:::     :::

"ระดับความฟิต" 1 ใน 3 ภัยพิบัติแห่งความล้มเหลวซีซั่นนี้

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
2,981
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ข้อมูลต่อไปนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพกันอย่างชัดเจนว่า ทำไมเรื่องราวของ Fitness Level ถึงได้สำคัญ และเป็นคำตอบที่แฟนผีถามหาว่า ทำไมฤดูกาล 2021/22 ของเราถึงได้เลวร้ายเข้าขั้นย่ำแย่ และปีที่ผ่านๆมาเราถึงยังไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งนี้คือ "1 ใน 3 ภัยพิบัติ" อย่างแท้จริง

กำหนดการเดิมที่ผู้เล่นของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จะต้องกลับมารายงานตัวและฝึกซ้อมช่วงปรีซีซั่นกับสโมสรคือวันที่ 4 กรกฏาคม 2022 นี้ แต่เป็นที่เข้าใจว่า เทน ฮาก ต้องการจะให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มมารายงานตัวตั้งแต่สัปดาห์ของวันที่ 20 มิถุนายน

ตามรายงานกล่าวว่า เทนฮากต้องการให้นักเตะกลับมาซ้อมปรีซีซั่นเร็วขึ้นสองสัปดาห์ เพราะเขามองว่านักเตะชุดที่เหลืออยู่จากปีนี้นั้น จำเป็นต้องใช้เวลาราวๆสองสัปดาห์เพื่อที่จะยกระดับความฟิตให้มั่นใจว่าจะสามารถเล่นฟุตบอลในสไตล์ของเขาได้ไหว

และในสัปดาห์นี้เทน ฮากมีแผนที่จะดำเนินการพูดคุยกับนักเตะแมนยูไนเต็ดผ่านZoomเรียงตัวรายบุคคล เนื่องด้วยการได้ชมหลายๆเกมล่าสุดผ่านการถ่ายทอด โดยดูเหมือนว่าเขาจะไม่ประทับใจระดับความฟิตของทีมนี้ และชี้ว่าที่ปีศาจแดงชุดนี้มีฟอร์มที่ย่ำแย่ในหลายๆนัด ประเด็นหลักๆเกิดจากเพราะทีมมีความฟิตที่ย่ำแย่มากๆแถมขาดสภาพร่างกายที่ดีพอ

[@DiscoMirror]

สาเหตุและคำตอบทั้งหมดชัดเจนจากรายงานข่าวนี้ แน่นอนว่าประเด็นเรื่อง "ความฟิต" คือตัวแปรสำคัญที่สุด ที่จะทำให้นักเตะในทีมสามารถตอบสนองกับระบบของเทน ฮาก ได้ไหวหรือไม่ไหว

อ่านคำนี้แล้วคุ้นๆหรือไม่ นั่นแหละคือสิ่งที่ราล์ฟ รังนิค ล้มเหลวที่จะสร้างระบบการเล่นดีๆให้ทีมประคองไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผลลัพธ์คือนักเตะไม่สามารถตอบสนองกับระบบ(แค่เบื้องต้น) ที่เขาใส่เข้าไปให้ได้

เบื้องลึกของเรื่องที่ ศาลาผี เคยเขียนประเด็นนี้ มันคือความฟิตล้วนๆ เพราะถ้าใครจำได้ จะเห็นชัดเลยว่า ช่วงที่ดูเหมือนทุกอย่างจะยังมีลุ้นอยู่ ทีมขวัญกำลังใจดี เกมการเล่นของทีมดูดีขึ้นมาอย่างชัดเจน ทั้งบาลานซ์ และคุณภาพการเล่น

แต่.. มันทำได้แค่ครึ่งเดียว จากนั้นครึ่งหลังทุกอย่างดรอปลง เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกับโอเล่ ทางนั้นครึ่งแรกกาก ครึ่งหลังเก่ง ส่วนอิลุงราล์ฟ ครึ่งแรกอัดซะหมดหลอด ครึ่งหลังพลังงานหมดและคุณภาพดรอปแบบน่าใจหาย

ถ้าระดับความฟิตเพียงพอ ยูไนเต็ดจะยืนระยะการเล่นได้เต็มพลังอย่างมีคุณภาพกว่านี้ และจะเก็บผลการแข่งขันได้ดีกว่านี้หลายคะแนนแน่นอน

หนึ่งในคำตอบเรื่อง "ความล้มเหลวของรังนิค" คือคำตอบที่ เอริค เทน ฮาก "order" มาเป็นอย่างแรก

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ไปดูกันได้เลย ยูไนเต็ดเป๋ช่วงท้ายเกมล้วนๆในยุครังนิค และเป็นหลายๆเกมที่ดูเหมือนว่าจะเริ่มต้นเกมได้ดีด้วย จากการเล่นเพรสซิ่งกันอย่างเต็มพลัง และทำเกมบุกใส่คู่แข่งรัวๆ แต่ปิดบัญชีไม่ได้ สุดท้ายครึ่งหลังแรงหมด โดนยิงประตูสำคัญๆใส่ครั้งแล้วครั้งเล่า

เกมแพ้วูล์ฟคาบ้าน 0-1 โดนเจา มูตินโญ่ ยิงช่วง 10 นาทีสุดท้าย น็อคตายคาบ้าน (นาที82)

เกมเสมอแอสตันวิลล่า 2-2 แมนยูไนเต็ดนำก่อน "0-2" ซะด้วยซ้ำ แต่ครึ่งหลังหมด และช็อต เมื่อเจอเจ้าบ้านตีเสมอสองเม็ดติดๆกันภายใน 4 นาที (นาที 77 และ 81 จากแรมซีย์ กับ คูตี้ตามลำดับ)

เกมโดนมิดเดิ้ลสโบรซ์เขี่ยตกรอบ FA Cup ก็โดนตีเสมอ 1-1 ในช่วงครึ่งหลังเช่นกัน แถมลากยาวยันต่อเวลาพิเศษ แมนยูไนเต็ดก็ยังทำอะไรสิงห์แดงไม่ได้ จนกระทั่งต้องดวลจุดโทษ และก็แพ้ตกรอบอีกเช่นกัน

เกมชนะนอริช 3-2 จาก 2-0 ช่วงครึ่งแรก โดนตีเสมอ 2-2 ปลายครึ่งแรกและต้นครึ่งหลัง จากนั้นต้องพึ่งอิทธิฤทธิ์หลวงพ่อโด้ยิงฟรีคิกท้ายเกมถึงจะชนะทีมบ๊วยได้

และล่าาาาาสุด แพ้ไบรท์ตัน 4-0 สามประตูเกิดจากครึ่งหลังล้วนๆ ยิ่งเล่นยิ่งเละ  เหมือนขยับขาไม่ออก ช้ากว่าคู่แข่งหนึ่งจังหวะ และไร้แรงปะทะกับคู่แข่งที่แน่นกว่าเยอะ

ไม่มีเกมไหนที่เราแรงปลาย หรือใช้ช่วงเวลาสิบนาทีสุดท้าย ไล่โขยกคู่แข่งได้ในยามที่อยู่ในสถานการณ์ "จำเป็น" ได้เลยสักเกม แม้กระทั่งเกมที่เราตกรอบแชมเปี้ยนส์ลีก ต่อแอตเลติโกมาดริด หากทำเป็นลืมๆไม่พูดถึงเรื่องการตัดสิน ก็จะเห็นได้ว่า แมนยูไนเต็ดเองก็มีโอกาสแก้ตัวเหลืออีกเต็มๆ 45 นาทีหลัง แต่กลับไม่สามารถยิงคู่แข่งในยามที่ตัวเองกำลังจะ "ตกรอบ" และตายไปจากเวทีนี้ได้

ทั้งๆที่แค่ประตูเดียว แต่ครึ่งหลังยูไนเต็ดกลับทำไม่สำเร็จ

นี่แค่สถิติเชิงตัวเลขอย่างเดียว รูปเกมที่เกิดขึ้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง ผมว่าแฟนผีที่อ่านนึกภาพออกอยู่แล้วว่าทีมเราป้อแป้ยังไง

ก็นั่นล่ะครับท่านผู้ชม

Fitness Level คือคำตอบสำคัญที่เราต้องแก้ไขโดยด่วนเป็นประการแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลีกที่ใช้พละกำลังและร่างกายกันหนักหน่วงที่สุดในโลกด้วยบอลที่รวดเร็ว และรุนแรง

แต่เด็กแมนยูไนเต็ดชุดนี้กลับดูขาดพละกำลังทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างชนิดที่เรียกว่า บางครั้งทีมดิวิชั่นรองๆยังเล่นกันด้วยพละกำลังและความกระตือรือร้นมากกว่า

ความขยัน(work rate)มาพร้อมกับความทุ่มเท(determination)เสมอ ยิ่งเราเห็นทีมมีระดับความขยันต่ำเท่าไหร่ แปลว่าความมุ่งมั่นทุ่มเทในใจก็น้อยตามไปด้วย

ขึ้นชื่อว่า "นักกีฬา" สิ่งแรกที่แทบทุกชนิดกีฬาใช้ชี้วัดการแพ้ชนะกัน ปัจจัยสำคัญคือความแข็งแกร่งของร่างกายแทบทั้งสิ้น

ใครขัดเกลาฝึกฝนร่างกายมาดีกว่า มีร่างกายที่ "ฟิตกว่า" = คนนั้นมี "ต้นทุน" ที่เอาไปวัดกับคู่แข่งได้อย่างไม่เสียเปรียบ แต่ถึงจะมีร่างกายดี หลังจากนั้นยังไงก็ต้องตัดสินกันด้วย "หัวใจ" แบบนักกีฬาอยู่ดี

นี่แหละคือคำตอบว่าทำไม "ระดับความฟิต" มันถึงได้สำคัญมากๆ เช่นเดียวกันกับ "หัวใจนักสู้" ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน ซึ่งทุกอย่างต้องตั้งอยู่บน "ระบบการเล่นที่มีคุณภาพ"

และทั้งสามอย่างนี้คือสิ่งที่หาไม่เจอจากแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จนเข้าขั้นเป็น "3ภัยพิบัติ" ที่เราเผชิญอยู่

"ระดับความฟิตต่ำ" / "ใจไม่สู้" / "ไม่มีตัวตนและระบบการเล่นที่ชัดเจน"

เอริค เทน ฮาก จะต้องพิชิตภัยพิบัติของแมนยูไนเต็ดทั้งสามอย่างนี้ให้สำเร็จให้ได้

แน่นอนว่าสามประการนี้ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด ของปัญหาที่แมนยูไนเต็ดเผชิญ แต่บทความนี้ยกขึ้นมาในบริบทที่ว่าสิ่งที่ทำให้ "การเล่น" ของทีมเสียหาย แต่จริงๆมันยังมีปัจจัยอื่นๆอีกหลายอย่าง เช่นผู้จัดการทีมที่เป็นคนแก้แทคติก วางหมาก คุมนักเตะ การกระตุ้นให้นักเตะฮึดสู้ มีจิตใจที่เข้มแข็ง

รวมถึงแนวทางและนโยบายการบริหารสโมสรของบอร์ดด้วย ที่เห็นชัดสุดคือตลาดหน้าหนาวเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปล่อยนักเตะออก แต่กลับไม่เสริมใครเข้ามาช่วยลงเล่นเลย นั่นคืออีกหนึ่งภัยระดับ "บอส" สูงสุด

กลับมายังเรื่องที่ว่าภาวะจิตใจ และ "ความใจสู้" ส่งผลกับร่างกายเหมือนกัน ถ้าใจสู้ พร้อมชนการฝึก พร้อมแสดงความพยายามและเล่นออกมาให้เต็มที่ในสนามแบบไม่กลัวเหนื่อย และทุ่มเทจนกว่าจะแรงหมดทุกนัดเหมือนอย่างที่นักเตะแบบปาร์ค จี ซอง, เวย์น รูนีย์ รอย คีน ถ้าใจเต็มร้อย ร่างกายมีเท่าไหร่ก็จะถูกสูบพลังออกมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แต่ถ้าใจมันไม่ได้ ต่อให้สกิลทักษะ ฝีเท้า หรือพลังที่แท้จริงในตัวดีแค่ไหน..

หากใจฝ่อ ก็เหมือนคมดาบที่ถูกกักไว้ในฝักดาบเพียงเท่านั้นเอง

ส่วนระบบการเล่นที่เหมาะสม และเข้ากันกับธรรมชาตินักเตะ ตัวตนสโมสร และมีทรงการเล่นสมัยใหม่ที่รองรับฟุตบอลที่เข้มข้นขึ้นทุกมิติ ไม่มีคำว่าเดินเล่นอีกต่อไป ไม่มีการเล่นเกมบุกที่ไร้แบบแผนให้ยึดเหนี่ยววิธีคิด

ทุกอย่างเป็นระบบระเบียบ มีเหตุผลของวิธีการ และแนวทางของตัวตนการเล่นที่ชัดเจน

"ระบบ" คือสิ่งที่ยูไนเต็ดขาด และจนถึงตอนนี้ ทุกอย่างที่มีอยู่เรายังไม่สามารถตอบได้เลยว่า บอลของแมนยูคืออะไร

แต่ระบบที่ว่านั่น กำลังจะมาหลังจากจบฤดูกาลนี้

เรื่องสุดท้าย ระดับความฟิต ดูทรงแล้วน่าจะเป็นสิ่งแรกแน่นอนที่เทน ฮาก มาถึงก็จะจัดการเรื่องนี้ก่อนเลยเบื้องต้น ดังข่าวตอนต้นที่รายงานไปแล้วว่า นักเตะยูไนเต็ดอาจจะต้องกลับมาเข้าแคมป์เร็วกว่าปกติเพื่อพัฒนาระดับความฟิตให้มากกว่านี้อีกเยอะ ซึ่งคงใช้เวลานานกว่าที่จะแตะถึงระดับที่เทน ฮาก พอใจ และจะใช้งานได้จริงๆตามประสิทธิภาพ

บรูโน่ แฟร์นันด์ส เป็นนักเตะเพียงคนเดียวของยูไนเต็ดที่ติดท็อปเท็นผู้เล่นที่วิ่งระยะทางรวมมากที่สุด ติดมาอันดับ6 ระยะรวม 273 km โดย3 อันดับแรกคือ คริสเตียน นอร์การ์ด / แบร์นาโด้ ซิลวา และ โทมัส ซูเช็ค [ข้อมูลต้นปลายกุมภาฯต้นเดือนมีนาคม]

แต่ถึงจะต้องใช้เวลา ถ้าทุกอย่างถูกแก้ไขอย่างมีทิศทาง มันจะต้องเห็นได้ในการเล่นของทีมแน่นอน และสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งแรกในเรื่องของพละกำลังก็จะถูกซ่อมให้ได้ก่อนเป็นเรื่องแรก เพื่อที่จะแก้ปัญหาเรื่องอื่นต่อๆไปในอีกสองเรื่องที่เหลือ

ขนาดตัวยังไม่มา แต่เทน ฮาก เตรียมการในเบื้องต้นอย่างเข้มข้นเพื่อเคี่ยวเข็ญนักเตะเหยาะแหยะของทีมเราแบบนี้

โคตรอยากเห็นซีซั่นใหม่แล้วเอาจริงๆ

-ศาลาผี-

References

https://fbref.com/en/comps/9/Premier-League-Stats

https://sport.optus.com.au/epl/articles/os39283/epl-2022-premier-league-most-distance-covered-this-season-statistics-opta-data

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด