:::     :::

[จอมเวทย์หลังเลิกเรียน] Deep Completion และผู้ถือครองหอกคนใหม่ "เจดอน ซานโช่"

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2565 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
2,237
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
เกมรุกปีศาจแดง ผู้ถือหอกแห่งแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เปลี่ยนมือจากบรูโน่ สู่นักเตะแห่งอนาคตอย่าง เจดอน ซานโช่ และนี่คือสถิติวิเคราะห์ของหอกนั้น ผ่านการอธิบายด้วยสถิติ Deep Completion และ SCA / GCA ของพรีเมียร์ลีกฤดุกาลนี้

มีข้อมูลวิเคราะห์มาฝากให้หนักหัวกันเล่นอีกแล้วสำหรับคอลัมน์ #จอมเวทย์หลังเลิกเรียน ชวนเข้าคลาสเล็คเชอร์กันสั้นๆอีกครั้ง สำหรับศัพท์เทคนิคคำว่า "Deep Completion" ที่ผู้เขียนนำไปใช้ประกอบการอธิบายแทคติกและรีวิวเกมอยู่บ่อยๆ

ในบทความนี้จะเป็นคำอธิบายว่าเจ้าคำๆนี้มันคือค่าของอะไรกันแน่?

โดยคำอธิบายแบบง่ายๆของ Deep Completion คือการนำบอลเข้าไป "ลึก" สู่โซนพื้นที่อันตรายใกล้ๆบริเวณรอบปากประตูของคู่แข่ง ในพื้นที่รัศมี 20 เมตร จากจุดกึ่งกลางของเส้นประตู

ดูตามรูปจะเห็นภาพง่ายกว่า

โดย Deep Completion จะนับลูกจ่ายต่างๆที่เปิดเข้าไปยังพื้นที่นั้น รวมถึงการพาบอลไปกับตัว เข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ก็จะเป็น Deep Completion ด้วย

ชนิดของการเล่นที่ถูกนับเป็นสถิตินี้จึงมีทั้งการเปิดลูกเรียด, การวางบอลโด่งข้ามแนวรับ รวมถึงการ Carry บอลเข้าไปยังพื้นที่อันตรายเหล่านั้นในลักษณะของการเลี้ยงบอลด้วย

แต่ Deep Completion จะไม่นับรวม "ลูกครอส" ที่เปิดจากบริเวณพื้นที่ด้านข้าง หรือกราบ(Flanks)ทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะกราบซ้ายหรือกราบขวา ลูกโยนจากด้านข้างที่เป็นการครอส แม้จะเข้าไปยังพื้นที่รัศมี 20 เมตรรอบๆกึ่งกลางปากประตู ก็จะไม่ถูกนับเป็น Deep Completion

(ก็จะนับเป็นลูกครอสแทน)

จะให้เห็นภาพง่ายๆก็เป็นดังภาพนี้ กล่าวคือ การพาบอลเข้าไปยังพื้นที่นี้ของคู่แข่ง ถือว่าเป็นการเข้าไปที่ "ลึก" มาก การเล่นดังกล่าวจึงถูกแทนด้วยคำว่า "Deep" Completion นั่นเอง

ยกตัวอย่างง่ายๆของ Deep Completion ให้เห็นภาพก็เช่นในรูปด้านบนนี้ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เปิดบอลแทงทะลุเข้าไปยังพื้นที่รอบๆโกลที่ใกล้กว่า 20 เมตร ซึ่งก็เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ในบริเวณเกือบๆจะทั้งหมดของกรอบเขตโทษ เพียงแค่นับเป็นรัศมีวงกลมจากจุดกึ่งกลาง ไม่ได้นับจากเส้นกรอบเขตโทษ

ดังนั้น การจ่ายบอลเข้ากรอบเขตโทษทุกครั้ง ไม่ใช่ Deep Completion เสมอไป (เพราะมันไม่ deep ถ้าอยู่แค่รอบๆกรอบ) แต่บางจุดที่จ่ายเข้าไป แม้จะไม่ใช่ในกรอบ ก็ยังเป็น Deep Comp. ได้ (เพราะกินพื้นที่ทั้งหมดของหัวกะโหลก ด้านนอกกรอบเขตโทษด้วย)

ภาพนี้จะเห็นชัดมากๆสำหรับ Deep Comp. (สีเหลือง) ส่วนวงสีฟ้านั่นคือ Very Deep Completion (ลึกมาก) คือจ่ายบอลเข้าไปใกล้กรอบประตูต่ำกว่า 15หลา

สามารถระบุให้เข้าใจแบบบ้านๆได้ว่า Deep Completion เป็น Subset ของการจ่ายบอลเข้ากรอบเขตโทษของคู่แข่งก็คงได้ (Opponents' penalty area) ส่วนที่เหลือก็แค่รวมพื้นที่จุดหัวกะโหลกเข้าไปด้วย

ส่วนด้านล่างนี้เป็นลูกครอสลึกเข้าในกรอบคู่แข่ง มันก็จะกลายเป็น "Deep Completed Cross" แทน

ภาพด้านบนนี้เป็นลูกครอส จึงไม่นับเป็น Deep Completion ซึ่งเป็นการเล่นแนวขวางสนาม หรือแนวนอน

ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ มันคือสถิติการเล่นในแนวตั้ง (Vertical) ของสนาม ที่นำบอลเข้าไปยังโซนใกล้จุดอันตรายในรัศมีปากประตูคู่แข่งนั่นเอง

ต้องอธิบายว่าจริงๆแล้วปกติ Deep Completion ก็มีการ definition แตกต่างกันอยู่ บางแหล่งนับแค่ลูกจ่าย ไม่นับการเลี้ยงพาบอลเข้าไป ซึ่งระบุเอาไว้ว่า Deep Completion คือ Subtype ของ "Pass" ก็ค่อนข้างชัดเจน

เพียงแต่ว่า ข้อมูลที่กำลังจะนำเสนอต่อไปนี้ รวมเอาทั้งการจ่าย และการพาบอลเข้าด้วยกัน (Pass & Carry) สถิติการเล่นที่นำเอาบอลเข้าไปยังแดนลึกหน้ากรอบประตูคู่แข่งจึงนับทั้งสองประเด็นนี้เพื่อแสดงให้เห็นได้ครอบคลุมมากขึ้นถึงความ "อันตราย" ในการเล่นของนักเตะคนนั้นๆ

(เพราะการนำบอลเข้าพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ได้ทำได้เฉพาะการจ่ายบอลอย่างเดียว อันนี้คือต้องขึ้นกับการตีความของแต่ละสำนักด้วย ซึ่งก็ไม่ยากอะไร เพียงแค่ดูบริบทประกอบว่า สถิติ Deep Completion ดังกล่าวที่หยิบยกมาคุยกันนั้น นับเฉพาะลูกจ่ายหรือไม่ หรือรวมการพาบอลด้วย ก็แค่นั้นเอง แต่ที่แน่ๆคือ ไม่รวมลูกครอสแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์)

บทความนี้มีสถิติที่น่าสนใจของพรีเมียร์ลีกมาฝาก นั่นก็คือ สถิติ Deep Completions ที่เป็นนักเตะ 10 อันดับแรกของลีกที่ทำการนำบอลเข้าไปยังแดนลึกของคู่แข่งได้สำเร็จมากที่สุด โดยเรียงจากค่าเฉลี่ยต่อเกมที่ทำ Deep Comp. สำเร็จ เมื่อเรียงลำดับมาแล้ว นักเตะที่เฉลี่ยต่อเกม สามารถพาบอลเข้าไปยังจุดอันตรายใส่คู่ต่อสู้ได้มากที่สุดในปีนี้ นับสถิติถึงวันที่ 29 มีนาคม 2565 จากบรรดานักเตะที่ลงเล่นอย่างน้อย 900 นาที เรียงจากอันดับ 1 ลงไปถึง 15 ได้ดังนี้


ตารางนี้ทำขึ้นมาโดย @Odriozolite (Yash) เรียงโดย normalize ให้เท่าๆกันจากการหารจำนวนการลงเล่นด้วย 90นาที และเฉลี่ยออกมา อันดับหนึ่งของตัวที่จ่ายบอลเข้าไปจุดอันตรายในเรทสูงสุดของฤดูกาล 2021/22 ณ ปัจจุบัน คือ "กัปตันแจ็ค" แจ็ค กรีลิช ชายค่าหัวร้อยล้านปอนด์ของแมนซิตี้ ที่น่าจะคุ้มเงินไปเปลาะหนึ่งแล้วในตอนนี้

ท็อป15มีดังนี้

1. แจ็ค กรีลิช

2. โมฮัมเหม็ด ซาลาห์

3. ริยาด มาห์เรซ

4. คัลลั่ม ฮัดสัน-โอดอย

5. ราฮีม สเตอร์ลิ่ง

6. เจดอน ซานโช่

7. วิดฟรีด ซาฮา

8. อเดโมล่า ลุคแมน

9. บูกาโย่ ซาก้า

10. ซาดิโอ มาเน่

11. เควิน เดอ บรอยน์เนอ

12. เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์

13. ซน เฮือง-มิน

14. ดาเนียล โพเดนซ์

15. ไค ฮาแวร์ทซ์

จาก 15 คนนี้ มี Man City ติดมาเยอะสุด 4 คน, รองลงมาคือ Liverpool 3 คน และปิดท้ายด้วย Chelsea 2 คน

ในตาราง แบ่งเป็น Pass Count กับ Carry Count ข้อมูลตรงนี้จะบ่งชี้ว่า นักเตะคนไหนมีวิธีการเล่นแบบไหนเป็นหลัก ตัวไหนที่เน้นการจ่าย ค่าของ Pass Count ก็จะเยอะ แต่ถ้าตัวไหนเน้นลากเลื้อยพาบอลเข้าพื้นที่อันตราย ค่า Carry Count ก็จะเยอะกว่า ดังนั้นจากตารางข้อมูลก็เห็นชัดเจนว่า กลีลิช / บังโม / สเตอร์ลิ่ง ตัวพวกนี้จะพาบอลเลื้อยเข้าไปโจมตีเป็นหลัก เพราะปริมาณการ Carry ที่เป็น Deep Comp. เยอะกว่า

นักเตะคนอื่นๆในลิสต์นี้อย่าง KDB, TAA หรือ "Mane" ก็จะค่อนข้างชัดว่ามีวิธีการเล่นที่ใช้การเปิดบอลสร้างเกมรุกเป็นหลัก ทำให้ค่า Pass Count ในฤดูกาลนี้ค่อนข้างเยอะกว่าการเล่นที่ Carry ไปกับบอลนั่นเอง

สถิติก็สะท้อนสไตล์การเล่นและอาวุธของนักเตะคนนั้นๆได้ดี ใครอยากรู้ว่า 15 คนนี้เด่นด้านไหนก็ไปลองดูว่า ค่าไหนเยอะกว่ากัน อย่าง ซานโช่ของเรา รวมๆแล้วใช้การจ่ายบอลเข้าพื้นที่ลึก มากกว่าการเลื้อยเข้า แต่ก็ถือว่าไม่ได้ต่างกันแบบเห็นได้ชัดเท่ากับพวกที่กล่าวมาแล้วทั้งสองแบบในเบื้องต้น ซึ่งก็ชัดเจนในสไตล์อยู่แล้ว

ประเด็นตรงนี้ตอบคำถามให้แฟนผีได้ว่า เจดอน ซานโช่ เป็นตัวรุกสายผสมที่มีความบาลานซ์กันของการจ่ายบอล และการลากเลื้อยไปกับบอลนั่นเอง

เพราะ Deep Comp. ของซานโช่เป็น [จ่ายบอล 30 เลื้อย 21] จริงๆก็ไม่ถึงกับต่างกันมาก จะเป็นลูกจ่ายเยอะกว่าหน่อย

ในเรื่องของ "ปริมาณ" ฤดูกาลนี้โม ซาลาห์ ทำ Deep Completion ได้เยอะสุดก็จริง (99 ครั้ง) แต่จำนวนการลงสนามของเขาเยอะกว่าคนอื่น เมื่อหารเฉลี่ยแล้ว บังโม มาเป็นอันดับสองต่อจากแจ็ค กรีลิชนั่นเอง

แจ็ค กรีลิช Deep Comp. เฉลี่ย 4.66 ต่อเกม

โม ซาลาห์ Deep Comp. เฉลี่ย 3.94 ต่อเกม

ที่น่าสนใจคือ "เจดอน ซานโช่" ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเรา คือนักเตะปีศาจแดงคนเดียวที่ติดมาในลิสต์ Top 15 นี้ ซึ่งก็น่าแปลกใจตรงที่ "บรูโน่ แฟร์นันด์ส" ไม่ติดมาในลิสต์ท็อป 15 นี้ แต่กลับเป็นตัวสอดแทรกที่หลุดเข้ามาได้อย่าง ลุคแมน หรือ โพเดนซ์ ที่แสดงให้เห็นการเล่นที่กดดันปากประตูคู่แข่งได้ดีของสองคนนี้

ส่วนหนึ่งคือเรื่องของแทคติกแน่นอนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระยะหลังที่เป็นยุคของราล์ฟ รังนิค บรูโน่ไม่ได้เล่นเบอร์ 10 เป็นหลักๆอีกต่อไป เขาจะเล่น 8 กึ่ง 10 ที่วิ่งไล่เพรสซิ่ง และทำเกมแดนกลางในแบบกองกลางเบอร์ 8 มากกว่าการเป็นเพลย์เมคเกอร์เนื้อๆเหมือนยุคโอเล่

กลับกัน หัวหอกหลักของป๋าราล์ฟ ก็ค่อนข้างชัดว่า เขาใช้ เจดอน ซานโช่ เป็นตัวขึ้นเกมที่ยึดฝั่งซ้ายด้านถนัด(กว่า) แบบยาวๆจนแรชชี่ตกกระป๋องนั่นเอง

ภาพด้านล่างนี้เป็นการกระจายและรูปแบบการเล่นที่เป็น Deep Completion ของนักเตะที่ติดท็อปเท็นในแต่ละคน (เสียดายไม่เห็นของซานโช่ แต่ก็คงจะกระจายๆอยู่ทางซ้ายเป็นหลัก)

สีฟ้าคือการจ่าย ส่วน แดง คือการลากเลื้อย ในภาพที่พล็อตสถิติดังกล่าวก็จะเห็นสีและความแตกต่างชัดเจนว่า ใครเล่นด้วยวิธีใดเป็นหลัก อย่างเช่น แดงเถือกทางฝั่งขวาของซาลาห์ ก็ชัดเจนอยู่ว่าเขาเลี้ยงบอลจี้ในบริเวณมุมขวาล่างของกรอบเขตโทษ ส่วนกรีลิชก็มาจากมุมซ้ายล่าง ตามตำแหน่งปีกซ้าย

แต่หากสังเกตการกระจายดีๆ กรีลิชเล่นพื้นที่ "กว้าง" กว่าซาลาห์มากๆ ในขณะที่ซาลาห์มีมิติของพื้นที่การลากเลื้อยเข้าไปที่แคบกว่า โดยจำกัดส่วนใหญ่อยู่ทางมุมขวานั้นเอง เส้นแดงของบังโมเลยไปกระจุกใกล้ๆกัน แต่เส้นแดงของแจ็ค จะกระจายทั่วกรอบกว่า

อีกภาพที่น่าสนใจคือ การเปิดบอลที่หางยาวมากๆ ซึ่งสื่อถึงระยะการเล่น ของ "เทรนท์" ในภาพชัดเจนมากว่าเขาใช้การ early cross เข้าไปยังกรอบเขตโทษให้โม ซาลาห์ เล่นต่อนั่นเอง ส่วนเจา คันเซโล่ เป็นนักเตะที่บาลานซ์และเล่นได้ทั้งสองฝั่งแบบพอๆกัน ลูกจ่าย(เส้นฟ้า) มีพอๆกันทั้งซ้ายและขวา จ่ายเข้าไปกดดันบริเวณ Deep Area แต่ไม่ถึง Very Deep (ใกล้กว่า 15หลา)


ทั้งหมดด้านบนคือสถิติวิเคราะห์ในเรื่องของการเล่นที่เป็น Deep Completion ในปีนี้ว่า นักเตะเด่นๆของแต่ละทีม มีรูปแบบยังไง และใครบ้างที่น่าสนใจ ซึ่งเจดอน ซานโช่ ก็เป็น "ตัวแทนหมู่บ้าน" คนเดียวของทีมเราที่ติดในสถิตินี้

แต่..

แม้สถิติ Deep Completion ของ "บรูโน่ แฟรนันด์ส" จะไม่ติดอันดับในปี 2021/22 แต่ก็ต้องอธิบายให้คนอ่านเข้าใจว่า เรื่องของ "การทำเกมรุก" มันก็ยังเป็นคนละตัวที่แยกกันอยู่ดี

สิ่งที่พูดมาคือการ "จ่ายเข้าแดนลึก" ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่ามันคือการ "สร้างสรรค์โอกาสยิง" เสมอไป

(Deep Completion กับ Chances Created หรือตัวที่เป็น SCA, GCA : Shot-Creating Actions / Goal-Creating Actions ที่เป็นคนละสถิติกันนั่นเอง)

บางครั้ง Deep Completion "อาจจะ" ไม่สร้างโอกาสยิงให้ทีมก็เป็นได้ ซึ่งนั่นก็แปลว่า บรูโน่ แฟร์นันด์ส ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแค่เพราะเขาไม่ติดมาในสถิติ Deep Completion ของปีนี้

การสร้างโอกาสยิง หรือทำประตูให้ทีม ไม่จำเป็นต้องจ่ายบอลเข้าไปถึงแดนลึกขนาดนั้นเสมอไป ก็สามารถเป็นสถิติแอสซิสต์ หรือประตูให้กับทีมได้

จุดที่เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ในบรรดานักเตะของแมนยูไนเต็ด นักเตะที่ทำเกมมากที่สุดในทีมปีศาจแดงเมื่อปีที่แล้ว คือสถิติของ บรูโน่ แฟร์นันด์ส ที่เป็นเจ้าของ SCA 168 ครั้งในลีก เฉลี่ยต่อเกมคือ 4.88 ครั้ง/90นาที โดยเป็น GCA/90 อยู่ที่  0.78 ประตู ในฤดูกาล 2020/21 หรือตกเฉลี่ย หนึ่งเกมจะมีส่วนสร้างสรรค์ประตูได้ใกล้ๆ 1 ลูกต่อเกม

(ราว0.8ลูกต่อเกมก็ถือว่าเยอะมากแล้ว เพราะมันเป็นการเฉลี่ยทุกเกม สม่ำเสมอสุดๆ)

เมื่อมาวัดในปีนี้ บรูโน่มีสถิติการเล่นที่สร้างโอกาสยิง(SCA) อยู่ที่ 4.52 ครั้งต่อเกม ส่วนซานโช่ทำได้ 4.09 ต่อเกม นั่นแปลว่าการสร้างสรรค์เกมรุก ที่บรูโน่ไม่ติดมาในสถิติ Deep Completion ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ทำเกมรุก

สถิติมันแปลว่าการนำบอลเข้าไปยังแดนลึกใส่คู่แข่งแค่นั้นเอง

หากมาดูสถิติเชิงผลลัพธ์ที่ชัดเจนกว่า นั่นก็คือ GCA หรือการเล่นที่ก่อให้เกิดประตูจริงๆ ปีนี้ตัวอันตรายที่สุดของทีมเรา จนถึง ณ ตอนนี้ผ่านไป 29 เกม คำตอบก็คือ "เจดอน ซานโช่" ที่เป็นตัวสร้างพลังทำลายจริงสูงสุด โดย GCA/90 ของซานโช่ปีนี้คือ  0.42 ประตูต่อเกม ส่วนบรูโน่อยู่ที่ 0.35 ประตูต่อเกม

การเล่นของซานโช่มันอิมแพ็คต่อผลลัพธ์การสร้างให้เกิดประตูขึ้นเยอะกว่าบรูโน่จริงๆ แบบนี้ก็แปลว่า พลังทำลายล้างของทีมที่เปรียบเสมือนหอกปีศาจ จึงไปตกอยู่ที่มือของ เจดอน ซานโช่ เป็นหลักจริงๆที่ทำหน้าที่เป็นแนวรุกคนสำคัญของทีม

ส่วนบรูโน่ ไม่ใช่ว่าจะลดบทบาทลงไป เขายังคงเป็นตัวจักรสำคัญของแนวรุกอยู่ เพียงแค่ว่าสถิติเชิงผลลัพธ์อาจจะน้อยลงเท่านั้นเองในเกมรุก แต่โดยภาพรวม บรูโน่ก็ยังคงสำคัญเสมอ หลายๆครั้งทำงานปิดทองหลังพระให้ทีม และสมควรมอบสัญญาใหม่ที่สมน้ำสมเนื้อให้กับเขาเร็วที่สุดด้วย

ความอันตรายของบรูโน่ แฟร์นันด์ส ถูกตอกย้ำด้วยสถิติความอันตรายที่เป็น "ตัวจ่ายที่อันตรายที่สุดประจำโซน" ตามสถิติด้านล่างนี้ วัดตามโซนการเล่นในสนาม ที่ผู้เล่นทำผลงานในเกมรุกมากที่สุด โดยการเทียบว่า "โซนไหนใครเป็นเต้ย" จะใช้การเล่นที่สร้างแรงคุกคามใส่คู่ต่อสู้ ในสถิติที่เป็น "xT" หรือ Expected Threat

ค่า xT เป็นการเล่นในช็อตที่จะสร้างให้ทีมได้มีเพลย์จังหวะสำคัญๆ ไม่ว่าจะทำให้เพื่อนได้มีโอกาสเปิด Key Passes รวมถึงทำให้เพื่อนมีโอกาสยิง (Shots) ด้วย xT จะแสดงถึงความอันตรายในการเล่นที่สร้างการคุกคามใส่คู่แข่งได้

จากภาพนี้ เจ้าของพื้นที่ "แถวสอง" ด้านบนหัวกะโหลก ตกเป็นของบรูโน่ แฟร์นันด์ส เจ้าของ xT สะสมรวม 0.919 ที่เป็นการจ่ายในจังหวะโอเพ่นเพลย์

แปลว่าพี่หนวดยังโหดอยู่

แต่ที่น่าสนใจคือ ทางกราบขวาของสนาม นักเตะในพรีเมียร์ลีกที่แทบจะครองทั้งซีกอยู่แล้ว ก็คงหนีไม่พ้นตัวโหดอย่าง TAA ตามภาพด้านล่างนี้เลย ส่วนฝั่งซ้ายจากแนวลึก เจา คันเซโล่ กับพื้นที่ของเขา (Playmaker WingBack) ก็ครองพื้นที่ตรงนั้นร่วมกับลาปอร์ตอย่างที่เห็น

และแบ็คสองข้างของลิเวอร์พูล คือนักเตะที่อันตรายที่สุดในการเล่น "ด้านข้าง" ประตูทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นโรเบิร์ตสัน หรือ เทรนท์ ก็จองคนละข้างอย่างที่เห็นกัน นั่นคือจุดแข็งสุดๆของลูกทีมเจอร์เก้น คล็อปป์ และลิเวอร์พูลชุดปัจจุบัน

อย่างน้อยบรูโน่ ติดมาในพื้นที่คีย์แอเรียขนาดนี้ ก็แปลว่า โซนนี้ไม่มีใครมีการเล่นที่ดีกว่าบรูโน่จริงๆ พื้นที่นี้สำคัญมากๆ และเราก็ควรใช้บรูโน่เล่นในจุดนี้ให้มากที่สุด

การเล่นที่เป็น Deep Completion ของบรูโน่ จากสถิติปีก่อน แสดงให้เห็นความหลากหลายของพื้นที่การเล่นของเขา ที่บุกได้จากทุกจุด เฉลี่ยพอๆกัน

หากสถิติวิเคราะห์ดังกล่าวมีการเก็บข้อมูลไว้ แผนการใช้งานบรูโน่ ก็ควรจะให้เขาได้เล่นในบริเวณนี้เพื่อดึงศักยภาพสูงสุดออกมา เหมือนในยุค OGS ใช้บรูโน่เป็นแกนของ 4-2-3-1 นั่นเอง

และทั้งหมดนี้คือคอนเทนต์ [จอมเวทย์หลังเลิกเรียน] ที่นำเอากลยุทธ์ แทคติก รวมถึงศัพท์เฉพาะทางที่เป็น Technical Term ในเชิงฟุตบอลทั้งหลาย มาอธิบายให้ฟัง

อาจจะดูน่าเบื่อและเป็นเชิงวิชาการไปสักนิด แต่มันก็ช่วยทำให้ผู้อ่านสถิติเหล่านี้ สามารถ "เห็นภาพ" ของอะไรบางอย่างได้ชัดมากๆ เพราะตัวเลขเหล่านี้ก็สะท้อนการเล่นจริงได้หลายๆแง่ และตัวเลขที่เป็น fact มันก็ไม่หลอกใครแน่นอน เพราะชี้วัดปริมาณได้อย่างชัดเจน

เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เราได้เห็นว่า ขณะนี้หัวหอกหลักที่แบกเกมรุกของทีมไว้ได้มากที่สุด ได้เปลี่ยนมือจากบรูโน่ มาเป็น ซานโช่ เรียบร้อยแล้วจากสถิติ GCA และ Deep Completion ที่บ่งบอกได้อย่างดี

ไม่ได้แปลว่าบรูโน่จะหมดบทบาท แต่สถิตินี้มันแสดงให้เราเห็นว่า Sancho สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้แล้วเป็นที่เรียบร้อย

ที่เหลือก็แค่พัฒนาองค์รวมของทีม ให้พัฒนาและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันทั้งทีมเท่านั้นเอง..

-ศาลาผี-

References

https://dataglossary.wyscout.com/deep_competion/

https://alvin-almazov.com/soccer-eng/deep-completions/

https://fbref.com/en/squads/19538871/2020-2021/Manchester-United-Stats

https://twitter.com/Odriozolite/status/1508445028171284483

https://twitter.com/Odriozolite/status/1508821518305792001

https://fbref.com/en/squads/19538871/Manchester-United-Stats

https://www.thsport.com/column-4005.html

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด