:::     :::

"แอดวานซ์คาเตนัคโช่" แบบมิลานยุคซาคคี่ อาจทำให้อิตาลีถึงแชมป์

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
2,982
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
เมื่อคาเตนัคโช่ที่เหนียวแน่น ถูกเสริมด้วยเกมเพรสซิ่งสุดดุเดือดเหมือนปรัชญาของซาคคี่ในยุคปลาย80s ผสมผสานกับการเน้นเกมบุก ทำให้คาเตนัคโช่แบบแอดวานซ์ของมันชินี่ อาจทำให้อิตาลีไปถึงแชมป์ด้วยเกมรับที่ผสมกับบอลสมัยใหม่ก็เป็นได้

ในที่สุดก็ดำเนินมาถึงสังเวียนสุดท้ายของยูโร2020 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กับคู่ชิงระหว่าง ทีมชาติอิตาลี และ ทีมชาติอังกฤษ ที่จะระเบิดความมันส์ขึ้นในอีกราว1วันข้างหน้านี้ ในตีสองของกลางดึกคืนวันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม หรือ เช้ามืดวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 นี้เอง

ซึ่งคู่ชิงระหว่าง"อัซซูรี่" กับ "ทรีไลอ้อนส์" นั้น มีเส้นทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมาตั้งแต่รอบแรกจนถึงตอนนี้

ทีมหนึ่งดูจะกระท่อนกระแท่นในรอบแรกที่ชนะได้เพียงแค่2นัด เสมอ1นัด ผ่านเข้ารอบมาได้ แต่ฟอร์มเริ่มกระเตื้องและโหดขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ จากการชนะทีมใหญ่อย่างเยอรมันได้อย่างหมดจด 2-0 ก่อนที่จะระเบิดถังขี้ยูเครน 4-0 ขึ้นเป็นเต็งแชมป์จ๋าๆ และล่าสุดก็เฉือนเอาชนะเดนมาร์กไปได้อีก 2-1 จากจุดโทษช่วงต่อเวลาพิเศษ

ส่วนอีกทีมหนึ่งโชว์ฟอร์มอย่างสุดยอดในรอบแรก ขึ้นมาเป็นเต็งจ๋าๆ ด้วยการชนะสามนัดรวด เกมศูนย์ เก็บ9แต้มเต็ม ยิงไป7ลูก แต่เกมหลังๆตั้งแต่รอบน็อคเอ้าท์เป็นต้นมา เริ่มหืดขึ้นคอมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่เกือบจะเอาตัวไม่รอดในรอบรองชนะเลิศมาในการเจอสเปน กราฟที่ขึ้นจุดพีคตั้งแต่แรกๆ ก็ค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆ

กราฟของอังกฤษพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และดูจะสวนทางกับของอิตาลีเช่นกัน

อิตาลีโชว์ฟอร์มได้สุดสะเด่าส์ในเกมรอบแบ่งกลุ่ม ด้วยการชนะสามนัดรวด ชนะตุรกี 3-0, ชนะทีมสุดแกร่งอย่างสวิตเซอร์แลนด์ 3-0, และเฉือนเวลส์ 1-0 ด้วยทีมสำรองเกือบทั้งชุด

ฟอร์มรอบแรกของอิตาลี ทำให้สื่อทุกสำนักพากันเฮโลยกให้อิตาลีขึ้นเป็นตัวเต็งของทัวร์นาเมนต์นี้ทันที ด้วยฟอร์มการเล่นอันสุดยอด ที่มีเกมบุกอันดุดัน รวดเร็ว และแม่นยำ รวมถึงเกมเพรสซิ่งตลอดเวลาแบบไม่ให้คู่แข่งหายใจ คือจุดแข็งของอิตาลียุคใหม่

สิ่งนี้ภายใต้ฝีมือการคุมทีมของ โรแบร์โต้ มันชินี่ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของอิตาลี ให้กลายเป็น"บอลบุก" แบบที่แฟนบอลอิตาลีอย่างผู้เขียนที่ตามมาจะ30ปีแล้ว ไม่เคยพบเคยเห็นอิตาลีในร่างใหม่นี้มาก่อน จนต้องขนานนามกันว่าเป็น "All New Italy" ได้เลยจริงๆเพราะที่ผ่านมาอิตาลีไม่เคยมีแบบนี้ให้เห็นเลย

แต่ขณะเดียวกัน เกมรับของทีมชาติอิตาลีชุดนี้ก็ไม่เสียประตูมายาวๆตั้งแต่เกมก่อนยูโร จนถึงบัดนี้เข้าสู่รอบชิง อิตาลีไม่แพ้ใครมา "33นัด" เข้าไปแล้ว ยิงได้ 86 ประตู เสียแค่ 10 ประตูเท่านั้น ซึ่งนั่นแปลว่า เกมรับอิตาลีก็ไม่ได้อ่อนลงหรือถูกละเลย สำหรับทีมอัซซูรี่ภายใต้การทำทีมของมันชินี่

แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่รอบน็อคเอ้าท์ อิตาลีก็เริ่มที่จะเจองานหนักขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่รอบ16ทีมสุดท้ายที่ต้องออกแรงเหนื่อยในการเฉือนชนะทีมชาติออสเตรีย 2-1 และเป็นการหยุดสถิติการไม่เสียประตูเอาไว้ที่10นัด มาทำนบพังเอานัดที่11 จากลูกตีตื้นของซาซ่า คาลัดจ์ซิชในช่วงต่อเวลาพิเศษ แต่ก็เข้ารอบมาได้

หลังจากนั้นอิตาลีก็เสียประตูมาทุกนัด เริ่มตั้งแต่การเจอ "ของจริง" ทีมแรกอย่าง ทีมชาติเบลเยี่ยม ที่อยู่ในอันดับหนึ่งของโลกตามWorld Ranking และมีตัวรุกระดับพระกาฬมากมาย โดยเฉพาะลูกากู กับ เควิน เดอบรอยน์ ซึ่งบอลก็สู้กันได้สูสี แต่อิตาลีจะครองเกมได้ดีกว่าหน่อยในกลางสนาม และยิงจากจังหวะโอเพ่นเพลย์ได้ทั้งสองครั้งจากประตูของ นิโคโล่ บาเรลล่า และ ลอเรนโซ่ อินซิเญ่ ปั่นโค้งเข้าไปอย่างสวยงาม

ก่อนที่ท้ายครึ่งแรก เบลเยี่ยมจะได้จุดโทษจากการลากเลื้อยของโดกู ตัวจี๊ดดาวรุ่งของเบลเยี่ยม และก็เป็นลูกากูที่ยิงจุดโทษเข้าไปได้สำเร็จ แต่สุดท้ายครึ่งหลังอิตาลีก็สามารถรักษาสกอร์เอาไว้ได้ และผ่านเบลเยี่ยมเข้ารอบSemi-Final ด้วยสกอร์ 2-1

รอบรองชนะเลิศ อิตาลีพบกับทีมที่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะแพ้ทางบอลอยู่พอสมควรสำหรับ สเปน และก็เป็นไปอย่างที่แฟนอิตาลีอย่างผู้เขียนกังวลจริงๆ เมื่อรูปเกมที่ออกมา อิตาลีหาบอลแทบไม่เจอ และโดนสเปนครองบอลหาช่องบุกกดอยู่ข้างเดียวตลอดทั้งเกมแบบใจหายใจคว่ำ แต่ยังเอาตัวรอดมาได้ด้วยเกมรับที่เหนียวแน่นและอดทนสุดๆตั้งแต่ครึ่งแรก

แม้จะมีจังหวะที่สเปนได้ยิงเน้นๆ แต่อิตาลีก็ยังคงรักษาชีวิตเอาไว้ได้ด้วยปราการด่านสุดท้ายของผู้รักษาประตูอย่าง จานลุยจิ ดอนนารุมม่า ได้อยู่ดี

"กำแพงยักษ์ที่ไม่มีวันพังทลาย" ดอนนารุมม่า เซฟชีวิตของอิตาลีเอาไว้ได้อย่างสุดยอดจากลูกยิงของโอลโม่ในครึ่งแรก และหลายๆจังหวะที่ต้องออกจากเส้นประตูมาชกลูกโด่งออกไป ก่อนที่ครึ่งหลังอิตาลีจะหาทางทำเกมรุกคืนมาได้ลุ้น1-2ครั้งจากอิมโมบิเล่ และเคียซ่า ก่อนที่ไม่นาน เฟเดอริโก "หลานกู" เคียซ่า จะยิงประตูสุดสวยพาอิตาลีขึ้นนำสเปนก่อน 1-0

แต่สุดท้ายแล้วตัวสำรองอย่างโมราต้า ก็ลงมาถูกที่ถูกเวลา เล่นชิ่งเจาะช่องใส่อิตาลีหลุดไปยิงตีเสมอสำเร็จเป็น 1-1 ช่วงท้ายครึ่งหลังจนต้องต่อเวลาพิเศษในที่สุด

ช่วงextra time อิตาลีก็ยังต้องเจอกับสภาพเดิมๆก็คือ การถูกสเปนคุมบอลเอาไว้ฝ่ายเดียว และทำเกมบุกใส่เรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรกับตลอด9นาทีที่ผ่านมา และจุดแข็งเดิมๆที่เคยมีมาตลอดนับตั้งแต่รอบแรกก็คือ การเล่นเพรสซิ่ง การเล่นเกมสวนกลับเร็ว การเซ็ตบอลบอลขึ้นหน้าทำเกมบุก ทุกอย่างมีปัญหา และอยู่ในสภาพ "ไร้การต่อต้าน" สเปนทุกประตู

ยกเว้นเพียงอย่างเดียวที่อิตาลียังคงแข็งแกร่งอยู่ และทำให้ชนะสเปนมาได้ นั่นก็คือ "เกมรับ" นั่นเอง

สิ่งที่ทำให้อิตาลีเอาชนะสเปนมาได้ มันคือเกมรับอันแข็งแกร่ง และการเล่นในสไตล์คาเตนัคโช่ อุดบ้านปิดประตูตีแมว ทำให้ขุนพลอัซซูรี่ "ยันเสมอ" สเปนเอาไว้ในช่วง120นาทีมาได้ (ต้องใช้คำนี้จริงๆ) และก็เข้าสู่การดวลจุดโทษ ซึ่งเป็นของแสลงของอิตาลีมาทุกยุคทุกสมัย

ทั้งๆที่ตัวแรกของอิตาลีอย่างโลคาเตลลี่ยิงพลาดก่อนด้วยซ้ำ แต่สเปนเองก็พลาดจากโอลโม่เช่นกัน ก่อนที่เบล็อตติจะยิงจุดโทษแบบหนักหน่วงเข้าไปเรียกพลังใจให้เพื่อนได้ หลังจากนั้นคนถัดๆมาของอิตาลีอย่างโบนุชชี่ แบร์นาเดสกี้ จะไม่พลาด

สุดท้ายแล้วก็เป็น "ดอนนารุมม่า" ที่สามารถเซฟลูกยิงของคนที่4ของสเปนอย่าง "โมราต้า" ได้อย่างสวยงาม (เซฟ4ครั้ง ดอนนารุมม่าพุ่งถูกทางไป 3ครั้ง)

และปิดท้ายด้วยการยิงจุดโทษด้วยท่าไม้ตายกระโดดยิงแบบเหนือๆของจอร์จินโญ่ ทำให้อิตาลีชนะสเปนในการดวลจุดโทษ 4-2 ได้สำเร็จ จากการยันเสมอในเวลาได้อย่างใจหายใจคว่ำ และผ่านรอบรองชนะเลิศที่มาได้

ในเกมเจอสเปน อิตาลีสูญเสียหมดทุกอย่างที่เคยโดดเด่นในทัวร์นาเมนต์นี้ แต่มันกลับแสดงให้เห็นว่า จุดแข็งดั้งเดิมของอิตาลียังคงอยู่ และส่วนตัวผู้เขียน "เชื่อ" มาตลอดตั้งแต่รอบแรกว่า แม้จะเปลี่ยนมาเล่นเกมรุกเต็มรูปแบบ แต่บอลคาเตนัคโช่ของอิตาลีมันน่าจะต้องยังมีอยู่อย่างแน่นอน

เพราะเกมรับมันอยู่ใน "DNA" ของทีมชาติอิตาลีอยู่แล้ว

สิ่งที่สะท้อนประเด็นนี้ได้ดีที่สุดก็คือรูปเกมในแมตช์นั้นนั่นเอง ด้วยโอกาสยิงของสเปนถึง 16ครั้ง เข้ากรอบ5ครั้ง จากการครองบอลข้างเดียวตลอดทั้งเกมสูงถึง 71% ด้วยปริมาณการจ่ายบอลเกือบสามเท่าของอิตาลี และความแม่นยำในการจ่ายบอลสูงถึง 88%

ส่วนอิตาลี โอกาสยิง7ครั้ง เข้ากรอบ4 และรูปเกมสู้ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการเพรสซิ่งสูง การแกะเพรส บุกเร็ว ใช้ไม่ได้ผลหมดทุกอย่าง แต่ก็ยังเอาตัวรอดมาได้และลากยาวจนไปชนะกันที่จุดโทษ ซึ่งก็ชนะกันที่ "เกมรับ" จากลูกเซฟของผู้รักษาประตูอยู่ดี

เมื่อเริ่มได้เจอทีมใหญ่ๆอย่างเบลเยี่ยม หรือ สเปน มันทำให้แฟนบอลอิตาลีได้ลิ้มรสการเชียร์บอลแบบเดิมๆที่เราคุ้นเคยกับการได้ดูเกมรับอึดๆเหนียวๆเนี่ยแหละ การเชียร์อิตาลีของแท้เลย

ความรู้สึกเยี่ยวเหนียวแบบนี้ มันใช่เลย!

ส่วนทางด้าน "ทีมชาติอังกฤษ" ในรอบแรก ถือว่าฟอร์มฝืดใช้ได้ทีเดียว กับการเฉือนชนะโครเอเชีย 1-0, ทำได้แค่เสมอกับสก็อตแลนด์ 0-0 และ เฉือนชนะทีมชาติเช็คอีกครั้ง 1-0 ทำให้ดูเหมือนว่า ฟอร์มของอังกฤษจะไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาที่เห็นก็คือการทำเกมที่ไม่ค่อยไหลลื่นเพราะขาดตัวสร้างสรรค์เกมที่เพียงพอ และความไม่สมดุลของการจัดทีมหลายอย่าง เช่นการเอาแบ็คขวาอย่างทริปเปียร์ไปลงแบ็คซ้ายในนัดแรก การเล่นในเกมบุกของราฮีม สเตอร์ลิ่งที่สร้างสรรค์เกมไม่ดี แต่มีความคมในการจบสกอร์สูง ซึ่งเขาคือคนเดียวที่ยิงประตูให้อังกฤษได้ในรอบแบ่งกลุ่มสามนัด

และการเจอกับทีมคู่ปรับตลอดกาลของอังกฤษอย่าง "เยอรมัน" ในรอบ16ทีมสุดท้าย ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นบทพิสูจน์ของทีมชาติอังกฤษชุดนี้อย่างแท้จริงซึ่งสร้างความมั่นใจมหาศาลให้พวกเขาได้ด้วย

ประการแรกสุดเลยคือ "เกมรับ" ของอังกฤษแน่นอนมาก ตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มจนถึงรอบ8ทีมสุดท้าย พวกเขาไม่เสียประตูเลยแม้แต่ลูกเดียวในยูโร2020 และเกมรับในวันที่เจอกับทีมชาติเยอรมัน เซาท์เกทเลือกแผนเกลือจิ้มเกลือ เล่นสูตรหลังสามใส่เยอรมันด้วยแผน 3-4-3 สู้กับเยอรมันที่เล่นหลังสามเช่นกันในformationของ 3-4-2-1 เพื่อที่จะแพ็คเกมรับให้แน่น และแพ็คแดนกลางให้ไม่เสียเปรียบเยอรมันมากนัก

รูปเกมที่ออกมาคือ เกมตึงและเล่นกันอย่างระมัดระวังจริงๆตั้งแต่ต้นเกม ทรงการเล่นด้วยบอลระบบของเยอรมันดูจะเนี้ยบกว่าเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีความต่างมากนักในจังหวะสุดท้าย ในขณะที่อังกฤษเองก็พยายามขึ้นเกมบุกด้วยปีกซ้ายอย่างสเตอร์ลิ่ง แต่ก็เป็นการโซโล่เดี่ยวด้วยคนเดียว และเสียบอลแทบทุกครั้ง ซึ่งจะเห็นชัดว่า เป็นปัญหาเดิมๆของทีมชาติอังกฤษมาตั้งแต่รอบแรกนั่นก็คือ เกมรุกขาด "ทีมเวิร์ค" อย่างแรง

ไม่มีคนเชื่อมสามประสานเข้าด้วยกัน ต่างคนต่างเล่น และไม่มีเพลย์เมคเกอร์อยู่ในทีม จนทำให้แฮรี่ เคนเอง เมื่อต้องลงต่ำบ่อย เกมรุกก็จะดรอปลงไปด้วยเพราะไม่มีคนรอจบสกอร์

แต่จุดเปลี่ยนของอังกฤษ เกิดขึ้นทันทีเมื่อทุกอย่างลงล็อค ราฮีม สเตอร์ลิ่งถูกย้ายไปขวา และเซาท์เกทส่ง แจ็ค กรีลิช ลงมาเล่นตัวรุกทางซ้ายแทนซาก้า

และเพียงแค่ไม่กี่อึดใจ การลงมาของกรีลิช ทำให้เกมรุกอังกฤษ "ลงล็อค" พอดีด้วยทีมเวิร์คที่กรีลิช จ่ายบอลไหลสวยๆให้กับลุค ชอว์ ที่ตลอดเกมไม่ได้บอลเลยจากสเตอร์ลิ่ง ซึ่งชอว์ก็จ่ายเรียดเข้ากลางตามลูกถนัดที่แมนยู ทำให้สเตอร์ลิ่งที่เป็นอิสระจากการต้องปั้นเกมรุกเองนั้น หลุดการประกบและเข้าฮอร์สได้อย่างพอเหมาะพอเจาะในการปรับroleไปเล่นเป็น Second Striker แทนปีกซ้ายตัวทำเกม

ก่อนที่อังกฤษจะได้ประตูที่สองจากแจ็ค กรีลิชคนเดิม ที่รับบอลต่อจากชอว์กันอย่างเข้าขา และแจ็คก็เปิดเข้ากลางให้แฮรี่ เคน พุ่งเข้าโหม่งได้อีกเป็น 2-0 ฝังเยอรมันด้วยประตูนี้ และผ่านเข้ารอบ8ทีมแบบ "โคตรเท่" ด้วยการชนะเยอรมันที่ไม่มีพิษสงในเกมรุกเลยเพราะขาดตัวรุกที่เข้าทำสกอร์ได้

เกมชนะเยอรมันส่งผลให้อังกฤษมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นแบบ 200% ทั้งการที่สามารถปราบทีมใหญ่ได้ และแกเรธ เซาท์เกทเริ่มที่จะพบ "Best XI" ของตัวเองแล้ว หลังจากที่ได้การกลับมาของ "แฮรี่ แมกไกวร์" กัปตันทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เกมของอังกฤษดูดีขึ้นมาก เมื่อรวมกับการประจำตำแหน่งของลุค ชอว์ และตำแหน่งอื่นๆก็เริ่มนิ่งในทุกจุด โดยเฉพาะคู่กลางdouble pivotระหว่าง เดแคลน ไรซ์ และ คาลวิน ฟิลลิปส์ ที่สอดประสานกันอย่างดี โดยให้ไรซ์เฝ้าหลังบ้าน ในขณะที่ฟิลลิปส์วิ่งเติมพลังในแดนกลางให้กับทีมในแบบมิดฟิลด์ box-to-box

โดยที่จุดเดียวของอังกฤษที่มีการrotation อยู่บ่อยๆนั่นก็คือ ตำแหน่งปีกขวา ที่มีการสลับกันลงถึงสามคนตั้งแต่รอบแรก เริ่มต้นที่ ฟิล โฟเด้น ถัดมาเป็น บูกาโย่ ซาก้า ที่ได้รับโอกาสลงเป็นปีกขวาตัวจริงถึง4นัดเข้าไปแล้ว และเจดอน ซานโช่ ในเกมเจอกับยูเครน นอกจากตำแหน่ง RW แล้ว 11ตัวจริงของอังกฤษถือว่านิ่ง และได้ผู้เล่นที่ "เหมาะสมกับทัวร์นาเมนต์นี้" แล้วเรียบร้อย

ผลของมันก็คือ ทีมชาติอังกฤษ ระเบิดฟอร์มอัดยูเครน 4-0 อย่างไม่น่าเชื่อว่า ทีมที่ใจสู้มาตลอดอย่างยูเครน จะถูกยิงจนเละเป็นโจ๊กขนาดนี้ ด้วยประตูขึ้นนำเร็วของแฮรี่ เคน และ "คอมโบเปิดโหม่ง" จากการระเบิดฟอร์มของ "ลุค ชอว์" ในร่างUltra Instinct ที่ทำสองแอสซิสต์จากฟรีคิกเปิดเข้าหัวแมกไกวร์เน้นๆ ก่อนที่จะเปิดเข้าหัวแฮรี่ เคน ซ้ำต่ออีกดอกรัวๆ ก่อนที่อังกฤษจะโชว์ความเป็นผู้สันทัดกรณีในเรื่องการเล่นบอลโด่ง ด้วยลูกเตะมุมจากเม้าท์มาเข้าหัวเฮนโด้อีกหนึ่งเม็ด และชนะไปอย่างชื่นมื่น 4-0 ขึ้นเป็นเต็งแชมป์เต็มตัวในนัดนี้

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของพลพรรคสิงโตคำรามที่เป็นกราฟพุ่งสูงขึ้นตามลำดับ จากการชนะเยอรมัน ถล่มยูเครน ก่อนที่รอบรองชนะเลิศจะมาเจอของยากอย่าง เดนมาร์ก ที่สู้ได้ดีในครึ่งแรกอย่างสูสี แถมนำก่อน 0-1 ด้วยฟรีคิกของดัมส์การ์ด แต่อังกฤษก็ตามตีเสมอได้เร็วจากการแทงช่องอย่างเหนือชั้นของเคนให้ซาก้าหลุดขึ้นไปทางขวา ก่อนจะเปิดตบเข้ามาตรงกลางให้ราฮีมเข้าฮอร์ส และเป็นเคียร์ ที่จำใจต้องเข้าสกัด และกลายเป็นการทำเข้าประตูตัวเองอย่างที่เห็น

เกมครึ่งหลังผู้จัดการทีมชาติเดนมาร์กทำพลาดด้วยการถอดเขี้ยวเล็บหลักสองคนของตัวเองออกตั้งแต่เนิ่นๆ ลดตัวรุกเหลือแค่สองคนในสูตร 3-5-2 ทำให้เกมสู้อังกฤษไม่ได้เลย เพราะแดนหน้าไม่มีความอันตรายแล้ว มิดฟิลด์อังกฤษเติมเกมได้อย่างอิสระ และแม้จะยังเจาะไม่เข้าใน90นาทีจนต้องต่อเวลา

แต่สุดท้ายแล้วแนวรับที่สะบักสะบอมของเดนมาร์ก ก็ต้านไม่อยู่เมื่อเสียจุดโทษแบบ50-50 ที่กูรูส่วนใหญ่มองตรงกันว่าลูกนี้ไม่สมควรได้จุดโทษด้วยซ้ำ แต่เมื่อมันเป็นจุดโทษ แฮรี่ เคนก็เป็นคนมายิง ที่แม้จะติดเซฟชไมเคิล แต่ก็ซ้ำได้ในจังหวะโอเพ่นเพลย์ และผ่านเข้ารอบชิงในที่สุด

แม้จะเป็นชัยชนะที่ได้จากจุดโทษที่มีข้อกังขาเยอะจนเป็นประเด็นที่แฟนบอลต่างๆพูดคุยกันมากพอสมควร หลายๆฝ่ายเริ่มหมั่นไส้กับความเอียงของการตัดสินที่อังกฤษได้รับจากการเป็นเจ้าถิ่นในเวมบลีย์ แต่เอาจริงๆแล้วถ้าวัดการเล่นในวันนั้น อังกฤษก็มีดีพอจะชนะในช่วงต่อเวลาพิเศษได้อยู่เหมือนกัน ถ้าไม่ได้ลูกจุดโทษ เพราะเดนมาร์กนั้นฆ่าตัวตาย ปรับแทคติกพลาดให้อังกฤษตั้งแต่ช่วงกลางๆครึ่งหลังแล้ว รูปเกมสู้ไม่ได้เลย

ดังนั้นยังไงอังกฤษก็ดีกว่าอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าค่อนข้างน่าสงสารทีมชาติเดนมาร์กที่พยายามเล่นป้องกันอย่างสุดความสามารถ และพวกเขาควรจะได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้เท่านั้นเอง

เขียนมาถึงตรงนี้ เมื่อเทียบฟอร์มกันของทั้งสองฝั่ง ระหว่างอังกฤษ กับ อิตาลีแล้วนั้น ก็ต้องถือว่า เป็นคู่ชิงชนะเลิศที่สมน้ำสมเนื้อ และเป็นดรีมแมตช์อีกเกมนึงทีเดียว และมีข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจของทั้งสองทีมมาฝากให้ได้ทราบกันดังนี้

สถิติ Head to Head

เจอกันทั้งหมด 27ครั้ง อังกฤษชนะ 8ครั้ง อิตาลีชนะ 11ครั้ง เสมอ8ครั้ง

การเจอกันห้าครั้งหลังสุดมีดังนี้

ฟุตบอลยูโร2012    : อังกฤษ 0-0 อิตาลี (อิตาลีชนะจุดโทษ 4-2 เลขคุ้นๆ)

เกมอุ่นเครื่อง 2012 : อังกฤษ 2-1 อิตาลี

ฟุตบอลโลก 2014  : อังกฤษ 1-2 อิตาลี

เกมอุ่นเครื่อง 2015 : อิตาลี 1-1 อังกฤษ

เกมอุ่นเครื่อง 2018 : อังกฤษ 1-1 อิตาลี

สถิติการดวลลูกจุดโทษของทั้งสองทีม

อังกฤษ : ดวลลูกจุดโทษมาทั้งหมด9ครั้ง ชนะ3ครั้ง แพ้6ครั้ง

อิตาลี : ดวลลูกจุดโทษมาทั้งหมด12ครั้ง ชนะ5ครั้ง แพ้7ครั้ง

(ไม่ถูกโฉลกกับการยิงลูกโทษทั้งสองทีม)

สถิติสำคัญ

-อิตาลีเข้ารอบชิงรายการเมเจอร์เป็นครั้งที่10 (รอบชิงฟุตบอลโลก 6 ครั้ง, รอบชิงบอลยูโร 4 ครั้ง) มีเพียงเยอรมันเท่านั้นที่เข้ารอบชิงเมเจอร์บ่อยที่สุดในบรรดาชาติยุโรปที่ "14ครั้ง"

-อังกฤษเข้ารอบชิงยูโรเป็นครั้งแรกในชีวิต และเป็นการเข้ารอบชิงครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าชิงและเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกในปี1966 ห่างหายจากการเข้าชิงเป็นเวลาถึง 55ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดของทีมในยุโรปที่ได้เข้าชิงระหว่างสองรายการเมเจอร์(บอลโลก-บอลยูโร)

-อิตาลีไม่เคยแพ้อังกฤษในทัวร์นาเมนต์เมเจอร์เลย (ชนะสาม เสมอหนึ่ง) โดยที่ทีมอัซซูรี่ชนะอังกฤษ 1-0 ในยูโร 1980, ชนะด้วยสกอร์ 2-1 ทั้งฟุตบอลโลก 1990 และ ฟุตบอลโลก2014 และสุดท้ายล่าสุดคือ อิตาลีชนะการดวลจุดโทษกับอังกฤษ 4-2 ในฟุตบอลยูโร2012 หลังจากที่เสมอกันในเวลา 0-0

-อิตาลีไม่แพ้ใครมาแล้วในทุกๆรายการ 33 นัด (ชนะ 27 เสมอ6) ยิง 86ประตู เสีย10ประตู และเป็นการไม่แพ้ใครยาวนานที่สุดของทีมชาติอิตาลีด้วย

-อังกฤษชนะทั้งหมด 15 นัด จาก17นัดหลังสุดที่เวมบลีย์ (มีพลาดแพ้1ครั้ง เสมอ1ครั้ง) ยิงประตูที่เวมบลีย์ทั้งหมด 46ประตู เสียแค่5ประตู และ12เกมล่าสุดของอังกฤษก็ยังไม่แพ้ใครในทุกๆรายการ (ชนะ11 เสมอ1)

-ทั้งสองทีมนี้ไม่มีทีมไหนที่ชนะการดวลลูกจุดโทษเกินกว่าหนึ่งครั้ง ภายในทัวร์นาเมนต์ยูโรครั้งเดียวกัน

สถิติดังกล่าวข้างบนนี้ถือว่าเป็นของเรียกน้ำย่อยประกอบรอบชิงนี้เท่านั้น ซึ่งตัวเลขพวกนี้ไม่มีผลใดๆทั้งสิ้น(ในมุมมองของผู้เขียน) เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องมาวัดกันหน้างานอยู่ดี และด้วยฟอร์มการเล่น องค์ประกอบต่างๆ และบริบทในเกมนั้นๆมันแตกต่างกันไป เราจึงไม่สามารถเอาสถิติทั้งหลายมากะเกณฑ์ได้ ก็ต้องมาสู้กันหน้างานอยู่ดีว่า วันนั้นใครจะแข็งแกร่งกว่ากัน ใครจะเตรียมแผนมาดีกว่า และสมาธิ จิตใจ ใครจะเหนือกว่ากัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในเรื่องของแทคติกนั้น มีสิ่งที่ต้องพิจารณาหลายอย่างว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับทั้งสองทีม จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละทีมเป็นยังไงกันบ้าง

1.ประเด็นเรื่อง นักเตะตัวรุกอังกฤษ ได้เปรียบในเชิงแทคติกต่อแผงหลังอิตาลี

มาดูที่ปัญหาของอิตาลีกันก่อน จากการที่เสียสปินาซโซล่าไปในรอบ8ทีมสุดท้าย ที่เจ็บเอ็นร้อยหวายและต้องพัก6เดือน ทำให้เกมบุกที่อันตรายและดุดันของอิตาลี ที่ขึ้นเกมจากฝั่งซ้ายด้วยฝีเท้าของเขานั้น หดหายไปเลยในทันที เมื่อเอแมร์ซอน พัลไมรี่ ไม่สามารถทดแทนสปินาซโซล่าได้ ทำให้เกมริมเส้นจากแบ็คหายไปพอสมควร

วันนั้นหลุยส์ เอ็นริเก้ ปรับหมากมาเล่นงานอิตาลีอย่างหนักด้วยการ "ไม่ใช่หน้าเป้า" และปรับแผนการเล่นให้มีการใช้กองหน้า False Nine แทน โดยใช้โอลโม่เล่นในแผนดังกล่าว ที่ลงต่ำมาเชื่อมเกม ทำเกมรุกอย่างอันตรายให้ปีกสองข้างอย่างตอร์เรส และ โอยาซาร์บาลเข้าทำ

สิ่งนี้ทำให้สเปน ไม่เสียนักเตะในตำแหน่งกองหน้าให้โดนสองเซ็นเตอร์แบ็คของอิตาลีอย่าง โบนุชชี่ กับ คิเอลฯ จับตายไปฟรีๆ1ตัว เหมือนอย่างที่ลูกากูของเบลเยี่ยมโดน

แต่กลับกัน สเปนครองบอลได้มากขึ้น เพราะได้นักเตะดรอปลงมาต่ำช่วยครองบอลทำเกมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน

ประเด็นนี้สำคัญตรงที่ว่า "ทีมชาติอังกฤษ" ที่ใช้แฮรี่ เคน เป็นกองหน้าตัวเป้านั้น ยามปกติแล้ว เคนก็มักจะลงต่ำอยู่แทบจะตลอดทั้งเกม เพื่อมาทำเกมด้วยตัวเอง ไม่ได้ค้ำอยู่ตลอดเวลาเหมือนหน้าเป้าสายTarget Manคนอื่นๆ

เมื่อดูจากเกม อิตาลี-สเปนแล้ว เชื่อว่า อิตาลีจะเจอปัญหาจากการลงต่ำมาทำเกมของแฮรี่ เคน มากกว่าการเล่นของเคนที่ค้ำหน้าเป้าโดยตรง

พูดง่ายๆว่า "เข้าทางแฮรี่ เคน" แบบเต็มๆ

นั่นคือประการแรก

ประการที่สองก็คือ การใช้ตัวรุกที่มีความเร็วสูงมาก จะช่วยให้แบ็คของอิตาลี ไม่กล้าเติมสูงมากนัก ซึ่งเกมกับสเปนค่อนข้างชัดเจนว่า ดิ ลอเรนโซ่ กับ เอแมร์ซอน แทบจะไม่ค่อยมีโอกาสได้เติมเกมเลย เพราะโดนตัวรุกความเร็วสูงค้ำไว้ตลอดเวลา ซึ่งหากปล่อยให้พวกสปีดจัดจ้าน หลุดไปดวลกับ สองเซ็นเตอร์แบ็คตัวเก๋า อย่างคิเอลลินี่ กับ โบนุชชี่ได้นั้น จะอันตรายทันทีเพราะอาจโดนความคล่องและความเร็วเล่นงานได้

ซึ่งนี่ถือเป็นจุดอ่อนของอิตาลี และเป็น "จุดแข็ง" ของอังกฤษที่มีตัวรุกสายสปีดอยู่เต็มทีมไปหมด และแทบทุกตัวในแดนหน้าทีมสิงโตคำราม คือนักเตะที่มีความเร็วสูงทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่ ราฮีม ซานโช่ ซาก้า โฟเด้น เม้าท์ แรชฟอร์ด และอาจจะรวมถึงแฮรี่ เคน ด้วยก็ได้

ความแข็งแกร่ง ความสด ความเร็ว คือจุดเด่นของบอลสายphysicalอย่างทีมชาติอังกฤษอยู่แล้ว ดังนั้นค่อนข้างเชื่อว่า ตัวรุกความเร็วสูงของอังกฤษจะถูกส่งลงมาในเกมรอบชิงชนะเลิศอย่างแน่นอน ซึ่งมีแนวโน้มเป็น บูกาโย่ ซาก้า สูงมากๆ เพราะเจ้าตัวเร็ว และเลี้ยงกินตัวไปกับบอลได้ดี

ดังนั้น ในแง่ของนักเตะตัวรุกนั้น ถือว่าอังกฤษชนะทางอิตาลีไปแล้วในด้านจุดอ่อนจุดแข็งที่สอดรับกันพอดี และการเล่นของแฮรี่ เคน ที่จะไม่เป็นเป้านิ่งด้วย

2.ความคมในการทำประตู ถือว่าใกล้เคียงกันทั้งสองฝ่าย

อังกฤษแสดงความเฉียบคมให้ได้เห็นแล้วในเกมเจอเยอรมัน และยูเครน เมื่อเกมทุกอย่างมันลงล็อค ไหลลื่น และความมั่นใจมา จะเห็นชัดเจนว่า การเข้าทำของอังกฤษคมมากๆ จากการเข้าฮอร์สของราฮีม สเตอร์ลิ่ง ที่ขยันวิ่ง และใช้ความเร็วในการเข้าทำได้ดีและคมมากในทัวร์นาเมนต์นี้ (แต่การปั้นเกมยังคงเป็นบอลชายเดี่ยวเช่นเคย)

นอกจากสเตอร์ลิ่งแล้ว แฮรี่ เคนก็กำลังมาแรง และเรียกความมั่นใจมาได้แล้วหลายเกมแล้ว นัดชิงมีโอกาสสูงมากที่เคนจะยิงได้อีกครั้ง

ในฝ่ายของทีมชาติอิตาลีเอง เกมรุกของอิตาลีในแดนหน้าที่เป็นตัวหลักๆ ถือว่าค่อนข้างคมมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอินซิเญ่ อิมโมบิเล่ เบราร์ดี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวที่กำลังเข้าฝักอย่าง เฟเดอริโก เคียซ่า ที่ทำประตูสำคัญๆมาได้สองนัดติดต่อกันแล้ว ในสองรอบที่ผ่านมา เชื่อว่ารอบชิง เคียซ่าคงจะได้ลงเป็นตัวจริงทางปีกขวาอีกครั้ง และต้องเผชิญหน้ากับลุค ชอว์โดยตรงตามตำแหน่ง

ส่วนทีเด็ดในการเติมขึ้นมายิงจากแถวสองนั้น ก็ยังมีบาเรลล่า โลคาเตลลี่(หากได้ลงสนาม) ที่ยังมีทีเด็ดตรงนี้อยู่เช่นกัน

ดังนั้นพูดถึงเรื่องความคม ถือว่า "พอๆกัน" สำหรับอิตาลีและอังกฤษ หากดูในภาพรวม

3. แดนกลางที่ฟัดกันด้วยแทคติกเดือดๆ

ประการแรกสุดเลยคือ ต้องมาดูที่ "การครองเกม" จากการสู้กันในพื้นที่กลางสนามก่อนว่า ใครจะเหนือกว่าใคร ซึ่งผู้เขียนเชื่อแน่นอนว่า ทั้งสองทีมจะต้องเล่นด้วยความรัดกุม และสุขุมอย่างถึงที่สุด

อิตาลีจะไม่เปลี่ยนทรงการเล่น และจะยืนระบบ 4-3-3 อย่างแน่นอนที่พวกเขาใช้ตั้งแต่รอบแรกจนเข้ารอบชิงมาได้สำเร็จ ด้วยตัวยืน 11คนแรก ที่น่าจะไม่พลิกโผตามนี้

Italy starting XI (4-3-3) : Donnarumma, Emerson, Di Lorenzo, Bonucci, Chiellini, Verratti, Jorginho, Barella, Insigne, Immobile, Chiesa

ส่วนทีมชาติอังกฤษ มีแนวโน้มสูง และเราเชื่อว่าพวกเขาน่าจะเปิดเกมด้วยความระมัดระวังไม่ให้เสียประตูก่อน เป็นอันดับแรก อ่านใจและชุดmind setของเซาท์เกท น่าจะมาแผนเดียวกันกับที่ใช้ปราบเยอรมันสำเร็จ ด้วยสูตรหลังสามในแผน 3-4-3 ก่อนในเบื้องต้น เพื่อที่จะแพ็คเกมรับให้แน่น ไม่ให้โดนตัวรุกของอิตาลีเข้าทำได้เร็วก่อน เพราะสังเกตดีๆอิตาลีเป็นทีมที่ ถ้าบุกแล้วยิงได้ เกมจะไหล แต่ถ้าผ่านครึ่งแรกไปแล้ว ช่วงท้ายๆเกมรุกก็มีดรอปเหมือนกันหากไม่เปลี่ยนตัว

หลังสามเพื่อแพ็คเกมรับ และแดนกลางโดยสองวิงแบ็ค+สองมิดฟิลด์ จะช่วยทำให้กลางสนามสามารถสู้กับเกมเพรสซิ่งของอิตาลีได้ดีพอสมควร โดยที่จุดที่น่าจับตามองมากๆ นั่นก็คือ การเซ็ตบอลจากแดนหลังของอังกฤษที่มี "แฮรี่ แมกไกวร์" เป็นแกนหลักนั้น จะต้านทานการเพรสซิ่งเร็วของอิตาลีได้หรือไม่

ต้องดูว่าอังกฤษจะแก้ปัญหาการโดนเพรสในแดนกลางยังไง ที่อาจจะเป็นการขึ้นมาบีบสูงด้วย high pressing จนถึงแนวหลังของอังกฤษ เกมนี้เราจะได้ดูเซนส์ใน "แกะเพรส" ของกองหลังอังกฤษ และสองมิดฟิลด์ตัวต่ำอย่าง เดแคลน ไรซ์ และ คาลวิน ฟิลลิปส์ ที่เจอสิ่งนี้อยู่เป็นประจำในพรีเมียร์ลีก เราจะได้เช็คฟอร์มของนักเตะเป้าหมายทีมใหญ่สองคนนี้ด้วย

ตัวยืน11คนแรกที่อังกฤษน่าจะส่งลงมาก่อนมีดังนี้

England starting XI (3-4-3) : Pickford, Maguire, Stone, Walker,Shaw, Trippier, Rice, Phillips, Sterling, Kane, Saka

ถามว่า เกมกลางสนามจะออกมาในรูปแบบยังไง น่าจะเป็นการครองบอลอย่างรัดกุมมากๆของทั้งสองฝ่าย และทำการเพรสซิ่งในแดนตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิตาลีจะเน้นที่เกม Counter-Attack อย่างแน่นอน เพราะตัวรุกสามคนของพวกเขามีความเร็วสูงแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอินซิเญ่ อิมโมบิเล่ หรือ เคียซ่า

ดังนั้น กลางรับสองคนของอังกฤษ มีโอกาสได้ใช้มิติการเล่นตัดเกมที่ถนัด ในการตัดเกมกลางสนามไม่ให้อิตาลีเล่นเร็วได้ และเราอาจจะได้เห็น ไรซ์หรือฟิลลิปส์ ติดใบเหลืองอีกครั้งอันเป็นเรื่องปกติ

ส่วนการครองบอลของอังกฤษนั้น จะใช้วิธีเดิม และค่อยๆขึ้นเกมทางริมเส้นเหมือนเคย จากลุค ชอว์ และ ราฮีม สเตอร์ลิ่งทางซ้าย ส่วนทางขวาอาจจะมอบหน้าที่ให้ปีกขวาเยอะหน่อย โดยมีแบ็คในวันนั้นเป็นผู้ช่วย ถ้าเป็นสูตรหลังสามก็คือทริปเปียร์ แต่ถ้าเล่นแบ็คโฟร์ ก็วอล์คเกอร์นั่นเอง

เนื่องจากอังกฤษไม่ค่อยขึ้นเกมตรงกลางอยู่แล้ว สองมิดฟิลด์ตัวกลาง ไรซ์-ฟิลลิปส์ มักไม่ค่อยว่างบอลยาวเท่าไหร่หากว่ายืนคู่กัน ใช้การถ่ายออกข้างมากกว่า ถ้าเฮนโด้ลงมาเมื่อไหร่ และถอยฟิลลิปส์ไปยืนต่ำ เมื่อนั้นมิติDLPของฟิลลิปส์ถึงจะเริ่มออกมาด้วยการ วางยาวให้แดนหน้า ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกนัดจริงๆที่จะเห็นคาลวิน ฟิลลิปส์ เริ่มวางบอลยาว เวลาที่เขาลงไปปักหลักต่ำแทน เดแคลน ไรซ์ (เพราะถ้ายืนคู่ไรซ์ ฟิลลิปส์ต้องยืนสูงไง นึกออกนะครับ)

แดนกลางของทั้งสองทีม มีเป้าหมายในการเล่น มีจุดแข็งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และค่อนข้างคู่คี่สูสีมากว่าจะออกมายังไง เพราะถ้าอิตาลียังเล่นเกมเร็วอยู่ แล้ววันนั้นอังกฤษเล่นหลังสาม โอกาสจะบุกโดยการเล่นเร็วจะยิ่งน้อยลงไป

แต่ถ้าไม่ใช่แผนหลังสาม อิตาลีมีโอกาสเจาะได้อยู่

4. จุดตัดสินของรอบชิงชนะเลิศ อยู่ที่ "เกมรับ" และคาเตนัคโช่ของอิตาลี มีโอกาสทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ

วลีที่ว่า “เกมรุกที่ดีจะทำให้คุณชนะ แต่เกมรับที่ดีจะทำให้คุณเป็นแชมป์”  ยังคงใช้การได้เสมอ และเกมรอบชิงฟุตบอลยูโรนี้จะพิสูจน์คำกล่าวนั้นอีกครั้งว่า ทีมที่มีเกมรับในวันนั้นดีกว่า จะคว้าแชมป์ได้สำเร็จแน่นอน

เมื่อเปรียบเทียบทั้งสองแอเรียของแดนกลาง และเกมรุกนั้น เรื่องเกมรุก ทั้งสองทีมมีความคมใกล้เคียงกันมากๆตามข้อ 2.

-เกมกลางสนาม เป็นเกมที่พลาดไม่ได้ และน่าจะตึงๆกันทั้งคู่ คงไม่มีการเหลื่อมขาดกันเหมือนเกม อิตาลี-สเปน แน่นอน ที่อิตาลีสู้ไม่ได้แบบเละเทะในแดนกลาง เพราะสไตล์ของสเปนเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ที่เน้นครองบอลไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ จนกว่าจะหาช่องได้

แต่ทีมชาติอังกฤษ ไม่ได้เล่นแบบสเปน และทำแบบนั้นไม่ได้

ดังนั้นไม่มีทางที่จะเกิดเหตุนั้นซ้ำสองกับอิตาลีอีก เกมแดนกลางจึงน่าจะคู่คี่ สูสี อย่างที่เขียนมาแล้วในข้อ3.ว่า ทั้งสองฝ่ายพยายามจะใช้จุดเด่นของตัวเองในการห้ำหั่นอีกฝ่าย

ที่อยู่ว่า อังกฤษจะมาแผนอะไร และบอลเพรสซิ่งเข้าถึงตัวเร็วของอิตาลี จะใช้ได้ผลหรือไม่ในวันนั้น

แต่จุดตัดสินจริงๆของพรุ่งนี้ คือภาคเกมรับล้วนๆ

ทีมที่ต้านทานเกมรุกคู่แข่งได้ดีกว่า มีสิทธิ์ชนะสูง เพราะว่าทั้งสองทีมเป็นทีมที่บุกได้ดีกันทั้งคู่ และใช้โอกาสไม่เปลือง ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ได้บุกต่อเนื่องสักระยะ ไม่นานจะต้องมีประตูเกิดขึ้นแน่ๆ

มันจึงต้องวัดกันว่า เกมรับใครเหนียวกว่ากัน คนนั้นมีสิทธิ์ชนะและเป็นแชมป์สูง

ซึ่งหากวัดเกมรับกันระหว่าง ทีมชาติอังกฤษ กับ ทีมชาติอิตาลี ผู้เขียนมองว่า อิตาลียังเหนียวแน่นกว่าอังกฤษอยู่แบบเหลื่อมๆพอสมควร

ประการแรกคือ เกมพรุ่งนี้มันอาจจะเป็นการครองบอลของอังกฤษเยอะหน่อย ตามธรรมชาติของพวกเขา และอิตาลีเอง ก็เป็นทีมที่จะใช้transition play ที่เป็นการเปลี่ยนจังหวะการเล่นฉับพลัน ในการเล่นเกมรุกกลับเร็วใส่อังกฤษอยู่แล้ว

ค่อนข้างเชื่อว่า เมื่ออังกฤษได้ครองบอล อิตาลีจะ "ลงไปยืนต่ำ" เหมือนที่ตั้งกำแพงสองชั้นต้านทานบอลบุกของสเปน และสามารถยันเอาไว้อยู่จนลากไปชนะจุดโทษได้

เมื่อลงไปยืนต่ำเช่นนั้น ข้อได้เปรียบของ ตัวรุกสายสปีดที่ทีมชาติอังกฤษมี ก็จะหายไปอีกหากว่าไม่มีพื้นที่ให้เล่น และอิตาลีไม่เปิดโอกาสให้มี situation 1-1 เกิดขึ้นระหว่าง ตัวรุกอังกฤษ VS เซ็นเตอร์อิตาลี

ถ้าอิตาลีแพ็คต่ำแบบคาเตนัคโช่ บอกได้เลยว่า อังกฤษเจาะยากแน่นอน

เพราะช่องว่างจะน้อยลงจนไม่สามารถเข้าไปได้ ในขณะที่แฮรี่ เคน น่าจะไม่เกินความสามารถของคิเอล กับ โบจังในพื้นที่กรอบเขตโทษ (เคนจึงอาจจะต้องลงต่ำออกไปเล่นวงนอกแทนนั่นเอง)

ในเรื่องของ "ลูกกลางอากาศ" ที่เป็นพวกบอลโด่งสไตล์อังกฤษ ไม่ว่าจะจากการเปิดบอมป์เข้าไป หรือจะเป็นลูกครอสจากลุค ชอว์ก็ตามที ด้วยความใหญ่ และความแม่นยำในเกมรับของกองหลังอิตาลี เกมที่ผ่านๆมาช่วงหลังๆ เห็นแล้วว่า ลูกครอส ลูกบอมป์ ทำอะไรสองยักษ์ใหญ่อย่างคิเอลกับโบนุชชี่ได้เลย แม้กระทั่งอแชร์บี้อีกตัวก็ตามที

บอลโด่งกินแนวรับอิตาลียาก และแบ็คฝั่งดิ ลอเรนโซ ที่เด่นเรื่องเกมรับ จะไม่มีทางยอมให้ใครครอสบอลได้ง่ายๆแน่นอน (กลับกัน ที่น่ากลัวคือ ลุค ชอว์ อาจจะเปิดช่องให้เคียซ่า ครอสบอลเข้ากลางไปถึงตัวจบสกอร์ได้)

ช่วงท้ายครึ่งหลังในการเจอเบลเยี่ยม และการโดนสเปนปูพรมบุกแบบไม่ไว้หน้าตลอด120นาทีในรอบรองชนะเลิศ เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า เกมรับสไตล์คาเตนัคโช่ ของอิตาลีนั้นยังคงเหนียวเชื่อใจได้อยู่

และถึงแม้ว่าเกมรับอิตาลีจะเกิดช่องเล็กๆน้อยๆที่โดนคู่แข่งเจาะเข้าไปจนได้โอกาสยิงนั้น ก็ยังต้องเจอการเซฟของผู้รักษาประตูระดับWorld Class อย่างจานลุยจิ ดอนนารุมม่า เป็นด่านหินด่านสุดท้ายที่จำเป็นต้องยิงผ่านมือเขาไปให้ได้อีก

ดอนนารุมม่านี่แหละ ที่จะเป็นนักเตะคนสำคัญของอิตาลีในรอบชิง เพราะเป็นนักเตะที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับเกมได้อย่างชัดเจน เพราะไม่ว่าคู่แข่งจะทำเกมกันอย่างดีจนหลุดไปยิงได้ก็ตาม

แต่ถ้ายิงไม่ผ่านโกลเทพอย่างดอนนารุมม่า ทุกอย่างก็จบ

อิตาลีดูมีภาษีในเรื่องผู้รักษาประตูเหนืออังกฤษมาก เพราะฟอร์มของพิคฟอร์ด ยังไม่ถึงขั้นที่จะมั่นใจได้สนิทว่าเขาจะแบกการป้องกันประตูไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง แม้ที่ผ่านมาจะเซฟได้ดีก็จริง แต่สังเกตเห็นความไม่นิ่งอยู่หลายจุดเหมือนกัน

การเล่นเกมรับของอิตาลีจะไม่มีวันสำเร็จเลย หากว่าอิตาลีทำได้แค่ตั้งรับได้อย่างเดียว เน้นอุด ไม่ให้อังกฤษเข้าทำได้ แต่จริงๆแล้ว "คาเตนัคโช่" นั้น ตั้งแต่ดั้งเดิมก็จะต้องมี "เกมสวนกลับ" ในลูก Counter-Attack อยู่ด้วย

และถ้าสังเกตให้ดี อิตาลีก็มีเกมสวนกลับเช่นนี้มาตั้งแต่รอบแรกแล้วที่เราเห็น ดังนั้นนี่คือจุดเด่นที่มีอยู่ในทีมครบทั้งสองประการของคาเตนัคโช่แบบคลาสสิค (Classico Catenaccio)

เรื่องของคาเตนัคโช่นี้จริงๆแล้วเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุค30s จาก Karl Rappan ที่มีแนวคิดในการแก้ปัญหาทีมเวลาเจอทีมที่เก่งกว่า จึงใช้นักเตะเกมรับเยอะขึ้น ถอยต่ำมากขึ้น เล่นป้องกันแบบ man-to-man (พูดง่ายๆคือ อุด นั่นแหละ)

แต่เนื่องจากคาเตนัคโช่ตัวโปรโตไทป์มีแค่เกมอุดอย่างเดียว จึงไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนที่อีกเกือบๆ20ปีต่อมา ในปี1947 จะมี Nereo Rocco นำคาเตนัคโช่เข้ามาในอิตาลี และเพิ่ม "สวีปเปอร์" เข้ามา จากยุคของรอคโค่ที่คุมเอซีมิลาน

แต่คาเตนัคโช่มีชื่อเสียงที่สุดในยุค 1960s โด่งดังจากอินเตอร์ มิลานในยุคนั้นโดยฝีมือของ Helenio Herrera (เอเลนิโอ้ เอร์เรร่า) ผู้จัดการทีมชาวอาร์เจนติน่าที่คุมงูใหญ่ช่วง 1960-1968 ที่พัฒนาคาเตนัคโช่จนอัพเกรดขึ้น ยังคงมีสวีปเปอร์ กับประกบแบบแมนทูแมนอยู่ แต่เอร์เรร่าใส่เกมรุกเพิ่มเติมขึ้นด้วยเกมสวนกลับ และ"ตัวทำเกมรุก"ด้านหน้า

ช่วงทศวรรษ 60s คาเตนัคโช่จึงครองโลก และเปลี่ยนมือกันระหว่าง มิลาน กับ อินเตอร์นั่นเอง

ความหมายของคาเตนัคโช่ก็คือ door-bolt หรือการปิดประตูลงกลอนนั่นเอง โดยที่จุดเด่นของคาเตนัคโช่คือจะใช้สวีปเปอร์เป็นตัวปัดกวาดด้านหลังแนวหลังอีกทีเป็นตัวสุดท้าย ใช้การ "เน้นรับ รอโต้กลับ คุมโซน" และแผนส่วนใหญ่ของคาเตนัคโช่จะใช้ปริมาณผู้เล่นแนวรับค่อนข้างเยอะ เช่นพวกระบบ 5-3-2 ที่ปัจจุบันนี้กลายเป็นพวกระบบหลังสามแทน ด้วยแบ็คสองข้างที่ยืนสูงขึ้นเป็นวิงแบ็ค เช่นแผน 3-5-2 หรือ 3-4-3 เป็นต้น (ถ้าอังกฤษเล่นหลังสามรอบชิงก็ถือว่า ใช้ปรัชญานี้เหมือนกันนะ)

"Grande Inter" ของเอร์เรร่า

ระยะหลังๆในยุค70s จะเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่พัฒนาขึ้นเพื่อเจาะคาเตนัคโช่อีกทีนึงอย่าง โททัลฟุตบอลนั้น ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมาของระบบนี้โดยตรง ซึ่งโททัลฟุตบอล มันใช้การเคลื่อนที่เป็นหลัก ดังนั้นจึงมีบางส่วนที่สัมพันธ์กับบอลสายบาร์ซ่าที่เป็นเกมครองบอล และเคลื่อนบอลไปมาตลอดเวลา

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอิตาลีถึงได้แพ้ทางสเปน มันคือกรรมแต่ชาติปางก่อนของ คาเตนัคโช่ VS โททัลฟุตบอล นั่นเอง

คาเตนัคโช่จะแพ็คเกมรับให้แน่นหนา รอคอยโอกาสโต้กลับอย่างมีประสิทธิภาพเป็นหลัก ดังนั้นปรัชญาคลาสสิคจึงเห็นชัดว่า ดูยังไงๆมันก็อิตาลีชุดนี้แบบเต็มๆเลยแหละ

แต่.. สิ่งที่ทีมอิตาลีชุดนี้ ไปไกลกว่าคาเตนัคโช่แบบเดิมๆที่แฟนบอลอัซซูรี่เห็นกันมานาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนอื่นนานเท่าไหร่ แต่ผู้เขียนก็เกือบ30ปีแล้วที่เห็นแบบเก่ามา

อิตาลีชุด2021นี้ มีสิ่งที่เพิ่มมาคือ บอลเพรสซิ่งแบบสมัยใหม่ในแดนกลางที่รวดเร็ว และต่อเนื่องกันแบบไม่ให้พักหายใจ ซึ่งจะบีบให้คู่แข่งเสียบอล หรือต้องคายบอลออกมาจนเสียการครองบอล และกลายเป็นอิตาลีที่ได้บุกสวนกลับเร็วทันทีนั่นเอง

เท่านั้นยังไม่พอ หากว่าพวกเขาเสียบอลในแดนหน้า อิตาลีชุดนี้ก็จะทำการดันขึ้นมาวิ่งบีบเพรสซิ่งต่อเนื่องด้วย "counter-pressing" แบบทันทีทันใดที่เปลี่ยนมือเป็นทีมที่ต้องเล่นรับ บอลมันจึงไปไหนไม่ได้เลย หากคู่แข่งแกะเพรสของอิตาลีไม่ไหว

ตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์มีเพียงทีมเดียวที่จัดการเพรสฯของอิตาลีได้ .. ใช่แล้ว สเปนนั่นเอง และตกรอบไปแล้วด้วย

ทั้งสามสิ่งในมือนี้ คืออาวุธที่ชัดเจนมากๆของอิตาลีร่างทรงเกมบุก ภายใต้การคุมทีมของมันโช่ นั่นก็คือ

1.การมีเกมรับที่ดีในแบบ "คาเตนัคโช่คลาสสิค"

2.บอลสวนกลับที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

3.บอลเพรสซิ่งอย่างหนักหน่วงแบบไม่หยุดหายใจในแดนกลาง

สิ่งเหล่านี้คือคาเตนัคโช่ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้ว และมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับ คาเตนัคโช่ของยอดกุนซืออย่าง "Arrigo Sacchi" (อาร์ริโก้ ซาคคี่) ชายผู้ซึ่งเป็นเฮดโค้ชของทีมชาติอิตาลียุค "ฟุตบอลโลก 1994" นั่นเอง และก็เป็นกุนซือของเอซีมิลาน ในช่วงปลาย80s ต้น90sด้วย (1987-1991)

ฟุตบอลของซาคคี่คือ "บอลเพรสซิ่งหนักๆ ผสมกับคาเตนัคโช่แบบคลาสสิค" จากชื่อเสียงที่ทำไว้กับปาร์ม่า ซาคคี่ก็ถูกดึงตัวมาทำทีมเอซีมิลานในชุดนั้น ซึ่งมาพร้อมสตาร์ในทีมเพียบชนิดที่เอ่ยชื่อขึ้นมาแล้วสยองขวัญ ไม่ว่าจะเป็น มัลดินี่ บาเรซี่ คอสตาร์กูต้า ไรจ์การ์ด อันเชล็อตติ แวนบาสเท่น กุลลิต เป็นต้น

และบอลเพรสซิ่ง ถูกนำเข้ามาใช้กับเอซีมิลานในยุคนั้นด้วย

ต้องบอกว่า อาร์ริโก้ ซาคคี่นั้นได้แรงบันดาลใจผสมผสานกันมาระหว่าง บอลเคลื่อนที่ของ "โททัล ฟุตบอล" จากไรนุส มิเชลล์ และก็อิทธิพลของ คาเตนัคโช่ ของเอร์เรร่ายุค60s

ดังนั้น ซาคคี่จึงใช้ทั้งการ คุมโซนป้องกัน และการเล่น เพรสซิ่งสูง ใส่คู่แข่งสลับกัน

ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นทีมที่ใช้พลังงานการเล่นมากๆ ทั้งการตั้งโซนเน้นเกมรับ สลับกับเกมบุกแหลก โดยให้ข้างหน้าเคลื่อนที่และเพรสซิ่งตลอด ใช้พวกขุนพลดัตช์ที่คุ้นเคยบอลตำแหน่งของโททัลฟุตบอลอยู่แล้วอย่างแวนบาสเท่น กุลลิต ไรจ์การ์ด เป็นตัวเคลื่อนที่หลัก

และมี "อันเช่" อันเชลอตติเนี่ยแหละ ที่ปักหลักคุมบอลตรงกลาง ซึ่งน่าสนใจว่า อันเช่เอง เป็นศิษย์ของทั้งซาคคี่ และศิษย์ของคาเปลโล่ที่มาคุมมิลานต่อจากซาคคี่

อันเช่คือตัวแทนของซาคคี่ในการคุมบอลแดนกลาง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบชุดนี้ จุดที่อิตาลีของมันโช่ มีก็คือ ตัวคุมเกมแดนกลาง ที่ยุคนี้คือ "จอร์จินโญ่" นั่นเอง ที่เป็นอีกหัวใจสำคัญของสิ่งนี้


ดังนั้น เมื่อดูปัจจัยทุกอย่างของอิตาลี ในยูโร2020 ภายใต้การคุมของมันโช่นั้น มันคือ คาเตนัคโช่สมัยใหม่ ที่มีความคล้ายคลึงกับ คาเตนัคโช่ ของ ซาคคี่ ที่คุมเอซีมิลาน ในยุคปลาย80s มากๆ ที่มีทั้งการตั้งโซนเกมรับเหนียวแน่น(เช่นเกมที่ต้านสเปน) และเน้นใช้ "บอลเพรสซิ่งแดนบน" อย่างหนักหน่วงไม่หยุดอยู่ตลอดเวลาในแดนกลาง

มันเป็นปรัชญาแบบเดียวกับซาคคี่เน้นๆเลย

ที่ผ่านมาในรอบก่อนๆ อิตาลีมีโอกาสได้เล่นเกมบุกเยอะ และบุกกันอย่างไม่หยุดด้วยบอลเกมรุกรูปแบบใหม่ที่เราเรียกชื่อเล่นมันว่าเป็น All New Italy อย่างที่เห็น แต่รอบท้ายๆนี้จะเป็นเกมตัดสินที่ยาก และเข้มข้นขึ้น ทำให้ตอนนี้ อิตาลีจะต้องดึงจุดเด่นของบอลคาเตนัคโช่ ออกมาใช้งานด้วย

เกมรับเหนียวๆ รวมกับเกมสวนกลับ ที่ประกอบด้วยบอลเพรสซิ่งหนักหน่วงในแดนกลาง

และแถมพกด้วยสิ่งที่แตกต่างออกไปอีกอย่างในยุคของโรแบร์โต้ มันชินี่ คือการกระหายเกมรุกอย่างมาก

ดังนั้น อิตาลียุคนี้ มันคือ "แอดวานซ์คาเตนัคโช่" นั่นเอง

เป็นคาเตนัคโช่สมัยใหม่ที่มีครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

เกมรับอุดประตูเหนียวแน่น + เกมเพรสซิ่งแดนกลางหนักๆเหมือนยุคซาคคี่ โดยมีตัวคุมจังหวะตรงกลางหนึ่งคน + เกมสวนกลับจากกองหน้าสายสปีดสามคน ที่ไม่ว่าบอลจะไปถึงใครก็อันตรายทั้งนั้น + การเปิดหน้าบุกแหลกอย่างดุดัน และเน้นเกมบุกมากขึ้นกว่าเดิม

ทุกอย่างของอิตาลีในชุดนี้ค่อนข้างสมบูรณ์พร้อม และเชื่อว่า คาเตนัคโช่ยุคใหม่ ที่เล่นรับเหนียวๆ เล่นเพรสซิ่งแบบสมัยใหม่อย่างหนักหน่วง และเล่นเกมบุกได้เฉียบคมเช่นนี้ จะพาให้อิตาลีเป็นแชมป์ยูโร2020ได้ จากความแตกต่างในเรื่องของเกมรับที่เป็นพื้นฐานแรกเริ่มนั่นเอง

สิ่งที่อังกฤษชุดนี้น่ากลัวคือความสด และเกมรุก หากว่าบอมป์เข้ามาแล้วเจาะกำแพงแนวรับอิตาลีไม่ได้ อิตาลีที่มีความอันตรายของเกมรุกเร็วติดปลายนวมอยู่แล้ว ก็มีสิทธิ์สวนกลับและเจาะแนวรับพวกเขาได้เหมือนกัน

เกมรอบชิงจะเป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างว่าใครจะทำสำเร็จกันแน่ หากเกมรุกของอังกฤษลื่นไหลด้วยการเลือกส่งตัวที่เหมาะสมลงสนามอย่างแจ็ค กรีลิช ก็มีโอกาสเล่นงานอิตาลีสำเร็จเช่นกัน

หรือถ้าอิตาลีไม่โดนเร็ว และป้องกันเกมรับได้เรื่อยๆ พวกเขาก็มีโอกาสทำสกอร์ทีมสิงโตคำรามได้เหมือนกันเพราะแนวรุกก็มีความสามารถในการทำประตูทุกตัว

วลีที่ว่า "เกมรับจะทำให้คุณเป็นแชมป์" มันช่างตรงกับปรัชญาของคาเตนัคโช่จริงๆ ดังนั้นเราเชื่อว่า อิตาลีน่าจะทำสำเร็จ และคว้าแชมป์ในถ้วยที่ไม่ถูกโฉลกกับพวกเขาได้ในปีนี้

หากอังกฤษเจาะคาเตนัคโช่ไม่ได้ แชมป์จะกลับกรุงโรมทันที

-ศาลาผี-

References

https://www.reuters.com/lifestyle/science/england-v-italy-head-to-head-record-key-stats-2021-07-09/

https://www.sportskeeda.com/football/the-beauty-of-catenaccio-style-of-football

https://dictatethegame.com/total-football-journeyman-arrigo-sacchis-the-cult-of-universal-player/

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด