:::     :::

พังเพราะใคร???

วันจันทร์ที่ 02 กรกฎาคม 2561 คอลัมน์ ลูกหนังนอกกรอบ โดย JOKE
4,307
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ความรู้สึกของแฟนบอลชาวเมืองกระทิงหลังเห็นทีมชาติสเปนกระเด็นตกรอบ 16 ทีมของศึกฟุตบอลโลกจากการดวลเป้าพ่ายเจ้าภาพ รัสเซีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

กลายเป็นคำถามฮอตฮิตไปในทันทีหลังทัพ'ลา โรฆา'สิ้นสุดเส้นทางบนเวทีฟุตบอลโลกฉบับรัสเซียเพียงรอบ 16 ทีมจากการดวลจุดโทษพ่ายเจ้าภาพ 3-4 หลังเสมอกันใน 90 นาที 1-1 ต่อเนื่องจนถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ 

ใครเป็นคนทำลายความหวังของชาวสเปน? หรือความฝันของชนชาวเมืองกระทิงต้องพังทลายลงเพราะใคร? 

จำเลยที่ 1 คงหนีไม่พ้นคนจุดชนวนชื่อ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ 

จำเลยที่ 2 แน่นอนย่อมต้องเป็น จูเลน โลเปเตกี 

จำเลยที่ 3 คนตัดสินใจปลดเทรนเนอร์ก่อนทัวร์นาเมนต์ 2 วันอย่าง หลุยส์ รูเบียเลส 

จำเลยที่ 4 คนรับผิดชอบหน้างานอย่าง เฟร์นานโด เอียร์โร่ 


ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานสโมสร เรอัล มาดริด เชื่อคำแนะนำของ โฆเซ่ อังเคล ซานเชซ ผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอลที่เสนอชื่อ จูเลน โลเปเตกี เป็นเทรนเนอร์คนใหม่ของทีมชุดขาว ก่อนประธานฟลอเรนติโน่จะเปิดไฟเขียวให้ลิ่วล้อเดินหน้าทาบทามทันที 

การกระทำของฟลอเรนติโน่อาจไม่ผิดกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดๆทั้งสิ้น แต่มันผิดมารยาทและกาลเทศะเนื่องจากทีมชาติสเปนกำลังเตรียมตัวลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่คนทั้งชาติตั้งความหวังไว้กับทีมชุดนี้ไว้สูงลิบถึงขั้นคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2 

ฟลอเรนติโน่อาจอ้างว่าเทรนเนอร์ทีมชาติหลายคนก็เคยตกลงย้ายมารับงานระดับสโมสรก่อนหน้านี้หลังเสร็จสิ้นภารกิจกับทีมชาติ แต่มันเป็นการตัดสินใจล่วงหน้าเป็นเวลานานไม่ใช่ฉุกละหุกก่อนหน้าทีมกระทิงลงเล่นประเดิมสนามฟุตบอลโลกเพียง 2 วัน 

ยกตัวอย่าง อันโตนิโอ คอนเต้ ซึ่งประกาศล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นศึกยูโร 2016 ว่าจะตัดสินใจแยกทางกับสหพันธ์ฟุตอิตาลีหลังจบทัวร์นาเมนต์เพื่อย้ายมารับตำแหน่งกุนซือของทีมสิงห์น้ำเงิน 

ทว่ากรณีของ เรอัล มาดริด กับ จูเลน โลเปเตกี มันแตกต่างกันเพราะเทรนเนอร์ชาวบาสโก้เพิ่งเซ็นสัญญาฉบับใหม่ที่มีอายุการใช้งานจนถึงปี 2020 ก่อนหน้านั้นราวหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น นั่นถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของเทรนเนอร์ว่าต้องการทำงานระยะยาวกับสหพันธ์ฟุตบอลสเปน ก่อนเปลี่ยนใจในภายหลังเมื่อได้รับการทาบทามจากทีมชุดขาว 


ขณะที่ จูเลน โลเปเตกี คงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของทีมชาติสเปนในศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้หลังแสดงความเห็นแก่ตัวแอบเจรจาและตกลงกับ เรอัล มาดริด ก่อนหน้าทัวร์นาเมนต์สำคัญเพียงไม่กี่วันทั้งที่เพิ่งเซ็นสัญญาใหม่ไปก่อนหน้านั้น 

โลเปเตกี ถูกมองว่ามีพฤติกรรมไม่สุจริตและทำผิดจรรยาบรรณ เขาสามารถแสดงเจตนารมณ์กับ เรอัล มาดริด ให้เข้ามาติดต่อเจรจาหลังเสร็จสิ้นภารกิจจากทัวร์นาเมนต์สำคัญที่รัสเซียได้เช่นกัน หากทีมชุดขาวต้องการเขาไปรับตำแหน่งเทรนเนอร์จริงก็ควรยืดเวลาออกไปเพื่อให้ทีมกระทิงลงเล่นฟุตบอลด้วยความสงบและมีสมาธิ

ทว่าโลเปเตกีแสดงออกถึงความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม เขาอาจคิดว่ามันคงเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวที่จะได้รับการทาบทามจากสโมสรอย่าง เรอัล มาดริด ดังนั้นจึงใช้เวลาคิดไม่นานนักในการตอบรับข้อเสนอจากทีมชุดขาว ก่อนจะแจ้งความประสงค์ไปที่ หลุยส์ รูเบียเลส ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปน 


แน่นอน รูเบียเลส ย่อมรู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจของโลเปเตกีที่เขาเพิ่งแสดงความจริงใจด้วยการขยายสัญญาไปจนถึงปี 2020 โดยไม่คำนึงถึงผลงานในฟุตบอลโลกครั้งนี้จะลงเอยรูปแบบใดก็ตาม 

แต่เทรนเนอร์ชาวบาสโก้ตอบแทนเขาคือการตัดสินใจตอบรับข้อเสนอจาก เรอัล มาดริด ก่อนจะแจ้งให้เขาทราบเรื่องก่อนหน้าทีมชุดขาวจะแจ้งข่าวเพียง 5 นาที 

มันเหมือนการถูก'หักหน้า'จนเกินรับได้ แม้รูเบียเลสจะยืนยันผ่านสื่อระหว่างการแถลงข่าวปลดเทรนเนอร์ก่อนหน้าทัวร์นาเมนต์เพียง 2 วันว่าไม่คิดว่าเหมือนถูก'หักหลัง'แต่ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปนทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกเช่นนั้น 

ถ้าไม่คิดว่าถูก'หักหลัง'จริง รูเบียเลส คงเปิดโอกาสให้ โลเปเตกี คุมทัพกระทิงลงทำศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายตามความตั้งใจของเทรนเนอร์ชาวบาสโก้ก่อนย้ายไปรับตำแหน่งเทรนเนอร์ของ เรอัล มาดริด หลังจบทัวร์นาเมนต์

แต่รูเบียเลสเลือกวิธี'หักดิบ'ด้วยการสั่งปลดโลเปเตกีออกจากตำแหน่งทั้งที่นักเตะอาวุโสหลายคนในทีมไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะ เซร์คิโอ รามอส กัปตันทีมชาติสเปนจนสร้างความปั่นป่วนในแคมป์ทีมกระทิงก่อนการลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเพียง 2 วัน ก่อนที่ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปนจะเลือกมือใหม่หัดขับอย่าง เฟร์นานโด เอียร์โร่ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคมารับบทเทรนเนอร์ขัดตาทัพ 


มันเป็นการก้าวขึ้นมารับงานใหญ่แบบ'พาสชั้น'ก็ว่าได้เพราะเอียร์โร่มีประสบการณ์คุมทีมระดับเซกุนด้าอย่าง เรอัล โอเบียโด้ มาก่อนหน้านี้เท่านั้น ก่อนเข้ามารับหน้าเสื่อคุมทีมชาติสเปนลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 

รูเบียเลส อาจมีความเชื่อมั่นในตัวเอียร์โร่ไม่น้อยบวกกับคุณภาพทัพกระทิงชุดนี้ที่มีการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างนักเตะประสบการณ์กับผู้เล่นสายเลือดใหม่ว่ายังคงสามารถทำผลงานได้ดีบนเวทีฟุตบอลโลกอย่างที่คนในชาติคาดหวังไว้ก่อนหน้าทัวร์นาเมนต์ 

ทว่าความฝันกับความเป็นจริงมันแตกต่างกัน แม้ทีมจะมีคุณภาพมากแค่ไหนแต่ถ้าเทรนเนอร์มือไม่ถึง มันก็มีโอกาสประสบความสำเร็จยาก ซึ่งทีมกระทิงภายใต้การกำกับของเอียร์โร่พิสูจน์ให้เห็นความจริงเป็นอย่างดี 

เอียร์โร่ยืนยันในวันเข้ารับตำแหน่งเทรนเนอร์ขัดตาทัพว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แน่นอนเขาไม่เปลี่ยนอะไรเลยนอกจากการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเท่านั้น

จากผลงานการคุมทีมกระทิงลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้ง 4 เกมอาจดูเหมือนนักเตะเล่นกันเองตามความเคยชินมากกว่าการมีเทรนเนอร์สั่งการอยู่ข้างสนาม 

เอียร์โร่พยายามแก้เกมหลายครั้งหลายหน แต่มันเหมือนไม่ได้ช่วยให้ทีมดีขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ต่างไปจากเดิม 

ยกตัวอย่างเกมกับ รัสเซีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเอียร์โร่ตัดสินใจดร็อบ อันเดรส อีเนียสต้า กับ ดาเนียล การ์บาฆาล เพื่อส่ง มาร์โก อาเซนซีโอ กับ นาโช่ เฟร์นานเดซ ลงเล่นตัวจริง มันอาจเป็นการแสดงความกล้าที่จะปรับเปลี่ยนบางอย่าง ทว่าการเล่นรอบน็อกเอาท์ในทัวร์นาเมนต์ระดับฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ประสบการณ์ของนักเตะมีความสำคัญไม่น้อย แต่นั่นคือสิ่งที่เอียร์โร่เลือก 


การเปลี่ยนตัวผู้เล่นทั้ง 4 คนของ เอียร์โร่ ยังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการตัดสินใจที่ช่วยปรับเกมให้ดีขึ้นหรือไม่ 

เอียร์โร่เลือกที่จะส่ง อีเนียสต้า ลงเล่นแทน ดาบิด ซิลบา ซึ่งน่าจะสร้างประโยชน์ต่อทีมได้มากกว่าเด็กหนุ่มอย่าง อาเซนซีโอ 

เทรนเนอร์ทีมกระทิงส่ง การ์บาฆาล ลงเล่นแบ็กขวาแทน นาโช่ ทั้งที่ทีมกระทิงครองเกมได้เกือบทั้งหมดหากเอียร์โร่หวังจะเช็คบิลทีมหมีขาวภายใน 90 นาทีถ้าจะเลือกถอดแบ็กขวาออกก็ควรส่งมิดฟิลด์หรือกองหน้าลงสนามเพื่อเพิ่มโอกาสเป็นผู้ชนะมากขึ้นอย่างที่เทรนเนอร์ที่มีประสบการณ์หลายคนตัดสินใจเสี่ยงเดิมพัน

การเปลี่ยนตัวโควตาสุดท้ายในช่วงเวลาปกติด้วยการส่ง ยาโก้ อัสปาส ลงเล่นแทน ดีเอโก้ คอสต้า เป็นอีกเครื่องหมายคำถามถึงแนวคิดของเอียร์โร่เช่นกัน

ดีเอโก้ คอสต้า ยังสามารถสร้างความกดดันให้แนวรับคู่แข่งที่เริ่มอ่อนเปลี้ยได้เป็นอย่างดี การเลือกส่ง ยาโก้ อัสปาส ลงเล่นในช่วง 10 นาทีสุดท้ายไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันไม่ถูกตรงที่ส่งลงแทน คอสต้า เท่านั้น ซึ่งมันควรเกิดขึ้นตั้งแต่การเปลี่ยนผู้เล่นคนที่สองตอนถอด นาโช่ ออกจากสนามด้วยซ้ำ 

ตามข้อมูลระบุว่า สเปน ผ่านบอลกันมากถึง 1,114 ครั้ง กลายเป็นสถิติของวงการลูกหนังที่มีทีมผ่านบอลกันเกินกว่า 1,000 ครั้ง 

ผลงานการผ่านบอล 1,114 ครั้ง ประสบความสำเร็จ 1,006 ครั้ง คิดเป็น 90.31 เปอร์เซนต์ โดยผิดพลาดเพียง 108 ครั้งเท่านั้น ขณะที่ รัสเซีย ต่อบอลกันเพียง 290 ครั้งและประสบความสำเร็จ 191 ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขแตกต่างกันอย่างชัดเจน 

ทัพกระทิงยังเป็นฝ่ายครองบอลมากถึง 79.97 เปอร์เซนต์ สร้างโอกาสยิงประตู 24 ครั้ง ทว่าเป็นการยิงตรงกรอบเพียง 9 หน 


แต่ตัวเลขต่างๆนานาไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงเมื่อคุณไม่สามารถส่งบอลซุกก้นตาข่ายคู่แข่งจนต้องมาแย่งตั๋วเข้ารอบด้วยการดวลจุดโทษแบน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งหมด ก่อนที่สเปนจะตกรอบแบบชอกช้ำ 

เส้นทางในศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้ของ สเปน สิ้นสุดลงก่อนกำหนด นักเตะทีมกระทิงหลายคนรู้สึกเจ็บปวดกับการตกรอบแบบคาดไม่ถึงครั้งนี้โดยเฉพาะ อันเดรส อีเนียสต้า ซึ่งคาดหวังว่าจะปิดฉากกับทีมชาติสเปนอย่างยิ่งใหญ่ 

มันเป็นวันที่น่าเศร้าที่สุดในอาชีพของ อีเนียสต้า แย่กว่าการตกรอบแรกเมื่อ 4 ปีก่อนด้วยซ้ำ ก่อนที่มิดฟิลด์วัย 34 ปีจะประกาศอำลาทัพกระทิงหลังการลงเล่น 131 นัดนับตั้งแต่ลงเจิมเกมแรกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2006

อีเนียสต้า ลงเล่นนัดแรกกับทีมชาติสเปนหลังถูกเปลี่ยนลงเล่นในช่วงครึ่งหลังในเกมอุ่นเครื่องกับ รัสเซีย และมันกลายเป็นเรื่องบังเอิญที่ทีมหมีขาวเป็นคู่ปรับทีมสุดท้ายในนามทีมชาติของอีเนียสต้าด้วย 


การตกรอบฟุตบอลโลกครั้งนี้พร้อมการอำลาทีมชาติของ อีเนียสต้า อาจไม่ใช่จุดจบหรือจุดเริ่มต้นของความล่มสลายของทัพกระทิงเนื่องจากยังมีผู้เล่นสายเลือดใหม่ที่พร้อมก้าวขึ้นมารับช่วงต่อจากรุ่นพี่ 

แต่สิ่งที่ต้องแก้ไขหลังจากนี้คือการเสาะหาเทรนเนอร์ที่มีฝีมือและประสบการณ์มากกว่าเอียร์โร่เข้ามาช่วยกอบกู้ทัพกระทิงให้ฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง 

ฟลอเรนติโน่ เปเรซ อาจไม่เดือดเนื้อร้อนใจต่อการตกรอบฟุตบอลโลกของทีมชาติสเปนเพราะเขาสมหวังกับการได้เทรนเนอร์คนใหม่อย่างที่อยากได้ ขณะที่ จูเลน โลเปเตกี คงรู้สึกเสียใจบ้างเพราะอาจคิดว่าถ้าทีมกระทิงมีเขาคุมทีมข้างสนามอาจไปได้ไกลกว่านี้ แม้ว่าไม่มีใครสามารถตอบได้ก็ตาม 

ส่วน หลุยส์ รูเบียเลส คงไม่ถึงขั้นยืดอกแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปน แต่ด้วยทิฐิของเขาก็มีส่วนต่อความล้มเหลวของทีมกระทิงในศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้เช่นกัน 

ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คอลัมนิสต์ของสื่อเมืองกระทิงหลายสำนักจะเขียนคอลัมน์เชิงกระแนะกระแหนด้วยการกล่าวขอบคุณผู้มีอุปการะทั้ง 3 รายข้างต้นต่อการตกรอบฟุตบอลโลกครั้งนี้ของทัพกระทิง 


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด