:::     :::

Possession VS Pressing วิเคราะห์คู่ชิงจากPPDA และCorrelation Analysis

วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
1,560
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือการวิเคราะห์คู่ชิงUCL ในแง่มุมสหสัมพันธ์ของการเล่นที่เกี่ยวข้องกับชัยชนะ ระหว่างเกมเพรสซิ่งกับการครองบอล สู่การประสบความสำเร็จที่จับต้องได้ เนื้อหาอาจจะต้องทำความเข้าใจเล็กน้อย แต่ถ้าเก็ทแล้วจะเห็นภาพชัดมาก

ในที่สุดก็มาถึงเกมยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศระหว่าง เรอัล มาดริด ปะทะกับ ลิเวอร์พูล ในคืนวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 นี้ ซึ่งหลายๆฝ่ายต่างก็ทำนายและคาดเดาแนวโน้มความเป็นไปได้ของเกมนัดนี้ไปตามมุมมองและทิศทางที่อาจจะเกิดขึ้น

อย่างแรกสุดเลยก็คือ ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ไม่สามารถเอาสถิติการคำนวณใดๆมาpredictผลการแข่งขันหลักการต่างๆได้แม่นยำ 100% (ไม่งั้นคนรวยเพราะเล่นบอลกันหมดแล้ว)

ขึ้นชื่อว่าฟุตบอลลูกกลมๆ ธรรมชาติของกีฬาชนิดนี้คือความไม่แน่นอนที่เราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสนามบ้าง และทีมที่ฟอร์มดีกว่า ถึงเวลา ณ โมเม้นต์ที่ลงแข่ง อาจจะทำพลาดอะไรสักอย่าง ลามไปถึงการพ่ายแพ้ได้เหมือนกัน

ไม่มีใครรู้ผลการแข่งขันของมันแน่ๆ แม้แต่พระเจ้าก็ตาม เพราะพระเจ้าทั้งสองคงจะนั่งดูบอลคู่นี้จากกรุงปารีสและแมนเชสเตอร์ในคืนนี้ด้วยแน่ๆ!

มีการปะทะความคิดเห็นกันของคาราเกอร์ กับ แกรี่ เนวิลล์ ในทรรศนะของเกมคืนนี้ระหว่างลิเวอร์พูลกับเรอัล มาดริด โดยที่คาร่ามองว่า ลิเวอร์พูลจะเป็นฝ่ายชนะ เนื่องจากคุณภาพทีมดีกว่า และจำนวนเกมที่พ่ายแพ้ในทุกรายการทั้งซีซั่นของลิเวอร์พูล ยังน้อยกว่าจำนวนเกมที่มาดริดแพ้เฉพาะในถ้วยUCLนี้

คาราเกอร์บอกว่า ทีมที่ดีจริงๆไม่ควรจะปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ตามหลังแล้วชนะเข้ามาด้วยการคัมแบ็คหรือไล่ตามยิงคืนทีหลัง ซึ่งมาดริดเองก็เคยแพ้ในเกมที่ไปเยือนทั้งซิตี้และเชลซี สำหรับฟุตบอลนัดเดียวอย่างเกมFinal ซิตี้หรือลิเวอร์พูลมีโอกาสจะชนะมาดริดได้ หลักๆคือประมาณนี้ คาร่าจึงคิดว่า ลิเวอร์พูลจะคว้าแชมป์

ส่วนเฮียเนฟมองว่า แดนกลางของมาดริดมีทั้งคาเซมิโร่ โมดริช โครส คาเมวิงก้า รวมถึงบัลเบร์เด้ กลางแข็งคือปัจจัยสำคัญของการประสบความสำเร็จ เปรียบเทียบกับแมนยูไนเต็ดของเนฟเอง ยุคนั้นที่แข็งแกร่งก็มีทั้ง รอยคีน สโคลส์ กิ๊กส์ เบ็ค บัตต์

ดังนั้นอันเช่ และราชันชุดขาว ตลอดทั้งเกมพวกเขาจะใช้นักเตะเหล่านี้ขับเคลื่อน โดยเฉพาะใน 15 นาทีสุดท้ายความแตกต่างของแผงกองกลางจะเห็นได้ เพราะกลางคือจุดอ่อนของลิเวอร์พูลชุดนี้

ทั้งสองคนมีจุดที่มองเห็นได้ถูกต้อง และมีเรื่องที่มองข้ามไปทั้งคู่เช่นกัน

คาราเกอร์ค่อนข้างที่จะให้ราคาคุณภาพการเล่นเป็นเหตุผลหลัก และมองว่าการคัมแบ็คจากการตามหลัง อย่างเช่นที่มาดริดทำได้ในสองเลกกับทีมยักษ์ใหญ่จากอังกฤษ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เขาจึงคิดว่าลิเวอร์พูลน่าจะชนะ

แต่คาร่า มองข้ามฟุตบอลที่สู้ด้วยจิตวิญญาณมากเกินไป เพราะยุคที่แมนยูไนเต็ดประสบความสำเร็จได้ ใจสู้ที่ไม่ยอมแพ้จนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้แมนยูครองความยิ่งใหญ่มายาวนานในยุคSAF

หลายๆครั้งแมนยูไนเต็ดไม่ได้มีการเล่นที่เหนือกว่าคู่แข่งเลยด้วยซ้ำในเกมบิ๊กแมตช์ ทั้งรอบรองที่เจออาร์เซนอลปี 1999 / รอบชิงUCL1999 เจอบาเยิร์นคุมเกมไว้ตลอด90นาที / รวมถึงแชมป์ยุโรปปี2008 ที่ไม่สามารถเอาชนะเชลซีได้ในเวลาด้วย

จริงอยู่ที่คุณภาพการเล่นสำคัญ และไม่ควรปล่อยให้ตัวเองโดนยิงนำ คาร่าพูดถูกครับ แต่ถูกไม่หมด

เพราะสำหรับฟุตบอล โมเมนตัมในสนามมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องจิตใจและความเป็นนักสู้ของทีมนั้นๆด้วย

เพราะงั้น ต่อให้นำ 1 หรือ 2 ลูกตลอดทั้งเกม ถ้าทีมฟุตบอลนั้นยังคงยืนหยัดเล่นเพื่อหาทางสู้ไปเรื่อยๆก่อนที่จะหมดเวลา อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เพราะบอลมันลูกกลมๆ เหมือนอย่างที่เพื่อนรักของคาร่าอย่าง สตีเฟ่นเจิด นำซิตี้ 0-2 มาตลอดทั้งเกม แต่เจอยิง 3 ลูกรวดในเวลา 6 นาทีแล้วคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกไปนั่นแหละ

เพราะถ้ายึดตรรกะการเล่นที่ไม่ให้ราคาเรื่องจิตใจนักสู้ที่จะคัมแบ็คได้ทุกเมื่อ นั่นแปลว่า แอสตันวิลล่าก็ต้องชนะไปแล้วน่ะสิในเกมนั้น หากคิดแบบคาร่าเช่นนี้

เราไม่ได้แปลกใจว่าทำไมเขาถึงไม่เข้าใจเรื่องจิตวิญญาณนักสู้นี้ ทั้งๆที่มันเป็นส่วนสำคัญของการประสบความสำเร็จในกีฬาฟุตบอลซะด้วยซ้ำ ใจมาก่อนเลย

ข้ามมาทางฝั่งเนวิลล์บ้าง สิ่งที่เฮียเนฟมองคือเรื่องความแข็งแกร่งของกองกลาง อันนี้ก็ถูกต้องอยู่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่เป็นจริงและความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อก็คือ ทีมที่มีแผงมิดฟิลด์เก่งกว่า จะมีโอกาสที่จะเป็นฝ่ายชนะสูงกว่า หากว่าคอนโทรลเกมตรงกลางซึ่งเป็นkey areaของการแข่งขัน

ทีมที่กลางแข็งๆ โอกาสประสบความสำเร็จสูง และหากวัดมวยกันในสนาม ทีมที่กลางดีกว่า ณ แมตช์นั้นๆ ก็มีโอกาสเก็บชัยมากกว่าจริงๆนั่นแหละ

กลางห้าตัวที่มีดีพอจะสลับสับเปลี่ยนลงมาคุมเกมตรงกลางของมาดริด ในแง่ของ Squad Depth ของแผง Midfielder คือเหตุผลของแกรี่ เนวิลล์ ที่นำไปเปรียบเทียบกับDepthของแผงกลางแมนยูไนเต็ดยุคของเขา

เข้าใจสิ่งที่แกรี่สื่อ แต่คำถามที่เราสงสัย และมันมีช่องโหว่อยู่ก็คือ หากคู่แข่งเป็นฝ่ายครองบอลได้เป็นหลัก ทำเกมได้ดีกว่าแผงกลางของมาดริด ที่แกรี่ว่าดีแล้ว และลิเวอร์พูลเล่นเกมบู๊ดุเดือดใส่แผงกลางราชันอย่างเข้มข้น

กลางแข็งๆ5ตัวที่ว่า จะเอาลิเวอร์พูลอยู่ไปตลอดทั้งเกมหรือไม่?

จุดนี้เป็นเรื่องที่เป็นข้อสงสัยจริงๆ เพราะเราก็ไม่มีใครตอบได้จนกว่าจะถึงเวลาการแข่งในคืนนี้เวลาตีสอง ที่ทุกอย่างจะได้รับคำตอบ

ในกรณีของเฮียเนฟ ผู้เขียนที่เชียร์แมนยูไนเต็ดก็ใช่ว่าอยากจะเข้าข้างขนาดนั้น มันมีอะไรบางอย่างที่ไม่ตรงความเป็นจริงอยู่ เพราะแกรี่ เนวิลล์ อาจจะมองว่า กลางมาดริดแข็งแกร่งกว่าก็จริง

ใช่ ในด้านความสามารถ คุณภาพการเล่น กลางลิเวอร์พูลที่พอจะวัดกับกลางมาดริดได้ พูดตรงๆมีแค่ ฟาบินโญ่(ในเกมรับ) กับนักเตะท็อปคลาสอย่าง "ติอาโก้ อัลคันทาร่า" เท่านั้น นอกนั้นคือผู้เล่นสายพลังงานและระบบการเล่นล้วนๆ

แต่กลางลิเวอร์พูลคนอื่นก็ใช่ว่าจะด้อยกว่ามาดริดมาก ไม่ว่าจะเป็นเกอิต้า เฮนโด้ มิลเนอร์ รวมถึงสำรองคนอื่นๆ

สิ่งสำคัญที่จะทำให้มิดฟิลด์เหล่านี้ของลิเวอร์พูล ไม่ได้เสียเปรียบอะไรเลยกับกองกลางชื่อก้องโลกอย่างพวกโครส โมดริช คาเซ นั่นก็คือเรื่องของ "ระบบการเล่น"

ระบบของลิเวอร์พูล จะสามารถลดความเหลื่อมและต่างชั้นของคลาสมิดฟิลด์ได้ เพราะบอลต้องเอาชนะกันด้วยทีมเวิร์คเป็นสำคัญ มากกว่าความสามารถเฉพาะตัว

พูดเรื่องทีมเวิร์คและระบบ ผมให้ลิเวอร์พูลกินขาด แต่ถ้าเป็นเรื่องความคมในการจบสกอร์เอาชัยชนะกัน ผมให้ฝั่งมาดริด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนนี้ใครอย่ามาหือกับ "คิงคาริม" เบนเซม่าเด็ดขาด พี่แกยิงไส้แตกไม่ไว้หน้าทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว สองฝั่งนี้มีจุดแข็งคนละอย่างกัน ต้องมาดูว่าหน้างานใครจะงัดจุดแข็งของตัวเองมาใช้เพื่อเก็บผลการแข่งขันให้ดีกว่าอีกฝ่ายได้

ในยามที่ยุคสมัยปัจจุบัน ทีมที่เล่นด้วยบอลเพรสซิ่งกันอย่างเข้มข้น เป็นเต้ยในวงการฟุตบอลยุโรปกันหลายทีมมากๆ

พูดภาษาชาวบ้านคือ ยิ่งเพรสเยอะ ยิ่งมีโอกาสชนะและประสบความสำเร็จมาก

เมื่อรวมเรื่องความสามารถในการเป็นฝ่ายคอนโทรลครอบครองบอล และเกมเพรสซิ่ง สองอย่างนี้คือปัจจัยสำคัญของการประสบความสำเร็จในโลกฟุตบอลยุค 2022 จริงๆ

มีสถิติวิเคราะห์ในเชิงของ  Correlation Analysis (สหสัมพันธ์วิเคราะห์) ออกมาจากข้อมูลหลายๆแหล่งที่เป็น Stats Analysis ให้เราได้ดูกัน

สหสัมพันธ์ (Correlation) คือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรสองตัวมันสัมพันธ์กันมากน้อยขนาดไหน โดยจะเป็นค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์อย่างง่ายๆ (Simple Correlation Coefficient) เพื่อที่จะดูว่า ตัวแปร X กับ Y มีทิศทางและความเข้มข้นของความสัมพันธ์ยังไง

ภาษาบ้านๆคือ มันเกี่ยวกันไหม เกี่ยวกันมากน้อยขนาดไหนนั่นเอง

โดยค่าสัมประสิทธิ์ที่ออกมา หากว่าเป็น 0 มันคือการที่ไม่มีความสัมพันธ์กันนั่นเอง / หากเป็นค่า- หมายความว่าความสัมพันธ์จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม เช่น หาก X ยิ่งเยอะ Y จะยิ่งต่ำลง / และสุดท้าย หากสัมประสิทธิ์เป็น + แปลว่าตัวแปรทั้งสองอย่างจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องตามกัน

เช่น X ยิ่งเยอะ ทำให้ Y เยอะตามไปด้วย อธิบายบ้านๆแบบนี้

คำถามคือ เกี่ยวอะไรกับฟุตบอลและบทความนี้? เพราะเรากำลังจะมาพูดถึงประเด็นสำคัญในเรื่องความน่าจะเป็นที่ว่าใครจะคว้าแชมป์ UCL นั่นเอง จากข้อสันนิษฐานที่ว่า ยิ่งเล่นเพรสซิ่งเยอะ โอกาสประสบความสำเร็จจะยิ่งมากกว่า จริงรึเปล่า มันสัมพันธ์กันจริงๆไหม และอะไรสำคัญมากกว่ากันในการเอาชนะคู่แข่ง ระหว่าง "บอลเพรส" หรือ "บอลคอนโทรล" (Pressing VS Possession)

ดูที่ภาพวิเคราะห์แรกข้างล่างนี้ จาก Stats Perform เป็นข้อมูลของทีมห้าลีกใหญ่ในฤดูกาล 2021/22 โดยเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของ

ถ้าอธิบายให้ครบจริงๆ ต้องลากยาวไปถึงเรื่อง "PPDA" กันอีก ว่ามันเกี่ยวอะไรกัน ไหนบอกว่าวิเคราะห์เรื่องการเพรสซิ่งว่าสัมพันธ์กับชัยชนะ หรือแต้มที่ได้รึเปล่าไง?

อธิบายก่อนว่า PPDA หรือย่อมาจาก "Passes Per Defensive Action" คือจำนวนครั้งที่ทีมนั้นๆจะปล่อยให้คู่แข่งได้มีโอกาสจ่ายบอลกันได้ในพื้นที่ตัวเอง ก่อนที่จะโดนเกมป้องกันของเราเล่นงาน เช่น tackling, intercepting รวมถึง fouls ด้วย

(คิดจากattacking area ของเรา หรือพูดง่ายๆคือการที่คู่แข่งโดนเพรสสูงในแดนตัวเอง คิดเป็นราวๆ40หลานับจากปากประตูของพวกเขานั่นล่ะ)

ดังนั้น ความหมายก็คือ คู่ต่อสู้ยิ่งจ่ายบอลได้น้อย แปลว่าคู่แข่งมาก

ค่า PPDA ยิ่งต่ำ แปลว่า ทีมนั้นเล่นPressingกันเข้มข้นและหนักหน่วงนั่นเอง

(Lower PPDA = More Pressing เพราะยิ่งอนุญาตให้คู่แข่งมีโอกาสจ่ายบอลกันยิ่งน้อย PPDAที่น้อย แปลว่าเล่นเพรสซิ่งหนักมาก)

ย้อนกลับไปดูที่รูปอีกที รูปด้านบนนี้แกน X คือจำนวนแต้มต่อนัด วัดเป็นตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์จากทั้งหมด100 (ที่บ่งบอกให้ทราบว่ามีข้อมูลที่อยู่ต่ำกว่าค่า ณ ตำแหน่งนั้นๆอีกเท่าไหร่ ยกตัวอย่างจากรูปนี้ แมนยูอยู่ตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ราวๆ 62% แปลว่า มีสโมสรอีก ร้อยละ 62 จากห้าลีกดังในยุโรป ที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่อเกมน้อยกว่าแมนยูนั่นเอง ส่วนอีก 38% ก็คือพวกที่ได้แต้มเฉลี่ยเยอะกว่าเรานั่นแหละ)

แกน Y อธิบายแล้วว่ามันคือ PPDA นั่นเอง ซึ่งตรงนี้ไม่ได้แสดงออกมาเป็นค่า PPDA ที่เราบอกว่ายิ่งน้อยแปลว่าเพรสซิ่งมาก แต่เป็น percentile ที่วัดออกมาแล้วว่า ทีมไหนเพรสซิ่งมากน้อยกว่ากัน โดยคิดจากค่า PPDA นั่นเอง (คนอ่านจะงงไหมครับ เอาเป็นว่า ยิ่งอยู่ด้านบนๆ มันคือตำแหน่งpercentileสูง แปลว่า "เพรสเยอะ" นั่นเอง -.,-)

เป็นการแสดงผลสองค่า เพื่อวิเคราะห์ Correlation นั่นแหละครับว่า การเพรสซิ่ง สัมพันธ์กันกับ คะแนนเฉลี่ยที่แต่ละทีมได้ มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง ผลก็ปรากฏออกมาดังรูป

ในรูปนี้คือกลุ่มทางซีกขวาบนของจุดตัดกึ่งกลางของกราฟ (ตำแหน่งpercentile50ของการเพรสกับคะแนน) จะเห็นว่า ทีมที่ยิ่งได้คะแนนเฉลี่ยต่อเกมสูงมากๆ (อยู่ทางขวามากๆที่สุด) มีทีมไหนบ้าง

ทีมที่แต้มเฉลี่ยต่อเกมสูงสุด แน่นอนว่าหนีไม่พ้นโคตรแชมป์ใหญ่อย่าง แมนซิตี้ ที่ได้แต้มเยอะสุดๆจากห้าลีก เห็นชัดว่าพี่แกแทบจะทะลุกราฟออกมาอยู่แล้ว (ฮา) นอกนั้นทีมอื่นๆก็คือแชมป์ล้วนๆ อย่างปารีสของบาปเป้ เอซีมิลานของอิบรา รวมถึงบาเยิร์นมิวนิคนั่นเอง ซึ่งในบรรดาแชมป์ลีกดังเหล่านี้ มีน่าสนใจสองทีม

ทีมแรกคือ ลิเวอร์พูล ที่สอดแทรกไปอยู่ตรงนั้นเนื่องจากไล่บี้กับซิตี้จนหยดสุดท้ายจริงๆด้วยคะแนนที่แพ้แค่แต้มเดียว อันนี้คือเรื่องที่ต้องยอมรับ

อีกทีมแชมป์ที่น่าสนใจในกราฟนี้ คือ "ราชันชุดขาว" เรอัล มาดริด ที่ให้สังเกตดีๆว่า มาดริดเป็นทีมที่มีคะแนนเฉลี่ยต่อเกม สูงอยู่ในระดับแชมป์ลีกพวกนี้เช่นกัน (ด้านล่าง ระนาบแนวเดียวกับปารีสในแกนX)

แต่ทำไมมาดริดถึงไปอยู่ตรงข้างล่างนั้น? ใช่ครับ มันคือความเข้มข้นของการเล่นเพรสซิ่ง (ค่าPPDA) นั่นเอง ที่บ่งบอกว่า มาดริดเป็นทีมเดียวในนี้ที่แต้มต่อเกมสูง แม้ว่าจะมีอัตราการเพรสซิ่งน้อยมากๆ มาดริดเพรสน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของสโมสรทั้งหมดในห้าลีกซะอีก เพราะตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์อยู่ต่ำกว่า50 อยู่ที่ 40 นั่นแปลว่า มีสโมสรอีก 60% ของทั้งห้าลีก ที่เล่นเพรสซิ่งมากกว่าเรอัล มาดริด

มันก็จะสะท้อนได้ดีว่า มาดริดเป็นทีมที่ไม่ค่อยเพรสจริงๆ นั่นคือแทคติกของเขา และการเพรสน้อยไม่ได้แปลว่าทีมจะแย่ เพียงแค่นำมาเทียบให้ดูว่า ในบรรดาแชมป์ ส่วนใหญ่แชมป์ลีกคือทีมที่เล่นเพรสซิ่งกันหนักหน่วงมากๆเป็นส่วนใหญ่

ตรงนี้เราสามารถตีขลุมสรุปได้เลยว่า ถ้าอยากใหญ่ อยากเป็นแชมป์ ทีมแชมป์ส่วนใหญ่ในยุคนี้เค้าเล่นเกมเพรสซิ่งกันหมดทุกทีมแล้วนั่นเองครับ

ประเด็นนี้มีการทำวิเคราะห์เชิงสถิติการเล่นเช่นนี้ให้เห็นเยอะแล้ว นั่นก็คือ ยิ่งเพรสมาก โอกาสประสบความสำเร็จยิ่งมาก เพราะส่วนใหญ่ทีมแชมป์ และทีมที่คว้าแต้มต่อเกมได้เยอะๆ เค้าก็เล่นเพรสซิ่งเยอะตาม

การวิเคราะห์ต่อไปจากข้อมูลตรงนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ Regression Analysis (วิเคราะห์การถดถอย) ที่ต้องการประมาณค่าของตัวแปรตามจากตัวแปรต้นที่มี

แต่เราดูแค่เส้น trend line แบบคร่าวๆก็พอว่า มันจริงหรือไม่ที่ทีมฟุตบอลลีกยุโรป เมื่อยิ่งเล่นเพรสซิ่งมากขึ้น จะมีโอกาสเก็บคะแนนได้เยอะขึ้นด้วย

พอจะวิเคราะห์ได้ว่า การเพรสซิ่งส่งผลต่อแต้มที่ได้จริงๆ สังเกตจากปริมาณของสโมสรที่เกาะกลุ่มตรงกลาง ตามเส้นtrend line สีแดง จะค่อนข้างเยอะกว่าสโมสรที่กระจายออกมาด้านนอก ไม่ว่าจะเป็นด้านบนๆทางซีกซ้าย อย่างเช่นลีดส์ ที่เล่นเพรสซิ่งหนักสุดๆระดับท็อปเท็นของห้าลีกยุโรปเลยก็ว่าได้(กะจากสายตา) แต่คะแนนของลีดส์ที่ได้ต่อเกม อยู่ในตำแหน่งpertentileที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากๆ (20กว่าๆ)

เคสอย่างนี้ถือว่าค่อนข้างน้อย และหาได้ยาก ดูจากปริมาณของทีมที่ "เพรสโคตรเหนื่อย ได้แต้มนิดเดียว" (เล่นเพรสจัดๆ แต่กลับได้แต้มน้อย) มันมีไม่กี่ทีมเองตรงแถวๆนั้น สังเกตใกล้ๆลีดส์

เพรสตาเหลือก แต่เกือบตกชั้น

เช่นกัน ด้านล่างๆ พวกที่แต้มต่อเกมเยอะจัดๆ แต่โคตรจะไม่เล่นเพรสซิ่งเลย ก็มีนับทีมได้เลย สังเกตดูทางฝั่งขวา มีแค่พวกอาร์เซนอล เลเวอร์ฯ รวมถึง เรอัล มาดริดเท่านั้น ที่เล่นเพรสกันแค่ตำแหน่งpercentile 40 แต่ได้แต้มต่อเกมอยู่ในระดับที่สูงมากๆ มันก็มีน้อยแทบจะนับหัวได้เช่นกันในเรื่องที่ว่า

"ไม่ต้องเพรสกูก็มีแต้ม"

สโมสรส่วนใหญ่จะแสดงความสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างการเพรส กับ คะแนน ตรงกับเทรนด์จะไปกองกันตรงเส้นtrend lineมากกว่า

เพราะงั้นก็พอจะมองเห็นได้ว่า การเพรสซิ่ง สัมพันธ์กับคะแนนจริงๆ ยิ่งเพรสเยอะ ยิ่งมีโอกาสชนะและได้แต้มเยอะ ดูอย่างนอริช กับ วัตฟอร์ด รวมถึงเบิร์นลีย์ก็ได้ง่ายๆ พวกนี้เล่นเพรสซิ่งกันน้อย จนถึงไม่เพรสเลย ทำให้การเก็บแต้มของทีมพวกนี้เฉลี่ยต่อเกมนึงก็น้อยตามไปด้วย

วงกลมสีแดงด้านบน เป็นตัวชี้วัดที่ดีว่า ยิ่งเล่นเพรสมากเท่าไหร่ คะแนนก็จะยิ่งเยอะเท่านั้น พวกมุมขวาบนที่วงไว้นั่นคือทีมที่เพรสสูงสุดๆ ส่วนใหญ่ก็คว้าแชมป์กันแทบทุกทีม ยกเว้นลิเวอร์พูลทีมเดียวตรงนั้นเองที่ไม่ใช่แชมป์กับเค้า แต่คะแนนเฉลี่ยสูงพอๆกับแชมเปี้ยนทั้งหลาย

แต่นอกจากเรื่องการ Pressing แล้ว สิ่งที่ส่งผลต่อการประสบความสำเร็จ ยังมีเรื่องของ Possession อีกอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ทีมที่คอนโทรลเกม และรักษาการครองบอลได้ดีๆ ก็จะยิ่งมีโอกาสเก็บแต้ม คว้าชัยชนะได้เยอะตามไปเช่นกัน จากตารางข้างล่างนี้

เรื่องของการครองบอล ส่งผลค่อนข้างชัดเจนกับเรื่องแต้มที่ได้ต่อเกม ชัดมากยิ่งกว่าการเพรสซิ่งซะอีก เพราะสังเกตได้ว่าทีมที่ครองบอลเยอะๆ ตามpercentileของแกน Y ที่กราฟนี้วัด Possession มา ยิ่งครองบอลได้เยอะ จะส่งผลให้มีโอกาสได้คะแนนต่อเกม มากตามขึ้นไป

กราฟนี้สังเกตเส้น trend line ที่ลากให้ดู จะเห็นชัดว่า ยิ่งครองบอลเยอะ สโมสรจะเกาะกลุ่มกันและไล่ลำดับไปในทางที่ได้แต้มมากไปด้วย โดยเฉพาะทางซีกขวาบนสุด เช่นเดิมครับ พวกปารีส บาเยิร์น ซิตี้ พวกนี้ครองบอลกันเยอะจัดๆ และก็ได้คะแนนมากตามจนคว้าแชมป์ได้ รวมถึงลิเวอร์พูลเองก็ครองบอลบุกเยอะเช่นกัน

ส่วนในบรรดาแชมป์ มีที่โดดออกมาก็เพียงแค่ เอซีมิลาน เท่านั้นที่ครองบอลน้อยกว่าแชมป์ลีกอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ "โดด" ออกไปถึงขนาดว่า พวกเขาครองบอลน้อยแต่คว้าแชมป์

เอซีมิลาน อยู่ในตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ราวเกือบๆ 80 ซึ่งก็น้อยกว่าพวกแชมป์ทีมอื่นไม่มากนัก

ของจริง และพูดเยอะด้วย(ฮา)

นั่นแปลว่า ทีมแชมป์ทุกลีกดังในยุโรป มีการครองบอลที่ค่อนข้างสูงมาก อย่างน้อยๆก็อยู่สูงแถวๆตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่80ขึ้นไปทั้งสิ้น

แต่ด้านการเพรสซิ่งนั้น ยังมีการโดดออกมาให้เห็นว่า มาดริดเองไม่เล่นเพรสซิ่งซะด้วยซ้ำ เพรสน้อยกว่าค่ามีนซะอีก แต่ก็คว้าแชมป์ได้

ในภาควิเคราะห์เมื่อเปรียบเทียบกันสองตารางระหว่าง Pressing & Winning กับ Possession & Winning การเล่นที่ดูจะส่งผลต่อชัยชนะและการเก็บคะแนนเฉลี่ยต่อเกมได้ชัดกว่า มันคือพวกทีมสาย "Possession Football" นั่นเอง ที่ต้องทำให้ได้เป็นหลัก เพื่อโอกาสในการคว้าแชมป์ได้

แมนเชสเตอร์ซิตี้เป็นตัวอย่างที่ดีตรงนี้อยู่แล้ว และเมื่อเขียนถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่าแฟนผีที่อ่านมาถึงตรงนี้น่าจะดีใจนะครับที่ผมกำลังจะบอกว่า เกมเน้นการครองบอล คืออีกสิ่งหนึ่งที่ เอริค เทน ฮาก ใช้เป็นแกนปรัชญาการเล่นที่สำคัญจากฟุตบอลของเขา

มีการเคลื่อนที่หาตำแหน่ง ครอบครองบอลและเล่นเกมบุกใส่คู่แข่ง ความยืดหยุ่น อิสระ และความรวดเร็วจากบอลสายโททัลฟุตบอลก็เน้นปรัชญาการครองบอลอยู่แล้ว แฟนผีคงจะรู้ดีจากยุคจารย์หลุยส์ เพียงแค่แทคติกแบบconservativeของแกมันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และไม่ได้ผลกับบอลยุคใหม่แล้วแค่นั้นเอง

แต่เกมการครองบอล ยังไงก็ยังสำคัญอยู่ในทุกยุคทุกสมัย

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ย้อนกลับไปสู่การวิเคราะห์คู่ชิงระหว่าง เรอัล มาดริด กับ ลิเวอร์พูลกันอีกครั้ง หลังจากที่นำข้อมูลมาอธิบายให้ดูแล้วนั้น จะเห็นว่า ทั้งเพรสซิ่ง และการครองบอล คือส่วนสำคัญมากจริงๆสำหรับฟุตบอลสมัยนี้

เรอัล มาดริด มีเกมครองบอลที่ดี และเกมบุกที่คมกริบมากๆ

ส่วนลิเวอร์พูล มีเกมเพรสซิ่งที่ดุดันหนักหน่วงและฮึกเหิม เช่นเดียวกันกับการครองบอลที่แน่นอนเป็นหลัก และใช้การบุกจากแบ็คทั้งสองข้างที่เติมเกม รวมถึงการทำเกมของพวกฟร้อนท์ทรีในแดนหน้าที่ใช้ความแน่นอน ความสด และพลังงานที่พุ่งปรี๊ดอย่างเช่น โมเศาะลาห์, หลุยส์ ดิอาซ และความคมของ ซาดิโอ มาเน่

โดยมี TAA เป็นตัวจักรสำคัญในเกมรุกจากพื้นที่กราบขวาเป็นKey Playerของทีม

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมมองว่า ทีมที่มีทั้ง Pressing and Possession และภาพรวมดูมีภาษีว่าจะชนะมากกว่า จากการวิเคราะห์ที่ยกตัวอย่างให้ฟังในบทความนี้ ผมว่าคนอ่านรู้แล้วว่าใคร

ใช่ครับ Liverpool

มีทั้งเกมเพรสซิ่ง และบอลคอนโทรลในสนาม พวกเขาสมบูรณ์แบบมากกว่าเรอัล มาดริดในแง่นี้ เพราะมาดริดเป็นทีมที่เพรสซิ่งน้อยมากจริงๆ สถิติมันไม่หลอกใครอยู่แล้ว หากตีความได้ถูกต้อง ไม่ใช่ยกตัวเลขมาอ้างอิงแบบไม่วิเคราะห์ปัจจัยโดยรวม ลิเวอร์พูลดูก้าวขานำเรอัล มาดริด อยู่นิดหน่อย ตามคุณภาพการเล่นของทีมที่เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บอลทีมเวิร์ค ลิเวอร์พูลก็ดูจะเหนือกว่า เรอัล มาดริดด้วยซ้ำ

เขียนไปเขียนมา ยังไงมันก็เข้าทางลิเวอร์พูล ถูกไหมครับ ท่านผู้อ่านที่เชียร์แมนยูอ่านแล้วอาจจะตะขิดตะขวงหน่อย

แต่สิ่งที่ผมยังพูดไม่หมด มันก็คำที่ผมกล่าวถึงมุมมองของคาราเกอร์นั่นแหละ ว่าเขามองข้ามธรรมชาติบางอย่างของฟุตบอลไป

.. ใช่แล้วครับ ความไม่แน่นอนที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เกมฟุตบอลลูกกลมๆ ต่อให้คุณจะชนะเลกแรกมาแบบชิลๆ หรือนำห่างถึง 2-3 ลูก

จิตใจนักสู้ และการจบสกอร์ คือเรื่องสำคัญที่สุดของการเอาแพ้ชนะกันในโลกฟุตบอล อย่างที่เราก็เห็นกันมาแล้วว่า เรอัล มาดริด พลิกนรกมาซ้ำแล้วซ้ำอีกในซีซั่นนี้

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในยุคเซอร์อเล็กซ์ซึ่งลุ้นปีละ 3-4่ แชมป์เป็นเรื่องปกติ ก็โดดเด่นในเรื่องจิตใจไม่ยอมแพ้ และการคัมแบ็คในช่วงเฟอร์กี้ไทม์ นาทีท้ายๆของการแข่งขันเสมอ

โลธาร์ มัทเธอุส กับ ซามูเอล คุฟฟูร์ คงจะรู้ซึ้งในข้อนี้ดี เหมือนแฟนแมนยูอีกหลายสิบล้านคนบนโลกใบนี้ ในกลางดึกวันที่ 26 พฤษภาคม 1999

เพราะฉะนั้น อย่าดูถูกเรอัล มาดริด เด็ดขาด เพราะบอลไม่ได้แข่งลีลาสวย สุดท้ายแล้วก็ต้องวัดกันที่ใครยิงประตูได้อยู่ดี

แม้ลิเวอร์พูลจะมีการเล่นดีกว่า แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้ากรรมการยังไม่เป่าหมดเวลา ฟัดและวัดกันหน้างานเท่านั้นคือคำตอบ

Football แม่ง Bloody Hell เสมอแหละครับ

ต่อให้เกมเหนือกว่าตลอด 90 นาทีก็มีสิทธิ์โดน Mega Kill เกมพลิกได้อยู่ดี

ใครแชมป์ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ พระเจ้าก็คงต้องไปหาเสบียงมานั่งรอหน้าจอบีอินคืนนี้อยู่เหมือนกันแหละ!!!

-ศาลาผี-

References

http://lms.ksu.ac.th/pluginfile.php/3231/mod_resource/content/2/Correlation.pdf

https://www.statsperform.com/team-performance/football-performance/

http://oservice.skru.ac.th/ebookft/368/chapter10.pdf

https://statsbomb.com/articles/soccer/defensive-metrics-measuring-the-intensity-of-a-high-press/

https://twitter.com/StatsBomb

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด