 กุมภาพันธ์ 1958

สถานที่ : มิวนิค แอร์พอร์ต,มิวนิค, เยอรมัน

ผู้เสียชีวิต : 23 คน


         หากพูดถึงเรื่องโศกนาฏกรรม นี่คือเหตุการณ์ที่โด่งดังและน่าจะเป็นเหตุการณ์แรกๆที่แฟนบอลจะนึกถึง โดยเฉพาะหากคุณคือแฟนของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

         ถ้ามีโอกาสไปโอลด์ แทรฟฟอร์ด สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้เลยก็คือนาฬิกาเก่าๆเรือนหนึ่งทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสนามบอกเวลา 15.03 น. มันคือเวลาที่หยุดนิ่งไม่มีการคเลื่อนไหวใดๆทั้งสิ้น

         แน่นอนว่าหากใครที่ไม่ได้รักหรือหลงใหลในเกมลูกหนังอาจจะมองด้วยความสงสัยว่าทำไมนาฬิกาถึงเดินไม่ตรงหรือขยับเดินต่อไป แต่มันคือเหตุการณ์ในความทรงจำไม่ใช่แค่แฟนบอล "ปีศาจแดง" แต่รวมถึงแฟนบอลทั่วโลกด้วย

         5 กุมภาพันธ์ 1958 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บุกไปเยือน เร้ด สตาร์ เบลเกรด ในเกมเลกที่สองของรอบก่อนรองชนะเลิศ ผลจบลงที่การเสมอกัน 3-3 หลังเกมแรกเอาชนะ 2-1 ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ทำให้ทีมเข้ารอบด้วยสกอร์รวม 5-4 ไปเจอกับ เอซี มิลาน ยอดทีมจากอิตาลี

         หลังจากค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองนั้น บรรดานักเตะ, สตาฟฟ์โค้ช และนักข่าว เตรียมเดินทางกลับแมนเชสเตอร์ โดยเครื่องบินลงจอดที่มิวนิคเพื่อเติมเชื้อเพลิง ซึ่งในตอนนี้สภาพอากาศปกคลุมด้วยเมฆรวมถึงมีหิมะและตกอย่างหนัก หลังนักบินพยายามนำเครื่องขึ้น แต่มีความผิดปกติเกิดขึ้นจึงทำการล้มเลิกไป

                

         แต่หลังจากนั้นก็มีความพยายามจะนำเครื่องขึ้นเป็นหนที่สอง ซึ่งเจอกับปัญหาเดิม หลังตรวจสอบทางวิศวกรให้ทำการยกเลิกเที่ยวบินเพื่อความปลอดภัย แต่กัปตันเกรงจะกระทบต่อตารางและเลือกที่จะเสี่ยงนำเครื่องขึ้นเป็นครั้งที่สาม

         และนั่นก็นำมาซึ่งเหตุเศร้าสลด เครื่องบินที่เร่งความเร็วระดับ 194 กิโลเมตรต่อชั่วโมงลื่นไถลตรงสุดทางของรันเวย์ชนกับรั้วของสนามและหลุดออกไปจนเครื่องบินฉีกออกเป็นหลายชิ้นพร้อมกับมีไฟไหม้เกิดขึ้น 21 ชีวิตจบลงทันทีในที่เกิดเหตุ อีก 2 ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

         หนึ่งในผู้รอดชีวิตในครั้งนั้นนอกจาก เซอร์ แม็ตต์ บัสบี้ ผู้เป็นกุนซือยังมี บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน ที่ยืนยงเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตของสโมสรจนถึงวันนี้

         ในเกมรอบรองชนะเลิศทีมเอาชนะ เอซี มิลาน 2-1 ในเกมแรกที่อังกฤษ แต่ก็ไปแพ้ที่อิตาลี 0-4 ดับความหวังที่จะคว้าแชมป์เพื่อผู้ที่จากไป รวมถึงในเอฟเอ คัพ ที่ฝ่าฟันเข้าชิงชนะเลิศแต่ก็แพ้ โบลตัน 0-2 

         ถึงแม้จะไม่มีถ้วยรางวัลในปีนั้น แต่การที่ทีมก้าวมาจนถึงปัจจุบันเป็นหนึ่งสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตัวบ่งบอกหัวใจหัวใจได้เป็นอย่างดี


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด