:::     :::

การ build-up จากแดนหลัง โกลสำคัญจริงๆ

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
2,613
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ฟุตบอลยุคปัจจุบัน การสร้างเกมจากแดนหลัง ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญมากๆที่ทีมระดับท็อปจะใช้เพื่อครองบอลไปบุก และแก้เพรสจากคู่แข่งได้ แต่ดาวิด เดเคอาของเราไม่เหมาะกับตรงนี้จริงๆ นี่คือภาควิเคราะห์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อหาทางแก้ไขและยกระดับต่อไป

สิ่งหนึ่งที่จะต้องเขียนออกตัวนำไว้ก่อนในทุกๆครั้งที่จะต้องพูดเรื่องนี้ก็คือ ส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างรักดาวิด เดเคอามากๆ ในฐานะนักเตะแมนยูไนเต็ดที่อยู่ด้วยกันกับพวกเราแฟนบอลมาอย่างยาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ในปีที่ทีมไม่เอาอ่าวจนกระทั่งเดเคอาได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยม เขาคือเดอะแบกที่ทำให้ทีมไม่จมลงต่ำไปกว่านี้

ความรักตรงนี้ไม่เคยหายไป และเรารู้ดีเสมอว่าเดเคอาคือคนสำคัญของที่นี่ในฐานะว่าที่ตำนานผู้รักษาประตูอีกหนึ่งคนแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ด

แต่.. ถ้าเราพูดกันตรงๆถึงประสิทธิภาพในการเล่นกับฟุตบอลสมัยใหม่ ที่ผู้รักษาประตูมีส่วนกับการเล่นของทีมมากขึ้นจากการครองบอล ขึ้นเกมจากแดนหลัง และการเตะออกบอลจากกรอบเขตโทษ เรื่องนี้มันหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟุตบอลของนายใหญ่อย่าง เอริค เทน ฮาก มีปรัชญาการเล่นที่เน้นการ build-up จากแดนหลังเป็นสำคัญ (Playing from the back หรือจะเรียกว่า Play out of defense ก็ได้) เราคงหนีความจริงไปไม่ได้ว่า ดาวิด เดเคอา ไม่เหมาะกับสไตล์ดังกล่าวจริงๆ

แน่นอนว่าการเซฟประตูในฐานะโกลสาย Shot Stopper ระดับยอดเยี่ยมคนหนึ่งของโลก ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสุดสำหรับคนเป็นโกล ในความเข้าใจทั่วๆไป แต่เอริค เทน ฮาก ก็เคยพูดเรื่องนี้เอาไว้ว่า ฟุตบอลในระดับสูง เรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญที่ผู้รักษาประตูจะต้องทำให้ได้

ก็เหมือนกับที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า จัดการยกเครื่อง GK ของเขาใหม่ จนกระทั่งได้เอแดร์ซอน ใช้ยาวมาจนถึงบัดนี้ โดยไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่าๆเลย แม้ว่าโจ ฮาร์ท จะเป็นคนสำคัญที่พาให้ทีมได้แชมป์มาก่อนหน้านั้น

ดังนั้น ในบทความนี้เรามาดูกันว่า การเล่นของดาวิด เดเคอา ส่วนไหนที่ยังคงเป็นปัญหากับระบบฟุตบอลที่เน้นการ build-up จากแดนหลังอยู่บ้าง เมื่อเทียบกับผู้รักษาประตูคนอื่นๆที่มีสไตล์การเล่นที่เป็น Sweeper Keeper ที่เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่ฟุตบอลต้องการอะไรๆจากนักเตะมากขึ้น ไม่ว่าจะจากผู้เล่น outfield ทั้ง 10 รวมถึงผู้รักษาประตู นักฟุตบอลยุคนี้จะต้องเก่งแบบรอบด้านจริงๆ

หมดยุคที่นักเตะจะทำอะไรเป็นแค่สิ่งที่ตัวเองถนัดแค่อย่างเดียว ไม่มีอีกต่อไปแล้ว และนี่คือตัวอย่าง

1. การเตะออกบอล

ประเด็นแรกสุดของข้อสังเกตในบทความที่พูดถึงเรื่อง build-up play คือเรื่องของการ "เตะออกบอล" คิดว่าข้อนี้แฟนบอลเองก็คงจะเห็นชัด โดยไม่ต้องอ้างอิงสถิติมากมาย ส่วนใหญ่จะรู้ดีว่านี่คือจุดอ่อนของเดเคอา ที่มักจะออกบอลไม่ค่อยได้เปรียบสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆในยุคนี้แกก็เป็นรองพวกโกลสาย Sweeper Keeper จริงๆ

จากภาพข้างบนนี้คือการออกบอลในเกมที่แมนยูไนเต็ดแพ้ลิเวอร์พูล 7-0 สิ่งที่เราสังเกตได้ก็คือ ดาวิด เดเคอา ออกบอลสำเร็จค่อนข้างน้อย โดยส่วนใหญ่ที่ออกบอลสำเร็จในเกมนั้น คือการออกบอลสั้นประมาณ 5 ครั้งได้ ส่วนอีก 6 ครั้ง เป็นการออกบอลยาวไปครึ่งสนาม รวมแล้วประมาณ 11 ครั้ง

ส่วนการออกบอลที่ไม่สำเร็จ 11 ครั้ง เป็นการออกบอลยาวที่พลาดล้วนๆทั้ง 11 ครั้ง จากในภาพค่อนข้างชัดเจน ลูกศรยาวสีเทาคือผลของ Unsuccessful passes ของเดเคอาในเกมนั้น

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าให้เตะยาวออกมาแกเตะแทบจะไม่เข้าเป้าเลยนั่นแหละ

ข้อสังเกตของสถิตินี้ในเกมนี้คืออะไร? โอเคจริงอยู่ว่าหลักๆก็คือสิ่งที่เราเขียนไปแล้วว่าเดเคอาออกบอลยาวออกมาไม่แม่นเลย แต่สิ่งที่แฟนบอลจะต้องคำนึงด้วย ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ด่าเดเคอาอย่างเดียวก็คือ

1.1 ระบบทีมของเราที่จะไปรับบอลต่อจากเดเคอา ดีพอหรือยัง?

1.2 คู่แข่งวางแทคติกการเล่นมายังไง โดยเฉพาะการ "เพรสซิ่ง" ขึ้นมาบีบแดนหลัง

ซึ่งก็ค่อนข้างชัดเจนว่าลิเวอร์พูลเล่น High Pressing อยู่แล้ว ไม่แปลกที่เดเคอา จะออกบอลยาวเป็นหลัก และก็เสียบอลแทบจะทุกครั้งที่เตะเปิดเกมสาดขึ้นหน้ามาอย่างที่เห็น ข้อนี้ความรับผิดชอบก็อยู่ที่ทีมเราด้วยที่เจอเพรสซิ่งแล้วมีปัญหา ไม่สามารถครองบอลหรือแกะเพรสได้ รวมถึงไม่สามารถดึงให้นักเตะ outfield ถอยต่ำมาช่วยเดเคอาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาจจะพูดได้ในกรณีแมตช์เจอลิเวอร์พูลนี้

แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเมื่อดูภาพรวมในเกมอื่นๆด้วยนั้น เดเคอามักจะเตะสาดยาวออกมาจริงๆ สถิติเป็นไปดังภาพข้างล่างนี้

นี่คือการเตะ goal kicks ของเดเคอาในซีซั่น 2022/23 ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าผู้อ่านจะนึกภาพออก ถ้าคุณเป็นแฟนผีว่า เดเคอาเล่นในสนามจริงๆยังไงกันแน่

สีม่วงคือเตะออกมาและบอลถูกรับภายในกรอบเขตโทษ ส่วนสีแดงคือ จุดที่บอลเตะออกมาและถูกรับนอกกรอบเขตโทษ

การเตะของเดเคอาส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่บอลสั้นส่งใกล้ๆให้เพื่อนในกรอบ ก็จะเป็น Long-range passes เตะยาวสาดออกไปขึ้นหน้าจนถึงในแอเรียเกินครึ่งสนาม ตามในรูปนี้เลย

สิ่งที่เดเคอา แทบจะไม่ค่อยเล่นเลยก็คือการเตะออกไปใน "ระยะกลาง" หรือ mid-range passing เดเคอาไม่มีเลยจริงๆ หลายๆครั้งที่เห็นเตะออกมาแอเรียนั้น มักจะเป็นการเตะแป้กเสมอซึ่งก็ถูกสวนกลับขึ้นมาทันที ภาพนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า การเตะของเดเคอานั้น ขาดคุณภาพในการเตะทางด้านความหลากหลาย และสกิลทักษะที่สามารถคุมการเตะบอลออกไปที่สามารถสร้างความสมดุล และแจกจ่ายบอลให้เพื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เดเคอายังขาดจุดนี้อยู่

เพราะเมื่อเทียบเรื่องนี้กับโกลคนอื่น จะเห็นความต่างชัดเจน เช่นจากภาพข้างล่างนี้ของ ดิโอโก้ คอสต้า เป็นต้น

ภาพนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า Diogo Costa คือผู้รักษาประตูที่มีสกิลการออกบอลที่ค่อนข้างดี บอลถูกแจกจ่ายออกไปทั่วทั้งสนามอย่างสมดุล บาลานซ์ซ้ายขวาอย่างพอเหมาะ และลูกจ่ายที่เป็น  mid-range จ่ายบอลในระยะกลางก็มีให้เห็นเยอะมากพอๆกับการเตะไกลออกไป และการส่งสั้นในกรอบเขตโทษ

เทียบกับเดเคอาแล้วจะชัดเจนว่า น้าเดมีการเตะ Goal Kick อยู่มิติเดียวจริงๆคือ ถ้าไม่ส่งสั้นก็สาดยาวขึ้นหน้ามาเลย ไม่สามารถคอนโทรลจ่ายระยะกลาง หรือจ่ายเลือกเป้าเหมือนที่คอสต้าทำได้

และถ้าจะเอาเฉพาะการจ่ายลูกยาว (Long Passes) ซึ่งเป็นจุดอ่อนของเดเคอา อย่างที่รูปแรกตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เขาจ่ายบอลยาวแทบจะไม่สำเร็จเลยสักครั้ง

ลองมาดูเฉพาะการจ่ายยาวของเป้าหมายที่ผู้เขียนอยากได้อีกคน อย่าง David Raya มีอัตราการจ่ายบอลยาวสำเร็จที่สูงมาก ตามภาพข้างล่างนี้ ถ้าเทียบกับน้าเด (ภาพแรก) จะเห็นว่าบอลยาวทุกลูก น้าเดเป็นสีเทาหมด แต่ดูบอลยาวของราย่าตามภาพข้างล่างนี้ ทั้งหมด 43 ครั้ง เค้าจ่ายสำเร็จไป 23 ครั้ง คิดเป็น 53% ของบอลยาวทั้งหมด (ของน้าเดที่คอมพลีท 50% นั่นคือคิดภาพรวม และได้จากบอลสั้นล้วนๆ)

แล้วดูความโหดของราย่าในภาพนี้ครับ เตะบอลยาวออกมายังแม่นมากขนาดนี้ อัตราสำเร็จสูงเกินครึ่ง

นอกจากราย่า คอสต้าแล้ว ยังมีตัวที่เป็นข่าวกับแมนยูอยู่อย่าง อังเดร โอนาน่า อดีตศิษย์เก่าเทน ฮาก ว่าอาจจะมีค่าตัวราว 45 ล้านปอนด์หากแมนยูไนเต็ดจะดึงไปเสริมทีม หรืออาจจะใช้นักเตะบางคนมาแลกเปลี่ยนเพื่อลดค่าตัวตรงนี้ได้

อังเดร โอนาน่า เป็น Sweeper Keeper สายเล่นบอลด้วยเท้าเน้นๆ และสุดโต่งแบบจัดๆด้วยการขึ้นมาเล่นตรงกลางแทบจะเป็นมิดฟิลด์ตัวโฮลดิ้งอีกคนนึงแล้ว

"มิดฟิลด์ตัวรับที่เล่นโกลได้นิดหน่อย" อาจจะไม่เกินจริงสำหรับแกเลยที่ตั้งฉายากันเล่นๆแบบนี้ 

มาดูการเตะออกบอลของอังเดร โอนาน่ากันว่าเป็นยังไงบ้างถ้าเปรียบเทียบกับเดเคอา การเตะจะมีแพทเทิร์นหลักแบบนี้

นี่คือการออกบอลของโอนาน่า ในเกมที่อินเตอร์ชนะโรม่า 0-2 ซึ่งจากการออกบอลทั้งหมด 43 ครั้งของโอนาน่า มีไม่สำเร็จเพียงสามครั้งเท่านั้น เป็นลูกเตะยาวล้วนๆ นอกนั้น 40 ครั้งเข้าเป้าหมด ตามภาพนี้เลย

คำถามที่น่าสนใจคือ นอกจากความแม่นยำในการเตะของโอนาน่า ที่สามารถออกลูกสั้นได้แม่นยำ และจ่ายบอลระยะกลางแจกจ่ายให้เพื่อนได้ดีแล้วนั้น พื้นที่ของ "จุดเตะ" ของโอนาน่า ยังขึ้นมาเตะในพื้นที่นอกกรอบเขตโทษค่อนข้างเยอะ ขณะที่เดเคอาจะเตะแจกจากหน้าเส้นประตูของตัวเองล้วนๆ

สิ่งที่ต้องคิดมีสองอย่างคือ ประการแรก ความสามารถในการเตะออกบอลของโอนาน่า เข้าขั้นอยู่ในระดับท็อปของผู้รักษาประตูสายนี้อีกหนึ่งคนเลยจริงๆ เชื่อว่าแฟนบอลก็คงจะเห็นกันแล้ว

แต่ประการที่สองคือ ระบบทีมของอินเตอร์มิลาน ก็ช่วยซัพพอร์ทการเล่นของโอนาน่า ให้สามารถออกบอลเล่นกับเพื่อนได้อย่างสะดวกด้วย ลักษณะแพทเทิร์นของลูกจ่ายจึงมักเป็นการจ่ายบอลออกข้างเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมันปลอดภัยกว่าการจ่ายยัดให้เพื่อนในพื้นที่ตรงกลางค่อนข้างมาก

ความสามารถของนักเตะค่อนข้างสำคัญ ระบบทีมที่สอดคล้องก็จำเป็น

2. พื้นที่การเล่นของผู้รักษาประตู

เรื่องของพื้นที่การเล่นก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับระบบการเล่นของทีมที่เน้นการเซ็ตบอลจากแผงหลังพอสมควร ให้คิดง่ายๆว่า ถ้าเรามีผู้รักษาประตูที่ไม่ขยับจากตำแหน่งเลย และยืนรอบอลอยู่หน้าปากประตูอย่างเดียว ถ้าเซ็นเตอร์แบ็ค หรือ แผงหลังเราทั้ง 4 คน ถูกนักเตะคู่ต่อสู้บีบเข้ามา 4 คน กองหลังของเราทุกคนจะเล่นยากทันทีเพราะถูกบีบเพรสซิ่งเข้ามาแบบ 1-1 และอาจจะโดนตัดบอลได้

สิ่งที่จะช่วยเหลือกองหลังได้ คือการยืนตำแหน่งและการเล่นของผู้รักษาประตู ที่ถ้าหากมีอิสระในการ "ยืนตำแหน่ง" ที่ไม่จำกัดแค่หน้าเส้นประตูอย่างเดียว มันจะช่วยเรื่องการแก้เพรสจากแผงหลังได้เยอะมาก

ทำไมพื้นที่การเล่นของผู้รักษาประตูถึงสำคัญขนาดนั้น? เป็นเพราะว่า ถ้าเพื่อนถูกเพรส หาก GK ของทีมสามารถออกมานอกประตู และขยับไปช่วยรับบอลได้ ทีมจะสามารถรักษาการครองบอลไว้ได้อย่างปลอดภัย เพื่อนกองหลังในทีมก็จะเล่นง่ายด้วย ซึ่งก็จะไม่เกิดสถานการณ์ที่ตัวผู้เล่นคู่แข่งจะเหนือกว่าเราได้เลย หากว่า GK ของทีมเป็นเหมือนกองหลังอีกคนหนึ่งที่สามารถเล่นกับบอลได้

ยกตัวอย่างต่อเนื่องจากเมื่อกี๊ หากว่ามีคู่แข่ง 4 คน บีบใส่แผงหลังเรา 4 คนแบบตัวต่อตัวทั้งหมด ถ้า GK สามารถออกไปรับบอล จ่ายบอลกับเพื่อนได้ สถานการณ์ในเรื่องของ "จำนวนผู้เล่น" ในพื้นที่แดนหลังของทีม จะชนะกลายเป็น "5 ต่อ 4" ทันที ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อให้เล่น High Pressing ให้ตายยังไงก็เอาชนะทางด้านจำนวนไม่ได้แน่นอน หากมีผู้รักษาประตูสามารถเล่นเป็นกองหลังพิเศษได้อีกหนึ่งคน

ดังนั้น ทั้งความสามารถในการเล่นบอลด้วยเท้า ในข้อ1. ของบทความนี้ก็สำคัญ รวมถึงพื้นที่การเล่นของโกลคนนั้นๆ ก็จะช่วยในเรื่องการขยับตำแหน่งสร้างความได้เปรียบด้วยอีกต่อหนึ่ง

เปรียบเทียบพื้นที่เล่นของเดเคอา กับโกลคนอื่นๆแบบเห็นชัดได้ดังนี้

การสัมผัสบอลที่เป็นโอเพ่นเพลย์ ของดาวิด เดเคอา จากทั้งหมด 100% จะเห็นชัดเจน่า ส่วนใหญ่ราวๆ80%ของการเล่น น้าเดสัมผัสบอลอยู่ในกรอบเขตโทษของตัวเองล้วนๆ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เพื่อนรอบๆ (แผงหลัง) มีตัวช่วยออกบอลจากด้านหลังที่น้อยลง เวลาโดนคู่แข่งเพรส เพราะเดเคอาแทบไม่ออกมาจากหน้าประตูเลย

เปรียบเทียบกับของ ดาวิด ราย่า ที่ได้สัมผัสบอลในจังหวะโอเพ่นเพลย์ในพื้นที่อื่นๆในอัตราที่เยอะกว่าเดเคอาพอสมควร โดยสัมผัสบอลหน้าปากประตูราวๆ 66% เท่านั้น นอกนั้นคือแอเรียอื่น และขึ้นมาเล่นนอกกรอบได้ด้วยตามภาพข้างล่างนี้

คนถัดมายิ่งหนัก รายนี้ถือว่าสุดโต่งอย่างที่แฟนบอลรู้กัน ออกมายิ่งกว่านอยเออร์อีก นั่นก็คืออังเดร โอนาน่านี่แหละ ที่บางทีลากบอลขึ้นมาจ่ายบอลให้เพื่อนเองถึงเส้นกลางสนาม แล้วดันจ่ายแม่นซะด้วย

การเล่นลักษณะนี้มันก็มีข้อดีข้อเสียอยู่ ถ้าพลาดขึ้นมาทีก็ถึงกับเสียประตูได้เลย แต่ข้อดีของมันก็เหมือนกับเป็นการเล่นพาวเวอร์เพลย์นั่นแหละ ที่ทำให้ตัวผู้เล่น outfield มากกว่าคู่แข่งหนึ่งตัว แล้วพี่แกก็ดันจ่ายแม่นซะอีก ถือเป็นโกลตัวพิเศษคนหนึ่งที่ไม่เหมือนใครจริงๆ

ดูแอเรียการเล่นจากภาพข้างล่างนี้ของโอนาน่าตอนเล่นฟุตบอลโลกแล้วก็อึ้งพอสมควร

จริงๆแล้วเราอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องอยากได้โกลที่ออกมานอกกรอบไกลขนาดโอนาน่าก็ได้ แบบนั้นก็มีความเสี่ยง และอันตรายอยู่สักนิดหนึ่ง แต่พอยท์หลักๆของสิ่งที่เราอยากนำเสนอในหัวข้อที่สองนี้ก็คือ ผู้รักษาประตูควรที่จะมีพื้นที่การเล่นที่ยืดหยุ่น ออกมาเล่นนอกกรอบเขตโทษได้ เพื่อเพิ่มปริมาณผู้เล่นที่ช่วยในการเซ็ตบอล ครองบอลจากแดนหลัง

หากผู้รักษาประตูทำได้ การเล่น build-up จากแผงหลังจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกเยอะ ทั้งความแม่นยำในการออกบอล และ "ออฟชั่นในการแก้เพรส" ที่จะเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน

จนคู่แข่งไล่ไม่จน

3. อัตราการเซฟ และมิติการเล่นอื่นๆ

จากภาพข้างบนนี้ สถิติวัดจากผู้รักษาประตูของท็อป 5 ลีกยุโรปที่ลงเล่นเกิน 4500 นาที จะเห็นว่าค่าการเล่นของเดเคอาก็อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้โดดเด่นมากมาย มีสถิติที่ดีคือเรื่องของคลีนชีท ที่อัตราสูงมากจนได้ถุงมือทองคำอย่างที่เห็น

แต่อัตราการเซฟ และเปอร์เซ็นต์การเซฟของเดเคอาก็อยู่ที่ 71.7% อยู่ในแรงค์ตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ 47 ซึ่งก็อยู่ราวๆค่าเฉลี่ยทั่วไปเท่านั้นเอง ส่วนการเล่นที่ด้อยมากๆคือเรื่องของปริมาณการสัมผัสบอล การเตะ goal kicks ออกมา (อย่างที่ทราบกันจากข้อ 1.) รวมถึง actions ต่างๆนอกกรอบเขตโทษ รวมถึงการตัดลูกครอส เดเคอาอยู่ในเรทที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับผู้รักษาประตูด้วยกัน

ข้อมูลในภาพนี้เป็นปริมาณการเซฟ เมื่อเทียบกับค่า xG ของลูกยิงที่ on target เดเคอามี xG on target อยู่ที่ 41.5 แต่เสียประตูไปทั้งหมด 42 ลูก เท่ากับว่าการป้องกันประตูเมื่อคิดจาก xG ดังกล่าว เดเคอาติดลบอยู่ที่ -0.5 พูดง่ายๆว่า โอกาสที่จะถูกทำประตูจากลูกยิงตรงกรอบทั้งหมด 41.5 ประตู เขาเสียประตูมากกว่านั้นเสียอีก

เมื่อเทียบกับราย่า xG on target อยู่ที่ 48.8 แต่เสียประตูจากจุดนี้ไปแค่ 43 ป้องกันเอาไว้ได้ +5.8 ส่วนของคอสต้า xG on target 25.5 เสียประตูไป 19 การป้องกันประตูได้อยู่ที่ +6.5 ซึ่งคุณภาพตรงนี้ทำให้เขาอยู่ในอันดับที่ 24 จากผู้รักษาประตูทั้งหมดของลีกระดับท็อปของยุโรปในปี 2022/23

พร้อมทั้งการเซฟจุดโทษไป 3 จาก 4 ครั้งที่เขาเจอใน UCL ทำให้ชื่อเสียงของคอสต้าก็ค่อยๆยกระดับตามสถิติเหล่านี้

มีสถิติออกมาอีกว่า ดาวิด เดเคอา จ่ายบอลทั้งหมด 735 ครั้งในแดนฝั่งของตัวเอง ซึ่งในจำนวนนั้น มี 12% ที่จ่ายบอลแล้วไม่สำเร็จ ฟังดูอาจจะดูน้อย แต่ค่าเฉลี่ยของพรีเมียร์ลีกคือ โกลในEPL เฉลี่ยแล้วจ่ายบอลในแดนตัวเองพลาด 11% พูดง่ายๆว่าน้าเดตกmeanนั่นเอง ซึ่งผู้รักษาประตูที่จ่ายในแดนตัวเองแล้วพลาดน้อยที่สุด คือ Bernd Leno (4.8%) และ  Alisson (5.8%) ที่มีสถิติความแม่นยำดีที่สุด 

ในการเปรียบเทียบกับตัวเลือกผู้รักษาประตูกลุ่มเดียวกัน คนอื่นๆมีค่าเฉลี่ยการจ่ายบอลที่สั้นกว่าเดเคอามากถึง 12 คน (29.75 เมตร) ก็ตรงตามความจริงในข้อที่ 1 ว่า ดาวิด เดเคอา มักจะเล่นลูกยาวมากกว่าจริงๆ ถึงแม้เอริค เทน ฮาก จะพยายามให้ทีมเซ็ตบอลจากแดนหลัง แต่ส่วนใหญ่เขาเลือกที่จะเล่นยาว และหลีกเลี่ยงการจ่ายลูกสั้นที่เสี่ยง เพราะโดนเพรสซิ่งหรือความกลัวที่จะเปิดบอลผิดพลาด

4. Conclusion

ข้อสรุปของเรื่องนี้ เราเพียงแค่ต้องการจะนำเสนอว่า การเล่นของดาวิด เดเคอา มีหลายๆจุดที่ไม่แมตช์กับฟุตบอลระบบที่ต้องการเล่นตั้งเกมจากแดนหลังจริงๆ เพราะคำว่า "แดนหลัง" หมายความรวมถึงทั้งทีม ไม่ใช่แค่กองหลังเท่านั้น แต่ผู้รักษาประตู และมิดฟิลด์ตัวต่ำ ก็มีส่วนกับการเล่นนี้ทั้งหมด

เราอาจจะโทษเดเคอา หรือผู้รักษาประตูคนเดียวไม่ได้ อย่างที่พูดเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า บางครั้งต้องดูด้วยว่า ทีมมีระบบการเล่น การยืนตำแหน่ง ที่ช่วยซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน และทำให้ผู้รักษาประตูสามารถออกบอลไปให้เพื่อนได้สะดวกหรือไม่

หรือว่ายืนตำแหน่งกันไม่ดี จนโดนบีบเข้ามาและผู้รักษาประตูจำเป็นต้องเตะบอลยาวออกไป ข้อนี้ก็ต้องพิจารณาด้วยอีกต่อหนึ่งว่า มันใช่ความผิดของผู้รักษาประตูคนเดียวหรือเปล่า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงจะโดนบีบจริง ทีมไม่ซัพพอร์ตจริง คนเป็นโกลก็ควรต้องเตะออกบอลออกมาให้ทีมได้เปรียบ หรือให้เข้าเป้าอยู่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่โกลยุคใหม่อย่าง ราย่า หรือ โอนาน่า ทำในจุดนี้ได้

บทความไม่มีเจตนาจะนำดาวิด เดเคอา มาเหยียบย่ำซ้ำเติมด้วยความเกลียดชังแต่อย่างใด เพราะในความเป็นจริงแล้ว ลูกเซฟมหัศจรรย์ในฐานะ Shot Stopper ของเดเคอา ก็ช่วยทีมมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และเขาก็ไม่ได้เป็นคนผิดคนเดียวในเรื่องนี้แน่นอน มันอยู่ที่ทีม และการ blend เอาระบบใหม่เข้ากับนักเตะที่มีอยู่ในทีมด้วย

เดเคอาเล่นในแนวทางนี้มาตลอด เมื่อต้องเจอกับระบบใหม่ เขาก็ย่อมที่จะต้องเล่นได้ลำบากเป็นเรื่องธรรมดา ข้อนี้ก็ควรเห็นใจน้าเดของเราด้วยเหมือนกัน

ในการพิจารณาสัญญาฉบับใหม่ และอนาคตของเขากับทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สุดท้ายแล้วก็คงต้องขึ้นอยู่กับเอริค เทน ฮาก เท่านั้น หากว่าเทน ฮาก อยากจะเก็บเดเคอาเอาไว้จริงๆ เราก็เข้าใจ เพราะตำแหน่งนี้ควรมีตัวผู้เล่นคุณภาพดีหลายๆคนที่จะมาแย่งตำแหน่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานการเล่นให้สูงขึ้น

ถ้าหากเลือกเก็บเดเคอาไว้กับทีมต่อไป ยังไงก็ควรต้องซื้อผู้รักษาประตูคนใหม่ที่ดีพอจะแย่งตำแหน่งเขาเข้ามาด้วย โดยเฉพาะการนำเข้า Sweeper Keeper เข้ามา ถือว่าจำเป็นมากๆในการลองนำสไตล์ใหม่ๆมาเล่นเข้ากับระบบของทีม 

นักเตะที่ไม่เข้าระบบ และเล่นเซ็ตเกมจากแผงหลังแล้วมีปัญหา อย่างเดเคอา หรือ แมกไกวร์ ก็อาจจะต้องค่อยๆเฟดตัวเองออกไปเพราะมันไม่ลงล็อคกับสิ่งที่เป็นอยู่

ไม่ได้แปลว่านักเตะเหล่านี้กระจอกหรือด้อยค่า เพียงแค่ว่ามันไม่เข้ากับระบบที่ EtH อยากจะติดตั้งให้ทีมเล่นเท่านั้นเอง

โกลคนใหม่สำคัญจริงๆ เพราะทุกๆเหตุผลชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เราต้องมีผู้รักษาประตูที่ดีในการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่แล้ว แต่ยังไงก็อย่าลืมเดเคอา ที่เขาก็ยังมีคุณค่าที่จะอยู่ต่อในฐานะคุณภาพเชิงลึกเพื่อแย่งตำแหน่งในทีมอยู่ดี ถ้าเทน ฮาก ตั้งใจจะต่อสัญญาเขาเพื่อช่วยเหลืองานที่นี่จริงๆ

ด้วยค่าเหนื่อยที่น้อยลง คงทำให้ทีมไม่ลำบากมากนัก ถ้าจะเก็บเดเคอาต่อที่โอลด์แทรฟฟอร์ด และการไม่การันตีมือหนึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีในเชิงจิตวิทยาและการแข่งขันแย่งตำแหน่งในทีม

การต่อสัญญาน้าเด จึงไม่ใช่เรื่องของบุญคุณแต่อย่างใด แต่มันคือเรื่องของ จรรยาบรรณและจริยธรรมขององค์กร (Ethics) อย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในฐานะสโมสร, ทั้งเรื่องของความจงรักภักดีที่เดเคอามีต่อที่นี่มาตลอด (Loyalty) และเรื่องของการแย่งตำแหน่งที่เพิ่มคุณภาพเชิงลึก (Squad Depth) ให้ทีม

การมีน้าเดอยู่ที่นี่ ยังคงมีความสำคัญจริงๆ แต่เราก็จำเป็นต้องนำเข้านวัตกรรมฟุตบอลใหม่ๆเข้ามาเหมือนกัน เพื่อก้าวไปยุคใหม่อย่างยั่งยืน โดยมี ดาวิด เดเคอาที่พวกเรารัก ช่วยประคองทีมไปสู่ยุคใหม่ในวันข้างหน้า

เรามาเอาใจช่วยให้แมนยูไนเต็ดได้โกลตัวใหม่เข้ามายกระดับทีมกันนะครับ 

#BELIEVE

-ศาลาผี-

References

https://fbref.com/en/players/7ba6d84e/David-de-Gea

https://theanalyst.com/eu/2023/05/david-de-gea-man-utd-replacements-costa-raya/

https://theanalyst.com/eu/2023/06/where-man-utd-must-improve-2023-24-season/


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด