:::     :::

แม้ไม่ได้ซื้อกลางรับ ก็ปรับเป็น 4-3-3 ได้

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
8,406
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
อ่านบทความนี้แล้วคุณจะเข้าใจว่า ข่าวการจะปรับแผนการเล่นของแมนยูเป็น "4-3-3" นั้นเป็นเรื่องที่อาจจะเป็นไปได้ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ได้ซื้อมิดฟิลด์ตัวรับคนใหม่มาเข้าทีมก็ตาม

เกี่ยวกับประเด็นในการเตรียมทีมไว้ลุยซีซั่นใหม่ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดนั้น นอกจากแค่เรื่องการซื้อนักเตะใหม่เสริมทีมแล้วนั้น ในภาคของการพัฒนาปรับปรุงทีม มันก็ไม่ได้เพียงแต่จะทำได้ด้วยการ "ซื้อนักเตะใหม่" แค่เหตุผลเดียวเท่านั้นที่จะอัพเกรดทีมได้

มันยังมีเหตุผลอีกมากมาย ในหลากหลายมิติที่ทีมฟุตบอลหนึ่งทีม จะเล่นดีขึ้นได้ ไม่ใช่แค่รอซื้อๆๆตัวใหม่อย่างเดียว ไม่งั้นบนโลกนี้ทีมเล็กก็ลืมตาอ้าปากไม่ได้เลยถ้าไม่มีเงิน

แต่หนึ่งในการปรับปรุงพัฒนาทีมได้ ก็คือการทดลองอะไรใหม่ๆ และลองปรับแผนการเล่นไปในอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจจะพบเจออะไรที่ดีและเข้าท่ากว่าเดิมก็เป็นได้

และมันเริ่มจะเข้าเค้าขึ้นมาแล้ว

มีข่าวล่าสุดจาก The Telegraph โดย James Ducker เจ้าเก่ารายงานว่า โซลชาได้บอกกับนักเตะแมนยูไนเต็ดว่า เขาอยากที่จะให้นักเตะเล่นในแผน "4-3-3" ฤดูกาลหน้า โดยที่โซลชาและทีมสตาฟฟ์ได้พูดคุยปรึกษากันว่าอยากจะใช้มิดฟิลด์ที่มีไอเดียในการสร้างสรรค์เกมรุก "สองคน" ยืนอยู่หน้ามิดฟิลด์ตัวรับหนึ่งคน ซึ่งก็คือใช้กลางรับเดี่ยวนั่นเอง

โดยจากการที่โซลชาพิจารณาที่จะเซ็นสัญญาเซ็นเตอร์แบ็คคนใหม่ในซัมเมอร์นี้นั้น ก็เพื่อที่จะเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสวิตช์แผนไปเล่น 4-3-3 [@TelegraphDucker]

นี่คือเนื้อหาตามข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งจะจริงแท้กี่เปอร์เซ็นต์เรายังไม่อาจรู้ได้ เพราะมันเป็นแค่ "ข่าว" เท่านั้น แต่ถามว่ามันเป็นไปได้ไหม? มันก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงอยู่เหมือนกัน หากว่าทีมงานมีชุดความคิดแบบ forward-thinking ที่อยากจะก้าวไปข้างหน้า ตามที่พวกเขาต้องการ "Forward-Thinking Midfielder" มาใช้งานในแผงกองกลางสองคนแล้วละก็ ทีมโค้ชเองก็ต้องไม่ย่ำอยู่กับที่เช่นกัน

ดังนั้น อาจจะมีการปรับเปลี่ยนจาก 4-2-3-1 ไปเป็น 4-3-3 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แถมน่าลองอีกต่างหาก

จริงๆแล้วถ้ายังจำกันได้ ช่วงแรกที่โซลชาเข้ามาคุมทีม เขาก็ให้แมนยูไนเต็ดเล่นแผนนี้มาก่อนในช่วงรับงานชั่วคราว ก่อนที่จะค่อยปรับมาใช้ 4-2-3-1 เป็นแผนหลักในภายหลัง

แผนนี้เป็นแผนที่เจ้าตัวใช้คุมทีมก่อนจะมาแมนยูไนเต็ดด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องของเจตนา ความตั้งใจที่จะใช้แผนนี้ น่าจะมีอยู่ในตัวโซลชาอยู่แล้ว เหลือแค่ว่า ทีมจะพร้อมเมื่อไหร่เท่านั้นเอง แล้วแต่ทรัพยากรนักเตะในทีมที่มี และความเป็นไปได้ที่จะซื้อนักเตะมาเสริมนั้น มากน้อยแค่ไหน

ตอนนี้มันอาจจะถึงเวลาแล้วก็ได้ที่โซลชามองว่า เราพร้อมที่จะกลับมาเล่นแผนนี้กันอีกครั้งแล้วในยุคของเขา

แต่เชื่อว่า เมื่อมีข่าวนี้ออกมา แฟนบอลบางส่วนน่าจะเกิดข้อสงสัยอีกแน่นอนว่า จะเล่นได้ยังไง ในเมื่อทีมยังไม่ได้ซื้อ "มิดฟิลด์ตัวรับ" เข้ามาในทีมเลย ซึ่งเป็นปัญหาที่ศาลาผีมองว่าหนักที่สุดในตอนนี้ ที่ทีมยังไม่มีกลางรับเข้ามา

ถ้าไม่ซื้อ แล้วจะมาเล่น 4-3-3 เนี่ยนะ จะเป็นไปได้ยังไง?

คำตอบคือ มันเป็นไปได้ และมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จะมาเล่น 4-3-3 ได้ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ได้ซื้อมิดฟิลด์ตัวรับที่ยืนปักหลักคนเดียวด้านหลังได้ก็ตามที

เหตุผลสำคัญที่ซัพพอร์ตว่าแมนยูจะเล่น 4-3-3 ได้ แม้ยังไม่ได้ซื้อกลางรับเข้ามานั้น มีสองประเด็นใหญ่ๆ

1. ใช้นักเตะที่ "มีอยู่แล้ว" ในทีม มาฝึกซ้อมแผน และปรับมายืนกลางรับเดี่ยว

นั่นก็คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในมือให้เป็นประโยชน์นั่นเอง แม้จะยังไม่ได้ซื้อมาใหม่ แต่เราสามารถใช้นักเตะคนที่มี "ศักยภาพเหมาะสม" กับตำแหน่งนี้ มาใช้ยืนกลางรับเดี่ยวได้

ณ ตอนนี้มีที่น่าสนใจที่สุดคือการใช้ สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ ปรับมายืนกลางรับเดี่ยวได้

สิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของน้องแม็คคือ การที่เล่นได้ทั้งเกมรับ และเกมรุก ในความเป็น Box-to-Box ดังนั้นความหลากหลายในการเล่นของแม็คโทมิเนย์ สามารถพอที่จะช่วยให้ทีมปรับใช้แผนการเล่นต่างๆได้ยืดหยุ่นขึ้น

ซึ่งในด้านเกมรับ อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า แม็คโทมิเนย์เด่นทางด้านเกมรับมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานและเกมปะทะในพื้นที่กลางสนามที่โดดเด่น แถมในทีมชาติสกอตแลนด์ แม็คโทมิเนย์ก็เล่นเซ็นเตอร์แบ็คสลับกับมิดฟิลด์ด้วย

ดังนั้นแม็คโทมิเนย์คือหนึ่งคนที่มีความเป็นไปได้สูง ที่จะปรับตำแหน่งมาช่วยลง กลางรับเดี่ยว ให้ทีมเราในแผน 4-3-3 ได้

นอกจากนี้แล้ว เรายังสามารถใช้นักเตะคนอื่นๆลงในตำแหน่งนี้ได้อีก ที่แน่ๆแล้วหนึ่งคนคือ เนมันย่า มาติช กลางรับแท้คนเดียวของทีมที่มีความสามารถในการเล่นโฮลดิ้งสูงสุดขีด ก็สามารถใช้มายืนกลางรับตัวเดียวได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นจุดที่แกถนัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการใช้งานมาติช อาจจะหักโหมมากไม่ได้ คงต้องสลับลงช่วยในช่วงท้าย หรือใช้ในบางเกมที่เจอคู่แข่งไม่ยากมากนัก เป็นเกมไม่สำคัญ ก็ปรับเอาลงมาเล่นได้

มาติชก็ยังถือว่านำมายืนใน 4-3-3 ได้อยู่

นอกจากนี้อีกตัวเลือกที่น่าสนใจในทีมเราตอนนี้ คือการที่โซลชาอาจเลือกที่จะเก็บ "เจมส์ การ์เนอร์" เอาไว้กับทีมเลยทันทีก็ได้ในฤดูกาลนี้ หลังจากที่หลายๆฝ่ายรวมถึงศาลาผีด้วย มองว่า การ์เนอร์น่าจะได้ปล่อยยืมไปอีกสักปีนึง เพื่อพัฒนาฝีเท้าแบบไม่ต้องรีบร้อน แต่ถ้าปีนี้ทีมเลือกที่จะเล่น 4-3-3 ขึ้นมาจริงๆ และยังไม่สามารถซื้อมิดฟิลด์ตัวรับที่เหมาะสมเข้ามาในทีมได้

เจมส์ การ์เนอร์ คืออีกตัวเลือกที่โซลชาอาจจะดึงไว้ใช้งานเป็นแบ็คอัพกลางต่ำของทีม ในฐานะตัวเล่นสาย Deep-lying Playmaker จากแนวหลังที่เขาทำผลงานได้ดีกับน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ในซีซั่นที่ผ่านมา


หรือแม้กระทั่ง ทางเลือกสุดแปลกแหวกแนว แต่ก็เป็นไปได้เหมือนกัน นั่นก็คือ อาจจะ "ลอง" ใช้ วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ ในการขึ้นมาเล่น DM ให้ทีมดูก็ได้ เพราะลินเดอเลิฟมีความสามารถในการเล่นกับบอลสูง รวมถึงเล่นเกมรับได้

หากแมนยูไนเต็ดเสริมกองหลังตัวแกร่งขึ้นมาเป็นตัวจริงคู่แมกไกวร์แทนลินเดอเลิฟได้ ทีมเราอาจจะสามารถปรับใช้ลินเดอเลิฟในการยืนต่ำ คอยเชื่อมต่อบอล และเล่นเกมรับที่อาจจะลงไปถอยลงไปยืนแทนตำแหน่งกองหลังได้ตลอดเวลา

ดังนั้นเราจึงอาจจะใช้ลินเดอเลิฟยืนกลางรับในลักษณะของ "Half-Back" แบบมาติช ในแผน 4-3-3 ได้อีกคน เป็นตำแหน่งที่จะถอยต่ำลงไปเซ็ตการยืนเป็นกองหลังสามคน เวลาตั้งเกมขึ้นหน้า(build-up play) หรือเน้นปักหลักเคลียร์เกมรับหน้ากองหลังได้

ข้อนี้ยืนยันว่ามีความเป็นไปได้สูงเหมือนกัน แถมแฟนแมนยูอาจจะปวดตับน้อยลงจากเรื่องเกมรับของเขาด้วยก็ได้ ถ้าจับมายืนสูงเพื่อเล่นเป็นHB และมีตัวที่ดีกว่า ยืนกองหลังซ้อนลินเดอเลิฟอีกต่อ

จากที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า โอกาสในการเล่นแผนนี้ ด้วยการนำเอา "นักเตะที่มีอยู่แล้ว" มาใช้งานในตำแหน่งกลางต่ำนั้น ก็มีตัวเลือก "เยอะ" พอสมควร แม้ว่าทีมเราจะยังไม่ได้ซื้อมิดฟิลด์ตัวรับเข้ามาในซีซั่นนี้

แต่ถ้าโซลชาจะใช้จริงๆ ตัวเลือกมาลงตำแหน่ง มีหลายคนอยู่เหมือนกัน แค่ที่ยกตัวอย่างมานี่ก็ 4 คนเข้าไปแล้ว กับตำแหน่งๆเดียวของ "กลางรับเดี่ยว"

ซึ่งเรื่องที่สำคัญมากพอๆกับความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ มันคือภาคของ "ความเข้าใจในแผนการเล่น" ที่นักเตะคนนั้นๆควรจะมี

เมื่อทีมกำหนดว่าจะใช้แผนนี้ สิ่งที่ทำคือ พูดคุยกับนักเตะ ปรับเรื่องแทคติก วิธีการเล่น การยืนตำแหน่ง ฯลฯ กับนักเตะทั้งทีม ดังนั้น "การซ้อมแผน" ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้

และยิ่งการปรับให้นักเตะเหล่านี้ มาลองเล่นในแผนใหม่ของทีม ด้วยบทบาทใหม่ มันจึงมีโอกาสเป็นไปได้สูง หากว่าได้มีการทดลองนำนักเตะเหล่านี้ มารับบทบาทใหม่ และทำการ "ซ้อมแผน" ให้เข้าใจหน้าที่ของตัวเอง

ถ้าหยิบเอาตัวที่มีศักยภาพจะเล่นได้เหล่านี้ มาทดลองให้ลงเล่นกลางรับเดี่ยว ซ้อมแผนเยอะๆ ฝึกความเข้าใจเกมเยอะๆ ยังไงผมเชื่อว่า นักเตะอย่างแม็คโทมิเนย์ การ์เนอร์ ลินเดอเลิฟ มาติช พวกนี้สามารถใช้ยืนกลางต่ำได้ในแผน 4-3-3 เพราะมีศักยภาพในตัวที่สามารถดึงมาใช้ในบางส่วนของการเล่นได้

หากว่ามีการเตรียมทีม ฝึกซ้อมแผนอย่างพอเพียง เราสามารถเล่นแผนนี้ได้ โดยใช้ตัวที่มีอยู่แล้วมาเล่นกลางรับเดี่ยวนั่นเอง

แม้กระทั่ง "เฟร็ด"

เฟร็ดคือคนสุดท้ายในมุมมองของผมที่อยากจะให้มาเล่นในตำแหน่งกลางรับ (ก็เลยแกล้งทำเป็นเขียนข้าม) นั่นเป็นเพราะว่า ด้วยชั้นเชิงและเหลี่ยมบอลของเฟร็ดเอง ยังไม่เพียงพอจะเล่นโฮลดิ้ง รักษาการครองบอลให้ทีมได้ รวมถึงการให้บอลก็ยังไม่แน่นอน ซึ่งตำแหน่งกลางรับ ถือเป็นอีกตำแหน่งนึงที่ต้องใช้ "ตัวชัวร์" ลงในจุดนี้ ซึ่งเฟร็ดไม่ได้มีความแน่นอนแบบนั้น

และที่สำคัญที่สุด สรีระทางร่างกายของเฟร็ด เสียเปรียบคู่แข่งแทบจะทุกคนในสนาม เพราะตัวเล็กมาก ที่สำคัญ แรงปะทะค่อนข้างน้อย หลายๆครั้งจึงถูกเบียดเอาชนะด้วยร่างกายตรงๆ และถูกชิงบอลไปได้ในพื้นที่อันตรายของทีมเรา โดยที่กรรมการไม่เป่าฟาล์วให้

เฟร็ดจึงเป็นตัวเลือกท้ายสุด ต่อจาก4คนดังกล่าว ที่จะหยิบมาเล่นกลางต่ำตัวเดียวให้กับทีมในแผน 4-3-3

แต่..ถ้าจำเป็นจริงๆ หรือทีมโค้ชมองเห็นศักยภาพของเฟร็ดจริงๆ ก็อาจจะ "ลองของ" ด้วยการฝึกซ้อมให้เขาลองยืนคนเดียว แล้วเพิ่มความเข้าใจเกมมากขึ้น เพิ่มแทคติกมากขึ้น เพื่อปิดจุดอ่อนในตัวเฟร็ดเหล่านั้นได้

เพราะฉะนั้น แม้กระทั่งเฟร็ด ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาลงกลางต่ำตรงนี้เช่นกัน แม้จะไม่ค่อยเหมาะก็เถอะ แต่ถ้าลองฝึกเข้าแผนบ่อยๆ แก้ไขและระวังจุดอ่อนที่มี ก็อาจใช้งานได้เหมือนกัน

ทั้งหมดนี้คือ ความเป็นไปได้ที่เราสามารถใช้งานนักเตะที่มี ในตำแหน่งกลางรับเดี่ยว แม้จะยังไม่ได้ซื้อตัวใหม่เข้ามา

และเตรียมบอกลา "McFred" การจับคู่กลางรับของเราที่ใช้ในปีที่่ผ่านมาได้เลย หากปรับแผนเป็น 4-3-3 จะไม่มี "แม็คเฟร็ด" อีกต่อไป แต่จะใช้งานสองคนนี้ในรูปแบบอื่นๆแทน

2. การเสริมกองหลังให้แน่นกว่าเดิม จะช่วยทดแทนเกมรับที่ขาดหายไปจากการไม่มีมิดฟิลด์ตัวรับธรรมชาติได้

ข้อนี้สำคัญมากๆเลยในการจะปรับมาเล่น 4-3-3 ทีมที่จะเล่นแผนนี้ได้ กองหลังต้องแข็งแกร่งจริง เกมรับดีจริง จะทำให้มีโอกาสใช้งานแผนนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งก็ตามเนื้อข่าวล่าสุดข้างบนเลยที่เขียนเอาไว้ว่า "โซลชาพิจารณาที่จะเซ็นสัญญาเซ็นเตอร์แบ็คคนใหม่ในซัมเมอร์นี้นั้น เพื่อที่จะเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสวิตช์แผนไปเล่น 4-3-3"

ข่าวบอกชัดเจนว่า ซื้อ CBตัวใหม่เข้ามา เพื่อเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการจะปรับไปเล่น 4-3-3 ได้

กองหลังตัวใหม่สำคัญยังไงกับแผนนี้? กล่าวคือ จากเดิมเราเล่นแผน 4-2-3-1 เป็นแผนที่กองกลางสามคนนั้น เราใช้เป็น "กลางรับ2 + กลางรุก1" ตามเดิมที่เคยเป็นมาก็คือ คู่Double Pivot อย่าง แม็คเฟร็ด + บรูโน่ 1คนในตำแหน่งกลางรุก

แต่ถ้าปรับเป็น 4-3-3 จะกลายเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับทันที มันจะเป็น กลางรับ1+กลางรุก2 ตามธรรมชาติของแผนนี้

เมื่อเป็นเช่นนั้น จะเห็นว่า ผู้เล่นเกมรับหายไป "1คน" เนื่องจากปรับจากเดิมที่แมนยูเล่นแผน "กลางรับคู่" มาโดยตลอด ต่อจากนี้เราจะลดเหลือ 1คน แล้วไปเพิ่มที่มิดฟิลด์ตัวสร้างสรรค์เกมเพิ่มขึ้นในแนวรุกอีก1ตัวในสนาม

ซึ่งพอเกมรับตรงกลางน้อยลงแล้ว นักเตะกองหลังก็จะต้องทำงานหนัก และรับผิดชอบการป้องกันมากขึ้นในเกมรับ

จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม แผน4-3-3 จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับการมีแผงแบ็คโฟร์ที่เล่นเกมรับได้แข็งแกร่ง ก็เพราะเพื่อทดแทนสิ่งที่ลดหายลงไปจากตัวรับในแดนกลางนั่นเอง

นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ว่า ทำไมการมี "เซ็นเตอร์แบ็คเก่งๆ" ถึงจำเป็นกับแผนนี้ และโซลชาถึงจะใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญของแผน 4-3-3

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หากว่าทีมเสริมกองหลังให้แน่นกว่าเดิมได้สำเร็จ มันอาจจะทดแทนได้ถึงขนาดว่า เราอาจจะชะลอการทุ่มซื้อมิดฟิลด์ตัวรับมาเข้าทีม

และเราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ "กลางรับจ๋าๆ" ในแผน 4-3-3 ยังได้เลย!

Case Study ที่ง่ายที่สุด และใกล้ตัวสุดๆที่จะนำมายกตัวอย่างให้ดูแบบเห็นได้ชัด ก็คือ "ทีมชาติอิตาลีชุดแชมป์ยูโร2020" ของผู้เขียนนี่ล่ะ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆว่า พวกเขาก็เล่น 4-3-3 ที่ไม่ได้ใช้ "กลางรับธรรมชาติ" ยืนปักหลักหน้าแผงหลัง ก็สามารถใช้แผนนี้จนประสบความสำเร็จได้

กล่าวคือ อิตาลีนั้น เล่นแผนนี้แผนเดียวมาตลอดทัวร์นาเมนต์ ใช้4-3-3 ลากยาวตั้งแต่นัดแรกจนถึงรอบชิงและคว้าแชมป์ได้สำเร็จ ซึ่งไม่มีกลางรับแท้เลยสักคนเดียว

มิดฟิลด์สามคนของอิตาลีชุดนี้นั้น ตัวที่คุมอยู่ตรงกลาง เป็นแกนสำคัญของทีมคือ จอร์จินโญ่

และจอร์จินโญ่ ก็ไม่ได้เล่นกลางรับซะด้วย!

Roleของเขาในทีมชาติอิตาลี คือการเล่นเป็นตัว "Regista" ที่ควบคุมจังหวะเกม เชื่อมเกมตรงกลาง คอนโทรลshapeการเล่นของทีม และดึงจังหวะช้าเร็ว นั่นคือสิ่งที่จอร์จินโญ่ทำ และเป็นหัวใจสำคัญในแกนกลางของทีม

ในส่วนของเกมรับ จอร์จินโญ่เองก็ช่วยวิ่งไล่ในเกมรับด้วย แต่เขาก็ไม่ได้ต้องแบกภาระหนักเป็นกลางรับจ๋าๆขนาดนั้น แต่แผน 4-3-3 ของมันชินี่ก็ยังใช้งานได้

มิดฟิลด์อีกสองคนที่เหลือ ก็ไม่ได้มีใครเป็นกลางรับ ไม่ว่าจะเป็นแวร์รัตติ แขนซ้ายของจอร์จินโญ่ที่วิ่งขึ้นวิ่งลงในแดนกลางด้วยความขยัน พลังงานที่ไม่หมดถัง และชั้นเชิงการเล่นที่อยู่ในระดับแนวหน้าของมิดฟิลด์บนโลก

สิ่งที่แวร์รัตติทำในแดนกลางของอิตาลี คือการเล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวซัพพอร์ตเกมในตำแหน่งCM ด้วยลักษณะของการเล่นเป็นตัว "Shuttler"  (หรือ "Carrilero") ที่ทำหน้าที่คอยไปอยู่ในจุดต่างๆในสนาม และสนับสนุนบอลให้กับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นรับบอลจากแดนหลัง หรือหาทางต่อจ่ายบอลให้กับตัวรุก คอยเชื่อมระหว่างแดนหลังกับแดนหน้า นี่คือหน้าที่ของแวร์รัตติ ซึ่งก็จะแตกต่างจาก box-to-box อย่างที่แฟนบอลบางส่วนไม่เข้าใจและตีความไปว่า ตัววิ่งขึ้นวิ่งลงคือ box-to-box อย่างเดียว

แต่สังเกตดีๆ แวร์รัตติจะไม่เข้าไปถึงกรอบของคู่แข่งสูงมากนัก ในขณะที่ปั้นเกมบุกจังหวะโอเพ่นเพลย์ แต่ในเกมรับ แวร์รัตติก็ไม่ได้ลงมาช่วยต่ำจนถึงในกรอบของตัวเอง ดังนั้น จึงไม่สามารถพูดได้ว่า แวร์เป็น box-to-box 100% ถ้าจะใช้พูดแบบบ้านๆให้เห็นภาพง่ายๆมันก็เรียกได้

แต่ในความเป็นจริง เขาคือตัวเชื่อมที่เป็นตัว Shuttler ลูกหาบในแดนกลางที่ทำได้ทุกอย่าง

ถ้าใครอยากรู้ว่า หากเฟร็ดได้ยืนสูงขึ้นมากลางสนามในจุดCM และได้เล่นRoleนี้ จุดที่พีคที่สุดของตำแหน่งนี้คือแบบไหน มันก็คือสิ่งที่แวร์รัตติทำให้อิตาลีนั่นแหละ คือจุดสูงสุดของตัวCarrilero ดังกล่าว

ซึ่ง แวร์รัตติ ก็ไม่ใช่ "กลางรับ" ในแผน 4-3-3 อีก

คนสุดท้าย นิโคโล่ บาเรลล่า มิดฟิลด์ยอดเยี่ยมเซเรียอา หลายๆคนเข้าใจผิดว่าหมอนี่คือกลางรับ แต่เปล่าเลย 43นัดกับอินเตอร์มิลาน เขาลงเล่นในตำแหน่ง "CM" เช่นกัน เล่นในแดนกลางของทีม ซึ่งบาเรลล่าเป็นมิดฟิลด์พลังไดนาโม ที่สามารถวิ่งพล่านไม่หยุด และสปรินท์เข้าไปบวก เข้าไปเพรสซิ่งคู่แข่งแบบบุกตะลุยด้วยทุกอย่างที่มีอย่างไม่หยุดยั้ง

แต่บาเรลล่า ก็ไม่ได้เล่นแต่เกมรับ ไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับของอิตาลี แต่เขาคือแขนขวาของจอร์จินโญ่ที่ทำหน้าที่เป็นตัว Box-to-Box วิ่งขึ้นวิ่งลง เล่นเกมเข้าบวก ไล่ปะทะ และเป็นส่วนหนึ่งของ "แดนกลาง3คน" ของอิตาลีที่จะคอยรับส่งบอล และเพรสซิ่งใส่คู่แข่งด้วยทีมเวิร์คของทั้งทีม

การเล่นของอิตาลีในทัวร์นาเมนต์ที่ผ่านมานั้น ในฐานะที่เป็นแฟนบอลอิตาลี ดูทีมแข่งตลอดทุกนัด จะเห็นค่อนข้างชัดว่า หน้าที่ของแต่ละส่วน ไม่ว่าจะกองหลัง กองกลาง กองหน้า ส่วนใหญ่จะแยกกันเป็นเอกเทศได้ชัด ซึ่งเราเห็นหลายๆครั้งที่ แผงมิดฟิลด์ของอิตาลีนั้น ไม่ได้ลงมาปักหลักอยู่ชิดหน้ากองหลัง แต่มิดฟิลด์จะยืนแยกสูงขึ้นไปในแดนกลางนิดหน่อย

บางครั้งเราเห็นสเปซระหว่างมิดฟิลด์ กับกองหลังอิตาลี ค่อนข้างห่างมาก หากว่าคู่แข่งมีคนที่เล่นในตำแหน่ง AM ยืนอยู่ ก็อาจจะโดนโจมตีจากจุดนั้นได้

และหลายๆครั้ง กลางต่ำของอิตาลีตรงนั้น "โบ๋" สุดๆ ไม่มีใครมายืนป้องกันเลย แต่อิตาลี ก็ไม่เสียประตูอยู่ดี ทั้งๆที่ไม่ได้มีมิดฟิลด์ตัวรับปักหลักสกรีนงานให้

สิ่งที่ทำให้ 4-3-3 ของพวกเขาไม่ต้องใช้กลางรับในแผนได้ นั่นก็คือ การมีเกมรับแนวหลังสุดของแผงกองหลังแบ็คโฟร์ รวมถึงผู้รักษาประตู ที่เล่นเกมรับได้เหนียวแน่นมากๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ทีมเล่นแผนนี้ได้

อย่างในข่าวที่โซลชามองนั่นแหละ คือสิ่งเดียวกันกับที่อิตาลีมี เขาถึงได้พยายามจะเซ็นสัญญา CBเก่งๆเข้ามาในทีม

ถามว่า อิตาลีมีอะไรในแผงกองหลัง? ก็แน่นอนครับ คู่หู คิเอลลินี่-โบนุชชี่ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกมรับอิตาลีเหนียวแน่นมาก ซึ่งมันสามารถทดแทนการช่วยสกรีนงานที่ลดลงของแดนกลาง จากการไม่มีDMแท้ได้

ดังนั้น กองหลังในแผนนี้ หากว่าไม่มีDMในทีม CBก็จะต้องรับผิดชอบเกมรับมากกว่าเดิมให้ได้ ซึ่งหากว่าทีมไหนมีCBเก่งๆ มันก็จะช่วยตรงนี้ได้มากๆ

อิตาลีชุดนี้เวลาเล่นเกมรับได้สำเร็จ ส่วนใหญ่แล้วคู่แข่งจะต้องมาตันอยู่ที่การเจาะไม่ผ่านกองหลังของพวกเขานี่แหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่คิเอลลินี่ โบนุชชี่ คือสิ่งสำคัญมากๆที่เป็นต้นแบบของการใช้แผนนี้

หากว่าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สามารถซื้อนักเตะที่เป็น "กองหลังชั้นยอด" คลาสสูงๆ ตัวเก่งๆเข้ามาเลย เพื่อที่จะผนึกกำลังให้เป็นพาร์ทเนอร์ตัวหลักกับ แมกไกวร์ ในตำแหน่งกองหลังได้ มันก็คล้ายๆการที่อิตาลีมี คิเอล-โบจัง อยู่ในทีม ถ้าเรามีคู่CBที่เก่งทั้งคู่ ยืนปักหลักเล่นเกมรับได้

นี่แหละ เหตุผลสำคัญว่า ทำไม การเซ็นสัญญากับกองหลังตัวใหม่ ถึงได้สำคัญมากกับการจะสวิตช์แผนเป็น 4-3-3 อิตาลีชุดนี้คือตัวอย่างที่ดีเลย จากการที่พวกเขาเล่น 4-3-3 แบบ "ไม่ได้ใช้กลางรับแท้" ในแผนได้ เพราะมีกองหลังที่เก่งนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ต้องนำมาคิดด้วยก็คือ แมนยูไม่ใช่ทีมชาติอิตาลี และวิธีการเล่นของเราไม่เหมือนกับของเขา

การที่อิตาลีสามารถเอาแผนนี้ได้อยู่ โดยไม่ต้องใช้DMนั้น เป็นเพราะว่า แดนหน้า+แดนกลาง ของพวกเขา ช่วยกันไล่บอลด้วยการเล่นเพรสซิ่งใส่คู่แข่งกันด้วยทีมเวิร์คทั้งทีมนั่นเอง ทำให้หลายๆครั้ง คู่แข่งโดนเพรสจนเสียบอลไปตั้งแต่แดนกลาง ทำให้เกมรับอิตาลีไม่ต้องเหนื่อยมาก เพราะ6ตัวข้างหน้า วิ่งพล่านในสนามด้วยไดนามิคที่เหนือกว่าคู่แข่งนั่นเอง

แต่อย่าลืมว่า แมนยูเรา ไม่ได้เล่นเพรสซิ่งแบบอิตาลี

ถึงแม้การเสริม CB เก่งๆเข้ามา จะทำให้เราปรับมาเล่น 4-3-3 ได้ก็จริง แต่ถ้าจะให้ครบสมบูรณ์สำหรับแมนยูไนเต็ดก็คือ ยังไงเราก็ต้องใช้ "มิดฟิลด์ที่เน้นเกมรับ" อยู่ในแผน 4-3-3 ที่โซลชาต้องการอยู่

เพราะเหตุปัจจัยคือ กองกลางเราจะไม่ได้ใช้เป็นกลางตัววิ่งเหมือนอิตาลี แต่ตามข่าวบอกว่า เราจะใช้เป็นพวกมิดฟิลด์ที่มีไอเดียการทำเกมรุก2คน ในแดนบน เพราะฉะนั้น สองคนดังกล่าว คงจะเล่นเพรสซิ่งหนักๆแบบอิตาลีไม่ได้

ไม่ต้องนึกไปไหนไกล คิดง่ายๆว่าถ้าเป็น "ป็อกบา" ยืนกลางรุกคู่ในแผน 4-3-3 ก็เห็นภาพแล้วว่า เราเล่นแบบอิตาลีไม่ได้

ดังนั้น ถึงปีนี้จะซื้อเซ็นเตอร์แบ็คเก่งๆเข้ามาก็จริง แต่เราทำแบบอิตาลีไม่ได้ ที่เขาไม่ใช้ตัวเล่นกลางรับในแผน ไม่มีใครยืนปักหลักต่ำเลยสักคนเดียว

แต่แมนยูยังต้องใช้อยู่

ดังนั้นการจะเทรนตัวที่มีอยู่ในทีม ให้มาเล่นกลางรับให้ได้นั้น ถือว่ายังสำคัญสำหรับแมนยูอยู่ดี

มันจึงได้มีสองเหตุผลสำคัญดังกล่าวนี้เองว่า แมนยูไนเต็ดจะสามารถสวิตช์ไปเล่นแผน 4-3-3 ได้ ต้องมีสององค์ประกอบนี้ ในยามที่ยังไม่ได้ซื้อกลางรับธรรมชาติเก่งๆเข้ามานั่นเอง

ข้อดีจากข่าวที่เราจะปรับมาเล่น 4-3-3 นั้น สิ่งแรกก่อนเลยที่จะมาก็คือ "เกมรุกจะดีขึ้น" แน่นอน ซึ่งนี่น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องหมายการค้าของแมนยูอยู่แล้ว เพราะธรรมชาติปีศาจแดงในสายตาแฟนบอล ต้องเล่นเกมรุกเท่านั้น จะมาเหมือนจารย์หลุยส์ หรือยุคมูนี่คือไม่ได้เด็ดขาด

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เห็นว่า อย่างน้อยโซลชาก็รู้ใจแฟนบอล และรู้ตัวตนของทีมดี

เกมรุกของทีมจะดีขึ้นในแผนนี้ เนื่องจาก "ปริมาณตัวทำเกมรุกหลัก" ที่จะอยู่ในสนาม มันเพิ่มมากขึ้นเป็น "5คน" ซึ่งก็คือครึ่งทีมเข้าไปแล้ว ประกอบด้วย ฟร้อนทรี3คน +กลางรุก2คน รวมแล้วเป็น 5 และยังสามารถรวมกับ "วิงแบ็ค" ที่เติมขึ้นมาได้อีก2คน

เท่ากับว่า ในเกมรุกเราอาจจะมีนักเตะได้มากถึง "7คน" ในพื้นที่Final Thirdของคู่ต่อสู้ ซึ่งแน่นอนว่า บุกสนั่นแน่ๆ โดยที่สามคนที่ค้ำแดนหลัง และเล่นเกมรับก็คือ กลางรับ1+2เซ็นเตอร์นั่นเอง

แผนนี้นอกจากปริมาณเกมบุกจะดีขึ้นแล้ว "คุณภาพเกมบุก" ก็จะดีขึ้นด้วย

เพราะที่ผ่านมา ใน4-2-3-1 ของยูไนเต็ด เรามีคนสร้างสรรค์เกมรุกอยู่ "คนเดียว" ทั้งทีม นั่นก็คือ บรูโน่ แฟร์นันด์ส ที่ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่จ่ายบอล เชื่อมเกม แอสซิสต์ ขึ้นไปยิงเอง ทำทุกอย่างจริงๆ

ล้มลงไปกองกับพื้น เพื่อนยังจ่ายบอลมาให้ ก็คิดดูเอาเอง!

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การใช้แผนที่ยึดโยงกับ AM ตัวเดียว แล้วหมอนั่นเป็นแกนหลักของการทำเกมบุกคนเดียวนั้น มันเสี่ยงมากๆที่คู่แข่งอาจจะส่งนักเตะมาจับตายด้วยการ ประกบติดแน่นแบบ man-marking ไปไหนไปกัน ตามบรูโน่จนสุดหลาฟ้าเขียว

นอกจากนี้ยังไม่พอ หากว่าคู่แข่งเล่นด้วยแผนที่ "แพ็คกลางแน่นมากๆ" ด้วยระบบหลังสาม และมีตัวยืนเรียงกันข้างหน้า4หรือ5คนในกำแพงชั้นนอก บรูโน่ก็แทบจะเล่นในตำแหน่งกลางรุกไม่ได้เลย จนต้องถ่างออกมาเล่นริมเส้นแทน

ทั้งสองกรณีนี้ อาจจะทำให้เกมรุกแมนยู "บอด" ได้ทันที หากว่าตัวเดียวที่มีอยู่ในแดนรุกอย่างบรูโน่ ถูกปิดตายในเกมนั้น

แต่หากแมนยูปรับมาใช้ 4-3-3 ความเสี่ยงที่บรูโน่จะโดนปิดผนึกจนแมนยูบ้อท่านั้น จะหายไปทันที เพราะเป้าประกบของคู่ต่อสู้ในตำแหน่งตัวทำเกมรุกตรงกลางนั้น จะเพิ่มขึ้นมาเป็น "สองคน" ทันที

หากว่าตัวนึงโดนประกบติดจนทำเกมไม่ได้ อีกตัวนึงก็จะยังมีช่องอยู่ และช่วยกันสร้างเกมบุกให้มากขึ้นได้ด้วย

คิดง่ายๆ หากว่าเป็น ป็อกบา-บรูโน่ ลงในตำแหน่งกลางคู่ในลักษณะของการเล่นแบบ "มิดฟิลด์เบอร์8" ตัวขับเคลื่อนเกมคู่กันสองคน ที่ตามบทความอธิบายแทคติกต่างๆแทนการเรียกตรงนี้ด้วยสัญลักษณ์ว่า การใช้มิดฟิลด์แบบ "8s" นั้น สองคนนี้จะช่วยกันทำเกมบุกสลับกัน และคู่แข่งไม่สามารถปิดตัวใดตัวหนึ่งได้

เกมรุกจะไม่ตันแน่นอน หากว่ายูไนเต็ดปรับมาเล่นแผนนี้ ที่เมื่อก่อน บรูโน่ มักจะต้องทำเกมอยู่คนเดียว เพราะเราเสียผู้เล่นแดนกลางไปยืนอยู่ข้างหลังถึง 2คน อย่าง เฟร็ด กับ แม็คโทมิเนย์

ประเด็นเรื่อง "ความเสี่ยง" ที่จะถูกปิดผนึกเกมรุกของทีมเรา จากการที่บรูโน่โดนปิดตายนั้น ก็จะหายไปทันทีที่แผนเราเล่นด้วยมิดฟิลด์คู่ 8s ดังกล่าว

เกมรุกจะบุกแหลก และยิงได้มากกว่าเดิมแน่นอนหากว่าปรับมาเล่นแผนนี้จริง

และนักเตะที่จะ "ยิ้มแฉ่ง" จากการปรับแผนนี้ มีสามคน

-บรูโน่ แฟร์นันด์ส จะเล่นสบายขึ้นทันที ถ้ามีคนมาช่วยทำเกมแบ่งเบาเขา ไม่ต้องถูกล็อคตายอยู่คนเดียวอีกต่อไป ทำให้เจ้าตัวอาจจะหาช่องว่างเล่นงานคู่แข่งเพิ่มขึ้นได้ด้วย ถ้าการป้องกันตัวเขามันลดน้อยลง

-ปอล ป็อกบา ยิ้มชัวร์ๆรายนี้ เพราะในแผน 4-3-3 เขาจะไม่ต้องรับผิดชอบเกมรับมากมายเท่ากับตอนที่ยืนคู่กลางในแผน 4-2-3-1 ที่ต้องรับผิดชอบเกมรับด้วย

ในแผน 4-3-3 ป็อกบาจะโบยบินเหมือนในทีมชาติฝรั่งเศส เพราะพี่แกจะได้เล่นเกมรุกแบบเต็มตัวได้ตามอิสระนั่นเอง

-ดอนนี่ ฟานเดอเบค นี่คือคนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการที่ทีมอาจจะปรับมาเล่น 4-3-3 เพราะพี่แกจะได้ "Slot" ของโอกาสในการลงตัวจริงเพิ่มหนึ่งตำแหน่งทันที เนื่องจากมีตัวเลือกให้ใช้กลางรุกสองคน ดอนนี่ก็มีโอกาสจะได้ลงสนามเยอะขึ้นแน่นอน อาจจะเป็นการจับคู่ ป็อกบา-บรูโน่ / ป็อกบา-ดอนนี่ / บรูโน่-ดอนนี่ ก็เป็นไปได้

หรืออาจจะรวมถึง บรูโน่-มาต้า หรือ ดอนนี่-มาต้า ทุกอย่างได้หมด ขึ้นอยู่กับรูปเกมและสถานการณ์นั้นๆ

นั่นแปลว่า "คอมโบ" ที่โซลชาจะต้องเลือกนั้น จากเดิมที่เลือกจับคู่กลางได้อย่างเดียว แต่ต่อไป โอเล่จะได้เลือกคอมโบ "คู่กลางรุก" กันบ้างแล้ว ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น โอกาสของดอนนี่จะมาทันที

ใครที่เอาใจช่วย และเชียร์เจ้าหนูคนนี้อยู่ บอกได้เลยว่า คุณก็ต้องเชียร์ให้ทีมปรับมาใช้ 4-3-3 เท่านั้น ดอนนี่ถึงจะมีโอกาสได้ลงเล่นเยอะกว่าเดิมในปีนี้

นอกจากทั้งสามคนนี้แล้ว หากเล่น 4-3-3 ตัวที่ได้ประโยชน์ และอาจจะฟอร์มดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าได้ยืนในตำแหน่งที่ไม่ใช่กลางต่ำ ก็คือ "แม็คโทมิเนย์"

นี่เป็นประเด็นอย่างที่สอง ที่เห็นประโยชน์สำคัญของน้องแม็คในแผนนี้ เพราะนอกจากอาจจะให้เล่นกลางรับเดี่ยวได้แล้ว แม็คยังสามารถเล่นเป็น "กลางรุกคู่" ได้อีก ในบทบาทของ Box-to-Box ที่เติมสูงขึ้นมากดดันในกรอบเขตโทษคู่แข่ง

ถ้าใครจำกันได้ ทีมชาติอังกฤษรอบชิงชนะเลิศ หากจะสังเกตดีๆ ตอนที่เฮนเดอร์สัน อยู่ในสนาม ที่จับคู่กับเมสัน เม้าท์ นั่นก็เหมือนกัน เมื่อเฮนโด้ เติมขึ้นสูงไปเล่นในกรอบเลยโดยตรง หลังจากที่ฝากบอลเพื่อน เพราะว่าด้านหลังสุดของเขา มีคาลวิน ฟิลลิปส์ ยืนปักหลักต่ำเป็นกลางรับตัวเดียวแล้ว เฮนโด้จึงเล่น B2B เติมรุกได้

เราสามารถใช้ แม็คโทมิเนย์ ในการเล่น กลางรุกคู่ได้เช่นกัน ในลักษณะของการให้เติมสูงขึ้นไปในกรอบ แบบBox-to-Box นั่นเอง ถ้าจะให้พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนตอนมีเฟลไลนี่อยู่นั่นเอง นี่คือประโยชน์ที่จะใช้งานน้องแม็คได้อย่างหลากหลายถึง2ต่อ

ให้น้องยืนต่ำเดี่ยวก็ได้ หรือจะยืนรุกคู่ ก็ยืนได้เช่นกัน

ข้อดีของแผนนี้ยังไม่หมด ถ้าปรับมาแผนนี้ขึ้นมาจริงๆ เราจะบุกแหลกกันยิ่งกว่าเดิมอีกในแง่ของการสร้างสรรค์เกมรุก

จากเดิมที่มีพี่หนวดเป็นเพลย์เมคเกอร์หนึ่งเดียว ต่อไปเราจะมี เพลย์เมคเกอร์คู่ ถ้าเล่นในแผนนี้ เกมรุกจะสร้างสรรค์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม และปีหน้า มันจะเยอะขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะตอนนี้ เราได้ตัวของ "เจดอน ซานโช่" มาเสริมทีมแล้วเรียบร้อย

เท่ากับว่า ถ้าสมมติเราปรับมาเล่น 4-3-3 กันจริงๆ เราจะมีนักเตะที่เป็น "ตัวสร้างสรรค์เกมรุก" เพิ่มได้เป็น "3คน" ในแนวรุกแน่นอน จากกลางรุกสองคน และมิติการทำเกม สร้างเกมบุกจากเจดอน ซานโช่ ในเกมริมเส้นทั้งซ้ายและขวา

ปัญหาการเจาะคู่แข่งประเภทตั้งรับลึกไม่เข้า ก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน และถ้าเป็นแบบนั้นจริง คนที่จะ "ยิ้ม" จริงๆในการเล่นแผนนี้ คือเหล่า "Striker" ในทีมเราทั้งหลาย จะยิงประตูได้เยอะกว่าเดิมชัวร์ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมสัน กรีนวู้ด / มาร์คัส แรชฟอร์ด / อาจรวมอ็องโตนี่ มาร์กซิยาล

และที่สำคัญที่สุด "เอดินสัน คาวานี่" ในปีสุดท้ายของเขา จะยิงประตูถล่มทลายยิ่งกว่าที่ผ่านมาแน่นอนในแผนนี้

ลองนึกภาพ บรูโน่ + ป็อกบา + ซานโช่ ทำเกมรุกร่วมกัน แล้วมีมือสังหารอย่าง คาวานี่ แรชฟอร์ด หรือกรีนวู้ด รอจบสกอร์ดูสิ

ขนาดว่าคนครีเอทเกมบุกไม่ค่อยมี พี่แกยังยิงขนาดนั้น ถ้าได้คนป้อนดีๆอย่างซานโช่ + คู่กลางรุกอีก

บอกเลยว่า ถ้าใช้ 4-3-3 คาวานี่ยิงจนเมื่อยตีนแน่!

หากให้ลองจินตนาการ แผนการเล่นในฤดูกาลใหม่ของแมนยูไนเต็ด โดยการลองเอาชื่อนักเตะที่มีข่าวกับเราแรงๆ (ซึ่งก็รวมๆวารานไปก่อนก็ได้ เพราะข่าวหนาหูสุดแล้ว) มาผสมผสานกับตัวที่มีอยู่ ในร่างทรง 4-3-3 ของปีศาจแดงนั้น น่าจะออกมาในรูปแบบนี้

หรือจะปรับให้เป็นพวกตัวอนาคต นักเตะวัยรุ่น โดยสถานการณ์ที่ว่า เราได้แค่ซานโช่ กับ กองหลังเข้ามาหนึ่งคน เราอาจจะปรับเป็นแผน 4-3-3 ที่เป็นลักษณะของการใช้ False Nine ที่นำโดยซานโช่ได้ดังนี้

โอ้โห นี่มันเรื่องใหญ่เลยนะเนี่ย!

การมีซานโช่เข้ามาตัวเดียว ก็แทบจะทำให้แนวรุกแดนหน้าสามารถจัดตัวได้อิสระแบบ Free-form อยู่แล้ว หากว่าได้กองหลังดีๆเข้ามาอีกตัว ทีมเราก็จะปรับแผนให้ยืดหยุ่นได้อีกในแดนกลาง หากว่ากองหลังแน่นแล้ว จะจัดยังไงก็ได้ โดยปรับใช้นักเตะที่มีอยู่อย่างแม็คโทมิเนย์ มายืน DM ให้ทีมได้อย่างที่เห็น

ทั้งหมดด้านบนนี้ คือการวิเคราะห์ผ่านการตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า "แมนยูไนเต็ดยังไม่ได้เสริมมิดฟิลด์ตัวรับ" เข้ามาซะด้วยซ้ำ ซึ่งทุกอย่างก็ยังไม่แน่นอนอยู่ดี

แล้วถ้าปีนี้เราดันทะลึ่งซื้อกองกลางเข้ามาได้อีกคน จะเกิดอะไรขึ้น? มันก็จะยิ่งดีกว่าเดิมแน่นอน

ยกตัวอย่างง่ายๆกับดีลที่ข่าวเริ่มซา และทำท่าเหมือนจะล่มไป (ณ ตอนนี้) อย่างข่าวการซื้อ "เอดูอาร์โด้ คาเมวิงก้า" นั่น หากว่ามีอะไรที่ทำให้เราซื้อเขาเข้ามาได้จริงๆ เราก็สามารถปรับเอา คาเมวิงก้า มาเล่นในตำแหน่ง "กลางรับ" ได้ เหมือนตอนที่เขาเล่น DM ในฤดูกาล 2019/20 ให้กับทีมแรนส์ ในลีกเอิง

ถ้าอยู่ดีๆ ข่าวน้องมันขึ้นมาโหมกระพืออีกรอบ หลังจากเสริมกองหลังได้แล้ว บอกเลยว่า แมนยูจะโหดกว่าเดิมแน่ๆ แล้วมาลองดู Squad Depth ในตำแหน่งต่างๆ หากว่าเล่น "4-3-3" เราจะมีนักเตะประจำการยังไงบ้างในด้านคุณภาพเชิงลึกของทีม

จริงๆไม่ต้องถึงกับได้ตัวเด่นๆแบบ ทริปเปียร์ หรือคาเมวิงก้าหรอก จริงๆถ้าซื้อพวกมิดฟิลด์สายตัดเกมเข้ามาในทีมสักคนนึง จะใครก็ได้ ไม่ต้องถึงระดับเดแคลน ไรซ์ก็ได้ที่ดูจะแพงเกินไป หากว่าอยู่ดีๆทีมเราได้ตัว DM เข้ามาสักคน เราก็จะปรับเป็น 4-3-3 แบบเต็มสูบที่จะใช้ยาวทั้งฤดูกาลได้แน่นอน

อย่างน้อยที่สุด เบื้องต้นแค่ได้เซ็นเตอร์เก่งๆเข้ามา เพื่อยืนเป็นหลักประกันของแผงหลัง ให้เหมือนที่แมกไกวร์ได้จับคู่กับเซ็นเตอร์ดีๆอย่างสโตน ก็เพียงพอจะให้แนวรับเราแข็งแกร่ง และน่าไว้ใจได้เพียงพอกับการจะเริ่มปรับมาเล่นแผนนี้ได้แล้ว

แต่ถ้าหากคว้าแมนยูคว้ากลางรับมาได้จริงๆ บอกเลยว่า จะมีโอกาสได้ลุ้นแชมป์ด้วย "4-3-3" นี่แหละ

ถ้าฟลุคซื้อเข้ามาได้อีกตัวนะ มึงเอ๊ยยยยยย แค่คิดก็สนุกแล้ว

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด