:::     :::

Eric Ramsay "การเซ็นสัญญาแห่งปี" และไม่ได้มีดีแค่ลูกเซ็ตพีซ [ภาคจบ]

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
17,351
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
บทความนี้จะทำให้แฟนผีเริ่มมองเห็นภาพแบบรางๆว่า ซีซั่นหน้าเราจะแก้ปัญหาเรื่องเซ็ตพีซได้อย่างแน่นอน จากการเสริมโค้ชเฉพาะทางที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดเข้ามา และสิ่งที่เขาจะมอบให้แก่ทีม มันมีมากกว่าเซ็ตพีซ และสิ่งนี้จะเป็นมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ให้แก่แมนยูไนเต็ดต่อจากนี้ไปอีกหลายปีอย่างแน่นอน

ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว ที่กล่าวเอาไว้ในหัวข้อเรื่อง "Tactical Analysis : ปัญหาการป้องกันลูกเซ็ตพีซของแมนยูไนเต็ด [ภาคต้น]" เราพูดเกริ่นเอาไว้ถึงรูปแบบการรับมือกับลูกเซ็ตพีซที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชุดนี้ใช้งานในระบบป้องกันแบบไฮบริด ที่ใช้ทั้งการตั้งโซน และการคุมตัวประกบสองรูปแบบรวมกัน (Zonal-Marking & Man-Marking)

และเราก็ได้พบกับรูปแบบของปัญหามากมายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจับตัวประกบที่วิ่งเข้าชาร์จในกรอบ6หลาพลาด, ปัญหาการเข้าไม่ถึงบอลแรกเวลาโดนบอลเปิดเข้ามา, การหลุดตัวประกบที่เสาไกล, การเซ็ตไลน์การยืนสูงเกินไป รวมถึงความเข้าใจต่อหน้าที่ในการประกบตัวผู้เล่นผิดพลาด ในจังหวะบอลสองหลังจากที่มีการสกัดไปแล้วหนึ่งครั้ง การยืนตำแหน่งของทีมก็ปั่นป่วน

ซึ่งเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นมานั้น เกิดจากผลของการไม่มีเวลาได้ฝึกซ้อมเพื่อปรับปรุงคุณภาพของการเล่นลูกเซ็ตพีซทั้งเกมรับและเกมรุก อันเนื่องมาจากการที่ทีมต้องลงแข่งต่อเนื่องตลอดซีซั่นไม่มีเวลาพัก และรวมถึงการขาดผู้เล่นที่จะรับมือกับการโดนลูกนิ่งได้ดีพอ จากการขาดความต่อเนื่องในการลงเล่นของชุดนักเตะในเกมรับ

ใครที่เพิ่งมาเจอบทความนี้ สามารถกลับไปอ่านย้อนก่อนในภาคต้นก่อนได้ที่ลิงค์นี้

https://www.thsport.com/column-4907.html

จะเห็นว่า ความผิดพลาดต่างๆที่เป็นจุดอ่อนในการรับมือลูกเซ็ตพีซมีเยอะมาก และเราจะต้องแก้ไขเรื่องนี้ไปด้วยสองวิธีควบคู่กันไป อย่างแรกคือการซื้อผู้เล่นที่มีความสามารถมากขึ้นเข้ามาเสริมทีม ตามข่าวที่ทราบกันว่าเราต้องการเซ็นเตอร์แบ็คคนใหม่

และอย่างที่สอง คือเรื่องของการ "ปรับปรุงพัฒนาการฝึกซ้อม" ที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน

ซึ่งที่ดีที่สุด และจะช่วยได้มากที่สุดก็คือ การฝึกในสนามซ้อม เพราะในเรื่องของเซ็ตพีซ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่การเล่นฟุตบอลจะต้องเจอทุกนัด และเราต้องให้ความสำคัญมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรีเมียร์ลีก เป็นลีกที่ขึ้นชื่อว่าเล่นบอลโด่งบอลยาวกันอยู่แล้ว มันจึงส่งผลต่อผลการแข่งขันค่อนข้างมากขนาดว่าเป็น1ใน3ของการเล่นเลยก็ว่าได้

เพราะฟุตบอล วัดกันที่ประตู และลูกเซ็ตพีซก็เป็นอาวุธที่สร้างประตูได้ง่ายกว่าการเซ็ตเกมโอเพ่นเพลย์ซะอีก ซึ่งแมนยูไนเต็ดยังอ่อนในด้านเซ็ตพีซอยู่

และก็ไม่ใช่ปัญหาแค่เกมรับมือลูกเซ็ตพีซ แต่ "เกมรุก" แมนยูไนเต็ดก็ขาดความแพรวพราวในการใช้ลูกเซ็ตพีซเล่นงานคู่แข่งเช่นกัน เพราะเราได้ลุ้นเพียงจากการยิงฟรีคิกของนักเตะตัวหลักๆเท่านั้น อย่างบรูโน่ ป็อกบา หรือ แรชฟอร์ด มีแค่รูปแบบเดียวจริงๆจากแมนยู

แต่เราไม่มี "สูตรเล่นลูกตั้งเตะ" รูปแบบใหม่ๆในสนามให้ได้เห็นเลย

เท่านั้นยังไม่พอ โอกาสลุ้นในการโจมตีด้วยลูกตั้งเตะของแมนยูไนเต็ด ก็แทบจะไม่มีลุ้นเลย ทั้งๆที่ทีมอื่นเขาสร้างโอกาสยิงได้อย่างมากมาย แต่เวลาแมนยูได้ฟรีคิก ได้เตะมุม เชื่อว่าแฟนผีหลายๆคนไม่รู้สึกว่าทีมเราจะยิงได้

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมีปัญหากับการเล่นลูกเซ็ตพีซจริงๆ และเราต้องปรับปรุงให้มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นการฝึกซ้อมเป็นสิ่งสำคัญ และนักฟุตบอลไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้เองได้

คนที่จะทำได้คือ "สตาฟฟ์โค้ช" ของทีม ที่จะเป็นคนลงมาcoachingให้กับนักเตะเหล่านี้ ทำการสอน ฝึกซ้อม และสร้างความเข้าใจให้กับนักเตะมากขึ้น

ดังนั้น "โค้ช" จึงเป็นส่วนสำคัญของทีมมากๆที่จะทำให้นักเตะของเราพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน และจะช่วยวางแผนให้นักเตะรับมือกับคู่ต่อสู้ยังไงบ้าง โค้ชจึงสำคัญที่สุดในกระบวนการนี้ และการมีบุคลากรที่เป็น expert ทางด้านนี้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นอีกส่วนหนึ่งของทีม

ในที่สุดก็มีข่าวดีที่หลายคนรอคอย เมื่อสโมสรเซ็นสัญญาถูกจุดสุดๆด้วยการเสริม backroom staff ด้วย "โค้ช" คนใหม่เข้ามาในทีม เป็นโค้ชที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องแทคติกลูกเซ็ตพีซโดยเฉพาะ และมันสำคัญประหนึ่งทีมได้เซ็นสัญญานักเตะมูลค่า50ล้านปอนด์เข้ามาในทีมได้สามคนเลย ทั้งในเกมรุก เกมรับ และภาคของการขึ้นเกมหนีเพรสซิ่ง

ชื่อของเขาคือ Eric Ramsay

โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เปิดเผยว่า เอริค แรมซีย์นั้น เข้าร่วมเป็น "โค้ชทีมชุดใหญ่" แล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยจะทำหน้าที่ดูแลนักเตะกันตัวต่อตัวแบบรายบุคคล และเป็นคนดูแลการซ้อมลูกเซ็ตเพลย์ของทีม

"เราโชคดีมากๆที่ชักชวนให้เอริค แรมซีย์ ย้ายมาเข้าร่วมกับสโมสรที่ดีที่สุดในโลกและในประเทศ เขาได้รับการยกย่องในระดับสูง โดยจะเข้ามาทำงานร่วมกันกับนักเตะรายบุคคล และเข้ามาควบคุมเรื่องการเล่นเซ็ตเพลย์อีกด้วย"

"เราตื่นเต้นมากๆ เขาเป็นชายหนุ่มที่มาพร้อมแนวคิดที่สดใหม่ เป็นโค้ชที่มีนวัตกรรมการเล่นที่เราได้ยินชื่อเสียงมาแล้ว ซึ่งคีแรน (แมคเคนน่า) รู้จักเขาเป็นอย่างดีมากๆจากที่Loughborough ดังนั้นเราเลยยินดีกับสิ่งนี้มากๆ"

โดยที่แบ็คกราวน์ของเอริค แรมซีย์นั้น เริ่มต้นอาชีพโค้ชกับทีมเล็กอย่าง Shrewsbury Town ปี 2017ในฐานะหัวหน้าผู้ดูแลโปรแกรมฝึกซ้อมของนักเตะเยาวชน จากนั้นก็ขึ้นเป็นผู้จัดการทีมชุดเยาวชน แล้วไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมของทีมชุดใหญ่ในที่สุด

หลังจากนั้นเอริค แรมซีย์ จึงย้ายเข้ามาอยู่กับเชลซีในปี 2019 และทำงานร่วมกับทีมชุด U-23s ของเชลซีในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการทีมชุดสำรองของเชลซีดังกล่าว ก่อนที่จะย้ายมาอยู่กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกับการเป็นโค้ชทีมชุดใหญ่อย่างเต็มตัว และทำหน้าที่ดูแลนักเตะแบบลงลึกตัวต่อตัวในรายบุคคล และควบคุมดูแลการเล่นเซ็ตเพลย์ของทีมทั้งหมด

ชายคนนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอย่างแน่นอน ด้วยนวัตกรรมของโปรแกรมการฝึกซ้อมเพื่อเล่นในลูกเซ็ตเพลย์ทั้งรุกและรับ

เขาถือว่าเป็น set-piece specialist ตัวจริง และมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ปี 2019 แล้วในฐานะโค้ชชาวอังกฤษอายุน้อยที่สุดที่ได้รับโปรไลเซนส์จากทางUEFA ซึ่งมันเป็นคุณสมบัติของโค้ชที่อยู่ในระดับท็อป และเป็นที่ยอมรับกันในวงการ

ในขณะที่ความสามารถของเขานั้น ถือว่า เอริค แรมซีย์ เป็นพวก "โค้ชหัวสมัยใหม่สายแทคติก" แบบเพียวๆเน้นๆอีกคนนึงซึ่งชำนาญในด้านการฝึกซ้อมทีมในภาค Build-up Play อีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสนามจริง แมนยูไนเต็ดมักต้องเจอกับสถานการณ์ที่คู่แข่งเล่น High Pressing (เพรสซิ่งสูง) ก็ถือเป็นอีกจุดอ่อนที่แมนยูไนเต็ดเป็นอยู่ อย่างที่แฟนผีเห็นๆกันว่า เวลาเราเจอบีบแดนบนทีไร เล่นกันลำบากทุกที แต่เอริค แรมซีย์ มีโปรแกรมฝึกที่ช่วยพัฒนาเรื่องนี้ให้กับทีมได้

สิ่งที่เป็นจุดแข็งในวิธีการฝึกซ้อมของเอริค แรมซีย์ สามประการนั้น คือ "การเติมเต็มจุดอ่อนแมนยู" แบบเน้นๆสามเรื่อง ที่เรากำลังขาดอยู่ ผู้เขียนจึงได้เปรียบเปรยเอาไว้ว่า การเซ็นแรมซีย์เข้ามา "เหมือนได้นักเตะราคา50ล้านมาสามตัว"

ตัวแรก ตัวป้องกันเซ็ตพีซเก่งๆ มูลค่า50ล้าน จากการฝึกซ้อมรับมือเซ็ตพีซ จากแรมซีย์

ตัวที่สอง ตัวรุกที่เล่นเซ็ตพีซเก่งๆ มูลค่า50ล้าน จากการฝึกซ้อมแทคติกการเล่นลูกเซ็ตพีซที่ทีมเราไม่เคยมีมาก่อน

ตัวที่สาม ตัวตั้งเกมรุกจากแดนหลังด้วยการหนีเกมเพรสซิ่งจากคู่แข่ง มูลค่า50ล้าน จากโปรแกรมซ้อมในภาคBuild-up Play ซึ่งเชื่อว่าแรมซีย์จะได้ใช้ความรู้ตรงนี้ของเขาในการช่วยทีมด้วย

เพราะทีมไม่ได้จะซ้อมกันแต่ลูกเซ็ตเพลย์อย่างเดียวตลอดโปรแกรม ดังนั้น แรมซีย์ก็จะมีส่วนร่วมกับพาร์ทอื่นๆด้วยอย่างแน่นอนในฐานะโค้ชชุดใหญ่ที่จะทำงานเคียงข้างโซลชา คาร์ริค แมคเคนน่า และฟีแลน

ประโยชน์ของการมีเอริค แรมซีย์เข้ามานั้น มันจะช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ "รากเหง้า" ในระบบการเล่น และจะดีขึ้นไปจนถึงระดับนักเตะรายบุคคลที่หลายๆคนจะได้รับประโยชน์จากการเข้ามาของแรมซีย์แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กัปตันทีมของเราซึ่งเป็นตัวหลักในการเล่นลูกเซ็ตพีซ

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดนับตั้งแต่โซลชามาคุมทีมช่วงธันวาคม ปี2018 จนถึงบัดนี้ ปีศาจแดงทำประตูจากลูกเซ็ตพีซไปได้เพียงแค่ 23ประตูเท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับบอร์นมัธ ในฤดูกาล 2019/20 ที่พวกเขาตกชั้นไปแชมเปี้ยนชิพ พวกเขาทำประตูจากลูกนิ่งไปถึง 24ลูกในเวลานั้น

ส่วนทางด้านเกมรับ "นับเฉพาะตั้งแต่ยุคโซลชา" แมนยูไนเต็ดเสียจากลูกเซ็ตพีซไปแล้วทั้งหมด 32 ลูก มีเพียงแค่เชลซีทีมเดียวที่เสียมากกว่ายูไนเต็ด เสียไป 35 ลูก

เรียกง่ายๆว่า แย่ทั้งเกมรับในการเจอลูกเซ็ตพีซที่เสียประตูเป็นสัดส่วนที่เยอะ และ เกมรุกที่ใช้ลูกเซ็ตพีซ ก็ทำประตูยังได้น้อยกว่าทีมแบบบอร์นมัธ

มันคือปัญหาที่แฟนผีรู้กันดี ยิ่งมีเลขมาให้ดูยิ่งเห็นชัด

ป.ล. แรมซีย์คุมทีมสำรอง ไม่เกี่ยวกับทีมชุดใหญ่ของเชลซี

เพราะฉะนั้นแล้ว หากพัฒนาสองด้านนี้ของแอเรียการเล่นลูกเซ็ตพีซได้ ผลงานของทีมจะกระเตื้องแน่นอน และนักเตะที่น่าจะไ้ดรับอานิสงส์ตรงนี้มากที่สุดอีกคนหนึ่งจากการเข้ามาของเอริค แรมซีย์ ก็คือ "แฮรี่ แมกไกวร์"

กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สองปีเต็มของแมกไกวร์ ทำประตูไปได้เพียงแค่5ลูกเท่านั้น เป็น3ประตูในพรีเมียร์ลีก และ2ลูกจาก เอฟเอคัพ ซึ่งแตกต่างกันมากจากการลงเล่นในทีมชาติอังกฤษ ที่ใช้เวลาเพียง 37 นัด แมกไกวร์ทำประตูไปได้ถึง 4 ลูก

อย่างที่เราเห็นกันในบอลยูโร2020 แล้วว่า แมกไกวร์ดูจะมีโอกาสได้ขึ้นโหม่งแบบมีลุ้นกับทีมชาติอังกฤษ มากกว่าตอนเล่นกับแมนยูซึ่งนานๆได้ลุ้นจริงๆจังๆสักที กว่าประตูจะมาสักลูกให้กัปตันของเรา

ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการฝึกซ้อม เราจะดีขึ้นแน่นอนทั้งเกมรับและเกมรุก และคนที่ฟอร์มจะกระเตื้องดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด คือลูกเซ็ตพีซจากการเล่นของตัวสำคัญอย่างแฮรี่ แมกไกวร์นั่นเอง

และเพราะหน้าที่ของเอริค แรมซีย์ ที่แมนยูไนเต็ดก็เกี่ยวพันกับกับการพัฒนานักเตะในรายบุคคลด้วย (individual players) นอกจากเรื่องของset-plays อย่างเดียว ฉะนั้นแล้ว นักเตะต่างๆในทีมจะได้รับการพัฒนาขีดความสามารถแบบเรียงตัว ถ้าเห็นตัวไหนที่โดดเด่นและเปลี่ยนแปลงขึ้นกว่าเดิมในเรื่องเหล่านี้ มั่นใจได้เลยว่า มีส่วนมาจากเอริค แรมซีย์แน่นอน

เอริค แรมซีย์เป็นโค้ชสมัยใหม่ที่ออกสื่อเชิงแทคติก และมีรีพอร์ททางโซเชียลเน็ตเวิร์คอยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่สมัยอยู่ชรูวส์บิวรี่ ทาวน์ เราจะเห็นคลิป ของเจ้าตัวในyoutubeหลายๆคลิป เป็นโค้ชที่ให้ข้อมูลและแทคติกของทีมชุดเยาวชนตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว จนกระทั่งย้ายมาอยู่กับเชลซี

เมื่อปีที่แล้ว ทางแชนแนล The Coaches' Voice ได้ทำสกู๊ปเกี่ยวกับการฝึกสอนของเขากับทีมสำรองของเชลซี เป็นแชนแนลที่มีการเชิญโค้ชและผู้จัดการตัวจริงทั้งหลาย มาให้สัมภาษณ์และทำสกู๊ปอธิบายแทคติกโดยละเอียด ซึ่งมีผู้จัดการทีมระดับสูงมาออกรายการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มูรินโญ่ ซิโมเน่ รอดเจอร์ส นูโน่ เซาธ์เกต มาร์ค ฮิวจ์ส ฯลฯ เป็นต้น รวมถึงยอดโค้ชต่างๆอีกหลายคน หนึ่งในนั้นคือ คีแรน แมคเคนน่า ก็เคยมาออกรายงานในแชนแนลนี้เช่นกัน

และแน่นอน เอริค แรมซีย์ โค้ชคนนี้ฝีมือดีขนาดที่แชนแนลนี้ก็มาทำสกู๊ปการฝึกซ้อมเช่นกัน โดยที่เป็นคลิปในฐานะผู้ช่วยของเฮดโค้ชเชลซีชุด U-23 และแสดงให้เห็นถึงการวางระบบฝึกซ้อมให้ทีมในการเซ็ตบอลขึ้นหน้าในสถานการณ์โดนบีบเพรสซิ่งสูง (Build-up Play Under High Pressure)

แม้จะยังไม่เห็นว่า แรมซีย์จะวางโปรแกรมฝึกซ้อมด้านเซ็ตพีซยังไงให้แมนยูไนเต็ดบ้าง แต่เราสามารถเห็นวิธีคิดในการทำงานของเขา ผ่านตัวอย่างในเรื่องนี้ได้

วิธีการของเอริค แรมซีย์ ในการฝึกซ้อมภาคBuild-up Play เพื่อต้านการเจอเพรสซิ่งสูงของคู่ต่อสู้นี้ หัวใจสำคัญของเขาอยู่ที่การซ้อม และทำให้ผู้เล่นมีความรู้สึกสบายๆ ในการเล่นครอบครองบอล

สิ่งนี้คือปรัชญาเดียวกันที่ตรงกับทีมชุดปัจจุบันของโซลชา ที่พยายามจะเป็นฝ่ายครองบอลให้ได้เช่นกัน

ถือว่าแนวคิดค่อนข้างตรงกันกับทีมในเรื่องนี้

แรมซีย์เป็นโค้ชที่ออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมด้วยตัวเองได้ เพื่อที่จะพัฒนาทักษะและการเล่นของทีมในหลายๆมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเข้าใจเกม ความคุ้นเคย การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และภาคการยืนตำแหน่ง ที่มันจะทำให้การตั้งเกมจากแดนหลัง สามารถทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคู่แข่งแมนยูก็รู้แกวว่าเราจะเซ็ตจากแดนหลัง และบีบสูงใส่เซ็นเตอร์ และมิดฟิลด์ตัวต่ำของเราเสมอ

การซ้อมของแรมซีย์ จะช่วยให้ทีมเล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้นผ่านโปรแกรมเหล่านี้ ซึ่งจะไล่สเกลการฝึกซ้อมไปตั้งแต่สเกลเล็กที่แบ่งเป็นทีมเล็กข้างละ 4-6 คน ไปจนถึงสเกลใหญ่เต็มทีมข้างละ 11คน และเซ็ตเกมกันเต็มรูปแบบในสนาม

ยกตัวอย่างในภาพด้านบนนี้ จะมีตัวที่ทำหน้าที่ครองบอลอยู่ แดนละ4คน โดยมีตัวไล่บอลสองคน (ขีดสีแดง) ที่จะคอยวิ่งไล่เพรสซิ่งตัวครองบอล4คน ที่ต้องหาทางหนีเพรสให้ได้ และจ่ายบอลขึ้นหน้ามาให้กับตัวกลางสองคน ที่ถูกประกบอยู่โดยคู่แข่งที่แทนด้วยสแตนด์นักเตะจำลอง จากนั้นจึงจ่ายบอลข้ามมาอีกฝั่ง

เป็นการฝึกการเล่นในพื้นที่แคบๆ เพื่อหาไอเดียเริ่มต้นของการแกะเพรส และเซ็ตบอลขึ้นหน้าเป็นสำคัญในเส้นสีเหลือง ที่จะต้องหามุมจ่ายหลบสแตนด์คู่แข่งจำลองที่ยืนปักหลักอีกสองคนให้ได้

จากนั้นถ้าเสียบอล หรือโดนบล็อคได้ ก็จะผลัดเปลี่ยนคู่สองคนมาเล่นเพรสซิ่งต่อ เหมือนเล่นลิงชิงบอล มีลิงสองคนที่ไล่บอลทีละวง4คนนั่นเอง

จากนั้น เอริค แรมซีย์ ปรับสเกลมาใหญ่ขึ้น ด้วยการใช้ 4ตัว ในการไล่เพรสใส่ทีมทดสอบ ที่เป็นแผงแบ็คโฟร์4คน เล่นกับ2มิดฟิลด์คู่กลาง ซึ่งลากเป็นแนวเส้นสีเหลืองให้ได้เห็น

โดยที่ตัวไล่เพรส4คน(สีแดง) คือนักเตะในตัวรุกของฝั่งตรงข้าม นี่คือการฝึกbuild-up play ในสเกลครึ่งสนาม ที่สถานการณ์จริงๆ คนที่จะต้องแกะเพรสให้ได้ ก็คือ 6คนในแดนหลังนั่นแหละ

นักเตะในทีมจะต้องแกะเพรส และจ่ายบอลขึ้นหน้าไปยังอีกแดนหนึ่งให้ได้(เส้นสีเขียว) จากนั้นก็สลับฝั่งไปเพรสกัน หากว่าฝ่ายเพรสตัดบอลได้สำเร็จ ก็จะทำประตูและคิดเป็นคะแนนไป ก็ได้ซ้อมการเพรสซิ่งคู่แข่งด้วย ซึ่งสามารถแกะออกมาเป็นวิธีการฝึกซ้อมที่เป็นsmall-sided game แบบนี้ คือเล่นกันครึ่งสนาม

ฝั่งสีดำ6คนจะพยายามแกะเพรสเพื่อจ่ายขึ้นหน้า แล้วให้แดนหน้าสีส้มไล่บอล ผลัดฝั่งกันทั้งสองด้าน เมื่อย้ายฝั่งไป 4คนตรงกลางของอีกด้าน(ตัวรุกของทีมดำ)ก็จะวิ่งไล่บอลต่อ ดังในภาพข้างล่างนี้

แกนหลักของการฝึกนี้ เมนจะอยู่ที่ "ทีมครองบอล" เป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น การซ้อมBuild-up Play หนีเพรสซิ่งสูง ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่จะนำมาผนวกเข้ากับการฝึกซ้อมของแมนยูไนเต็ด โดยแผนของแรมซีย์ได้ ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ "ส่วนเดียว" เท่านั้นที่เขาทำสกู๊ปออกมาให้ดู เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆวิธีการฝึกซ้อมของแรมซีย์ในผลงานที่ผ่านมา

สิ่งที่จะได้ประโยชน์จากเซสชั่นฝึกซ้อมเรื่องนี้ มันไม่ใช่แค่การเซ็ตบอล แต่ยังได้ฝึกการเพรสซิ่งของผู้เล่นในทีมด้วย เพราะวิธีการฝึกของแรมซีย์จะเน้นการสร้าง "ลูป" การเล่น ที่จะให้สลับหน้าที่กันตลอดเวลาหากว่ามีการผิดพลาด หรือชิงบอลกันได้ นักเตะอีกฝ่ายจะต้องเปลี่ยนหน้าที่ในสนามทันที จากเดิมเป็นฝ่ายครองบอล ก็จะต้องไล่บอลทันที

จุดที่เน้นหนักของแรมซีย์นั้น เขาจะไม่เน้นเป็นคำพูด แต่มันอยู่ในexercise ของโปรแกรมที่ออกแบบมาแล้ว ในนั้นนักเตะจะสามารถสัมผัสได้เองว่า เราจะต้องทำอะไรมากขึ้น เช่นสปีดการให้บอล การยืนตำแหน่ง หรือถ่างออกมาเพื่อหา "มุม" ในการจ่าย

ที่สำคัญที่สุด แรมซีย์เน้นย้ำเรื่องปฏิกิริยาของนักเตะในยามที่เป็นฝ่ายไม่ได้ครองบอลด้วยว่า ต้องresponseให้เร็วที่สุด ต่อการเปลี่ยนแปลงการครอบครองบอล ไม่ว่าจะฝั่งใดก็ตาม ซึ่งนั่นคือเซนส์ในเรื่องawarenessในสนามของเกมรับ และปฏิกิริยาอันรวดเร็วในtransition playที่เปลี่ยนจังหวะจากรุก กลายมาเป็นฝั่งรับ ทีมก็จะต้องตอบสนองได้ไวด้วยที่ต้องเข้าเพรสซิ่งใส่คู่แข่งทันทีเช่นกัน

และมันคือ พื้นฐานของ "Counter-Pressing" นั่นเอง ที่ทีมจะได้ประโยชน์จากการฝึกซ้อมของแรมซีย์ ผู้อ่านสามารถไปชมการซ้อมกับทีม U-23s ของเอริค แรมซีย์ ตอนอยู่เชลซีได้จากในคลิปเต็มที่มีความยาว1ชั่วโมงในคลิปนี้ได้เลย เพื่อที่จะดูการทำงานของเขาว่าเป็นยังไง


จากคลิปนี้เห็นค่อนข้างชัดถึงวิธีการ coaching ของแรมซีย์ที่เป็นโค้ชหนุ่มซึ่งมีความคิดเป็นภาพแทคติกในหัวตลอดเวลา และสามารถชี้ให้นักเตะเห็นถึงสิ่งเหล่านั้นได้ เราจึงได้บอกว่า เขาคือโค้ชที่เป็นพวก Pure Tacitical Coach โดยแท้

การนั่งดูวิธีการทำงานของแรมซีย์ตลอดหนึ่งชั่วโมงที่เปิดไปดูไป จะเห็นได้ชัดว่าเขาสามารถออกแบบวิธีการฝึกซ้อมได้เป็นอย่างดี

แม้ว่ามันจะไม่ใช่เซสชั่นฝึกซ้อมเรื่องลูกเซ็ตพีซ เรายังไม่เห็นว่า เขามีวิธีการฝึกซ้อมยังไง แต่เราก็พอจะเห็นระบบวิธีการคิดแบบสมัยใหม่ของเขาพอสมควร เป็นโค้ชไฟแรงสายแทคติกจ๋าๆ ที่เน้นย้ำเรื่องการฝึกซ้อมเพื่อให้เกิดธรรมชาติการเล่นที่ดีในสนามได้ ด้วยโปรแกรมฝึกที่ถูกออกแบบมาอย่างดี

ให้ผู้อ่านลองจินตนาการว่า ถ้าการรับมือเซ็ตพีซของทีม ถูกซ้อมอย่างละเอียดด้วยเทคนิค และขั้นตอนโปรแกรมที่ถูกวางเอาไว้จากเขาในหลายๆรูปแบบ เชื่อว่าแมนยูไนเต็ดจะสามารถสู้กับคู่แข่งได้ทุกทีมเวลาเจอแทคติกที่คู่แข่งนำมาใช้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นการมายืนออในกรอบ6หลาบ้าง การหลอกโหม่งตั้งเล่นจังหวะสองบ้าง ฯลฯ

ทุกรูปแบบที่เราเจอ จะต้องผ่านการฝึกโดยเอริค แรมซีย์อย่างแน่นอน เพราะเขาแสดงให้เห็นว่า นี่เป็นโค้ชสมัยใหม่ที่เก่งทางด้านการวางระบบฝึกซ้อมจริงๆ ซึ่งก็ตรงกันกับสิ่งที่โซลชาพูดเอาไว้ว่า เขาคือ Innovative Coach ที่นำนวัตกรรมการเล่นใหม่ๆ เข้ามาริเริ่มให้กับทีมเรา

เมื่อมันเป็นสิ่งใหม่ของทีมที่ยังไม่มีโค้ชมาดูแลด้านนี้โดยตรง เราจึงค่อนข้างเชื่อว่า ทีมจะดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน เพราะนี่คือการก้าวไปข้างหน้าแบบ forward-thinking ที่ไม่ได้ปรับเพียงแค่ตัวนักเตะ แต่ทีมยังทำการปรับรูปโฉมใหม่แบบยกเครื่อง เนื่องจากเอริค แรมซีย์ ได้ถูกเจาะจงว่าเขาจะมาเป็นคนควบคุมการฝึกลูก set-plays ของทีมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และการฝึกซ้อม คือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ทีมดีขึ้นได้

เอริค แรมซีย์ ย้ายเข้ามาอยู่กับเราเป็นการถาวร และจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมโค้ชในจุดสูงสุดในอาชีพของเขา ที่เชื่อว่า ระบบระเบียบที่เขาเซ็ตโปรแกรมขึ้นมาเพื่อฝึกซ้อมให้เด็กๆเรานั้น มันจะทำให้เราเสียประตู หรือปั่นป่วนเพราะเซ็ตพีซน้อยลงแน่นอน เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่มีมือโปรทางด้านนี้เข้ามาอยู่ในทีมเลย

การได้โค้ชที่มีจิตวิญญาณของครูอยู่เต็มเปี่ยมอย่างแรมซีย์ ที่พัฒนานักเตะเยาวชนมาหลากหลายแห่ง และมีวิธีการอธิบายแก่นักเตะวัยรุ่นได้อย่างดีนั้น เขาจะเข้ามาเคี่ยวซ้อมจนทีมสามารถทำได้ดีขึ้นแน่ๆ ทั้งเกมรุก เกมรับ และช่วยทีมในการแก้เพรสให้ดีและเก่งขึ้นแน่นอน จากการมีมือโปรเข้ามาร่วมทีมผู้ฝึกสอน

มันคือการเซ็นสัญญาที่ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่งของแมนยูไนเต็ด ที่จะทำให้ทีมดีขึ้นแบบทันตาเห็นแน่นอน เพราะนี่ถือว่า เป็นประเด็นที่แก้ปัญหาได้ "ตรงจุดที่สุด" ครั้งหนึ่งเท่าที่เคยเห็นแมนยูไนเต็ดตลอดมา นั่นแปลว่าทีมเรา "รู้" มาตลอด ว่าชุดปัจจุบันมีปัญหาตรงไหน และเรื่องอะไรเป็นจุดอ่อนบ้าง เราถึงได้จงใจไปเซ็นโค้ชที่ดูแลระบบการฝึกซ้อมตรงนี้ได้ ที่จะทำให้เซ็ตพีซของทีมแข็งแกร่งกว่าเดิม

บางครั้งการซื้อนักเตะเข้ามา อาจจะแก้ไขได้แค่นิดหน่อย จากการเล่นในสนามที่ดีขึ้น แต่มันก็ดีขึ้นแค่ "ตำแหน่งเดียว" ที่นักเตะคนนั้นๆได้ลงสนาม / กลับกัน การเซ็นโค้ชเก่งๆเข้ามาร่วมทีม โค้ชสามารถพัฒนาได้ "ทั้งทีม" และแก้ปัญหาได้ตรงที่จุดของการเล่นจริงๆ

และสิ่งนี้คือสิ่งที่แฟนบอลส่วนใหญ่มองข้าม และไปให้ความสำคัญที่ตัวบุคคลของนักเตะมากกว่า แต่โค้ชก็สำคัญไม่แพ้กัน

เพราะนักเตะที่เข้ามา ก็ได้แค่ทดแทนและอัพเกรดตำแหน่งนั้นๆ แต่การเซ็นโค้ชดีๆเข้ามา จะทำให้ "ระบบ" ของทั้งทีมดีขึ้น

จากบทความที่แล้วก็ค่อนข้างชัดเจนว่า "ปัญหาอยู่ที่ระบบ" ในการเล่นป้องกันของทีม ไม่ใช่อยู่ที่ตัวนักเตะ

เพราะถ้าวัดจากตัวนักเตะ แฮรี่ แมกไกวร์ ไม่มีทางเทคโหม่งแพ้โอตาเมนดี้แน่นอนในconditionเดียวกัน มันจึงเป็นเรื่อง "ระบบวิธีการเล่น" ล้วนๆ

เพราะระบบที่มีช่องโหว่ ก็ทำให้นักเตะที่เก่งลูกกลางอากาศอย่างแฮรี่ แมกไกวร์ ถูกเล่นงานไปด้วยจากจังหวะวิ่งเข้าชาร์จและตัดหน้าโหม่งใส่นักเตะที่ยืนป้องกันแบบคุมโซนอยู่

กลายเป็นว่า แทนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากแมกไกวร์ กลับกลายเป็นว่ามันใช้ได้แค่ครึ่งเดียว แต่อีกครึ่งยังมีจุดอ่อนอยู่

ในขณะที่ฝีมือในการป้องกันของดีน แม้อาจจะกล้าเล่น กล้าออกมาชกกว่าเดเคอา แต่ระบบปัจจุบันก็ยังไม่เอื้ออยู่ดี ทำให้การเสียประตูจากเซ็ตพีซภายใต้การลงสนามของดีนก็ยังมีให้เห็นพอๆกันกับเดเคอา เวลาที่โดนยิงจะเห็นปัญหาเดิมๆค่อนข้างชัด เรานั่งดูอยู่ก็จำเป็นต้องยอมรับว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะดีนหรือเดเคอา

การเล่นของผู้รักษาประตู แม้จะมีส่วนอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้แมนยูไนเต็ดมีปัญหาจากลูกเซ็ตพีซ

ปัญหามันอยู่ที่ระบบการเล่นของทีม

ดังนั้นถ้าระบบดีขึ้น ทั้งผู้รักษาประตู และแนวรับ โดยเฉพาะแฮรี่ แมกไกวร์ จะเล่นเกมรับลูกเซ็ตพีซได้เต็มประสิทธิภาพกว่านี้ แถมน่าจะไปเพิ่มเติมที่การเล่นเซ็ตพีซเกมรุกได้อีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งปีก่อนยูไนเต็ดทำได้เพียง 7 ประตูจากลูกนิ่งเท่านั้นเอง เป็นรองทั้งซิตี้ เชลซี และลิเวอร์พูลทั้งหมด

แค่เซ็นโค้ชดีๆเข้ามาคนเดียว ทีมจะดีขึ้นในองค์รวมทั้งทีม นักเตะรายบุคคลก็จะได้รับประโยชน์ในการพัฒนาฝีเท้าไปด้วย

อะไรบ้างที่แรมซีย์จะนำมาให้แมนยูไนเต็ด

1. โปรเจคการเล่นใหม่ๆ

ระบบความคิดแบบเก่าๆมักจะมองว่า นักเตะคือสมบัติของสโมสร และสตาฟฟ์โค้ชเป็นเพียงแค่พนักงานเท่านั้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือบุคลากรเหล่านั้นมีโอกาสที่จะถูกปลดหรือไล่ออกมากกว่าเนื่องจากอิทธิพลต่อทีมน้อยกว่า แต่ในขณะที่ทีมเล็กๆนั้นเกิดการปลดโค้ชเพื่อหาคนใหม่มาช่วยพาทีมหนีตกชั้นอย่างชัดเจนนั้น แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงทีมสตาฟฟ์โค้ชว่า การเปลี่ยนทีมโค้ช มันสำคัญมากกว่าเพียงแค่ว่าเรื่องของผลลัพธ์เท่านั้น

แต่มันหมายถึง "โปรเจค" ในการเล่นที่จะตามมาอีกมากมาย และแรมซีย์คือคนที่ก้าวเข้ามาพร้อมโปรเจคในมืออีกเพียบให้แมนยูไนเต็ด ที่จะทำให้ทีมได้ประโยชน์มากกว่าคะแนนที่จะเพิ่มขึ้น

การBuild-up ถือเป็นสิ่งสำคัญของทีมสายครองบอลแบบแมนยูไนเต็ด และการจัดระเบียบในการตั้งบอลจากแดนหลังจะแสดงให้เห็นว่าทีมมีระบบการเล่นที่ดีเพียงใดในทุกๆด้าน ซึ่งเอริค แรมซีย์ ดูจะถูกโฉลกพอดีเพราะตรงกับจุดอ่อนยูไนเต็ดทุกประการที่เรามีอยู่ และเขาจะพาแมนยูไนเต็ดของโซลชา ก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง

ทฤษฎีการฝึกซ้อมที่ได้รับประกันจากความสามารถในเชิงวิชาการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วนั้น จะการันตีการพัฒนาของนักเตะได้แน่นอน ผ่านเซสชั่นฝึกซ้อมที่โฟกัสในการให้เรียนรู้การเคลื่อนที่ในหลากหลายรูปแบบ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างบนในตัวอย่างการฝึกซ้อมของเขาที่เชลซีในเรื่องการเซ็ตบอลขึ้นหน้าเวลาเจอเพรสสูง เขาจะช่วยทีมได้อย่างมาก

2."อิทธิพลจาก เป๊ป-ทูเคิล"

 เอริค แรมซีย์เป็นโค้ชชาวอังกฤษที่ได้รับอิทธิพลจากการเข้ามาอยู่ในพรีเมียร์ลีกของกวาร์ดิโอล่า และ ทูเคิล ที่ใส่ใจในรายละเอียดต่างๆอย่างพิถีพิถัน (ดูพี่แกอธิบายในคลิปก็เห็นแล้วว่าแรมซีย์ละเอียดมากเหมือนสองคนนี้เป๊ะ) ซึ่งยังเน้นในเรื่องของการbuild-up และการเล่นบอล pressing แบบบอลสมัยใหม่อีกด้วย

เป็นชุดความคิดที่ค่อนข้างแตกต่างจาก traditional coach ของอังกฤษคนอื่นๆมาก

แรมซีย์ที่เป็นจอมแทคติกนั้น เชื่อในเรื่องของ "positional play" เป็นไอเดียพื้นฐานการเล่น ที่มีปรากฏวิธีคิดอยู่ในภาคการฝึกซ้อมของเขา (เช่นการloadปริมาณนักเตะในแต่ละ sides ให้เหนือกว่าคู่แข่งเป็นต้น)

แก่นของ positional play คือการ "สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง" ในสนาม ด้วยการสร้างสถานการณ์ที่เหนือกว่าคู่แข่งเสมอ จากการขยับเคลื่อนที่เพื่อสร้างทางเลือกให้เพื่อน และทำการดึงคู่เข้ามาวิ่งบีบใกล้ๆเพื่อเรียกพื้นที่ และเอาชนะมันด้วยทางเลือกที่เพื่อนสร้างขึ้นให้กับทีม

แต่แรมซีย์ไม่ได้เข้มงวดกีดกัน หรือบังคับให้นักเตะต้องเล่นตามคำสั่ง แต่จะมอบอิสระให้นักเตะใช้เซนส์และทักษะในสนามเพื่อสร้างstructureการเล่นขึ้นมาเองอย่างชาญฉลาด

เชลซีในฤดูกาลที่แล้วมีการเล่นที่โดดเด่นจนคว้าแชมป์UCLได้สำเร็จ ด้วยการทำเกมในภายใต้ทูเคิลและวิธีการฝึกซ้อมแบบดั้งเดิมของเขา ซึ่งจุดแข็งของเชลซีในการset-up คือการเน้นให้ทีมใช้นักเตะหลายๆคนที่ยืนในไลน์แตกต่างกันในแกนกลางของทีม ทำให้พวกเขาคุมพื้นที่กันได้ครอบคลุม และต่อกรด้วยยากมาก ซึ่งแมนยูไนเต็ดขาดสิ่งนี้ในฤดูกาลที่แล้ว

แต่การมาถึงของแรมซีย์จะนำเอาคอนเซปต์สดใหม่เหล่านี้เข้ามายังโอลด์แทรฟฟอร์ดที่จะใช้การถ่ายบอลที่เหนือกว่าคู่แข่ง ในการลำเลียงบอลของทีม

ถึงแม้จะยังอายุน้อยและประสบการณ์ไม่เท่าตัวเก๋า และไม่ได้เข้ามาควบคุมแทคติกภาพรวมทั้งหมด แต่เขาจะนำเสนอสิ่งใหม่ๆให้ทีมไม่ว่าจะเป็นสไตล์ใหม่ๆ บริบทการเล่น และปรัชญาการเล่น ซึ่งเขาสามารถพัฒนาพวกดาวรุ่งและนักเตะพรสวรรค์เหล่านี้ได้ในระยะยาว

ประโยชน์ตรงนี้ในการเซ็นสัญญาแรมซีย์เข้ามา มันประเมินค่าไม่ได้

สุดท้ายมันก็จะหลอมรวมเข้ากับระบบทั้งหมด และสร้างผลการแข่งขัน รวมถึงความสำเร็จให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในอนาคตอันใกล้นี้

3. แก้ระบบให้มีระเบียบ

"ระบบ" จะถูกนำเข้ามาในภาคการเล่น โดยอ้างอิงจากขั้นตอนและโปรแกรมการฝึกซ้อม เชื่อว่ารูปแบบเกมป้องกันเซ็ตพีซของทีมจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้ระบบไฮบริดระหว่าง แมนมาร์ค กับ ตั้งโซน อาจจะมีแผนการรับมือใหม่ๆเข้ามา ที่นำเอาของเดิมมาปรับปรุง และเพิ่มสิ่งใหม่ๆเข้าไป

จุดที่เราเชื่อว่ามันจะดีขึ้นแน่นอน คือเรื่องของ "ระเบียบ" ที่จะได้จากระบบ นักเตะแมนยูตอนนี้ ที่มีปัญหาทั้งหลายเวลาเจอลูกนิ่งนั้น ส่วนใหญ่เกิน80% ปัญหาเกิดจากระเบียบการยืน การรับหน้าที่ที่ไม่มีอะไรแน่นอนเป็นชิ้นเป็นอัน และเอาคู่แข่งไม่อยู่เลย เนื่องจากเห็นได้ชัดว่า "รับมือคู่แข่งไม่ไหว" เวลาเจอการสลัดตัวประกบ หรือขึ้นโจมตีในจุดอันตรายๆ

การฝึกซ้อมของแรมซีย์จะช่วยในด้านการ "ยืนตำแหน่ง" และการ "แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ" ให้ทีมมีการเล่นที่ดีขึ้นกว่าเดิม

หากว่าทุกอย่างมีระบบระเบียบที่แน่นอนแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ

3.1 การคัฟเวอร์พื้นที่ในการแย่งโหม่งบอลแรกก็จะดีขึ้น

3.2 การหลุดตัวประกบในจังหวะบอลสองจะลดลงไปด้วย

อย่างที่เห็นในรูปข้างบนนี่คือชัดเจนว่าอีเหละเขะขะมากๆ ตัวประกบก็ว่าง ตั้งโซนก็ไม่ครอบคลุมพื้นที่ ไปยืนเรียงกันเป็นแถวแนวตั้ง พื้นที่รอบๆเหลือเพียบ ลูกนี้ถ้าเปิดมาเสาสอง แล้วมาเจอตัวว่างวิ่งฉีกขวามา แมนยูก็เรียบร้อยละ

และจากภาพตัวอย่างนี้ก็ยิ่งเห็นเรื่องเดิมๆ จากการยืนตั้งแผงคุมโซนเป็นเป้านิ่ง และปล่อยชะตากรรมของทีมไว้กับตัว "แมนมาร์ค" ด้านหน้าซึ่งมีแต่ฮอบบิทวิ่งตามประกบทั้งนั้น(เห็นได้ชัดจากเฟร็ดว่าเสียเปรียบหนัก) จุดที่เรา "มองเห็น" วิธีแก้ปัญหาจากภาพนี้ และจากบทความที่แล้ว สิ่งนึงที่ช่วยได้แน่นอนก็คือ

ตัวคุมโซน จะต้อง "วิ่ง" ด้วย ไม่ยืนเป็นเป้านิ่งเหมือนที่เป็นอยู่

เพราะอย่างที่บอก แรงชาร์จของตัวโถมมันเหนือกว่าตัวจัมพ์จากจุดที่ยืนเฉยๆอยู่แล้ว ดังนั้นต่อจากนี้ แฮรี่ แมกไกวร์ หรือ แม็คโทมิเนย์ จะต้องมองตามที่บอลและวิ่งโถมด้วยเช่นกัน การคุมโซนจะต้องไม่ยืนอยู่เฉยๆ แต่คุมโซนแบบเคลื่อนที่ แม้จะไม่ต้องตามประกบman-mark แต่ต้องวิ่งเข้าหาจุดตกของลูกบอล เหมือนอย่างที่ แน็ท ฟิลลิปส์ ทำในบทความที่แล้วที่เขาไม่ได้มาร์คใครเลย แต่วิ่งเข้าหาบอลและไปโหม่งสกัดมาได้ สิ่งนี้จะแก้ปัญหาได้

ภาพเหล่านี้จะหายไปแน่นอนผ่านระบบของแรมซีย์ที่จะช่วยมาร์คตำแหน่งการยืนที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ และยังอาจจะได้อาวุธในการสวนกลับเพิ่มขึ้นด้วย หากว่าป้องกันสำเร็จ ซึ่งแน่นอนว่า แรมซีย์ซึ่งเป็นโค้ชที่เล่นtransition playด้วยแล้วนั้น ไม่มีพลาดแน่นอนในการผนวกเกมรับเข้ากับเกมcounter-attackของทีม


ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำไม ผู้เขียนถึงได้เชื่อว่า การเซ็นสัญญา เอริค แรมซีย์ เข้ามาร่วมทีมโค้ชและดูแลเรื่องลูกเซ็ตพีซนั้น มันคือ "การเซ็นสัญญาแห่งฤดูกาล" อย่างแท้จริง ไม่แพ้การซื้อนักเตะมูลค่าหลายร้อยล้านเข้ามาเลย

ถ้าแมนยูป้องกันเซ็ตพีซ และทำผลงานในแต่ละนัดดีขึ้น เก็บแต้มเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการได้นักเตะเก่งๆเข้ามาแบกให้ทีมอีกคนนึงนั่นแหละ

เอริค แรมซีย์ จะเป็นร่างทรงการเล่นเซ็ตพีซของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในฤดูกาลนี้ และเป็นไอเดียที่สดใหม่เข้ามาเติมเต็มให้กับภาคการฝึกสอนและคุมทีมของสตาฟฟ์โค้ช และเราเชื่อว่า มันจะแกร่งทั่วแผ่น และมีอะไรใหม่ๆมาให้เราได้เห็นถึงการพัฒนาของทีมอย่างแน่นอน

ถ้าทีมเราเล่นเซ็ตพีซอันตรายขึ้น และเหนียวแน่นในการป้องกันมากขึ้น บอกได้คำเดียวว่า คะแนนไหลมาเทมาชัวร์

-ศาลาผี-

References

https://www.manutd.com/en/news/detail/manchester-united-appoint-coach-eric-ramsay-to-join-the-first-team-set-up

https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/transfer-news/manchester-united-eric-ramsey-appointment-21039246

https://www.foottheball.com/explainer/eric-ramsay-manchester-united-set-piece-coach-offer-career-tuchel-pep-tactics-chelsea

https://www.youtube.com/watch?v=NUfk08H7Lko&t=2785s

https://www.thesun.co.uk/sport/football/15577047/man-utd-solskjaer-eric-ramsay-chelsea/

https://strettynews.com/2021/03/11/set-piece-analyst-breaks-down-every-man-utd-error-in-ac-milans-crucial-europa-league-away-goal/

https://totalfootballanalysis.com/team-analysis/manchester-united-tactical-analysis-tactics-set-pieces-premier-league

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด