:::     :::

อากิระ นิชิโนะ : ซามูไรขี่ช้างศึก

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นอกจากสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่แฟนบอลหลายคนรอคอยจนเยี่ยวเหนียว เห็นจะเป็นตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยคนใหม่

หลังปล้ำข้อเสนอกันอยู่นานเช้าจรดค่ำ ท้ายสุด อากิระ นิชิโนะ ยอม “ใจอ่อน” มอบลายเซ็นเป็นสัญญาคุมทัพ “ช้างศึก” ในที่สุด และคือกุนซือแดนอาทิตย์อุทัยคนแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย

ดูเหมือนชื่อ นิชิโนะ (ที่ไม่ใช่ โช นิชิโนะ นางเอกเอวี) จะเรียกรอยยิ้มมุมปากแฟนบอลได้พอควร หลายคนมองว่าเฮดโค้ชแดนอาทิตย์อุทัยรายนี้ “ดูดี” กว่าแคนดิเดตรายอื่น

แต่นั่นคือ “ความเสี่ยง” ในอีกทางเช่นกัน การมาจับ “เผือกร้อน” แบกฟุตบอลไทยทั้ง U-23 และ ทีมชุดใหญ่ เป็นการบ้านสาหัสเอาการ

และสิ่งเหล่านี้ คือโจทย์ที่ นิชิโนะ ต้องเจอ

 

รีสตาร์ทฟุตบอลไทย

“ฟุตบอลไทย” เป็นคำง่าย แต่เป็น “สุสาน” ที่กุนซือหลายคนนำชื่อมาทิ้งไว้เช่นกัน

การมาขี่หลังช้างศึกของ นิชิโนะ แทบไม่ต่างจากการดรอปเรียนคณะวิทย์-กีฬา เพื่อมาเข้านิเทศศาสตร์ เพราะแม้กุนซือเลือดบุชิโดรายนี้จะมีประสบการณ์บนเวทีลูกหนังนับไม่ถ้วน ทว่าทั้งหมดเกิดขึ้นจากการคุมทีมในประเทศเป็นหลัก

อาจมีเพื่อนคู่ใจอย่าง วิทยา เลาหกุล คอยให้คำปรึกษา ทว่าภาพรวมเขาเองต้อง “เริ่มต้น” ใหม่ในศาสตร์ฟุตบอลที่ต่างออกไปจากเคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น ทัศนคติ ความเป็นมืออาชีพ การให้ความร่วมมือจากสโมสร

ที่เมืองไทยยังห่างจากบ้านเกิด นิชิโนะ หลายก้าวเดิน

อาจมีอิสระให้คัดเลือกผู้เล่นได้เต็มที่ ไม่มีใครมาล้วงลูก แต่เชื่อเถอะว่า เมื่อถึงเวลาที่อยากได้นักเตะมาติดทีม ผู้เล่นคนนั้นจะมีจดหมายจากสโมสรต้นสังกัดประมาณว่า เกิดอาการป่วยกะทันหัน หรือบาดเจ็บอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย จนต้องถอนตัวจากทีมชาติทันที

 

กรอบเวลาที่มีเพียงจำกัด

การเข้ามานั่งเก้าอี้ 2 ตัวในทีมชาติไทย ไม่ใช่งานง่าย ยิ่งกับปฏิทินลูกหนังที่เอื้อให้เพียงจำกัดจำเขี่ย

แม้ตามหลักทั่วไปของกุนซือใหม่ ทีมงานจะมีรายชื่อผู้เล่นทีมชาติชุดเก่าที่เคยติดทีมให้ แต่เชื่อเถอะว่าคนหัวอย่าง นิชิโนะ ต้องการเลือกนักเตะด้วยตนเอง ปัญหาคือเขามีเวลาเพียงหยิบมือ

ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก จะคิกออฟในเดือนกันยายน นั่นเท่ากับว่า นิชิโนะ มีเวลาราว 2 เดือนในการหาผู้เล่นใหม่ช้างศึก พร้อมทั้งปรับจูนแท็คติกไปในตัว

ขณะที่ต้นปีหน้าศึกชิงแชมป์เอเชีย U-23 รอบสุดท้าย หา 3 ชาติไปโอลิมปิก จะเริ่มแข่งขันอีก  ใช่…หากพูดตามพลอตลูกหนังทั่วไป มันคืองานที่ท้าทาย แต่ก็มาพร้อมกับความกดดัน และความคาดหวังเช่นกัน

สำหรับการ “ขี่ช้าง” ทีเดียว 2 เชือก

 

“จุดแข็ง” นิชิโนะ คือ “จุดอ่อน” ช้างศึก

บอลครั้งยามที่แข่งขันในระดับเอเชีย สิ่งที่ทีมชาติไทยจะเจอและตายอย่างสงบคือ “บอลเพรสซิ่ง” จากคู่ต่อสู้

ไม่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนผ่านแค่ไหน “ช้างศึก” ยังแทบไม่สามารถเอาตัวรอดจากศัตรูที่เพรสซิ่งใส่ จนกลายเป็นจุดอ่อนกลายๆไปซะงั้น

แต่บังเอิญ “เพรสซิ่ง” คือจุดแข็งของ อากิระ นิชิโนะ

ไม่ว่าจะทำทีมชาติชุดเยาวชน สมัยคุม กัมบะ โอซากา หรือ ทีมชาติญี่ปุ่น ชุดลุยบอลโลก 2018 เฮดโค้ชรายนี้ขึ้นชื่อเรื่องการใช้บอลเพรสซิ่งเป็นหลักเสมอ เป็นแท็คติกง่ายๆแต่ทำยาก เนื่องจากต้องใช้ความสัมพันธ์และเข้าใจแบบแผนพอควรทั้ง 11 คนในทีม

ฉะนั้นการนำระบบเพรสซิ่ง มาใช้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่กับฟุตบอลประเทศที่ธรรมชาตินักเตะบางคนยังเดินเล่น ไม่ค่อยขยับตามเพื่อน เคลื่อนที่เพียงจำกัด เดินดึงหน้า น่าสนใจว่า นิชิโนะ จะทำเช่นไร

นี่ยังไม่ได้เอ่ยถึง “สภาพความฟิต” ด้วยอีกนะ

 

วินัยแบบญี่ปุ่น กับ วินัยแบบไทยๆ

ภาพจำวาบแรกหากเราคิดถึงโค้ชชาติและดับแนวหน้าเอเชีย อย่าง เกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น คือการให้ความสำคัญเรื่องระเบียบวินัย และความรับผิดชอบ

แต่อาจเป็นสิ่งที่หายากในดินแดนลูกหนังแถบนี้

ครั้งหนึ่งฉันเคยเจอ ผู้เล่นทีมชาติไทยชุดใหญ่ นั่งดวดเหล้าอยู่ร้านแถบเรียบด่วน-รามอินทรา คืนวันศุกร์ ขณะที่ต้นสังกัดเจ้าตัวเตรียมลงแข่งในช่วงเย็นวันเสาร์

ครั้งหนึ่งฉันเคยเจอผู้เล่นทีมชาติไทยชุดเล็ก สวมยูนิฟอร์มชุดแข่งตัวเอง กับกางเกงสามส่วน นั่งซัดเบียร์พร้อมอัดบุหรี่ฮัมเพลง ในบาร์เหล้าย่าน ลาดพร้าว-วังหิน

เหล่านี้อาจเป็นภาพ “ชินตา” ของฉัน แต่ไม่แน่ใจว่า นิชิโนะ จะชินด้วยหรือไม่

ยังไม่นับรวมถึงเรื่องระเบียบการ “ตรงต่อเวลา” ที่ญี่ปุ่นนักเตะเกือบทุกคนมาถึงสนามก่อน 1-2 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมร่างกายให้พร้อมสุดก่อนลงซ้อม

แต่กับฟุตบอลประเทศนี้แทบไม่มีเช่นนั้น ไม่มาสายเกินกว่าเวลานัดก็บุญแค่ไหนแล้ว ไหนจะข้ออ้าง รถติด รถยางแตก สารพันปัญหา เวลามาสาย

นอกจากเรื่องในสนามต้องทำการบ้านแล้ว อีกสิ่งที่ นิชิโนะ อาจต้อง “ทำใจ” ล่วงหน้า ในการมาทำงานประเทศนี้คือ วินัยแบบไทยๆนี่แหละ  


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด