:::     :::

"Big Step" ในการก้าวสู่ระดับเอเชีย

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
669
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ผ่านมาแล้วหลายวัน แต่ก็ต้องขอชื่นชมการสร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 2022 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด แม้สุดท้ายแล้ว จะแพ้ อุราวะ เรด ไดมอนส์ 0-4 ก็ตาม

ประสบการณ์จากเกมดังกล่าว ไม่ใช่แค่เพียงขุนพล “เดอะ แรบบิท” เท่านั้นที่ได้รับ แต่วงการลูกหนังไทยยังได้ข้อคิดมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของระบบการเล่น, การออกบอล, การฉวยโอกาสในการทำสกอร์อย่างรวดเร็ว, การมาร์คตัว, การเพรสซิ่งคู่แข่ง, การเข้าปะทะ ฯลฯ

เราจะเห็นว่าการออกบอลของสโมสรญี่ปุ่น ทำได้อย่างรวดเร็วแม่นยำและมีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งทีมในเมืองไทยคงจะต้องยกระดับกันอีกมาก ไม่ได้บอกว่าบ้านเราถูกปลูกฝังมาไม่ดี แต่ยังดี, เข้มข้น และต่อเนื่องไม่มากพอ โดยเฉพาะความคิดในการเล่นฟุตบอลอาจจะต่างกันอยู่มาก


ที่ญี่ปุ่นพวกเขาให้ความใส่ใจในเบสิคเบื้องต้นอย่างมาก เพราะแรงบันดาลใจของเด็กๆ ที่เห็นนักเตะหลายคนได้ไปเล่นในลีกยุโรป ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วว่าหากทุกอย่างดีตั้งแต่เริ่มต้นมันจะสามารถต่อยอดได้

จากนั้นก็เป็นเรื่องความเข้าใจในการเข้าแย่งบอล และเล่นเป็นกลุ่มทั้งเกมรับและรุก การรักษาเชพทีมที่มีวินัยอย่างมาก เห็นได้ชัด อุราวะ เรด ไดม่อนส์ มักจะค่อยเข้าเพรสซิ่งเร็วและมาร์คตัวรับบอลทันทีตั้งแต่บอลออกจากเท้าตัวส่ง เมื่อนักเตะของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด จับบอลแล้วแทบไม่สามารถพลิกเล่นได้เลย 


แท็คติกแบบนี้ในไทยลีก เราไม่ค่อยได้เห็นทีมไหนเล่น หรือถึงแม้บางทีมจะมีให้เห็นบ้างแล้ว แต่ความเข้มข้นของคู่แข่งในลีกก็ยังไม่มากพอ เพราะมีทีมเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ที่จะสามารถเพรสซิ่งแดนบนใส่ทีมอย่าง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด หรือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทำให้เวลาสโมสรบ้านเราไปเจอทีมจากญี่ปุ่น ก็มักเสียบอลง่ายจนออกอาการตื้อตันหาทางไปต่อไม่เจอ ซึ่งหากมองในมุมกลับในเวที เจ ลีก เขาเล่นกันแบบนี้ตลอด ดังนั้นความคุ้นชินของผู้เล่นทุกคนย่อมมากกว่านักเตะในเมืองไทยอยู่แล้ว

สังเกตุได้ว่าเวลาที่ทีมใน เจ ลีก พบกัน ไม่ว่าจะเป็นสโมสรใหญ่หรือเล็ก พวกเขาจะเข้าปะทะกันหนักแต่ไม่มีลูกติดดาบ นับครั้งได้ว่าเวลาที่เราดูเกมเจลีกแทบไม่มีแมตช์ไหนที่นักเตะจะเล่นนอกเกมใส่คู่แข่งด้วยซ้ำ


จุดนี้น่าสนใจ น่าจะถึงเวลาแล้วที่ลีกบ้านเราควรจะหันมาเล่นแบบนี้กันทุกทีม เพราะไม่ใช่ประโยชน์ของสโมสรอย่างเดียว แต่จะต่อยอดไปถึงทีมชาติไทย หากว่าเราจะเทียบกับทีมชั้นนำในเอเชีย การเล่นเพรสซิ่งและเคาน์เตอร์เพรสซิ่งเป็นสิ่งที่ควรจะทำกันทั้งลีกได้แล้ว

ขณะเดียวกันวิธีการเข้าจบสกอร์ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ อุราวะ เรด ไดม่อนส์ ใช้การเคลื่อนที่ไปพร้อมกันในเกมรุก แล้วใช้โอกาสไม่เปลืองในการทำประตูบริเวณเขตโทษ 

เห็นชัดว่าญี่ปุ่นเขาก้าวไปมากกว่าเรามากเลยทีเดียว แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่สามารถพัฒนาได้ อย่างที่ มาโกโตะ เทกุระโมริ กุนซือ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด กล่าวเอาไว้ในงานแถลงข่าว ก่อนที่จะเริ่มศึก เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 2022 รอบ 8 ทีมสุดท้าย


ประโยคที่ว่า “นักเตะไทยไม่ได้เป็นรองญี่ปุ่นเลยในเรื่องสภาพร่างกาย และทักษะ แต่การเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องเท่านั้นที่พวกเขาต้องพัฒนา ญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน หากผู้ฝึกสอนเข้าใจตรงนี้จะทำให้ผู้เล่นยกระดับตัวเองได้ดีกว่านี้ ซึ่งพวกเขาก็พยายามที่จะเรียนรู้ตรงนี้อย่างมุ่งมั่น”

นี่คือคำพูดที่ชัดเจนของอดีตเทรนเนอร์พาทัพ “ซามูไรจูเนียร์” คว้าแชมป์ เอเอฟซี ยู-23 แชมเปี้ยนชิพ 2016 ที่ประเทศกาตาร์ ด้วยสถิติชนะคู่แข่ง 100 เปอร์เซ็นต์ และเข้าไปเล่นในโอลิมปิก เกมส์ 2016 ที่บราซิล ซึ่งเล็งเห็นว่าศักยภาพของแข้งไทยก็มีเหมือนกัน


เพียงแต่บางอย่างที่ยังทำไม่สำเร็จ เพราะการที่เรายังไม่เดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง

หากว่าเราจะยกระดับสโมสรและทีมชาติ เราคงจะต้องก้าวไปพร้อมกันทั้งลีกจริงๆ


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด