:::     :::

โปรดเกาให้ถูกที่คัน

วันจันทร์ที่ 05 กรกฎาคม 2564 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
1,397
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
หลังผลงานล้มเหลวไม่เป็นท่าของทีมชาติไทย ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ทำให้ สมาคมกีฬาฟุตบอล ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดนกระแสโจมตีจากแฟนบอลและสื่อมวลชนทุกทิศทุกทาง แถมสถานการณ์ของ อากิระ นิชิโนะ กุนซือญี่ปุ่น ยังคลุมเครือไม่ได้ข้อสรุปสักทีว่าจะอยู่หรือไป

เปรียบเสมือนมวยที่กำลังเมาหมัดจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สมาคมฯ กลับผุดไอเดีย เชิญชวน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ฝึกสอนฟุตบอล ตลอดจนบุคลากรในวงการฟุตบอลไทย ร่วมระดมความคิด เสนอแนวทาง เพื่อให้ฟุตบอลไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ที่ดีในการแข่งขันครั้งต่อไปของทีมชาติไทย

อย่างไรก็ตามสมาคมฯ คงลืมไปว่าเคยตั้งคณะกรรมการพัฒนาและบริหารฟุตบอลทีมชาติไทย เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาและการบริหาร โดยจะมีส่วนในการผลักดัน ติดตามผลการทำงานของการวางรากฐานพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแผนแม่บท 20 ปี และไทยแลนด์เวย์ มาแล้ว


โดยคณะกรรมการชุดนั้นมีผู้มากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ที่คร่ำหวอดอยู่วงการฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน พร้อมแบ่งงานและหน้าที่กันออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ 

กลุ่มที่ 1. ด้านวิชาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบด้วย รศ. ดร. วิชิต คนึงสุขเกษม สภากรรมการ, ดร. วิชิต แย้มบุญเรือง อดีตประธานกรรมการบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด และ นายวิรัช ชาญพานิชย์ อดีตผู้จัดการทีมชาติไทย

กลุ่มที่ 2. ด้านเทคนิค ประกอบด้วย นายวิทยา เลาหกุล ประธานพัฒนาเทคนิค สมาคมฟุตบอลเเห่งประเทศไทยฯ, นายอดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ ประธานพัฒนาฟุตซอลแห่งชาติ, และ ดร.จตุพร ประมลบาล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกีฬาฟุตบอล

กลุ่มที่ 3. ด้านการบริหารจัดการ ประกอบด้วย นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี, นายทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ผู้จัดการทีมสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, นายธนวัชร นิติกาญจนา ประธานสโมสรราชบุรี มิตรผล เอฟซี, นายมิตติ ติยะไพรัช ผู้บริหารสโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด และ นายจีระศักดิ์ โจมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ สโมสรชลบุรี เอฟซี 

กลุ่มที่ 4. ด้านการแพทย์ และวิทยาศาสตร์การกีฬา ประกอบด้วย นายแพทย์ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการและกรรมการฝ่ายแพทย์ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ (กระดูกและข้อ)

กลุ่มที่ 5. อดีตนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย ประกอบด้วย นาวาอากาศเอกปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตกองหน้าทีมชาติไทย และ นายสินทวีชัย หทัยรัตนกุล อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติไทย

กลุ่มที่ 6. ด้านสื่อสารมวลชน ประกอบด้วย นายยุทธพงศ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 99 คลื่นเมืองไทย แข็งแรง (Active Radio)

ไม่รู้ว่าหลังแต่งตั้งแต่มีคณะนี้เข้ามา ได้ทำงานหรือเชิญเข้ามาร่วมหารือกันบ้างหรือเปล่า? หากมีครั้งสุดท้ายที่ได้ระดมสมองกันคือเมื่อไหร่? หรือตั้งมาเฉพาะกิจเฉพาะกาล เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรเท่านั้น 

แม้บางคนจะไม่ได้ทำงานกับสมาคม แล้ว แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ในวงการฟุตบอลอยู่เช่นเดิม

ดูตัวอย่างใกล้ๆ อย่าง ฟุตซอล ที่ประสบความสำเร็จไปเล่นโต๊ะเล็กชิงแชมป์โลกเป็นว่าเล่น เพราะมีของจริงและความรู้แน่นอย่าง “บิ๊กป๋อม” อดิศักดิ์​ เบ็ญจศิริวรรณ เป็นแม่ทัพ 


ดังนั้นการแก้ปัญหาสิ่งที่สมาคมฯ ต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือการหาคนรู้เรื่องฟุตบอลไทยตัวจริง เข้ามาช่วยจัดการไล่ตั้งแต่เรื่องอนาคตของ อากิระ นิชิโนะ สรุปแล้วจะเอายังไง 

ถ้า นิชิโนะ อยู่ต่อ ก็ต้องหาล่ามที่มีรู้เรื่องฟุตบอลที่เข้ามาทำหน้าที่แทนคนเดิมที่ดูแล้วไม่มีความรู้เรื่องฟุตบอลเลย 

นอกจากนี้ต้องหาผู้ช่วยโค้ชฝีมือดี รู้เรื่องฟุตบอลไทยอย่างละเอียด และมีบารมี เข้ามาผนึกกำลังกับ อนุรักษ์ ศรีเกิด และ อิสสระ ศรีทะโร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องการดูฟอร์มผู้เล่นและการฝึกซ้อมได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ หาก นิชิโนะ จะเอาผู้ช่วยชาวญี่ปุ่นมาทำงานด้วยยิ่งดีขึ้นไปใหญ่ 

ที่สำคัญจำไว้เลยว่าการไปแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนท์สำคัญ อย่าเอานักเตะไปเยอะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล108 อะไรก็ตาม เอาไปแค่ตัวละครที่เหมาะสมกับแผนการเล่นและมีฟอร์มการเล่นยอดเยี่ยมเท่านั้น ส่วนนักเตะที่จะเอาไปหาประสบการณ์เอาไว้เรียกช่วงอุ่นเครื่องฟีฟ่า เดย์ จะเหมาะสมกว่า

กลับกันหากจะเปลี่ยนตัวกุนซือใหม่ ก็ต้องหากุนซือที่ต้องการเข้ามายกระดับทีมชาติไทย และที่สำคัญต้องพูดภาษาอังกฤษได้ดี เพื่อสื่อสารถึงตัวนักเตะโดยไม่ต้องผ่านล่าม เพราะชื่อว่าปัจจุบันนักเตะไทยหลายคนพูด ฟัง ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น เนื่องจากกุนซือในไทยลีกส่วนใหญ่อิมพอร์ตมาจากต่างประเทศทั้งนั้น

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำก็คือกระบวนการสรรหากุนซือจะต้องทำแบบรวดเร็ว อย่าลืมว่าก่อนตั้ง นิชิโนะ เข้ามาคุมทีม สถานการณ์ตอนนั้นอยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม ก่อนฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก จะเริ่มขึ้น ซึ่ง นิชิโนะ มีเวลาเพียง 1 เดือน ในการเตรียมทีมก่อนนำทีมชาติไทย ลงสนามเกมแรกกับ เวียดนาม 


อีกหนึ่งจุดสำคัญคือการเรียกนักเตะตัวเก๋า มีความเป็นผู้นำสูงอย่างเข้ามาเพื่อให้คำแนะนำและดูแลน้องดาวรุ่ง ที่เริ่มก้าวมาติดทีมชุดใหญ่กันเพียบ 

ส่วนการสร้างเยาวชนการเปิดอบรมโค้ชทุกระดับเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ดังนั้นการหาเฮดโค้ชดีๆ รู้จักวัฒนธรรมฟุตบอลไทย รู้จักนักฟุตบอลเยาวชนเยอะๆ เคยทำทีมได้แชมป์และเคยปั้นนักเตะประดับวงการก็ต้องเปิดทางให้บุคลากรเหล่านี้เข้ามาคุมทีมชาติไทยในระดับเยาวชน เป็นสิ่งที่ควรทำ

เพราะนอกจากจะได้คนจริงแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนโค้ชไทยได้มีทำงานทำ เพื่อเก็บประสบการณ์ ยังไงฝีมือโค้ชไทยก็ไม่ได้เป็นรองโค้ชต่างชาติ ขอแค่กล้าเปิดเวทีให้เขาแสดงความสามารถเท่านั้น

อย่าลืมว่าปัญหาต่างๆ มันมีอยู่แล้ว สมาคมฯ ต้องไปแก้ให้ตรงจุด ไม่ใช่พอล้มเหลวแล้วกลับมาระดมสมองจากทุกภาคส่วนในตอนนี้มันดูไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่

เพราะสิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้สะท้อนภาพลักษณ์ที่สวยงามอีกต่อไป แต่มันคือการบ่งบอกว่าสมาคมฯ กำลังจะทำในเรื่องผิดที่ผิดเวลา


ดังนั้นโปรดเกาให้ถูกที่คัน ลำดับความสำคัญ อะไรต้องทำก่อนอะไรต้องทำทีหลัง เพื่อสะสางปัญหา และพา “ช้างศึก” กลับมาผงาดในอาเซียน อีกครั้งให้จงได้ 


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด