:::     :::

"สี่เหลี่ยมคางหมูกู้พิภพ" 4-2-2-2 Trapezoid Box นัดเจอซิตี้

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2563 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
5,619
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
แม้จะเสมอกันในบ้าน แต่ภาคการเล่นของแมนยูที่พัฒนาขึ้นมาจนกล้าครองบอลและเพรสซิ่งสู้กับเป๊ปได้แล้ว มันยังเป็นเรื่องของแทคติกการเล่นที่โอเล่งัดมารับมือเป๊ปอย่างได้ผลและตรงจุดจริงๆ

จบกันไปแล้วสำหรับเกมดาร์บี้แมตช์เมืองแมนเชสเตอร์ระหว่าง แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่เปิดบ้านเสมอกับ แมนเชสเตอร์ซิตี้ไป 0 ประตูต่อ 0 แบ่งกันไปคนละแต้มแบบเซฟ หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นเกมน่าเบื่อที่ไม่มีความหวือหวา ไม่มีประตูมันส์ๆเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วเราก็ยอมรับได้นะ กับการที่มันเป็นเกมตึงเครียดที่ หากใครพลาดท่าเสียประตูก่อน จะเสียเปรียบค่อนข้างมาก

ในขณะที่รูปเกมตั้งแต่ต้นจนจบมันสูสีมากจนไม่สามารถกระดิกกระเดี้ยปรับอะไรได้มากมายนัก เพราะอาจจะ"กระเทือน" ทรงบอลของฝั่งตัวเองได้ ดังนั้นมันจึงเป็นเกมที่วัดกันด้วยสมาธิและความอดทนล้วนๆเป็นหลัก

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เกมวันนี้แมนยูไนเต็ดใช้แผนอะไร เล่นอะไรกับซิตี้ ถึง "สู้ได้" ขนาดนั้นในเกมที่มีไดนามิคการเล่นสูงทั้งสองฝ่าย ทั้งการเล่นเพรสซิ่งและการเน้นPassing Game มาสู้กันทั้งคู่

ในเชิงแทคติกโอเล่เอาอะไรมาสู้กับบอลของแมนซิตี้นั้น เราค่อยๆมาดูกันทีละส่วน ไล่ตั้งแต่ ทรงบอลของซิตี้ก่อน ตามไลน์อัพแผนที่คาดว่าจะใช้ลงสนาม หลายๆคนเดาว่ามันจะเป็น 4-3-3 ที่เอามาสู้กับเรา แต่หากสังเกตการยืนในสนามแล้วนั้น จริงๆแมนซิตี้เล่นกันด้วยแผนที่เป็น "4-2-1-3" มากกว่า

สังเกตให้ดีๆตรงนี้จะแตกต่างจากแมนยูไนเต็ดพอควรที่เป็น 4-2-3-1 ตรงที่ลักษณะของซิตี้นั้นมันเป็นแผนที่แปลงมาจาก "4-3-3" นั่นแหละ คือพาร์ทมิดฟิลด์สามคน กองหน้าสามคนเรียงจากซ้ายไปขวา แต่เป็น 4-3-3 ที่มีกลางหัวกลับ คือปกติจะมีกลางรับ1 กลางรุกสอง แต่ของเป๊ปวันนี้ ใช้เป็นdouble pivotตามคาด นั่นก็คือ แฟร์นันดินโญ่ คู่กับ โรดรี้ โดยมี เควิน เดอบรอยน์ เล่นกลางรุกขึงอยู่หน้าแผงหลังแมนยูไนเต็ดโดดๆคนเดียวเลยแล้วป้อนบอลให้สามกองหน้าเล่นกันอย่างอิสระ

แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปจากปกติก็คือ วันนี้นอกจากเป๊ปจะไม่กล้าเล่นรุกเต็มสตรีมใส่แมนยูไนเต็ดแล้ว(ตัวรุกสำรองยังเหลืออีกหลายตัวมากๆ ไม่ปรับแผนลงมาสู้ ทั้งๆที่ถอดน่าจะถอดกลางรับออกตัวนึงได้สบายๆ) ที่สำคัญก็คือ เกมจากแบ็คทั้งสองข้างของเป๊ปที่เคยกล้าหาญชาญชัยมาโดยตลอด เกมนี้ก็ไม่มีเติมเช่นกัน น่าจะกลัวเกมสวนของกองหน้าคู่ทีมเราที่รอวิ่งอยู่จากกราบซ้ายขวาด้วยที่กดแบ็คซิตี้เอาไว้

ดังนั้นลักษณะของฟุตบอลเป๊ปที่เคยมีเกมรุกอัดแน่นไปด้วยตัวที่เติมขึ้นมามากมาย อย่างน้อยๆ5ตัวในบริเวณใกล้ๆกรอบคู่แข่ง วันนี้จึงมีแค่สามตัวด้านหน้าเท่านั้นที่ยืนสูงจริงๆ และบอลก็มาไม่ค่อยถึงด้วย พอบอลมาถึงก็มีสภาพอย่างที่เห็นราฮีมเล่นนั่นเอง ส่วนปีกขวาส่งใครลงมาก็โดนลุค ชอว์ในภาคเกมรับกินเรียบหมด

นี่คือแผนการเล่นของเป๊ป ซึ่งถ้าสังเกตดีๆแล้ว แอเรียที่เป๊ปแข็งแกร่งเป็นพิเศษก็คือ "ตรงกลางสนาม" นั่นแหละที่มีตัวระดับแฟร์ยืนคุมกลางคู่โรดรี้ และมีKDBปั้นเกมบุกอย่างน่ากลัว

นี่คือบอลของซิตี้ในวันนั้น ซึ่งก็ยังคงยึดโยงกับการครองบอล ต่อเกมขึ้นมาบุกนั่นเอง แต่มาด้วยความรัดกุมรอบคอบกว่าเดิม ไม่ดันแบ็ค ดันกองกลางขึ้นมาร่วมบุกมากเท่าไหร่ เกมจึงไม่ได้กดมากขนาดนั้น เป็นเพราะกลางแมนยูไนเต็ดก็มีพลังงานการเล่นที่เยี่ยมยอดไม่แพ้กัน

นั่นคือซิตี้

ส่วนทางด้านแมนยูไนเต็ด วันนี้โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ยังคงมาแบบ ใครๆก็ดักทางไม่ได้อยู่ดีเหมือนเดิม(ที่เพิ่งบ่นไปในบทความอันที่แล้วนั่นเอง ฮาาาา) วันนี้ยูไนเต็ดมาด้วยแผนแบ็คโฟร์ ที่ไม่ใช่สูตรหลังสามเหมือนเกมก่อนๆในปีที่แล้วที่จัดการเป๊ปได้3ใน4ของการเจอกันทั้งหมด

สิ่งที่โอเล่เลือกลงมาสู้กับแมนซิตี้คือแผน "4-2-2-2" หรือที่เรียกชื่อว่าแผน "Box Midfield" นั่นเอง

บางคนยังไม่เข้าใจว่าแมนยูไนเต็ดเล่นอะไร เห็นมิดฟิลด์ลงมา4คนก็ตีว่าเป็นแผน 4-4-2 Diamond ไปหมด แต่จริงๆแล้วทีมเราห่างไกลจากการเล่นไดมอนด์พอควร เพราะแผนนั้นจะต้องยืนกันเป็นทรงข้าวหลามตัดจริงๆ คือมีกลางรับเน้นๆ1คน กลางรุกเน้นๆอีก1 และตัวกลางคู่ซ้ายขวาอีก2

แต่ยูไนเต็ดไม่ได้เล่นแผนไดมอนด์นานมากแล้ว นับตั้งแต่VDBย้ายมา เคยใช้ไดมอนด์แบบจริงๆจังๆแค่นัดเดียวเองมั้ง นอกนั้นไม่ใช่เลย ในยามที่ใช้มิดฟิลด์4คนลงสนาม

ลิสต์รายชื่อที่ออกมา มีบรูโน่ ป็อกบา แม็คโทมิเนย์ เฟร็ด ดูตัวนักเตะที่ลงสนามแค่นี้จะสามารถเดาได้2แผน นั่นก็คือ ถ้าไม่ใช่ 4-2-2-2 ก็อาจจะเป็น "4-3-1-2" ก็เป็นได้ แผนนี้เคยใช้มาแล้ว คือ ใช้มิดฟิลด์ตัวต่ำยืนเป็นระนาบ3คนด้านล่าง แล้วใช้กลางรุกโดดๆตัวเดียวเลย เล่นกับกองหน้าสองตัว ซึ่งโอเล่เองก็ดูเหมือนจะชอบใช้ระบบที่ให้บรูโน่คอยเล่นร่วมกับกองหน้าคู่ด้านหน้า ดังนั้น เมื่อดูจากนักเตะที่ลงสนาม ก็น่าจะเป็นสองแผนนี้เท่านั้น โอกาสใช้ไดมอนด์ก็มี แต่น้อยมาก เพราะโอเล่ไม่ค่อยใช้

(เอาจริงๆใช้ได้นะ ถ้าให้กลางต่ำเป็น มาติช คู่กลางเป็นตัวBox to Box จะใช้เป็น เฟร็ดป็อก หรือ เฟร็ดแม็ค เฟร็ดฟานเดอเบค ใครก็ได้ แล้วก็ให้บรูโน่ยืนกลางรุก)

เป็นKey Battle ที่มันส์มากจริงๆ เฟร็ด VS เดอบรอยน์

หลังจากที่เริ่มเกม และได้สังเกต"พื้นที่การเล่น" ของนักเตะจริงๆก็พบว่า วันนี้ยูไนเต็ดมาด้วยแผน 4-2-2-2 จริงๆอย่างชัดเจน อยากรู้ว่าแผนไหนให้สังเกตที่ "ป็อกบา" ว่าเขาเล่นยังไง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ป็อกบาจะค่อนข้างเติมเกมและดันขึ้นสูงแบบชัดมากๆ และจะไม่ได้ลงไปเล่นร่วมกับแม็ค เฟร็ดด้านล่าง ไม่งั้นมันจะเซ็ตตัวเป็น 4-3-1-2 เหมือนบางเกมที่แล้วมาซึ่งเคยทำแบบนี้ แต่วันนี้ ป็อกเติมขึ้นสูงอิสระมากๆ

ดังนั้นแผนที่โอเล่เลือกมาใช้สู้กับเป๊ปก็คือ 4-2-2-2 ซึ่งเป็นแผนที่ "ดีที่สุด" และ "เหมาะที่สุด" กับทีมของเรา และนักเตะที่เรามีอยู่ในตอนนี้ ซึ่งมันเป็นสูตรที่จะสามารถMaximizeขีดความสามารถของนักเตะเราที่ดีที่สุดในแต่ละตำแหน่ง ออกมาได้เต็มที่มากที่สุดแล้ว

ในยามที่เราไม่มีปีกใช้งานดีๆเลยไม่ว่าจะซ้ายหรือขวา และทีมต้องการตัวสร้างสรรค์เกมรุกที่มากกว่า 1ตัว ที่มีเพียงแค่บรูโน่แบกอยู่คนเดียว เกมจะตื้อทันทีเพราะเขาไม่สามารถทำเองคนเดียวได้ถ้าโดนประกบติดตัวมาก็ลำบากแล้ว จากที่ผ่านๆมาแมนยูไนเต็ดจะบุกโหดสัสๆในยามที่มีตัวครีเอทเกมรุกมากกว่าบรูโน่คนเดียว เช่น มีมาต้า หรือ ฟานเดอเบค ลงมา เกมบุกจะดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น แผนนี้ที่ใช้แบ็คโฟร์ + กลางรับสองตัว ซึ่งเป็นคู่ที่ดีที่สุด(ในภาคเกมรับ)อย่างแม็คเฟร็ด และมีกลางรุกที่มีสกิลสร้างสรรค์เกมบุกสองคนอย่าง บรูโน่ กับ ป็อกบา คอยจ่ายบอลให้หน้าคู่ที่วิ่งส่ายหาจังหวะเข้าทำ แผนนี้จึงเหมาะมากที่สุดแล้วในยามนี้

แต่ว่า แผนมิดฟิลด์กล่องในวันนี้ที่โอเล่หยิบมาสู้กับเป๊ปนั้น ผมสังเกตความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ไม่เหมือนเกมก่อนๆ กล่าวคือ จริงๆแล้วแผนนี้ของเรา นักเตะ4ตัวด้านหน้าที่เป็น กองหน้า+กลางรุกคู่ มักจะวิ่งเติมบุกกันอย่าง"อิสระ" ตามโอเล่สไตล์อยู่แล้ว จะไม่ค่อยมีการยืนที่ตายตัว แต่สิ่งที่ตายตัวคือ "หน้าที่" ของนักเตะจะตายตัว ก็คือ กลางตัวปั้นสองคน ให้กองหน้าสองคนรอเข้าทำ อันนี้เป็นแพทเทิร์นแน่นอน

แต่ในเกมที่เจอซิตี้ สิ่งที่โอเล่เอามาแก้ทางการครองบอลของเป๊ปที่แข็งแกร่งมากๆนั่นก็คือ การ"เลี่ยง"แอเรียที่แข็งแกร่งของซิตี้ ออกมาสู้ในบริเวณอื่นที่พอจะสู้ได้

ใช่แล้ว จากที่เขียนวิเคราะห์ฝั่งซิตี้เอาไว้ตอนนั้นนั่นแหละ มันคือ "บริเวณกลางสนาม" ที่เราจะไม่ไปแหยมเปิดหน้าสู้กับซิตี้แบบตรงๆ เพราะการที่พวกเขาส่งตัวที่คุมกลางดีจัดๆอย่าง แฟร์นันดินโญ่ คู่กับ โรดรี้ได้เลยในขณะนี้เนื่องจากว่าการเสริมกองหลังทั้งดิอาส กับ อาเก้ มันทำให้แฟร์ไม่จำเป็นต้องเล่นหลังอีกต่อไป และดันขึ้นมาเล่นกลางคู่โรดรี้ได้ ทำให้เป๊ปได้ความแน่นอนเพิ่มขึ้นในแนวรับ ที่กองหลังก็แน่น กลางรับก็แน่น

ในเมื่อกลางซิตี้แข็ง สิ่งที่แมนยูไนเต็ดทำก็คือ "ป้องกันเกมแดนกลาง" จากซิตี้เท่านั้นเอง ด้วยการไล่บอลร่วมกันของ แม็คเฟร็ด+บรูโน่อีกตัวที่ลงต่ำมาช่วยวิ่งไล่ รวมถึงแกะเพรสออกมา เราจะเล่นรับตรงกลางให้แน่น

แต่ในภาคของBuild-up playที่จะเซ็ตเกมขึ้นไปบุกใส่ซิตี้นั้น แมนยูไนเต็ดจะ "ไม่ขึ้นตรงกลาง" ให้ไปเจอตอของซิตี้อย่าง แฟร์ กับ โรดรี้ เด็ดขาด

โอเล่จึงให้เราเน้นการแกะเพรสซิ่ง และหาทางฝ่าแนวป้องกันตรงกลางคู่ของซิตี้ด้วยการ "หนีออกข้าง" ในยามตั้งเกมบุก และมันถูกตอกย้ำด้วยตำแหน่งการเล่นเฉลี่ยของเกมเจอซิตี้ที่ออกมาแล้วก็เป็นอย่างที่คาดไว้จริงๆว่า ลักษณะการยืนนั้นมันเป็น Box Midfield จริงๆ แต่ว่าที่ต่างออกไปก็คือกลางรุกสองคน จะเป็นตัวที่ถ่างออกซ้ายขวา (ป็อกออกซ้าย บรูโน่ถ่างขวา) ไม่เล่นพื้นที่ตรงกลางทั้งคู่ เพื่อที่จะมา "รับบอลต่อจากแบ็ค" และหาทางแกะเพรสขึ้นหน้าให้ได้ร่วมกับกลางต่ำและกองหน้าที่ถอนลงมาช่วยต่อบอลอีกส่วนหนึ่ง การแกะเพรสของแมนยูในเกมเจอซิตี้จึงใช้นักเตะทั้งหมด "4คน" ในการแกะเพรสขึ้นหน้าโดยการเล่นริมเส้น นั่นก็คือ 1.แบ็ค 2.กลางรุกที่ถ่างออกข้าง 3.กลางต่ำที่คอยต่อบอล 4.กองหน้าที่ถอนต่ำลงมาช่วย

จุดสังเกตที่สำคัญก็คือ "กลางรุกสองคนที่ถ่างออกข้าง" มันคือคีย์สำคัญของการสู้กับเป๊ปในวันนี้ของโซลชา ที่ยืนยันได้เลยว่านี่เป็นแทคติกที่ถูกกำชับลงมาสู้กับเป๊ปแน่ๆ

อย่างที่บอกไปว่า แม้เกมอาจจะตึงๆและน่าเบื่อไปหน่อย แต่สำหรับคนที่บ้าการดูบอล นี่เป็นสวรรค์ของคนชอบดูแทคติกการเล่นจริงๆจังๆในสนามเลย

เมื่อพื้นที่ตรงกลางของซิตี้แข็งมาก โอเล่จึงเปลี่ยนสมรภูมิรบออกไปด้านข้างแทน และดูเหมือนจะได้ผล เราใช้วิธีการแบบนี้ตลอดทั้งเกมในการช่วยแกะบอลขึ้นมาเวลาที่สองเซ็นเตอร์ถ่ายบอลออกมาให้แบ็ค ซึ่งจุดที่เด่นชัดมากกว่าคือฝั่งขวาที่บรูโน่มักจะลงมารับบอลต่อจากวานบิสซาก้าแทบทุกครั้งที่มีโอกาส และมารับในบริเวณ "ริมเส้น" เท่านั้น

สาเหตุที่เล่นริมเส้น แน่นอน เพราะถ้าจ่ายบอลเข้ากลาง มีโอกาสโดนซิตี้ที่ใช้4-5ตัววิ่งเพรสซิ่งใส่เราอยู่ ชิงบอลไปได้แน่นอน เพราะนี่คือทีมที่มีสถิติการตัดบอลจากพื้นที่Final Thirdได้โหดที่สุดทีมนึง

โอเล่รู้จุดแข็งของซิตี้หมดทุกอย่าง ในขณะที่เป๊ปเองก็รู้จุดแข็งของโอเล่เช่นกันในภาคเกมสวน ทั้งคู่จึงมีการเล่นที่เท่ากันหมดเพราะว่าต่างคนต่างระมัดระวังและ"รู้"อาวุธของอีกฝ่ายเป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอน เรารู้อยู่แล้วว่าเป๊ปนั้นเก่งขนาดไหน แต่ถ้าจะมาพูดเรื่องแทคติกกับคนที่ได้ชื่อว่า บ้าแทคติกอีกคนนึงๆ(แม้จะมากไปหน่อยก็ตาม)อย่างโอเล่ วันนี้ก็ถือเป็นมวยถูกคู่มากๆ

และรูปเกมการยืนตำแหน่งและการเล่นของแมนยูในวันนั้นที่หนีออกด้านข้างสู้กับซิตี้ จึงส่งผลให้ Average Position ในการเล่นของทีมเรา มันก็ออกมาอย่างที่คิดไว้จริงๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือ 4-2-2-2 Trapezoid Boxหรือ "มิดฟิลด์ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู" ที่สองมุมด้านบนจะป้านๆ บานออกด้านข้าง ส่วนฐานกลางรับสองคนด้านในจะแคบนั่นเอง ตามรูป

สี่เหลี่ยมคางหมู(หัวกลับ)ที่ว่า ให้สังเกตการวางตัวของ แม็ค&เฟร็ด ป็อกบา&บรูโน่ให้ดี จะค่อนข้างชัดเจน

อีกจุดนึงที่น่าสนใจก็คือ ตลอดเกมนั้นผมก็สังเกตได้ว่า กองหน้าสองคนจะหุบเข้าไปอยู่ตรงกลางที่จะไม่ออกมาริมเส้นเหมือนกลางรุกสองคนอีก เพราะมันจะทับตำแหน่งกัน ทรงจึงออกมาอย่างในรูปชัดเจน ตามแทคติกที่โอเล่วางเอามาสู้กับเป๊ป

นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุดแล้ว และเกมที่เกิดขึ้นวันนั้น ไม่น่าเชื่อว่าแมนยูไนเต็ดไม่จำเป็นต้องใช้แผนหลังสาม แต่ก็สามารถต่อกรและสู้กับแมนซิตี้ ด้วยสิ่งที่เป็นจุดแข็งของเขาย้อนเกล็ดกลับไป ด้วยการเพรสซิ่งสู้กับบอลของเป๊ป รวมถึงความกล้าที่จะเล่นต่อบอลเซ็ตกันจากแดนหลัง ใส่ทีมที่ว่ากันว่าครองบอลได้มากที่สุดทีมนึงของลีก เฉลี่ยๆ63%ขึ้นไปแทบทุกเกม แต่แมนยูกลับครองบอลต่อหน้าลูกทีมของเป๊ปแบบไม่กลัวอะไร สาเหตุก็มาจากแทคติกที่ว่ามาดังกล่าวนี่แหละที่ทำให้แมนยูพอจะตั้งเกมขึ้นมาได้บ้าง

เอามาเปรียบเทียบในขณะที่ยูไนเต็ดเป็นเกมรับ จะเห็นว่าทีมเรานั้นแพ็คกลางให้แน่นกว่าปกติ เพราะทรงยืนที่ว่านั้นในเกมรับ คู่กลางรุกทั้งสองคนจะดร็อปต่ำลงมาทันที ป็อกบาลงมายืนแทบจะเป็น 4-3-1-2 อยู่แล้ว แต่รวมๆก็คือ กลางรุกคู่จะหุบมาตรงกลางมากขึ้น ในขณะที่ กองหน้าสองคนในเกมรับ จะถ่างออกไปริมเส้น ทันที เพื่อที่จะวิ่งตามลงมาซ้อนแบ็ค และไล่ประกอบแบ็คคู่แข่งที่เติมมาด้วย (กรีนวู้ดจะเห็นชัดมากๆว่าลงมาไล่บอลช่วยบิสซาก้าแบบเห็นๆในเกมนั้น ทำให้แบ็คเขาก็บุกไม่ได้เช่นกัน) ตามรูปนี้ เห็นการยืนของ 18 กับ 6 ชัดเจน ในขณะที่กองหน้า จะออกมาริมเส้น

นอกจากทรงยืนแล้ว สิ่งที่เราเห็นได้จากสถิติ เมื่อพิจารณาร่วมกับที่เห็นในวันนั้นเพิ่มขึ้นนั้นก็มีอีกหลายๆเรื่อง (อ่านเสร็จแล้วดูภาพประกอบด้านล่างในรูปต่อไป)

1.ระยะห่างระหว่างสองเซ็นเตอร์แบ็คของเราที่ต้องเล่นเป็น Ball-Playing นั้นค่อนข้างห่างมาก เพราะต่างคนต่างต้องถ่างออกไปช่วยเล่นคู่กับแบ็คที่โดนเพรสซิ่งกลับมา ทำให้หลายๆครั้งเวลาโดนตัดบอล อาจจะเกิดgapตรงกลางให้วิ่งเจาะมาแล้วหาช่องยิงจากตรงกลางได้หลายๆครั้ง อย่างที่แฟนผีเห็นบ่อยๆ

2.บิสซาก้าในเกมนี้มีการจ่ายบอลขึ้นหน้าที่ดีกว่าด้านของ ลุค ชอว์ มากอย่างเห็นได้ชัด อันสังเกตได้จากเส้นจ่ายบอลที่เป็นสีเหลือง ซึ่ง possession value จะขึ้นกลางกับหน้ามาก ในขณะที่ดูทางด้านลุคชอว์ จ่ายให้แต่คืนกองหลัง(regressiveเส้นสีฟ้า) ไม่ก็กองกลาง แต่ไม่มีการจ่ายให้กลางรุกหรือกองหน้า เหมือนที่บิสซาก้าทำได้เลย ข้อนี้สำคัญมากๆ

ชอว์วันนั้นเกมรับโคตรดี แต่ภาคการตั้งเกม มีปัญหาโคตรหนัก

3.ความโดดเดี่ยวของ มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่แทบไม่มีส่วนร่วมกับเกมเลย อาจสร้างปัญหาให้เขา ในขณะที่กรีนวู้ดยังมีส่วนร่วม มีการจ่ายบอลที่ดีมากกว่าแรชชี่ซะอีก สิ่งนี้จะถูกยืนยันอีกทีในPass maps รายบุคคลภาพล่างสุด

ในภาคของการครองบอล การจ่ายบอลของทีม มีข้อมูลจาก Pass maps มาที่แสดงให้เห็นอะไรหลายๆอย่างจากภาพนี้ ซึ่งต้องชื่นชมนักเตะที่มีปริมาณและคุณภาพการเล่นที่ดีมากๆหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็น เฟร็ด ลินเดอเลิฟ รวมถึง แม็คโทมิเนย์และก็แมกไกวร์ ที่ต้องจ่ายบอลสู้กับเพรสซิ่งของซิตี้ตลอดทั้งเกม

เฟร็ดกับลินเดอเลิฟมีปริมาณการจ่ายบอลที่เยอะมากๆของทีมเรา และเกือบๆจะไม่พลาดเลย ส่วนแมกไกวร์นั้นมีการพยายามวางบอลยาวให้เห็นหลายครั้ง อาจจะมีจ่ายพลาดบ้างในลูกศรสีแดง แต่ก็ยังดีที่พยายามลองเปิดบอลบ้าง และการเล่นครองบอลถ่ายบอลของเขาก็สำคัญไม่แพ้สองคนดังกล่าว แม็คโทมิเนย์เองก็ทำงานหนัก และแถมมีการพยายามเปิดบอลขึ้นหน้าทำเกมบุกด้วย แม้จะพลาดในด้านการจ่ายบุก แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีในการเล่น

ในขณะที่เมื่อมาดูแผนที่การจ่ายบอลของนักเตะทั้งทีมเราแล้วนั้น สิ่งที่สนับสนุนว่า แทคติกนี้ของโอเล่มันจริง นั่นก็คือ เราจะสังเกตเห็นว่า ทั้งป็อกบา และ บรูโน่ ถ้าดูดีๆ pass mapของพวกเขาคือการจ่ายบอลจากตำแหน่งที่อยู่ด้านข้างของสนามเป็นส่วนใหญ่ สองคนนี้จะถ่างออกมามากๆ ซึ่งก็ตรงกับที่การยืนตำแหน่งเฉลี่ยของเขาแสดงให้เห็นเอาไว้ในภาพด้านก่อนหน้านี้ ซึ่งแม้จะมีลูกศรจ่ายพลาดเยอะของบรูโน่ แต่มันก็ยังดีที่เป็นการจ่ายผิดเพราะเปิดเกมบุกกล้าได้กล้าเสีย ไม่ใช่การจ่ายพลาดเพราะแค่ครองบอลธรรมดาๆ อันนี้ถือว่ายังดี เพราะเสียดายแค่ว่า ถ้ามันคลิกอีกสักลูกสองลูกให้นักเตะเราหลุดไปยิงได้ เราน่าจะมีสกอร์แล้วในวันนั้น ด้านป็อกบาเองวันนั้นถือว่าเล่นดีนะ จ่ายบอลเนียน ละเอียด และแผนภาพนี้แสดงให้เห็นการถ่ายบอลไปทั่วพื้นที่สนามของเขาได้ดีมากๆ

ส่วนกรอบขวาล่างสุด สุดท้ายเป็นHeat Map ที่แสดงให้เห็นว่าแมนยูไนเต็ดนั้นไม่ได้เบ้ซ้ายอีกต่อไป เกมเจอซิตี้ใช้พื้นที่ทั้งสองกราบได้เต็มดีมาก และที่สำคัญสังเกตดีๆ จะเห็นว่า การจ่ายบอล การเล่นของทีมเรานั้น heat mapจะมาหนาแน่นอยู่ที่ "กราบซ้ายขวาทั้งสองด้าน" โดยที่ไม่มีการเล่นในบริเวณกลางรุกด้านบนวงกลมกลางสนามขึ้นไปเลย นั่นยิ่งชัดว่า เราใช้แอเรียด้านข้างในการสู้กับแมนซิตี้จริงๆ..

ทั้งหมดนี้คือแทคติกและข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดูฟุตบอลแบบเจาะลึก นำเสนอเพื่อที่จะทำให้เห็นถึงยุทธวิธีที่โอเล่นำมาสู้กับเป๊ปได้อย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนมากๆว่า วันนั้นเราเล่นกันยังไง ซึ่งการเจอกับทีมอื่นมันจะไม่ใช่แบบนี้แน่นอน เพราะว่า 4-2-2-2 ของเราจะกล้าเล่นและกล้าเจาะตรงกลางมากกว่านี้ ทรงมันก็จะไม่ใช่อย่างที่เห็น ดังนั้น แผน "สี่เหลี่ยมคางหมูกู้พิภพ" แผนนี้ ถือเป็นอีเวนต์พิเศษจริงๆที่โอเล่จัดมาให้เป๊ปโดยเฉพาะคนเดียวโดดๆเลย และเราน่าจะไม่เห็นแผนการเล่นนี้อีกแล้ว ตราบใดที่ยังไม่เจอซิตี้อีกรอบ ซึ่งเจอซิตี้เกมหน้า ก็อาจจะไม่มีคางหมูนี่ให้เห็นอีกแล้วด้วยซ้ำ เพราะพี่แกอาจจะงัดแผนอื่นมาเล่นอีกนะแหละ

ไม่มีทางเดาถูกหรอก ให้ตายเถอะ!

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด