:::     :::

ชำแหละขุมกำลัง"แบ็คขวา"แมนยูไนเต็ด : ตัวจริง/สำรอง/เป้าหมาย

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
5,981
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ชำแหละความพร้อมของขุมกำลังแมนยูในตำแหน่ง "แบ็คขวา" ว่าพร้อมขนาดไหน นักเตะที่มีอยู่เป็นยังไงบ้าง และสถานการณ์ของเป้าหมายเสริมทีม ครบถ้วนทุกประเด็นที่มี

การเตรียมทีมสู้ศึกในฤดูกาลใหม่ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และทุกๆทีมบนโลกนี้นั้น ส่วนหนึ่งก็คือการเสริมนักเตะใหม่ แก้ไขจุดอ่อนต่างๆที่มีอยู่ของทีมให้มันดีขึ้น เพื่อการนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทีมนั้นๆ "รู้จักตัวเอง" เป็นอย่างดีว่า ทรัพยากรที่มีอยู่ในมือนั้น มีอะไรอยู่บ้างมากน้อยแค่ไหน และเรายังขาดอะไร

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ยังเป็นคำกล่าวที่ใช้ได้เสมอในทุกๆเรื่อง และไม่มีวันล้าสมัย

ดังนั้นแล้ว เพื่อที่จะทำให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของชาวเรา พลพรรคRed Devils มีทีมที่ดีขึ้นเพื่อจะไปสู้กับชาวบ้านได้นั้น เราก็ต้องรู้เสียก่อนว่าทีมตัวเองมีอะไร และต้องซื้อจุดไหนบ้าง วันนี้จึงเป็นบทความที่จะชำแหละถึง "ขุมกำลัง" ทั้งหมดที่มีของปีศาจแดงในตำแหน่งของ "แบ็คขวา" ของทีมเราว่า เรามีใครที่จะใช้งานได้บ้าง ในสถานะไหน ทั้งหมดเท่าที่มี

รวมไปถึงนักเตะระดับเยาวชนในอนาคต รวมถึง "เป้าหมายเสริมทีม" ทั้งที่มีข่าว และทั้งที่น่าซื้อว่า ขุมกำลังในตำแหน่ง RB ของทีมเป็นยังไง และอยู่ในสถานะไหน ก้าวหน้าไปยังไงบ้าง

บทความนี้น่าจะทำให้คุณได้เห็นชัดว่า จุดไหนของนักเตะตำแหน่งแบ็คขวาเราที่แข็งแกร่ง ใช้งานได้จริง หรือจุดไหนที่จำเป็นต้องหาเพิ่มหรือปรับปรุงบ้าง ไปดูกันทีละตัวเลย

Aaron Wan-Bissaka

สถานะ : ตัวจริง


วานบิสซาก้าถือว่าเป็นแบ็คขวาตัวจริงที่เป็นตัวหลักตัวยืนของแมนยูไนเต็ด ในวัย23ปี กับส่วนสูง183cm AWBย้ายเข้ามาอยู่ยูไนเต็ดในฤดูกาล 2019/20 ด้วยค่าตัวราว45ล้านปอนด์บวกโบนัส5ล้าน

ขวบปีแรกที่เขามาจากคริสตัลพาเลซนั้น วานบิสซาก้าแสดงความแข็งแกร่งให้เห็นในภาคเกมรับได้อย่างโดดเด่นชนิดที่เรียกว่า ทีมคู่แข่งรายไหนที่คิดจะบุกด้วยปีกซ้าย ถ้าคิดผิดก็ขอให้คิดใหม่แบบพี่ติ๊นา เพราะบุกขึ้นมาก็มีแต่จะโดนท่าไม้ตายสเปียร์แทคเกิลของวานบิสซาก้าพุ่งเสียบเละเทะทุกรายไป

เรื่องนี้ถามราฮีม สเตอร์ลิ่งได้

เพียงแต่ว่าในภาคการเล่นก็ยังคงมีจุดอ่อนในแง่ของเกมรุกที่ช่วงปีแรก วานบิสซาก้าแทบจะไม่มีส่วนกับเกมบุกเลย และยืนค่อนข้างต่ำ เด่นเพียงแต่เกมรับอย่างเดียว แต่เกมบุกเงอะๆงะๆ ทำอะไรแทบไม่ได้

แต่ขวบปีที่สองของAWB อย่างที่แฟนปีศาจแดงเห็นกันว่า เป็นเรื่องที่น่าดีใจสุดๆที่เราเห็นsignของการพัฒนาอัพเกรดการเล่นอย่างชัดเจน ตามข่าวตั้งแต่ขวบปีแรกๆว่าทีมโค้ชพยายามจะผลักดันและฝึกซ้อมให้วานบิสซาก้านั้น "เติมขึ้นหน้า" มากขึ้นกว่าเดิมในเกมบุกให้มากที่สุด

ผลที่เกิดขึ้นคือ AWB เติมเกมบุกทางขวาได้ดีกว่าเดิมมาก มากจนถึงขนาดในฤดูกาล 2020/21 ที่ผ่านมานี้ เขาทำไปแล้ว 2ประตู กับ 6แอสซิสต์ในทุกๆถ้วย

ซึ่งเป็นตัวเลขในเชิงผลสัมฤทธิ์ที่ดีมากๆ

จุดที่น่าสนใจคือ ถ้าเทียบกับแบ็คขวาตัวที่มีข่าวอย่างทริปเปียร์แล้วนั้น AWBมีหลายๆจุดที่เหนือกว่าทริปเปียร์มากๆ โดยเฉพาะในเกมรับ ส่วนเกมรุกนั้นถือว่าดีกันคนละอย่าง แต่จุดที่AWBดีกว่า นั่นก็คือการจบสกอร์ และการยิง ที่ดูเหนือกว่าทริปเปียร์มาก เพราะแบ็คขวาของเรากดไปแล้ว 2ประตู กับ 4แอสซิสต์ (ในพรีเมียร์ลีก)

ส่วนด้านทริปเปียร์นั้น ไม่มีประตูที่ทำได้ แต่มี 6แอสซิสต์ ดังนั้นอารอนดูท่าจะดีกว่าในด้านของการยิงและการทำประตู เพราะโอกาสยิงที่เกิดขึ้นของทั้งสองคนนั้น ในลีก วานบิสซาก้าได้ลองยิงทั้งหมด 8 ครั้ง ส่วนทริปเปียร์ยิงแค่3ครั้งเท่านั้นเอง

นั่นแปลว่า ในพื้นที่สุดท้ายหน้าปากประตู จุดที่AWBทำได้ดีกว่าทริปเปียร์คือการความพยายามในการยิงจบสกอร์นั่นเอง

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะพูดก็คือ อารอน วานบิสซาก้า ถูกซื้อเข้ามาในราคาสูงที่ทำการคำนวณความคุ้มในอนาคตไว้เรียบร้อยแล้วว่า ทำไมนักเตะถึงแพงระดับ50ล้าน เพราะเมื่อแรกซื้อเข้ามา เราได้เพียงเกมรับที่เหนียวแน่นของAWB แต่ตอนนี้ผ่านมาสองปี เจ้าตัวอายุ23 และเริ่มกลายเป็นวิงแบ็คขวาที่เติมเกมบุกได้อันตราย และมีperformanceที่เป็นรูปธรรมจริงๆจังๆมากขึ้นแบบที่ตัวเลขไม่หลอกใคร

เพราะฉะนั้นแล้ว แอเรียการเล่นของอารอน วานบิสซาก้าที่เขาถนัดนั้น จึงยิ่งตอกย้ำทฤษฎีวิเคราะห์และข้อสังเกตที่คอลัมน์เคยพูดคุยและเขียนเป็นบทความเอาไว้ตั้งแต่ช่วงราวเกือบสองปีที่แล้วไว้ในประเด็นนี้


จะสังเกตได้ว่า แอเรียที่แข็งแกร่งของวานบิสซาก้านั้น แนวรับด้านหลังทางขวา แน่นอนว่านี่คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ระดับ "เทะสึกะโซน" ที่สุดแกร่งของวานบิสซาก้า จนถึงตอนนี้ก็ยังนึกไม่ค่อยออกเลยว่ามีปีกคนไหนเผาพี่แกได้บ้าง สีเขียวเข้มสดใสนี่คือแข็งแกร่งในระดับดีมากจริงๆ

ส่วนจุดที่AWBมีปัญหาก็คือ การเล่นริมเส้นในพื้นที่กลางสนาม แถบสีแดงในรูปนี้ที่ยังคงต้องปรับปรุงตัวเองอยู่ สาเหตุนึงเนื่องจากวานบิสซาก้าเป็นนักเตะที่ค่อนข้างเก้งก้างเวลาที่คอนโทรลบอล และครองบอล ทำให้เขาเล่นไม่ถนัดและมักเสียบอล หรือมีเพลย์ช็อตที่ไม่ดีในโซนนี้บ่อยๆ เวลาโดนเพรสเข้ามาใส่ หากไม่มีกลางอย่างแม็คโทมิเนย์ หรือบรูโน่ถ่างออกมาช่วย AWBจะเล่นลำบากมาก

แต่เมื่อมองไปแนวด้านบนสุดที่เป็นพื้นที่Final Thirdซีกขวานั้น (สีเขียวอ่อนในรูป) พื้นที่นั้นเป็นจุดที่วานบิสซาก้าทำได้ดีในการเล่นจังหวะสุดท้าย ที่ทฤษฎีนี้ถูกคอนเฟิร์มแล้วด้วยตัวเลขสถิติในซีซั่นที่ผ่านมาว่า มันเล่นได้จริงๆ และทำประตูได้เยอะกว่าแบ็คขวาตัวเก่งๆหลายคนซะอีก

(ขออนุญาตยกตัวอย่างแบ็คทีมแชมป์ยุโรปอย่าง รีซ เจมส์ ยิงไปแค่ 1ประตู กับ 2แอสซิสต์ เท่านั้นเอง ก็คิดเอาเองว่า ทำไมเซาท์เกทถึงยังเลือกเจมส์กับทริปเปียร์ติดทีมชาติก่อนอารอน วานบิสซาก้าอยู่ ทั้งๆที่เกมรับและเกมรุก AWBก็กินขาดทั้งสองด้าน)

และ4แอสซิสต์ของวานบิสซาก้า (นับแค่ในลีกนะ ถ้ารวมทุกถ้วย6แอสซิสต์) เป็นสถิติแอสซิสต์ของแบ็คขวาทีมเราที่เยอะที่สุดนับตั้งแต่ยุคของ "แกรี่ เนวิลล์" ที่ทำได้ในปี2003ด้วยซ้ำ นับเอาเองว่า 18ปีเข้าไปแล้วที่เราไม่มีแบ็คขวาทำแอสซิสต์ได้ถึง4ครั้งในลีกขนาดนี้

นี่คือสัญญาณแห่งการพัฒนาตัวเองที่ชัดเจนของอารอน วานบิสซาก้าที่น่าชื่นใจมากในตำแหน่ง "แบ็คขวาตัวจริง" ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

เรื่องของสถิติการเล่นนี้ ช่วงครึ่งฤดูกาลหลังของ 2020/21 วานบิสซาก้าจะทำผลงานได้ดีกว่า และกระเตื้องขึ้นแบบเห็นด้วยตาเปล่า และตัวเลขทางสถิติอย่างเห็นได้ชัด นี่แหละคือการพัฒนาตัวระหว่างฤดูกาลอย่างแท้จริง

นอกจากนี้แล้วประเด็นเรื่องของวานบิสซาก้ายังมีข้อสนใจที่น่าพูดถึงเกี่ยวกับ ตัวผู้เล่นที่ลงสนามในทีม ที่ทำให้วานบิสซาก้ามีสถิติเกมรุกที่ดีขึ้นด้วย

เกี่ยวกับปีกขวาที่เล่นร่วมกันกับวานบิสซาก้า ระหว่าง แดนเจมส์ หรือ เมสัน กรีนวู้ดที่เล่นฝั่งเดียวกันหรือ? เปล่าเลย ไม่ใช่

นักเตะที่มีผลต่อผลลัพธ์เกมรุกของAWB คือ "ปอล ป็อกบา" ในยามที่ลงสนามมาเล่นตัวจริงในตำแหน่ง "LW" หรือตัวรุกหุบเข้ากลางทางซ้ายให้กับยูไนเต็ด

เมื่อใดก็ตามที่โอเล่และแมนยูไนเต็ดใช้ป็อกบาเป็น LW เมื่อนั้น อารอน วานบิสซาก้า จะมีสถิติเกมรุกในจังหวะสุดท้าย ไม่ว่าจะประตูหรือแอสซิสต์ ดีขึ้นทันตาเห็น เริ่มต้นที่สถิติวิเคราะห์ข้างล่างนี้


หลายท่านอาจจะดูแล้วมึนหัวหน่อยนึงเพราะตัวเลขมันเยอะและไม่น่าอ่าน นี่คือข้อมูลสถิติการมีส่วนร่วมกับเกมรุกของอารอน วานบิสซาก้า ที่เปรียบเทียบกันเวลามีนักเตะที่ลงสนามในตำแหน่งปีกซ้าย(LW)แตกต่างกัน

จะสรุปให้แบบชาวบ้านๆในเบื้องต้น

ยามที่มี ปอล ป็อกบา ลงเล่น LW บอลจะไปขึ้นที่ฝั่งซ้ายเป็นหลัก ทำให้วานบิสซาก้าไม่ต้องมีส่วนในการเซ็ตบอลเอง และจะทำให้เขาเติมสูงขึ้นไปยังพื้นที่อันตรายเลยโดยตรง จนทำให้สามารถสร้างประตูกับแอสซิสต์ได้ดีกว่ายามที่คนอื่นเล่นLW

อธิบายรายละเอียดทางสถิติในภาพนี้นั้น เริ่มแรกสุดในด้าน ความน่าจะเป็นที่จะทำแอสซิสต์ (xA) ของวานบิสซาก้า ยามที่มีป็อกบาลงเล่นเป็นLWนั้น  โอกาสแอสซิสต์ของวานบิสซาก้าต่อ90นาทีที่น่าจะทำได้คือ "0.16" ต่อเกมที่จะแอสซิสต์ได้ (ตีง่ายๆคือราวๆสัก 8-9เกม จะมี1แอสซิสต์)

แต่xA ยามที่คนอื่นลงเล่นปีกซ้าย ต่ำกว่านั้นมากๆ โดยเฉพาะเวลาแรชฟอร์ดเล่นปีกซ้าย เขามักจะไปเอง และเล่นเองส่วนใหญ่ บอลจะไม่ค่อยข้ามมาให้ฝั่งขวา หรือขึ้นฝั่งขวาเลย

xA ของวานบิสซาก้ายามที่เป็นแรช เหลือแค่ 0.05 ต่อ90นาทีเท่านั้น ส่วนการใช้ปีกซ้ายคนอื่นๆ อยู่ที่0.12 ซึ่งก็ยังน้อยกว่ายามป็อกบาลง LW อยู่ดีที่ 0.16

----------------------------------------------------

"การสัมผัสบอลในกรอบเขตโทษของคู่แข่ง"

เมื่อป็อกบาลงตำแหน่ง LW วานบิสซาก้าได้สัมผัสบอลในกรอบถึง 6.58% (1.43ครั้งต่อเกม) เมื่อเป็นคนอื่นลงเล่นปีกซ้าย วานบิสซาก้าก็ได้บอลในกรอบน้อยลงตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีจุดสำคัญอย่าง ค่าของ การเล่นที่สร้างให้ทีมมีโอกาสยิง (Shot Creating Actions หรือ SCA) เวลาป็อกบาลงLW นั้น วานบิสซาก้าสร้างโอกาสให้ทีมได้ยิง ได้ถึง 2.00 ต่อเกม ก็มากที่สุดกว่าการตอนที่แรชฟอร์ดเล่นLW ที่SCAแค่ 1.31เท่านั้น

และท้ายสุด เปอร์เซ็นต์การครอสสำเร็จถึง 40% ของวานบิสซาก้า เกิดขึ้นตอนที่ป็อกบาเล่นLW ในขณะที่ถ้าคนอื่นเล่นด้านนั้น ครอสำเร็จแค่ 20 กับ 28% เท่านั้นเองตามลำดับ

--------------------------------------------------

สิ่งเหล่านี้คืออะไร? ผู้เขียนจะสื่ออะไรกันแน่ แล้วเกี่ยวอะไรกับป็อกบา?

จริงๆผมสรุปแบบบ้านๆให้ดูในบรรทัดแรกๆแล้ว แต่จะให้ดูค่าที่มัน"น้อย" บ้าง ยามที่ป็อกบาลงสนามว่า ด้านไหนที่AWBทำได้น้อยๆยามป็อกบาลงสนาม เพราะมันซัพพอร์ตสมมติฐานข้อสังเกตในเรื่องนั้น

ค่าที่น้อยก็คือ ส่วนร่วมกับเกมในการเซ็ตบอลขึ้นไปบุก ยามที่ป็อกบาลงสนาม บอลจะไปขึ้นซ้ายเยอะ และเขาจะไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งเกมมากนัก (นั่นทำให้วานบิสซาก้าเป็นอิสระและเติมสูงได้)

ดูในหัวข้อที่สองคือ xG Build up หรือ "การเซ็ตบอลที่มีทำให้มีโอกาสเป็นประตู"

ยามที่ป็อกบาลงเล่นปีกซ้าย วานบิสซาก้าจะแทบไม่เกี่ยวกับ "การเซ็ตบอล"เลย เพราะ xG Build up อยู่ที่ 0.23 ในขณะที่เป็นคนอื่นๆลงสนามเช่นแรชฟอร์ด xG Build up ของ AWB สูงขึ้นมาเป็น 0.28 หรือ 0.30

แปลว่า การที่มีป็อกบาลงทางปีกซ้าย วานบิสซาก้าจะมีส่วนร่วมในการเซ็ตบอลทำเกมรุกน้อยลง และเป็นประโยชน์ให้เขาขึ้นสูงไปอยู่ในพื้นที่อันตรายได้

และ "ว่างโล่ง" อยู่บ่อยๆ เพราะการป้องกันเทไปปิดฝั่งป็อกบาหมด


อีกสถิติที่ชัดเจนคือ Progressive Passes และ Progressive Carries การจ่ายบอลขึ้นหน้า กับ การพาบอลขึ้นหน้า วานบิสซาก้าก็จะน้อยทันทีเมื่อยามที่ปีกซ้ายเป็นป็อกบา

ยามที่ป็อกบาเล่นปีกซ้าย วานบิสซาก้า จ่ายบอลขึ้นหน้า 3.29 ครั้ง ถ้าคนอื่นลง ก็จะจ่ายบอลเยอะขึ้นเป็น 3.83 / 3.44

ส่วนการพาบอลขึ้นหน้ายามป็อกบาลงLW วานบิสซาก้าแครี่บอลขึ้นหน้าที่ 1.57 ซึ่งน้อยกว่า 2.06 และ 2.63 ยามคนอื่นลงเล่น

สถิติตรงนี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อที่จะซัพพอร์ตสมมติฐานในรูปแรกสุดของวานบิสซาก้าว่า เขาเล่นได้ดีกว่าใน "พื้นที่สุดท้ายของFinal Third" ที่เป็นจังหวะสุดท้ายของการยิง การแอสซิสต์

และเมื่อปีกซ้ายเป็นป็อกบา จะทำให้วานบิสซาก้าเติมขึ้นพื้นที่สุดท้ายได้มากขึ้น เพราะเขาไม่ต้องรับภาระในการขึ้นเกม และการป้องกันฝั่งนั้นก็จะอ่อนลงด้วยเพราะคู่แข่งต้องเทไปปิดด้านซ้ายของแมนยูกันหมด

พอบอลไปขึ้นซ้ายทางซีกป็อกเยอะ สถิติที่เป็นการ "ตั้งเกมบุก และพาบอลขึ้นหน้า" ของซีกขวาอย่างวานบิสซาก้า จึงมีค่าต่ำลง ในค่าของ Progressive Passes, Progressive Carries และ xG Build up นั่นเอง

ป็อกบาลงปีกซ้าย เราจะเห็นวานบิสซาก้า isolateยืนว่างบ่อยมาก เพราะบอลไปขึ้นซ้าย

พอบอลข้ามมา มันก็ทำให้วานบิสซาก้าได้เล่นในจังหวะสุดท้ายไม่ว่าจะยิงหรือจ่ายเยอะขึ้น ทำให้โอกาสที่จะแอสซิสต์เยอะมาก รวมถึงโอกาสที่จะได้บอลในกรอบเขตโทษก็มีสูงสุด และโอกาสที่จะว่างและครอสสวยๆจนสำเร็จ40% ก็มากสุดอีกเช่นกัน

ประเด็นเล็กๆจุดนึงคือ ป็อกบาเป็นนักเตะที่ข้ามบอลแม่น ซึ่งแน่นอน ใครล่ะที่เขาจะข้ามบอลมาให้ เพราะว่ายืนว่างอยู่คนเดียวด้านขวาไกลๆ

ก็อารอน วานบิสซาก้านั่นล่ะ ที่จะ"ว่าง" บ่อยๆในยามที่ป็อกบาเล่น LW และเขาก็จะเปิดบอลมาให้

ทำให้เขาสามารถที่จะสร้างจังหวะยิง สร้างแอสซิสต์ และได้เล่นในพื้นที่กรอบเขตโทษบ่อยครั้ง และมิติเกมรุกในจังหวะสุดท้าย (ยิงประตู แอสซิสต์) ของAWBก็เหนือกว่าสองแบ็คขวาชื่อดังอย่าง ทริปเปียร์ กับ รีซ เจมส์ แบบเห็นได้ชัดเจนในทางสถิติ

ใครเอ่ยไม่ถูกเรียกติดทีมชาติอังกฤษ ใครเอ่ยสถิติดีกว่า ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ

ทั้งหมดทั้งมวลที่วิเคราะห์ให้เห็นผ่าน analyze statistics ตรงนี้ เพื่อทำให้เห็นว่า มิติในพื้นที่สุดท้ายทางขวา ของอารอน วานบิสซาก้า จะดียิ่งกว่าเดิมหากได้เติมเกมรุกสูงขึ้นพื้นที่หน้าประตูบ่อยๆอย่างอิสระ เขาจะทำสกอร์และแอสซิสต์ได้เพิ่มแน่นอน

นี่ก็แอบคิดว่า ถ้าทำให้AWB เติมสูงขึ้นหน้ามาบ่อยๆจนกลายเป็น "กองหน้าเสมือน" แบบที่ เดนเซล ดุมฟรีส์ เติมเกมทางขวาในทีมชาติเนเธอร์แลนด์(ฮอลแลนด์)แล้วนั้น  วานบิสซาก้าจะยิงและแอสซิสต์ระเบิดมากกว่านี้อีก ถ้ามีโอกาสให้เขาเติมสูงมากกว่านี้ได้

ถ้าเกมขึ้นปีกซ้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ AWB มีโอกาสเล่นเกมรุกเยอะขึ้น ดังนั้นแล้ว ในแง่การเสริมตัว หากป็อกบาย้ายออกไป และทีมเลือกจะหาตัวรุกเข้ามาเพิ่ม

ถ้า แจ็ค กรีลิช ซื้อเข้ามาและได้มาปั้นเกมทางซ้าย วานบิสซาก้า จะมีสถิติเกมรุกที่ดียิ่งกว่านี้ ในขณะที่ทางขวา หากในไม่กี่วันข้างหน้านี้ "เจดอน ซานโช่" ตกลงค่าตัวและซื้อเข้ามาสำเร็จที่ราคา90ล้านยูโร+add ons แล้วละก็ เกมทางขวาจะได้รับcreativity และการสร้างสรรค์เกมรุกจากปีกขวาที่เล่นคู่กับAWBเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ถ้าซานโช่เข้ามา ก็น่าจะมีโอกาสทำให้วานบิสซาก้าเติมเกมรุกได้เยอะกว่าเดิมเช่นกัน เพราะซานโช่ถือเป็นตัวรุกสายสร้างสรรค์เกมอยู่ด้วย จะต่างกับตอนเล่นคู่เมสัน กรีนวู้ดแน่

ทั้งหมดจึงเป็นข้อสรุปในเรื่องการเล่นของแบ็คขวาตัวจริงรายนี้ แต่สิ่งสำคัญที่เราไม่สามารถลืมได้เลยก็คือ มันยังมีปัญหาใหญ่ ติดอยู่ในเคสของวานบิสซาก้า

นั่นก็คือ ปัญหาการต้องลงสนามมากเกินไปของอารอน วานบิสซาก้า เพราะไม่มีแบ็คอัพที่ดีพอคอยลงเล่นแทน

เรื่องนี้ยืนยันได้ด้วยปริมาณการลงเล่นตลอดฤดูกาลของเขาถึง "54 นัด" ในทุกๆรายการ ตั้งแต่เกมลีก บอลถ้วย บอลยุโรป รวมแล้ว 54 นัด นี่ก็น้องๆบรูโน่ แฟร์นันด์ส กับ แฮรี่ แมกไกวร์เหมือนกัน ที่ลงสนามเยอะมากเกินไป ต่อไปนึงที่ต้องเล่นเกือบ60เกม

น่าเป็นห่วงความล้า และการใช้งานร่างกายในระยะยาวพอสมควร

ถ้ามีภาพนี้ขึ้นมา บอกได้คำเดียวว่า "หายนะ"

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้อีกเรื่องนึงที่มองข้ามไม่ได้ แม้จะไม่ใช่ priority สำคัญของตลาดซื้อขายนักเตะแมนยูในซัมเมอร์นี้ แต่ก็มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด นั่นก็คือ การหาแบ็คอัพของ "แบ็คขวา" ให้วานบิสซาก้าได้พักบ้าง

หรือเผื่อพี่แกจะเจ็บไปยาวๆ เราจะมีปัญหาอีก ถ้าไม่มีแบ็คอัพดีๆไว้ใช้

นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่เลย ต่อให้AWBเก่งขนาดไหน พัฒนาตัวมากยังไง แต่ถ้าต้องลงสนามเกือบ60นัดต่อซีซั่นขนาดนี้ มันไม่ดีต่อสุขภาพแน่ๆ

เพราะฉะนั้นแล้ว ในบทความนี้ ขุมกำลังแบ็คขวาของแมนยูไนเต็ดที่เป็น "ตัวสำรอง" / "ตัวดาวรุ่ง" / และ "เป้าหมายเสริมทีม" จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวของอารอน วานบิสซาก้าเองเลย

ถึงจะเก่งยังไงก็จำเป็นต้องมีแบ็คอัพเก่งๆเพื่อเขาด้วยอีกคนนึง เหมือนในเคสของ ลุค ชอว์ + อเล็กซ์ เตลีส ที่ทำให้แบ็คซ้ายแมนยูตอนนี้เสถียรมากๆ

เพราะงั้นเรามาดูกันว่า ขุมกำลังสำรอง ของ"แบ็คขวา" แมนยูไนเต็ดเป็นยังไง มีใครบ้าง และใครอยู่ในข่ายที่มีข่าวกับเรา

Brandon Williams

สถานะ : ตัวสำรองดาวรุ่งรอการปล่อยยืม


ในซีซั่นที่ผ่านมา ต้องถือว่า แบรนดอน วิลเลียมส์ เป็นแบ็คอัพตัวแรกในการลงตำแหน่งRBแทนวานบิสซาก้า แต่อย่างที่แฟนผีเห็นกันว่า เป็นตายร้ายดียังไง โอเล่ก็จะใช้วานบิสซาก้าเป็นหลัก และการที่แบรนดอนได้ลงสนามในพรีเมียร์ลีกแค่ "4นัด" รวมรายการอื่นๆที่แข่งกับทีมชุดใหญ่ รวมแล้วลงเล่นแค่ 14 เกม

คำถามคือ ลงน้อยขนาดนี้ น้องจะเอาอะไรมาพัฒนาฝีเท้าได้

โอกาสในการลงสนามมันไม่มี ข้อนี้ก็ต้องเข้าใจ และมันก็พูดยาก เพราะเนื่องจากฝีเท้าของแบรนดอนเองก็ไม่พัฒนาไปจากฤดูกาลแรกที่เขาขึ้นมาเลย ไม่มีพัฒนาการในทุกๆด้าน เพียงแค่ว่าเปลี่ยนจากแบ็คอัพของชอว์ มาเป็นแบ็คอัพของอารอนเท่านั้นเอง

ปัญหาในการเล่นของแบรนดอนคือสกิลทักษะที่ไม่มากพอในการเล่น โดยเฉพาะในภาค build-up play ของแมนยูไนเต็ด ที่เวลาบอลจ่ายมาที่แบรนดอน เขาไม่สามารถพาบอลขึ้นหน้าได้ เนื่องจาก "เทคนิคการเล่น" , ทักษะการเลี้ยง และความเร็ว ไม่เพียงพอจะพาบอลไปให้ตัวเองได้

ในขณะที่จินตนาการและเซนส์ในการต่อบอล ทำเกมก็ยังมีไม่เพียงพอ มักจะชอบจ่ายเข้ากลาง แล้วจ่ายไม่แม่นจนทำให้เสียบอลหน้ากรอบเขตโทษตัวเองจนทีมลำบากมาก็หลายๆครั้ง จะเติมเกมรุกก็ไม่โดดเด่น และติดนิสัย "Square Passes" หรือที่เรียกง่ายๆว่าการจ่ายขนานคืนเพื่อนข้างๆง่ายๆ แต่ไม่จ่ายบอลขึ้นหน้า

ทำให้บอลมันไปไหนไม่ได้ สุดท้ายโดนบีบนิดเดียวก็คืนหลัง หรือจ่ายยัดกลาง ก็เสียบอลไปอีก

สิ่งเดียวที่ดีของเจ้าหนู "รถถังลาวา" จอมเสยผมรายนี้ก็คือความเดือดความหนักของเกมรับแบบอิงลิชจ๋าๆ ยังคงเป็นข้อดีของBWในการลงเล่นแทนAWB ที่ช่วยป้องกันเกมรับให้แมนยูได้ ถือเป็นสิ่งดีๆที่น่าเก็บไว้

แต่จะให้ดีที่สุด แบรนดอน วิลเลียมส์ จำเป็นต้องได้รับการปล่อยยืมตัวเพื่อหาประสบการณ์ในการลงเล่นจริง และพัฒนาฝีเท้าโดยด่วน เพราะเท่าที่เห็น น้องก็ยังมีของในตัว ในด้านของเกมรับ เพียงแต่ว่าต้องไปอัพเกรดฝีเท้ามาอีกเยอะ ถึงจะเพียงพอขึ้นมาอยู่ในสถานะตัวสำรองได้

ย้ำ แค่ตัวสำรอง

เพราะตอนนี้เลเวลของแบรนดอน ผมยังคงต้องบอกว่า เขียนให้ได้แค่เป็น "ดาวรุ่งตัวสำรอง" เท่านั้น ยังไม่สามารถนับเป็นสำรองของAWBจริงๆจังๆได้


เพราะฉะนั้น ต้องปล่อยยืมน้องออกไปสถานเดียวเพื่อที่จะพัฒนานักเตะอะคาเดมี่ตัวนี้ให้กลับมาเป็นหนึ่งในกำลังของทีมเราให้ได้ ซึ่งเรายังคงเอาใจช่วยตัวนี้อยู่ เพราะชอบความเดือดของมันจริงๆ

สถานการณ์ของแบรนดอน วิลเลียมส์ ซีซั่นหน้า จึงต้องปล่อยยืมสถานเดียวเท่านั้น ตามข่าวก็มีเซาท์แธมพ์ตันสนใจจะนำไปใช้งานอยู่

ถ้ายังอยู่แบบนี้อีกหนึ่งปี ก็เตรียมตัวหายไปจากสารบบเหมือนกับดาวรุ่งคนอื่นๆที่แจ้งดับกันมานักต่อนักแล้ว

Diogo Dalot

สถานะ : ตัวสำรองรอการประเมิน


ดาโลต์เริ่มต้นระยะแรกๆกับแมนยูไนเต็ดได้อย่างหวือหวาในฐานะความหวังใหม่ของแบ็คขวาจอมลุยสัญชาติโปรตุเกสที่มีลีลาการสับขาบุกและกระชากบอลทำให้แฟนผีได้เห็นภาพจางๆของเจ็ทโด้ตอนวัยรุ่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆดาโลต์เองก็ยังไม่สามารถทะลุขึ้นมาเป็นแบ็คขวาที่ได้ลงสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ยุคของโอเล่ กุนนาร์ โซลชา ดาโลต์ได้ลงสนามเพียง11นัดเมื่อปีก่อน และในทริปที่ต้องไปเยือนLASKในยูโรปาลีกนั้น โอเล่หนีบเอาแบ็คซ้ายอย่างชอว์กับวิลเลียมส์ ซึ่งเป็นแบ็คไปแค่2คน และไม่เลือกเขาติดไปกับทีม

มุมมองของโซลชาต่อตำแหน่งฟูลแบ็คนั้น อย่างน้อยที่สุดสำหรับน้าลูกอมคือจะต้องมีความแข็งแกร่ง มีเกมรับที่หนักแน่น และดุดันก่อนยืนพื้น ในฐานะนักเตะกองหลัง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ดาโลต์ไม่มี

หลังจากปีอันขมขื่น ดาโลต์ถูกส่งมายืมตัวให้กับเอซีมิลานในซีซั่นที่ผ่านมา และได้อยู่ในสถานะตัวตัวrotationเปลี่ยนลงในเกมบอลถ้วยยุโรปมากกว่าสำหรับเอซีมิลาน (ได้เจอแมนยูด้วย) ลงสนามทั้งหมด 34นัดกับเอซีมิลาน ทำไป 2 ประตู 3 แอสซิสต์ ก็ดูน่าจะได้ประสบการณ์มากขึ้นกว่าเดิม

ล่าสุดเขาถูกเรียกมาแทนชูเอา คันเซโล่ ที่ติดโควิด และได้ลงในยูโร2020 แทนเนลสัน เซเมโด้ แบ็คขวาที่เจ็บไปในเกมล่าสุดที่เป็นตัวจริง และโปรตุเกสแพ้เบลเยี่ยมไปแบบสุดมันส์ 1-0 คือเกมที่ดาโลต์ลงสนามเต็มๆเกมเช่นเดียวกัน

แต่เท่าที่สังเกต ดาโลต์ดูจะยังไม่พัฒนาจากเดิมแบบเห็นได้ชัดเท่าไหร่ เพราะเกมรับที่หนักแน่นยังไม่มีให้เห็น แต่ยังคงดูโดดเด่นเวลาทำเกมรุกเหมือนเดิมที่สังเกตแล้วเป็นธรรมชาติมากกว่า

สำหรับอนาคตของเขา มีข่าวว่าทางปีศาจแดงดำ เอซีมิลาน อยากจะซื้อขาดตัวเขาให้เรียบร้อย แต่ข่าวล่าสุดก็บอกว่าเจ้าตัวจะกลับมาสตาร์ทกับยูไนเต็ดในช่วงปรีซีซั่นก่อนอีกครั้ง

หากว่ากลับมาปรีซีซั่นจริง นั่นแปลว่า ดาโลต์จะกลับมาโชว์ผลของการเก็บเลเวลที่ซานซิโร่ว่าเป็นยังไงบ้างในการ "พิสูจน์ตัวเอง" กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

เพราะเนื่องจากว่า ประเด็นสำคัญข้างบนก็คือ แมนยูไนเต็ดนั้นตั้งท่าจะ "ปล่อยแบรนดอน วิลเลียมส์" ซึ่งปัจจุบันเป็นแบ็คอัพของAWB ออกไปยืมตัว เท่ากับว่าแมนยูจะไม่มีคนลงแบ็คขวาเหลืออยู่เลย

ดังนั้น แมนยูอาจจะต้องดึงดาโลต์ กลับมาใช้งานในฤดูกาลนี้ โดยการประเมินที่จะเกิดขึ้นว่า เขาจะสามารถเอาชนะใจทีมสตาฟฟ์โค้ช และแสดงถึงสัญญาณการอัพเกรดตัวเองได้หรือไม่

ถ้าไม่ก็อาจจะต้องขายขาดไปให้เอซีมิลาน หรือที่ไหนสักที่ และคงจะไม่ได้เกิดกับแมนยูไนเต็ด ถ้ายังไม่พัฒนาตัวเองให้ดีพอสำหรับโรงละครแห่งความฝัน ที่ไม่มีที่ว่างให้นักเตะที่ฝีเท้าไม่ดีพอ

ยังไงก็ตาม ตัวนี้ถือว่า "มีสิทธิ์โดนปล่อยตัวสูง"

Ethan Laird

สถานะ : ดาวรุ่งทีมสำรอง


อีธาน แลร์ด วิงแบ็คขวาจอมบ้าบุกตะลุยวัย19ปีรายนี้ถูกปล่อยยืมตัวให้กับ MK Dons ในลีกวันช่วงซีซั่นที่ผ่านมา และลงสนามไปทั้งหมด 24เกม ทำไป 4แอสซิสต์ ก็ถือว่าเป็นการยืมตัวที่ได้ประสบการณ์ในการลงสนามต่อเนื่องและค่อนข้างเยอะ ซึ่งจุดเด่นของเจ้าหนูแลร์ดคือ ความเร็ว ที่เร็วจี๊ดในแบบนักเตะสายวิงแบ็คธรรมชาติ ที่มีสัดส่วนความเป็นวิงแบ็คมากกว่าจะเป็นฟูลแบ็คมาก

ดังนั้นเกมของหมอนี่ส่วนใหญ่จึงเป็นเกมบุกที่ควบตะลุยขึ้นไปทำรุกใส่จนถึงพื้นที่สุดท้ายของคู่แข่ง ตามสถิติการเล่นและheat map การเล่นในสนามของหมอนี่ เป็นวิงที่ชอบการบุกตะลุยเป็นชีวิตจิตใจ

เพียงแต่ว่าในการพิจารณาเรื่องของ "ขุมกำลังแบ็คขวา" ของแมนยูไนเต็ดล่ะ เรามองอีธาน แลร์ด ได้ในสถานะไหน?

ต้องบอกว่า แลร์ดก็ยังคงเป็นเพียงแค่ดาวรุ่งในระดับทีมสำรองเท่านั้น "ยังไม่ดีพอจะขึ้นเป็นแบ็คขวาสำรองได้" ในซีซั่นหน้า เพราะลองนึกสภาพดูเอาว่า ในยามที่แมนยูไนเต็ดจะต้องไปลุยกับเกมใหญ่ๆที่มีแต่ทีมชั้นนำในถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีก

เราจะใช้นักเตะที่เพิ่งจะมีประสบการณ์ไม่กี่ปี และลงเล่นในลีกวันซึ่งต่ำกว่าเดอะแชมเปี้ยนชิพเช่นนี้ ใช้เป็นแบ็คอัพRB ให้กับวานบิสซาก้าไหวหรือ? ในยามที่เราไม่สามารถพลาดได้เลยในเกมพรีเมียร์ลีก หรือUCL

คำตอบคือ ไม่ไหวอย่างแน่นอน คุณภาพของอีธาน แลร์ด ยังไม่เพียงพอจะกลับมาเป็นตัวสำรองให้วานบิสซาก้าในปีหน้า และคงต้องปล่อยยืมต่อไปในระดับที่สูงกว่านี้ เช่นในเดอะแชมเปี้ยนชิพ

นักเตะรายนี้เพิ่งอายุ19 ก็ยังไม่ถึงกับ "ดับ" ไปเลย เพียงแต่ว่าน้องยัง "ดิบ" อยู่มากในตอนนี้ การเล่นยังไม่แน่นอนและยังไม่อยู่ในระดับสูงถึงขั้นลีกสูงสุดได้ ปีหน้าควรปล่อยยืมตัวกับพวกเดอะแชมเปี้ยนชิพอีกสักปี แล้วต้องเล่นให้ดีที่สุดเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

ถ้าไม่ดีพอก็ไม่มีโอกาสขึ้นชุดใหญ่ และต้องปล่อยออกไปในที่สุด อยู่ที่ตัวน้องเองว่าจะขึ้นมาได้ขนาดไหน คงต้องเอาใจช่วยและตามเช็คฟอร์มกันต่อไป แต่ปีหน้ายังมาเป็นตัวสำรองให้AWBไม่ไหวแน่นอน100%

Marc Jurado

สถานะ : ดาวรุ่งทีมเยาวชน U-18s


หมอนี่คือแบ็คขวาสัญชาติสเปนตัวจริง สำหรับ"น้อนมาร์ค" มาร์ค ฆูราโด้ แบ็คขวาวัย17ปี ผู้อยู่ในทีมเยาวชนชุด U-18s ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่ทีมเราเซ็นตัวมาจากลามาเซีย ออกจากอ้อมอกบาร์เซโลน่าU-16s มาอยู่กับเราในช่วงปีที่ผ่านมา

เจ้าหนูแบ็คขวาที่มาพร้อมกับคู่หูจากต่างค่ายอย่างAlvaro Fernandez  (อัลวาโร่ เฟอร์นันเดซ) แบ็คซ้ายที่มาจากเรอัลมาดริด แต่เป็นตัวที่แก่กว่า1ปี และอยู่ในชุด U-23s

น้องมาร์คเป็นแบ็คขวาสไตล์สเปนจ๋าๆที่มีความคล่องตัวสูง และมีเกมรุกที่โดดเด่น ซึ่งในการเป็นขุมกำลังแบ็คขวาของแมนยูไนเต็ดนั้น ต้องถือว่าเขาเป็นนักเตะที่จะค่อยๆทยอยเข้าสู่ทีมในอนาคต หากว่าพัฒนาฝีเท้าสำเร็จ ก็มีแววจะได้ขึ้นมาเป็นคู่แบ็คซ้ายแบ็คขวาสเปนกับอัลวาโร่อีกคนได้

เพียงแต่ว่าอายุยังน้อยมากๆ เพียงแค่17ปี ดังนั้นน้องมาร์คก็คงจะยังอยู่แค่ในระดับเยาวชนกับทีม และก็ปั้นกันต่อไป ยังคงไม่สามารถเป็นกำลังให้กับชุดใหญ่ได้

แต่ฤดูกาลหน้า ก็อาจจะถูกดันขึ้นมาเล่น U-23s มากขึ้นหลังจากที่ Harvey Neville ลูกชายของฟิล เนวิลล์ ย้ายไปอยู่กับทีม Fort Lauderdale ในสหรัฐอเมริกา ก็มีโอกาสที่มาร์คจะตามอัลวาโร่ขึ้นมาในชุดสำรองแมนยูไนเต็ดได้

ยังต้องปั้นกันอีกนาน

Axel Tuanzebe

Victor Lindelof

Eric Bailly

สถานะ : "แบ็คขวาจำเป็น" ยามฉุกเฉิน


นี่คือสามเซ็นเตอร์แบ็คที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันลงมายืนคู่กับตัวหลักอย่างแฮรี่ แมกไกวร์ ซึ่งเป็นสามคนที่มีออฟชั่นยามฉุกเฉินในการสามารถถ่างออกมาเล่นเป็นแบ็คขวาได้ในลักษณะของฟูลแบ็คโบราณ ที่ไม่ต้องเติมเกมรุกมากนัก แต่เล่นเกมรับเป็นหลัก และยืนคุมตำแหน่งต่ำรอป้องกันอย่างเดียว

หากจำเป็นจริงๆในกรณีที่มีแบ็คขวาเจ็บ และทีมไม่มีนักเตะจะใช้นั้น สามคนนี้มีออฟชั่นในการมาเล่น "แบ็คขวาจำเป็น" ทุกคน เนื่องจากเป็นกองหลังที่มี"สปีด" ทั้งสามคน ไม่ว่าจะตวนเซเบ้ ลินเดอเลิฟ และไบญี่ พวกนี้มีความเร็วในการวิ่งไล่กวดปีกของคู่แข่งได้ทั้งนั้น และเข้าสกัดบอลได้ดี

ดังนั้นถ้าจำเป็นจริงๆถึงขั้นไม่มีคนจะลงสนาม สามารถใช้พวกนี้มายืนแทนได้

แต่นักเตะที่มีแนวโน้ม"สูงที่สุด" ที่อาจจะต้องมารับบทเป็น "แบ็คขวาสำรองให้ทีม" ในฤดูกาลหน้า ดูเหมือนว่าหวยอาจจะไปออกที่แอ็กเซล ตวนเซเบ้ ก็เป็นได้

เหตุผลสำคัญคือ แบรนดอนปล่อยยืม ก็จะหายไปแล้วคนนึง ส่วนดาโลต์ที่กลับมาโชว์ฝีเท้าอีกครั้ง อาจจะยังคงไม่ผ่านในสายตาโอเล่ เพราะเกมรับดาโลต์ก็แทบไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย และตำแหน่งนี้ ความแข็งแกร่งของเกมรับเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะงั้นดาโลต์มีสิทธิ์โดนปล่อยตัวสูง

เมื่อเป็นแบบนี้ หากว่าในตลาดซื้อขายปีนี้ของเรา จะมีเพียงแค่ดีลใหญ่ของซานโช่ และดีลกองหลังเซ็นเตอร์แบ็คอีกคน ไม่ว่าจะเป็น วาราน ตอเรส โรเมโร่ หรือใครก็ตามอีกหนึ่งคน จะทำให้งบซื้อตัวนักเตะน่าจะไม่เพียงพอ และยังไม่ใช่เป้าหมายของทีมที่จะซื้อแบ็คขวามาอีกตัวเพื่อนั่งสำรอง ในยามที่AWBฟิตพร้อมลงทุกเกม

เมื่อมีวี่แววว่าอาจจะไม่มีRBเข้ามา ส่วนข่าวของทริปเปียร์แมนยูก็ไม่อยากจ่ายเงิน20ล้านให้นักเตะอายุ30ปีมานั่งสำรองแน่ๆ เพราะฉะนั้นดีไม่ดี ก็อาจจะกลายเป็นว่า ตวนเซเบ้ อาจจะต้องเป็นตัวที่ถูกใช้ลงแบ็คขวาแทนในเกมที่วานบิสซาก้าพัก เพราะในตำแหน่งCB ตวนเซเบ้ถือเป็นกองหลังอันดับ4ของทีม ณ ปัจจุบัน หากรอแต่CB ตวนเซเบ้ก็จะไม่ได้ลง

ดังนั้นการเปลี่ยนหน้าที่มาเป็น แบ็คอัพของตำแหน่งแบ็คขวา ก็อาจจะทำให้เขาได้ลงสนามเยอะกว่าเดิมก็ได้ ในกรณีที่แมนยูไม่ได้ซื้อใครเพิ่มเข้ามา เราจึงจำเป็นต้องพูดถึงหัวข้อ "สำรองแบ็คขวาฉุกเฉิน" เอาไว้


ทั้งหมดที่กล่าวมาในด้านบนนี้ คือทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในมือ เท่าที่สรุปก็จะเห็นว่า ขุมกำลังแบ็คขวาปีหน้า ตามข่าวและตามความเหมาะสมนั้น ตัวที่มีโอกาสจะอยู่เป็นแบ็คขวาสำรองให้ทีมได้ มีเพียง ดาโลต์ที่ก็ต้องรอประเมิน(และมีแนวโน้มว่าน่าจะไม่ไหว), และก็CBสามตัวที่อาจต้องไปเล่นแบ็คขวาฉุกเฉิน โดยเฉพาะตวนเซเบ้เท่านั้นเอง ที่เป็นแบ็คอัพของวานบิสซาก้า นอกนั้นอย่าง อีธาน แลร์ด มาร์ค ฆูราโด้ พวกนี้ยังใช้การไม่ได้ รวมถึงแบรนดอนที่จะปล่อยยืมออกไป

นั่นทำให้เห็นว่าแมนยูเองจริงๆแล้วถ้ามีโอกาส ก็ยังต้องหาแบ็คอัพให้วานบิสซาก้าต่อไป เพราะตอนนี้มีเขาที่เล่นได้แค่คนเดียวจริงๆ

เรามาดูกันว่า ในบรรดาแบ็คขวาที่มีข่าวกับแมนยูไนเต็ด มีใครบ้าง และเหมาะสมยังไง

Kieran Trippier

สถานะ : แบ็คขวามีดีกรี ตัวเป้าหมายที่เป็นข่าว


แบ็คขวาวัย30ปี สัญชาติอังกฤษรายนี้ ตกเป็นข่าวกับแมนยูไนเต็ดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และตามข่าว ทีมตราหมีต้องการค่าตัว20ล้านปอนด์สำหรับแบ็คขวารายนี้ ซึ่งสำหรับนักเตะอายุ30ปีที่จะซื้อมาเพื่อเป็นแบ็คอัพ ราคานี้ก็ถือว่ายังสูงอยู่ดี หากเป็นไปได้ ยูไนเต็ดคงอยากจะได้เรทราคาเดียวกันกับที่ดึงอเล็กซ์ เตลีส มาเป็นแบ็คอัพให้ลุค ชอว์มากกว่า

หากต่อราคาทริปเปียร์ได้ไม่เกิน15ล้านยูโร ก็ดูจะเป็นอะไรที่น่าสนใจในการเสริมตัวเช่นกัน กับนักเตะที่มีความต้องการอยากจะกลับถิ่นฐานเพื่อจะมาค้าแข้งในแถบนอร์ทเวสต์ของอังกฤษ เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว และแมนยูที่หาแบ็คอัพRBอยู่ ก็ดูจะตรงสเปคนั้น

ติดอยู่แค่ราคาเท่านั้นเอง

ส่วนฝีเท้า หากเทียบกับวานบิสซาก้าในรอบซีซั่นที่ผ่านมานั้น ต้องบอกตรงๆว่า วานบิสซาก้าดูจะดีกว่าทริปเปียร์ในหลายๆด้านเมื่อมองภาพรวม แต่ทริปเปียร์ก็มีบางอย่างที่ดีกว่าวานบิสซาก้าเช่นกัน


ด้านเกมรับ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า AWB กิน Trippier ขาดลอยในด้านของการหยุดเกมบุกของคู่แข่ง

ปริมาณของเกมรับที่เป็นสถิติ Blocks + Interceptions + Tackles + Clearances เปรียบเทียบกันนั้น

รวมแล้ว AWB = 384 ครั้ง กับการลงสนามเฉลี่ย34เกม ให้แมนยูไนเต็ดในพรีเมียร์ลีก

ส่วนทริปเปียร์ รวมแล้วเกมรับ4อย่างนี้ = 218 ครั้ง กับการลงสนามเฉลี่ย 27.8เกม ให้แอตเลติโกมาดริดในลาลีกา

ปริมาณการป้องกันของวานบิสซาก้า เยอะกว่าทริปเปียร์อยู่ถึง "166 ครั้ง" ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่ามันเยอะขนาดไหน

นอกจากนั้นภาคอื่นๆ อย่างเปอร์เซ็นต์การจ่ายบอลสำเร็จ AWB ก็ชนะทริปเปียร์ที่ 86% ต่อ 79.3% ซึ่งวานบิสซาก้าก็จ่ายบอลแม่นกว่า และพลาดน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดมากๆ และเหนือกว่าในทุกระยะการจ่ายบอล ใกล้ กลาง ไกล

ส่วนการทำสกอร์ ก็อย่างที่เห็นไปแล้ว ในลีก AWB ยิง2 แอสซิสต์4 ส่วนทริปเปียร์ 0ประตู แอสซิสต์6 ถ้าจะเอาเรื่องผลการเติมเกมรุก วานบิสซาก้าดูจะทำได้ดีกว่าซะด้วยซ้ำเพราะมีถึงสองประตู แต่ทริปเปียร์ยิงไม่ได้เลย / ส่วนแอสซิสต์ก็ไม่ต่างกันมาก


ทั้งหมดนั้นคือที่AWBเหนือกว่า แต่สิ่งที่ทริปเปียร์เหนือกว่าวานบิสซาก้าก็มีเช่นกัน ดังนี้

Aerial Wons ที่ทริปเปียร์ชนะดวลกลางอากาศถึง 67.1% ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับคนสูงแค่173 เตี้ยกว่าAWBถึง10cm แต่ทางด้านวานบิสซาก้า ดวลกลางอากาศชนะแค่56.8%

เลขตรงนี้อาจแสดงถึงperformanceได้ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่แน่ใจอีกว่า เพราะลีกที่เล่นต่างกันด้วยหรือไม่ เพราะเล่นที่อังกฤษเน้นลูกโด่งมากกว่า และตัวผู้เล่นสูงใหญ่สายกายภาพ การชนะลูกโด่งจึงอาจจะยากกว่าทริปเปียร์ที่เล่นในลาลีกาซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องการเปิดบอลโด่งกัน

จุดที่ทริปเปียร์ดูจะดีกว่าวานบิสซาก้าแน่ๆก็คือ เรื่องของการสร้างสรรค์เกมรุกให้กับทีม โดยที่ SCA (Shot-Creating Actions) การเล่นของวานบิสซาก้า สร้างจังหวะยิงให้ทีมได้ 1.68 ครั้งต่อ90นาที

แต่ของคีแรน ทริปเปียร์ ต่อ90นาที มีการเล่นที่สร้างจังหวะยิงให้ทีม 2.73 ครั้งต่อ90นาที

การครีเอทเกมบุก ดูทริปเปียร์จะทำได้เยอะกว่า รวมถึงลูกครอสด้วยที่ครอสไปทั้งสิ้น 66ครั้งในซีซั่น ส่วนAWB ครอส57ครั้ง

ถ้าอยากได้เกมบุกเพิ่ม หรืออยากได้แบ็คอัพวานบิสซาก้า การมีข่าวกับทริปเปียร์ก็ถือว่าโอเคในระดับหนึ่ง ถ้าซื้อได้ในราคาไม่เกิน15ล้านก็น่าซื้อ (เยอะกว่านี้แพงไปแล้วสำหรับนักเตะที่เหลือสัญญาน้อยๆในวัย30ปี)

แชมป์ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม ได้แก่ แฟนบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

จุดที่แมนยูไนเต็ดจะได้ประโยชน์จากดีลนี้ หากว่าเซ็นทริปเปียร์เข้ามาสำเร็จก็คือ

1."ประสบการณ์ในแชมเปี้ยนส์ลีกของทริปเปียร์" ที่มีแบบเต็มๆ ตรงนี้จะช่วยเราในเกมยุโรปของUCLได้แน่นอน อันนี้น่าสนใจ

2. แมนยูคือทีมรักในวัยเด็กของคีแรน ทริปเปียร์ ข้อนี้อาจทำให้ทริปตัดสินใจได้ไม่ยาก และคงจะช่วยมานั่งเป็นตัวสำรองให้ทีมได้โดยไม่บ่นแน่นอน

สรุปให้สำหรับเคสของทริปเปียร์ก็คือ หากว่าทีมงานแมนยูไนเต็ด ต่อราคาลงมาได้ราวๆ 10-13ล้านปอนด์ เหมือนที่ไปดึงอเล็กซ์ เตลีสมา จะดีมากๆ

และถ้าเป็นราคานั้นก็ เอานะ

Max Aarons

สถานะ : แบ็คขวาตัวเด่นจากทีมเล็ก

หากยังจำกันได้ แม็กซ์ แอรอนส์ คือนักเตะอีกคนที่เคยมีข่าวกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในช่วงปีก่อน หลังจากที่เขาโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมในฤดูกาล 2019/20 นอริชก็ตกชั้นลงไปในซีซั่นที่ผ่านมา และพวกเขาก็ผงาดกลับมายังลีกสูงสุดได้อีกครั้งในฤดูกาลหน้า

ซีซั่นที่ผ่านมาในเดอะแชมเปี้ยนชิพ ผลงานของน้องแม็กซ์ ลงสนาม45เกม ทำไป 2ประตูกับ 5แอสซิสต์ สำหรับแบ็คขวาก็ถือว่าไม่เลว เพียงแต่ว่า ด้วยวัยนี้ที่กำลังสด และต้องการเวลาลงสนาม การจะซื้อแม็กซ์มาเป็นอะไหล่สำรองของวานบิสซาก้า คงยากที่เจ้าตัวจะสนใจหรือตอบรับข้อเสนอนี้ ในยามที่ยังได้ลงสนามเป็นตัวจริงกับนอริชอยู่ และจะได้วาดลวดลายในEPLซีซั่นหน้า

นอกจากนั้นการจะลงสนามลุยศึกUCLของแมนยูไนเต็ดก็คงต้องการนักเตะที่มีประสบการณ์มากพอในการรับมือกับสเตจดังกล่าวในรอบแบ่งกลุ่ม แม็กซ์ อารอนส์ ก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบนี้เช่นกัน

ทั้งคีแรน ทริปเปียร์ และ แม็กซ์ แอรอนส์ คือสองแบ็คขวาที่เคยเป็นข่าวกับเราจริงๆจังๆในการจะเสริมทีมมาเป็นแบ็คอัพให้วานบิสซาก้า ในยามที่แบรนดอนยังไม่ดีพอ และดาโลต์ก็ยังไม่พัฒนาเกมรับให้ดีเท่าที่ควร ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมากเหมือนกัน หากว่าAWBดวงแตกบาดเจ็บยาวๆขึ้นมา ตรงนั้นก็แทบจะกลายเป็นบ่อทันทีหากไม่มีนักเตะที่จะมารองรับการลงเล่น"แทน"ได้

แต่ถ้าจะถามว่า เราอยากได้แบ็คขวาตัวไหนที่น่าสนใจจะเสริมทีม หากว่าเลือกได้ ที่อาจจะไม่ใช่ทริปเปียร์ หรือ แอรอนส์นั้น มีแบ็คขวาตัวไหนที่น่าซื้อเข้ามาเสริมทีมในฐานะตัวสำรองของวานบิสซาก้าบ้าง

มีน่าสนใจอยู่สามคน ซึ่งเป็นสามคนที่อยู่ในลีกอื่นที่ไม่ใช่ในพรีเมียร์ลีก เพราะการจะซื้อนักเตะดีๆจากในพรีเมียร์ลีกเองนั้นมันยาก เนื่องจากเป็นทีมคู่แข่งกัน และจะโดนโขกราคาสูงด้วย เพราะฉะนั้นพิจารณานักเตะจากลีกอื่นน่าจะดีกว่า

ซึ่งแบ็คขวาที่น่าลองซื้อมาเสริมทีมในสายตาศาลาผี มี4คนดังต่อไปนี้

1. Kevin Mbabu (VfL Wolfsburg)

เอ็มบาบูต้องบอกว่าเป็นเทพฟีฟ่าออนไลน์4จริงๆ(ฮา) ที่เราก็ไม่รู้ว่าทำไมในเกมมันถึงได้เอามาใช้เล่นดีขนาดนั้น ทั้งๆที่ตัวปีปกติก็พลังน้อย แต่เมื่อได้เห็นเอ็มบาบูเล่นในยูโร2020 พลังงานในการเล่น ความคล่อง ความเร็ว น่าจะนำเข้ามาเล่นในพรีเมียร์ลีกได้เป็นอย่างดี กับวัย26ปี กำลังสดๆเลย

และราคาประเมินเพียงแค่12ล้านยูโร ที่ซื้อจริงราคาก็อาจจะอยู่ในช่วง20-25ล้านยูโร ถ้าได้ราคานี้สำหรับนักเตะรายนี้ก็น่าสนใจในการเป็นกำลังของทีมเราระยะยาวๆ

สถิติเกมรุกไม่ดีเท่าไหร่ มีเพียง1แอสซิสต์ให้โวล์ฟสบวร์ก แต่เราคงไม่ต้องการเยอะจากนักเตะสำรองเท่าไหร่

2. Zeki Celik (Lille)

แบ็คขวาวัย24 ในทีมแชมป์ลีกเอิงอย่างลีลล์รายนี้ คือฟูลแบ็คสายแข็งที่เด่นด้านเกมรับ มีการเล่นที่แข็งแกร่ง และพลังงานในการเล่นสูง แต่เกมรุกก็มีสถิติดีกับทีมแชมป์จริงๆ ด้วยการลงสนาม29นัดในลีกเอิง ทำไป3ประตู 3แอสซิสต์ ถือว่าเยี่ยมเลย

ซีลิคเป็นแบ็คนอกสายตาที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก แต่ถ้าลองยื่นให้ลีลล์ดูสัก 20ล้านยูโร เขาอาจจะขายก็ได้ แม้ว่าจะเพิ่งเป็นแชมป์ลีก อาจจะไม่อยากปล่อยตัวหลักออกจากทีม

แต่ถ้าเงินถึง ทีมจากฝรั่งเศสก็ขายอยู่แล้ว ใครๆก็รู้

และตอนนี้มีข่าวว่า อาร์เซนอล กำลังประมูลตัวนี้แข่งกับแมนยูไนเต็ดที่ราคา13ล้านปอนด์อยู่ด้วย


3. Denzel Dumfries (PSV Eindhoven)

คงไม่ต้องสาธยายความเป็น "วิงแบ็คขวากึ่งกองหน้า" ตำแหน่งใหม่บนโลกนี้ที่ไอ้เจ้า เดนเซล ดุมฟรีส์ เติมเกมรุกของฮอลแลนด์ในยูโร2020 อย่างดุเดือดประหนึ่งเป็นกองหน้าตัวที่สามทางขวาให้กับทีมจริงๆ

ด้วยกายภาพที่สมบูรณ์100% และเหนือกว่าคนอื่นด้วยความแข็งแกร่ง พลังงานการเล่น และความเร็ว

รวมถึง ความกระหายที่อยากทำเกมรุกของมัน จนดูแล้วเชื่อว่า แกคงอยากจะเป็นนักเตะตัวรุกจริงๆ

แต่เกมรับ ดุมฟรีส์ก็ลงต่ำไปเป็นวิงแบ็คด้วยเช่นกันและเล่นป้องกันสวยๆได้หลายช็อต ซึ่งดูท่าว่าเขาจะเหมาะกับทีมที่ใช้ระบบวิงแบ็คมากๆ เพราะถ้าให้เล่นในระบบแบ็คโฟร์อาจจะเติมแบบนี้จัดๆไม่ได้ เนื่องจากว่าถ้าหลังลอย มันไม่มีกองหลังตัวข้างที่เป็น RCB คอยซ้อนหลังให้

ยังไงก็ตาม ดุมฟรีส์ก็ยังโคตรน่าซื้ออยู่ดี ซึ่งราคาประเมินก่อนบอลยูโรอยู่ที่ 16ล้านยูโร ตอนนี้ฟอร์มเปรี้ยงสุด ค่าตัวจะไปไกลขนาดไหนแล้วก็ไม่รู้ และก็งงว่า อายุ25ปี ไปอยู่ที่ไหนมากับพีเอสวี ทำไมถึงยังไม่ดัง

ไม่ได้แจ้งเกิดในโรงบาล แต่มาเบิกบานในยูโร2020แบบนี้เรอะ!

ถ้าราคาอยู่ที่25ล้านยูโร ก็น่าซื้อ ในยามที่เกมปัจจุบัน แบ็คสำคัญมากๆ แต่ก็คง?ยากอยู่ดี เพราะทีมเรามีAWBอยู่แล้ว

และอย่าฝันหวานกันไปว่า เราจะต้องซื้อแบ็คขวาในลักษณะของแค่การเป็น "สำรอง" ให้วานบิสซาก้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่แมนยูจะทุ่มซื้อแบ็คขวาด้วยเม็ดเงินใหญ่ๆระดับ 25ล้าน ไม่ว่าจะเป็น ดุมฟรีส์ ซีลิก หรือจะใครก็ตาม


4. Vladimir Coufal (West Ham)

ตัวนี้จริงๆแล้วเกริ่นเอาไว้ว่า การดึงนักเตะในพรีเมียร์ลีกมานั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ขอแถมท้ายมาอีกตัว ในฐานะแบ็คขวาฟอร์มดีของทีมชาติเช็ก ที่โชว์ฟอร์มสดในยูโร2020 ซึ่งเรามีจุดเป็นต่อเวสต์แฮมอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือการมีอยู่ของ "เจสซี ลินการ์ด" ในฐานะตัวประกันหงสาที่ไปอยู่กับเดวิด มอยส์ และเขาก็อยากได้เจสซีจนไข่สั่น

อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการใช้งานJlingzให้เป็นประโยชน์ด้วยการ เอาเจสไปแลกตัวกับคูฟาลเลยก็น่าจะดีเหมือนกัน

ถ้าจะไม่ขายเดแคลน ไรซ์ให้เรา เอาคูฟาลมาก็ได้นะ :)


และทั้งหมดนี้ คือการชำแหละขุมกำลังแบ็คขวาทั้งหมดของแมนยูไนเต็ด ทั้งที่เป็นตัวจริง ตัวสำรอง ดาวรุ่ง พร้อมแจกแจงสถานะของแต่ละคนอย่างชัดเจน ผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า ในบรรดาแบ็คขวาทั้งหมดที่เรามีอยู่แล้วนั้น สำรองก็ดูไม่เหมือนจะเป็นสำรองได้สักเท่าไหร่ ทั้งดาโลต์ แบรนดอน ก็ยังไม่ดีพอจะเป็นแบ็คอัพให้วานบิสซาก้าได้ ส่วนพวกดาวรุ่งอย่าง อีธาน แลร์ด ก็ยังไม่ดีพอจะใช้งาน

ผมว่ายังไงก็คงต้องซื้อแน่ๆ และมีทางที่หวยจะออกที่ "คีแรน ทริปเปียร์" จริงๆ โดยดีลนี้อาจจะมาวันท้ายๆ คล้ายๆกับดีลของ อเล็กซ์ เตลีส เมื่อซีซั่นที่ผ่านมา ซึ่งแมนยูไนเต็ดคงจะไปคุยกับแอตเลติโกมาดริด เพื่อต่อราคาให้ถึงที่สุดก่อน


ถ้าทางนั้นยืนยัน20ล้านให้ได้จริงๆ ผมว่าทีมเราก็อาจจะถอยเหมือนกัน เพราะอายุ30ราคานั้นมัน "ไม่ได้ป่ะแกร" ส่วนทางซีกของแม็กซ์ แอรอนส์ ก็เขียนให้ดูแล้วว่า น้องคงไม่อยากมาสำรอง ในยามที่โอกาสเล่นกับนอริชเต็มๆในพรีเมียร์ลีกก็กลับมาแล้ว

มืดแปดด้านจริงๆสำหรับเคสของการหาแบ็คอัพให้อารอน วานบิสซาก้า แล้วถ้าแมนยูซื้อนักเตะอายุ30ปีในราคา 20ล้าน (หรือมากกว่านั้น) เข้าทีมมา มันก็จะส่งผลต่อtransfer budgetที่จะลดลงจากการที่อาจจะได้ใช้เงินจำนวนนี้ไปถมซื้อตำแหน่งอื่นที่สำคัญกว่า อย่างเซ็นเตอร์แบ็ค หรือกลางรับอีกด้วย

ติดตามข่าวกันต่อไปว่า "ดาโลต์" จะพิสูจน์ตัวเองผ่านหรือไม่ หรือต้องปล่อยให้มิลาน หรือบอร์ดจะกัดฟันจ่ายเงินซื้อทริปเปียร์เข้ามา เพื่อป้องกันไม่ให้วานบิสซาก้าอยู่ในอันตรายของอาการบาดเจ็บจากการลงเล่นมากเกินไป

เชียร์กันต่อไปครับแฟนผี

-ศาลาผี-

References

https://thebusbybabe.sbnation.com/2021/6/23/22543920/manchester-united-right-back-roundup

https://www.transfermarkt.com/

https://www.whoscored.com/

https://fbref.com/en/stathead/player_comparison.cgi?request=1&sum=0&comp_type=by_type&dom_lg=1&spec_comps=big_5&player_id1=9e525177&p1yrfrom=2020-2021&player_id2=21512407&p2yrfrom=2020-2021

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด